นิตยสารรายสะดวก  Memorandum  ๐๗ กันยายน ๒๕๕๕
หรรษาเลบานอน #1
รจนา ณ เบรุต
...โลกนี้ไม่มีอะไร​แน่นอน คำว่า "​ความสงบ (peace)" ​เป็นศัพท์​ที่มีราคาแพงแสนแพงในยุคนี้ หา​ได้ยากยิ่งกว่าขุดทองขุดเพชรเสียอีก แล้ว​บ่อยครั้ง ​ต้องแลกด้วยเลือด เนื้อ น้ำตา ​และอาวุธ...

ตอน : ควันหลง ไฟสงคราม

​เพื่อน ๆ​ ​ที่รัก

ใน​ที่สุดก็​ได้ฤกษ์เขียนสักที หลังจากผัดผ่อน​กับตัวเอง ข้ออ้างมากมาย​ผ่าน​ไปแล้ว​

ชีวิตใหม่​ที่เลบานอน​เป็นอย่างไรบ้าง​ ฉันย้ายมา​ได้ห้าเดือนแล้ว​ ยังไม่หายเหนื่อยเลย​

​ที่นี่​คือโลกอาหรับ คริสเตียน ผสมมุสลิม ​และกลุ่มศาสนาอีกหลายรูปแบบ ​และ กล่าวกันว่า ​แม้​จะอยู่​ในพื้น​ที่อ่อนไหวของโลก ก็ยังถือ​เป็นแดน​ที่สงบ​ที่สุดในโลกอาหรับยุคนี้

​แต่ว่า...​...​ โลกนี้ไม่มีอะไร​แน่นอน คำว่า "​ความสงบ (peace)" ​เป็นศัพท์​ที่มีราคาแพงแสนแพงในยุคนี้ หา​ได้ยากยิ่งกว่าขุดทองขุดเพชรเสียอีก แล้ว​บ่อยครั้ง ​ต้องแลกด้วยเลือด เนื้อ น้ำตา ​และอาวุธ

เบรุต​คือเมืองหลวง​ที่ผ่าน​ความบอบช้ำจากสงครามกลางเมือง ​ที่ยาวนานถึง 15 ปี (จากปี 1975 จนจบในปี 1990 แล้ว​มาปะทุเล็ก ๆ​ ในปี 2008) ปัจจุบันแล้ว​ก็ยังมีรอยแผล​เป็นให้เห็นอยู่​ทั่วตัว ​และมีคุกรุ่น​เป็นระยะ ๆ​ ​โดยมีเชื้อไฟแห่ง​ความโกรธแค้นจากแผ่นดินซีเรียข้างบ้านช่วยพัดโหม

ตอน​ที่รู้ว่า​จะย้ายมา ​เพื่อนฝูงมีปฏิกิริยาต่างกัน​ไป ​ส่วนใหญ่คนทำงานยูเอ็นด้วยกัน​จะตื่นเต้น เห็นว่าดี เห็นว่าเบรุต​เป็นเมืองน่าอยู่​ มีอะไร​ให้ค้นคว้ามากมาย​

​ส่วนคน​ที่ไม่รู้จัก ​และยังจำภาพร้าย ๆ​ ฝังใจก็​จะอด​เป็นห่วงฉันไม่​ได้

​ที่จริงมันก็น่า​เป็นห่วง​เมื่อเทียบ​กับ​ความสงบ​ที่แสนสะอาดปราศจากเชื้อในเจนี วา ตอนฉันย้ายมาใหม่ ๆ​ ทางยูเอ็นกำหนดเกณฑ์​ความ(ไม่)ปลอดภัยของเบรุตอยู่​ในระดับ 3 กล่าว​คือ ให้ระวังตัว ​จะ​ไปไหนไกล ๆ​ ​ต้องขออนุญาตก่อน ห้าม​ไปในบางพื้น​ที่ (เหนือสุดติดซีเรีย ​และใต้สุดติดอิสราเอล) หาก​เป็นระดับ 0 ก็​คือ สงบเรียบร้อย​ ไม่มีเหตุ (แบบสวิส)

​เมื่อย้ายมา ฉันคิดว่า​ที่น่าห่วง​ที่สุด ​คือ ​ความปลอดภัยบนท้องถนน ​ที่ดูเหมือนว่า รถน่า​จะชนกันทุกวัน คนข้ามถนนน่า​จะ​ได้รับบาดเจ็บกันบ่อย ๆ​ จากฝีมือขับขี่​ที่ไม่เหมือน​ใครในโลก (​จะแพ้ก็​แต่บังคลาเทศกระมัง) ​แต่​เอาเข้าจริง คนเลบานีสรู้จักประนีประนอมบนท้องถนน​เป็นอย่างดี อยู่​มาสองเดือน เพิ่งเห็นรถชนท้ายกันจัง ๆ​ หนึ่ง​ครั้ง ​แต่​เอาไว้ฉัน​จะมาเล่าเรื่อง​มัน ๆ​ หลังพวงมาลัยให้ฟัง

เราก็คิดว่า เรานี้รักสงบ พอวันอาทิตย์ก่อน มีเหตุการณ์ทหารยิงนักเทศน์​ที่ทริโปลี (ตอนเหนือ ติดชายแดนซีเรีย ห่างจากเบรุตประมาณ 80 กม) สร้าง​ความปั่นปวน เจ็บแค้น​กับญาติพี่น้อง มีเผายางกลางทางด่วน ปิดกั้นถนนประท้วงใกล้สนามบิน ยิงกันตาย ระเบิดรถยนต์ ยิงต่อสู้​กับเจ้าหน้า​ที่ ลามมาถึงยิงกันในเบรุต ไกลจากบ้านฉันไม่เท่าไร

จากนั้น​เราก็​จะ​ได้รับข้อ​ความจากยูเอ็น​เป็นระยะ ๆ​ ว่าเหตุการณ์​ไปถึงไหนแล้ว​ ​ทั้งทางเอสเอ็มเอส ​และทางอีเมล์ ​ส่วนใหญ่ฉัน​จะ​ได้ยิน​แต่เผายาง กั้นถนนสายหลัก ๆ​ ปิดทาง​ไปสนามบินนี่ยอดฮิตเลย​

ทางยูเอ็นเลย​ยกระดับ​ความ(ไม่)ปลอดภัยขึ้น​ ​เป็นระดับ 4 (สูงสุด​คือ ระดับ 6 ​ต้องอพยพออกนอกประเทศ) เรียกว่า เราอยู่​ในช่วงไม่สงบ ตึงเครียดทางการเมือง ให้เจ้าหน้า​ที่​ไปไหนมาไหนด้วย​ความระวัง ​และ​ต้องเตรียม​พร้อม

​ถ้าอยากรู้ว่า เจ้าหน้า​ที่ยูเอ็นอย่างฉัน​ต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในช่วงภาวะตึงเครียด ก็ติดตามรายการข้างล่างนี้​ได้เลย​

- ไม่​ไปไหนมาไหน​โดยไม่จำ​เป็น ​และไม่ออกนอกบ้านในยามวิกาล
- ปฏิบัติตามคำแนะนำด้าน​ความปลอดภัย​โดยเคร่งครัด ​โดยไม่ทักท้วงหรือสงสัย
- ​ต้องถืออุปกรณ์สื่อสารสองชนิดติดตัวตลอด นั่น​คือ โทรศัพท์มือถือ ​และวิทยุวอล์คกี้ทอล์กี้ (​ที่ทางสำนักงานให้เราไว้​ใช้)
- รายงานเหตุการณ์​ที่คุกคาม​ความปลอดภัยแก่หน่วยรับผิดชอบทราบ​โดยทันที
- พกพาชาร์ตสื่อสารล่าสุดของสำนักงานติดตัว (มีเบอร์โทร ​และรหัสวิทยุเรียกตัว)
- ทดสอบการสื่อสารทันที​ที่​ได้รับแจ้ง ​โดยให้โทรหรือวิทยุ​ไปหาคน​ที่อยู่​ด้านล่างของผังสื่อสาร หากติดต่อไม่​ได้ ให้แจ้งหน่วยกลางทันที
- ตรวจสอบสัญญาณวิทยุทุกเดือน
- ไม่ออกนอกพื้น​ที่เกินรัศมี 20 กิโล​โดยไม่แจ้งให้หน่วยเหนือทราบ

ฟังแล้ว​ เหมือนปฏิบัติการซ้อมรบไหม ​ใคร​ที่เคย​ไปทำงานในพื้น​ที่เสี่ยงมาก่อนคง​จะเข้าใจดี

พวกเราทุกคนมีมือถือ ​และ​ต้องให้เบอร์ทุกเบอร์ไว้​กับสำนักงาน รวม​ทั้งเบอร์บ้าน ​เพราะ​ถ้าเกิดอะไร​ขึ้น​ ​เขา​จะ​ได้ตามตัวเราถูก เรา​จะมีบัตรแข็งเคลือบพลาสติก ขนาดพกพา​ได้ ​ที่มีชื่อ​เพื่อนร่วมงานทุกคน ​พร้อมรหัสวิทยุ​และโทรศัพท์ เราเก็บไว้ติดตัวตลอด ทางยูเอ็น​จะส่งข้อ​ความเข้ามือถือของเรา​เป็นระยะ ๆ​ ในช่วงมีเหตุการณ์​และบอกว่า ให้เราระวัง อย่าเข้า​ไปในเขตไหนบ้าง มีอะไร​เกิดขึ้น​​ที่ไหน​และอย่างไร

ในทาง​ส่วนตัวแล้ว​ เรามีข้อพึงปฏิบัติมากมาย​ เช่น ให้เตรียมกระเป๋าเดินทาง​พร้อมติดตัว​ไป​กับเราทันที​ที่เหตุรุนแรงเกินยับยั้ง ในกระเป๋าให้มีเสื้อผ้า ของ​ใช้ ไฟฉาย ยาประจำตัว เอกสารสำคัญ เงินสด ฯลฯ ​พร้อมไว้ (แหะ แหะ ฉันยังไม่​ได้จัดเลย​ เข้าข่ายไม่เห็นโลงไม่หลั่งน้ำตา)

อย่างต่อ​ไป​คือ ให้ตุนอาหาร​และน้ำดื่มไว้ให้เพียงพอ ในกรณี​ที่ออกจากบ้านไม่​ได้ (นึกถึงตอนเสื้อแดงเผาเมือง ​และคนกรุงเทพฯ​ที่ออกนอกบ้านไม่​ได้ขึ้น​มาจับใจ) โถ ตอนเหตุการณ์มันแย่ ๆ​ ในวันแรก ​ใคร​จะอยากออก​ไปซื้อของตามห้าง ​เพราะนั่น​คือเป้าหมายอย่างดีเลย​ สำหรับนักวางระเบิด​ทั้งหลาย

อย่างสุดท้าย​และไม่ท้ายสุด ก็​คือ ให้หูไวตาไวเข้าไว้ เห็น​ใคร​เขารวมกลุ่มกันก็​ไปให้ห่าง ๆ​ เลย​ อย่า​ไปวอนหาลูกหลง อย่านั่งรถแทกซี่ ห้ามคุยเรื่อง​การเมืองใน​ที่สาธารณะ (เด๋ว​จะ​ไปแสลงใจ​ใครเข้า) ขับรถให้ล็อคประตูทุกด้าน (เดือดร้อนเจ้าประคุณสามีฉันชอบขับรถเปิดประทุน)

​ที่จริง ก่อน​ที่​จะย้ายมา ฉันก็​ต้องทำชุดแบบฝึกหัด​ความปลอดภัยเบื้องต้น ​และฉบับ​ก้าวหน้าทางอินเตอร์เน็ต เรา​ต้องอ่านคำแนะนำ ดูภาพ อ่านรหัส ตอบคำถาม (​ส่วนใหญ่​ใช้สามัญสำนึก) หัดดูดวงดาว (อันนี้ฉันตกแน่นอน) หัดดูแผน​ที่ ดูเส้นทางน้ำ ดูตะวัน ฯลฯ โชคดีว่า สอบผ่าน ​สามารถพิมพ์ประกาศนียบัตรออกมา​ได้ หลังจากคร่ำเคร่งอยู่​สองสามชั่วโมง​ที่หน้าจอ

การ​จะทำเรื่อง​เดินทางเข้าประเทศก็​ต้องขอเคลียร์​กับหน่วย​ความปลอดภัยก่อน จึง​จะเดินทาง​ได้

พอย้ายมาแล้ว​ จึงเห็นคุณของการทำแบบฝึกหัดนั้น​ ​เพราะมันทำให้เราตื่นตัวขึ้น​ ​และเตรียม​พร้อม​ได้ดีขึ้น​

ถามว่า กลัวไหมในช่วงนี้ วันแรกกังวลนิดหน่อย​ ตอนรู้ว่า​เขาเริ่มยิงกันในเมือง ตอนนี้ก็ชินแล้ว​ ​แต่ก็ไม่พยายามออกนอกบ้านตอนกลางคืนเลย​ รวม​ทั้งคุณสามีมาป่วย​เป็นหวัดด้วย ก็เลย​​เป็นเหตุอันสมควร​ที่​จะไม่ออก​ไปไหน ถูกลมถูกแดดแล้ว​คุณพี่ท่านอาการ​จะทรุด

อ้อ ​ต้องเพิ่มเติมว่า ​ที่เลบานอนนี้ ​เป็นประเทศเล็กนิดเดียว ​แต่มีหน่วยงานสหประชาชาติถึง 20 กว่าหน่วยใหญ่ ๆ​ มีเรือตรวจการณ์ป้ายยูเอ็นหรา นาน ๆ​ ก็เห็นรถหุ้มเกราะมิดชิด หรือรถขับเคลื่อนสี่ล้อแบบล้อยักษ์ผ่านหน้า​ไป เห็นแล้ว​ก็แหยง ๆ​

ช่วงอีสเตอร์ เรามีแขกมาเยี่ยม เราเลย​ขับรถ​ไปเ​ที่ยวเมืองโบราณ​ที่บัลเบ็ค ​ซึ่งอยู่​ในพื้น​ที่สีชมพู ​ไป​ได้ ​แต่​ต้องไม่​ไปเกินเขต​ที่กำหนด ​และไม่อยู่​ค้างคืน ​ต้องไม่ออกนอกเส้นทาง ​ต้องไม่แยกกลุ่ม สารพัด ​และ​ต้องขออนุญาตก่อน​ไปหลายวัน ​ต้องแจ้งทะเบียน​และยี่ห้อรถยนต์ ชื่อคนเดินทาง​ทั้งหมด เวลาเดินทางออกจากบ้าน เวลา​ไปถึง เวลากลับ เหมือนเด็ก ๆ​ รายงานตัว​กับผู้ปกครอง พอก่อนออกก็​ต้องโทร​ไปแจ้ง ​เขา​จะ​ได้รู้ว่า เราอยู่​บนเส้นทางแล้ว​ พอ​ไปถึงก็โทรบอก เ​ที่ยวเสร็จก็บอกว่า ​จะกลับแล้ว​นะ พอถึงบ้านก็แจ้งว่า ถึงแล้ว​ ปลอดภัยดี

การ​ไปเ​ที่ยวก็สะดวก​สบายดี เหมือนนักท่องเ​ที่ยวทั่ว​ไป บัลเบค​เป็นสถาน​ที่ทางประวัติศาสตร์​ที่น่าอัศจรรย์เหมือนเราหลงยุคย้อนอดีต ​ได้ส่งภาพ​ไปให้​เพื่อน ๆ​ หลายคนดูแล้ว​ ขา​ไปเรา​ไปทางภูเขา ขากลับ เรามาทางด่วน ​ซึ่งไม่ด่วน ​เพราะมีก่อสร้าง รถติดสบัด ทำ​เอาคุณสามีเหนื่อยหมดแรง วันรุ่งขึ้น​​ไปเ​ที่ยวไม่ไหว

ผู้อำนวนการภูมิภาคของ​ที่นี่​เป็นสตรีชาวจอร์แดน​ที่เข้มแข็ง เฉียบคม เด็ดขาด ​และ​เป็นคนงามคนหนึ่ง​ เธอเองเคยประจำอยู่​เมืองแบกแดด แล้ว​ผ่านวีรกรรมสงคราม ถูกระเบิดกระเด็นกระดอนไกล ไม่ทราบว่า​ได้รับบาดเจ็บแค่ไหน ​แต่รอดชีวิตแน่นอน อาการก็ดูครบสามสิบสอง ก็กลาย​เป็นเหมือนวีรสตรี เลย​มีชื่อเสียงมา​แต่บัดนั้น​

ตอน​ที่เกิดเหตุยิงกันในเบรุต เธอเรียกประชุมทุกคนทันที​และขอให้ทำตามระเบียบ​ความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด ห้ามทักท้วงหรือสงสัย เธอบอกว่า หาก​ใครไม่รักชีวิต ก็ขอให้สังวรณ์ว่า ​ความประมาทของตัวเองอาจทำให้คนอื่น​และหน่วยงานเดือดร้อน ถือว่าผิดวินัย

​ที่พักของฉันอยู่​ติดถนนใหญ่ ริมทะเล คนเดินออก​กำลังกาย​ทั้งเช้า​ ​ทั้งเย็น คืนวันยิงกัน ถนนเงียบ คนหายตัว​ไปหมด รถวัยรุ่น​ที่ชอบมาเปิดเพลงกล่อม​ไปสามบ้านแปดบ้านก็กลับ​ไปกบดานนิ่ง (พวกเราดีใจ​เป็นอย่างยิ่ง) วันรุ่งขึ้น​ ฉันไม่กล้าออก​ไปเดินริมทะเล ​และสังเกตว่า ไม่ค่อยมีคนเหมือนกัน ​แต่ผ่าน​ไปสองสามวัน ทุกอย่างก็เหมือนเดิม ตอนนี้บทเพลงมอเตอร์ไซค์ยกล้อ ทำเสียงกรีดถนนให้คนสรรเสริญก็บรรเลงตามปกติ คุณสามีบอกว่า ​เมื่อกี้​ได้ยินเสียงปืนไม่ไกลจากบ้านเรา ​แต่สุดท้ายก็สรุปไม่​ได้ว่า มีอะไร​หรือเปล่า

ห้องเราอยู่​ชั้นสาม เจ้าหน้า​ที่​ความปลอดภัยมาตรวจ แล้ว​สั่งให้ติดฟิล์มกันกระจกแตกกระจาย ​เพราะอยู่​ในวิถีระเบิดกระสุน

ฉันก็​ได้​แต่ภาวนาว่า ​พระ​จะคุ้มครองเราตลอด​ไป ไม่ให้​ต้องพบ​กับ​ความรุนแรงชนิด​ต้องหนีหัวซุกหัวซุน

​แต่ชีวิต ​จะ​เอาแน่อะไร​ เพิ่งอ่านข่าวสวิตฯบอกว่า การท่องเ​ที่ยวเจนีวา​กำลังเดือดร้อน​เพราะประเทศจีน​กับประเทศญี่ปุ่น ​ซึ่ง​เป็นต้นทางนักท่องเ​ที่ยวกลุ่มใหญ่ เพิ่งจัดอันดับให้เจนีวา​เป็นเมืองไม่น่าเ​ที่ยวอันดับ​ที่สองจากสุดท้าย (ข่าวไม่​ได้บอกว่า รายการนี้มีกี่ประเทศ) ​และออกคำแนะนำไม่ให้นักท่องเ​ที่ยวมาเจนีวาอีกต่อ​ไป ​เพราะเรื่อง​ลักเล็กขโมยน้อย จี้ ล้วงหรือกระชากกระเป๋านักท่องเ​ที่ยว​ซึ่งเกิดขึ้น​ถี่ขึ้น​เรื่อย ๆ​ ​และการคุกคามอื่น ๆ​ ​ที่ทำให้เป้าหมายปลายทางอันเหมือนฝัน​และราคาแสนแพง กลาย​เป็นฝันร้าย​ไปสำหรับหลายคน ​แม้​จะ​เป็นเรื่อง​ดูเหมือนเล็ก ​แต่​เพราะสวิตฯ​ได้ขึ้น​ชื่อว่า​เป็นเมืองงาม สงบ สะอาดปราศจากเชื้อ ​และปลอดภัย​ที่สุดของโลกมายั่งยืนนาน รวม​ทั้งการมาเ​ที่ยวก็​ต้อง​ใช้จ่ายเงินมาก ค่าโรงแรม ค่ากินอยู่​ ค่ารถราแพงหูฉี่ ของฝากก็ล้วน​แต่ของหรูหราราคาแพง คงทำให้​ความรู้สึก​ที่​จะลงทุนมาเ​ที่ยว​เมื่อแลก​กับ​ความสบายใจ ไม่คุ้มกัน ​ที่จริงเจนีวาก็เรียบร้อย​ดีอยู่​นาน จนสามสี่ปี​ที่ผ่านมาเริ่มแย่ขึ้น​เรื่อย ๆ​ จากการเปิดชายแดนให้กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกเข้า-ออก​ได้เสรีมากขึ้น​ ผล​คือคนยิปซีล้นเมือง ​แต่ก่อนไม่เคยมีเดี๋ยวนี้ก็มีคนมาขอทานตามสี่แยกไฟแดง มาเซ้าซี้เช็ดกระจกรถ (ทำให้หลงนึก​ไปว่า อยู่​กรุงเทพฯ) มีเพิงอนาถาใต้สะพานบ้าง ซุกซ่อนในป่าชานเมืองบ้าง แอบ​ไปอยู่​ในตึกร้างบ้าง ก็ปวดหัวตำรวจท้อง​ที่ ​ซึ่งบอกว่า จับ​ไปก็เท่านั้น​ ล้นคุกเปล่า ๆ​ ก็เลย​ปล่อย ๆ​ ปราบ ๆ​ กัน​ไป จนฉันคิดว่า นี่เราย้ายมาอยู่​ประเทศสารขัณฑ์แห่งใหม่หรือไร ​แต่​จะโทษคนยิปซีย้ายถิ่นเสีย​ทั้งหมดก็คงไม่​ได้ อาชญากรเล็ก อาชญากรน้อย​ที่เคยมีอยู่​ก็คงพลอยเหิมเกริม​ไปด้วย

เริ่มด้วยเบรุตก็จบด้วยเจนีวาสำหรับตอนปฐมฤกษ์​แต่เพียงเท่านี้

ฉันเอง

 

F a c t   C a r d
Article ID S-3517 Article's Rate 4 votes
ชื่อเรื่อง หรรษาเลบานอน --Series
ชื่อตอน ควันหลง ไฟสงคราม --อ่านตอนอื่นที่ตีพิมพ์แล้ว คลิก!
ผู้แต่ง รจนา ณ เบรุต
ตีพิมพ์เมื่อ ๐๗ กันยายน ๒๕๕๕
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ ฉันเขียนให้เธออ่าน
จำนวนผู้เปิดอ่าน ๖๗๒ ครั้ง
จำนวนความเห็น ๐ ความเห็น
จำนวนดอกไม้รวม ๒๐
| | | |
เชิญโหวตให้เรตติ้งดอกไม้แก่ข้อเขียนนี้  
R e a d e r ' s   C o m m e n t

สั่งให้ระบบส่งเมลแจ้งการเพิ่มเติมความเห็น
 ศาลานกน้อย พร้อมบริการเสมอ และยินดีรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกท่าน  ติดต่อเว็บมาสเตอร์ได้ทางคอลัมน์ คุยกับลุงเปี๊ยก หรือทางอีเมลได้ที่ uncle-piak@noknoi.com  พัฒนาระบบ : ธีรพงษ์ สุทธิวราภิรักษ์  โลโกนกน้อย : สุชา สนิทวงศ์  ภาพดอกไม้ในนกแชท : ณัฐพร บุญประภา  ลิขสิทธิ์งานเขียนในนิตยสารรายสะดวก เป็นของผู้เขียนเรื่องนั้น  ข้อความที่โพสบนเว็บไซต์แห่งนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้โพสทั้งสิ้น