![]() |
![]() |
จันทน์กะพ้อ![]() |
...ข้าตามหาบทกวี ใบหน้าหมองเศร้า ของบิดามารดา ผู้ที่บุตรชาย ได้กลายเป็นธงชาติ ไม่มีหญิงสาวในบทกวี เป็นหนังสือรวมกวีนิพนธ์แบบไร...
ตอน : ซะการีย์ยา อมตยา
ข้าตามหาบทกวีใบหน้าหมองเศร้า
ของบิดามารดา
ผู้ที่บุตรชาย
ได้กลายเป็นธงชาติ
ไม่มีหญิงสาวในบทกวี เป็นหนังสือรวมกวีนิพนธ์แบบไร้ฉันทลักษณ์ (free verse) รวม 36 บท หากนับรวมบทเกริ่นด้วยก็จะเป็น 37 บท บทเกริ่นที่กล่าวถึงนี้ประกอบด้วยข้อความที่บอกเจตนารมณ์ของผู้แต่งไว้ดังนี้....
ฉันกำลัง เดินทางในบทกวี
บทกวีกำลังเดินทางในฉัน
เราต่างมุ่ง หน้าสู่ปลายทางเดียวกัน
"เนื้อหา ได้นำเสนอความคิดในมุมมองต่างๆ เช่น ปรัชญา ศาสนา ความจริงของชีวิต สิ่งสำคัญคือการนำเสนอเรื่องราวของบ้านเกิดที่ต้องเผชิญปัญหาความไม่สงบและการก่อการร้าย กวีได้ผสานข้อคิดและจินตนาการเข้าไปทำให้ผู้อ่านนั้นได้ข้อคิดในหลากหลายด้านที่แฝงอยู่ในงานของเขา
กวีนิพนธ์ชุด “ไม่มีหญิงสาวในบทกวี” สะท้อนถึงความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคไต้ เนื่องด้วยกวีนั้นเป็นชาวจังหวัดนราธิวาส ด้วยภูมิหลังและจิตประหวัดของกวีจึงมีร่องรอยของความไม่สงบ ความหม่นเศร้า และการเรียกร้องหาสันติภาพ แต่งานเขียนของกวีก็ยังมีความน่าสนใจและน่าติดตามอยู่มากเนื่องด้วยกวีผสานภูมิหลังกับจินตนาการ และความคิดแปลกใหม่ จึงสามารถนำเสนอผลงานออกมาได้เป็นอย่างดี"
(อาทิตยา โสภา ไม่มีหญิงสาวในบทกวี : มาตุภูมิร้อนดุจเปลวเพลิง)
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
คณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ ซีไรต์ ประจำปี 2553 ได้ประกาศผลการตัดสินอย่างเป็นทางการ โดยให้กวีนิพนธ์ที่ได้รับรางวัลซีไรต์คือ กวีนิพนธ์ที่ชื่อว่า "ไม่มีหญิงสาวในบทกวี" ผลงานของ ซะการีย์ยา อมตยา นักเขียนมุสลิมแห่งริมเขาบูโดจังหวัดนราธิวาส
สำหรับ ทัศนะของคณะกรรมการตัดสินที่ให้ไว้ต่อบทกวีของ ซะการีย์ยา อมตยา คือ...ผลงานเล่มนี้ เป็นกวีนิพนธ์ที่นำเสนอภาพและแนวคิด เพื่อการดำรงและดำเนินชีวิตอย่างสันติสุข ที่ผสมผสานวรรณศิลป์ ปรัชญา และศิลปะเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน ประกอบด้วยเนื้อหาหลากหลายมิติ ตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคลไปจนถึงระดับสังคม โดยไม่ผูกกับยุคสมัย ไม่มีพรมแดน ข้ามมิติเวลา และมิติพื้นที่ มีความลุ่มลึก กระตุ้นให้เกิดจินตนาการและขบคิดและคิดต่อ
“ไม่มีหญิงสาวในบทกวี” เล่มนี้ถือเป็นเล่มแรกที่คว้ารางวัลซีไรต์ ในกวีแบบไร้ฉันทลักษณ์
ซะการีย์ยา อมตยา เกิดวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 ที่ อ.บาเจาะ จ. นราธิวาส เติบโตริมเทือกเขาบูโด เป็นลูกคนกลางของครอบครัว เรียนชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนบ้านกะลุแป ชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนอัตตัรกียะห์อิสลามียะห์ ชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียน อิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ และวิทยาลัย ดารุล อูลูม นัดวะตุล อุลามาอ์ สาขาอิสลามศาสตร์ ภาษาและวรรณคดีอาหรับเป็นเวลา 5 ปีเต็ม โดยต่อมาเมื่อกลับคืนสู่แผ่นดินเกิดก็เลือกเข้าเรียนต่อสาขาศาสนาเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัยมหิดล
ช่วงเวลาที่ศึกษาในประเทศอินเดีย บรรยากาศและวัฒนธรรมของวิทยาลัยได้มีส่วนช่วยส่งเสริมให้มีความสนใจในบทกวี วรรณกรรมต่างประเทศ และปรัชญา ต่อมาเมื่อศึกษาถึงชั้นปีที่ 3 ได้ลงเรียนวรรณคดีอาหรับทั้งยุคคลาสสิค ยุคกลาง และงานร่วมสมัย เช่น งานกวีนิพนธ์ไร้ฉันทลักษณ์ ที่ได้เริ่มศึกษาและดื่มด่ำลึกซึ้งมากขึ้น
จากอินเดียสู่ไทย บทกวีที่ภายหลังได้รับการนิยามว่าไร้ฉันทลักษณ์ ได้เริ่มทวีจำนวนมากขึ้น กอปรกับปณิธานที่อยากเป็น “สะพาน” เชื่อมวัฒนธรรมที่แตกต่างด้วยภาษา ทำให้มีงานแปลออกมาหนึ่งเล่ม ในชื่อ “ด้วยจิตวิญญาณอันเปี่ยมสุข” แต่ไม่ได้เผยแพร่ในวงกว้าง และต่อมามีผลงานของตัวเองทยอยเผยแพร่สู่โลกอินเตอร์เน็ตที่เปิดกว้างรวมทั้ง เว็บบล็อคต่างๆ กระทั่งก่อตั้งเว็บไซต์ www.thaipoetsociety.com เพื่อเป็นสาธารณรัฐกวีนิพนธ์หรือชุมชนทางเลือกแก่ผู้ชมชอบบทกวี
ตั้งแต่พ.ศ. 2547 ผลงานแปลและบทกวีของซะการีย์ยาได้ปรากฎตามหน้าหนังสือพิมพ์ วารสาร ในนาม เช ปุถุชน จนเริ่มเป็นที่รู้จัก วันหนึ่งเกิดแรงบันดาลใจอยาก “รวมเล่ม” จึงกลายมาเป็นบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ “ไม่มีหญิงสาวในบทกวี” รวมบทกวีเล่มแรกในรอบกว่าสิบปีที่สร้างสรรค์งานมา
ปัจจุบันยังคงหาความรู้ด้านวรรณกรรม เขียนและแปลบทกวีอย่างสม่ำเสมอ พร้อมไปกับขับเคลื่อนงานกวีนิพนธ์ในมิติอ่านออกเสียง ทั้งได้พยายามบ่มเพาะนิยายที่เกี่ยวกับบ้านเกิด
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
คณะกรรมการคัดเลือก กวีนิพนธ์รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2553 ประกอบด้วย โกศล อนุสิม ประธานกรรมการคัดเลือก และกรรมการอีก 6 ท่าน ได้แก่ อ.วรรณา นาวิกมูล, อ.พวงแก้ว ลภิรัตนกุล, ผศ.ดร.ญาดา อารัมภีร, วชิระ ทองเข้ม (สุภาพ พิมพ์ชน), ดร.อารียา หุตินทะ และดร.ปรมินท์ จารุวร
อดุล จันทรศักดิ์ ประธานคณะกรรมการตัดสิน กล่าวว่า "รวมบทกวี 'ไม่มีหญิงสาวในบทกวี' มีแนวคิดเพื่อการดำรงและดำเนินชีวิตอย่างสันติสุข ไม่มีพรมแดน ถึงแม้ว่าจะเป็นบทกวีไร้ฉันลักษณ์ แต่ไม่ถึงกับเป็นมิติใหม่หรือปรากฏการณ์ใหม่ของบทกวี แต่ผู้ประพันธ์เลือกคำได้อย่างมีพลัง มีความเป็นสากล สามารถสร้างจังหวะคำในความไร้ฉันทลักษณ์นั้นได้ ถ้อยคำมีพลังในทางกวีในทางวรรณศิลป์สูง เป็นงานที่ไร้มิติ หมายความว่าคุณจะคิดว่ามันเป็นที่นั่นก็ได้ ที่นี่ก็ได้ มันเป็นปรัชญา กวีนิพนธ์ไม่ได้หมายความว่าเป็นฉันทลักษณ์อย่างเดียว คุณค่าของกวีนิพนธ์ไม่ได้อยู่ที่ฉันทลักษณ์เท่านั้น คำที่ผู้ประพันธ์สร้างโดยไม่ต้องอาศัยฉันทลักษณ์นั่นแหละคือความช่ำชอง คือความเจนจัดในการใช้ภาษา ซึ่งคณะกรรมการลงคะแนนลับกัน โดยทั้ง 7 เสียงมีมติเป็นเอกฉันท์"
ด้าน รศ.สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ มองว่า บทกวีชุดนี้มีเนื้อหาทางปรัชญา มีปริศนา ให้ตีความได้หลากหลายมุมมาก ครอบคลุมโลกตะวันออกและตะวันตก สอดคล้องกับรูปแบบการประพันธ์ กระทบใจ ทำให้คิดต่อ หักมุมตอนจบ หักมุมไปหักมุมมา และมีความซับซ้อนในความคิด
ขณะที่ รศ.ดร.สรณัฐ ไตลังคะ เผยว่า "ทางคณะกรรมการสรุปว่างานชิ้นนี้มีความดีเด่นในทางเนื้อหา รูปแบบ ปรากฏการณ์ ไม่เคยมีมาก่อนในบทกวี งานเขียนชิ้นนี้มีการใช้รูปแบบบทกวีอิสระได้อย่างมีพลัง มีปรัชญา เข้าใจโลก ขณะเดียวกันก็มีพลังมากในเชิงกระตุ้นผู้อ่านทางความคิด มีพลังทางความคิดอย่างสูง ตระหนักถึงการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ เหมาะกับงานในยุคโลกาภิวัตน์ มีความเข้าใจผู้อื่น เข้าใจในความแตกต่าง มีความเข้าใจในมวลมนุษยชาติ อันนี้คือจุดสำคัญที่คณะกรรมการเห็นว่าเหมาะสมอย่างยิ่ง"
คณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกจากผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด 74 เล่ม แต่มีหนังสือไม่เข้าหลักเกณฑ์จำนวน 3 เล่ม จึงมีกวีนิพนธ์ที่ผ่านเข้าพิจารณาคัดเลือกจำนวน 71 เล่ม
โดยผลการพิจารณาคัดเลือกปรากฏว่าคณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ เสนอกวีนิพนธ์รวม 6 เล่ม ดังมีรายชื่อต่อไปนี้ ให้คณะกรรมการตัดสินพิจารณาในวาระต่อไป
1.ฉันอยากร้อง เพลงสักเพลง ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ (สำนักพิมพ์ผจญภัย)
กวีนิพนธ์เล่มนี้นำผู้อ่านไปสัมผัสชีวิตของผู้คนที่ดำรงอยู่ท่ามกลางควันปืน และไฟสงคราม ความตายที่ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา สถานที่ และเวลา ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนนั้น เป็นสิ่งที่ผู้แต่งกำลังตั้งคำถามว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ระหว่าง พระเจ้า โชคชะตา และมนุษย์ ผู้แต่งเล่าถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับผู้คนโดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดน ภาคใต้ด้วยถ้อยคำที่กระชับ ชัดเจน แต่เปี่ยมด้วยพลังกระทบใจ นอกจากการเล่าเรื่องโดยเน้นรายละเอียดของชีวิตคนในพื้นที่จะเป็นกลวิธีสำคัญ ที่ดึงผู้อ่านเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอารมณ์แห่งความสูญเสียที่เกิดขึ้นแล้ว การขัดความและการตั้งคำถามยังช่วยให้สารเข้มข้นและแฝงนัยเย้ยหยันอย่างบาด ลึกอีกด้วย
2.เดินตามรอย ของ วันเนาว์ ยูเด็น (แพรวสำนักพิมพ์)
แต่งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ด้วยเห็นว่าพระองค์ทรงมีพระราชจริยวัตรอันงดงาม และกระแสพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่พสกนิกรในโอกาสต่างๆ ล้วนเปี่ยมด้วยคติธรรมซึ่งได้แนวทางมาจากโคลงโลกนิติ ผู้เขียนจึงเลือกโคลงโลกนิติ 80 บท เพื่อให้เหมาะแก่วโรกาสอันเป็นมหามงคลนี้ นอกจากความสามารถในการคุมคำคุมความได้อย่างครบถ้วนแล้ว ผู้ประพันธ์ยังได้แสดงฝีมือนักกลอนชั้นครู แหลมคมด้วยการเลือกใช้คำที่เข้าใจง่าย ถึงพร้อมด้วยวรรณศิลป์ ไพเราะสละสลวย น่าประทับใจและน่าจดจำ เป็นวรรณกรรมที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างหมดจดงดงาม
3.ในความไหวนิ่งงัน ของ นายทิวา
เป็นกวีนิพนธ์การเมืองที่สะท้อนวิกฤตการณ์ความขัดแย้งของผู้คนในสังคมไทย โดยชี้ให้เห็นว่าวิกฤติของสังคมไทยปัจจุบันมีมูลเหตุมาจากการที่นักการเมือง (โดยเฉพาะบางคน) มุ่งผลประโยชน์ตนมากกว่าผลประโยชน์ชาติ พาให้ผู้คนในสังคมไทยแตกแยกทางความคิดจนเกิดแบ่งฝักแบ่งฝ่าย วิกฤตการณ์เช่นนี้ฉายให้เห็นถึงความไม่เข้าใจแก่นแท้ของประชาธิปไตยของคนไทย ทั้งยังฉายให้เห็นถึงการขาดจิตสำนึกของนักการเมืองที่ทำให้คนไทยตกเป็น เหยื่อของการเมือง เรื่องส่วนตน และทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมแห่งความเกลียดชัง เข่นฆ่าทำร้ายกันเองโดยขาดสติ พร้อมเสนอว่าท้ายที่สุด การมองวิกฤตินี้ด้วยปัญญาจะทำให้เห็นว่าวิกฤติครั้งนี้ จะไม่มีชัยชนะ และไม่มีใครชนะ
4.เมืองในแสงแดด ของ โกสินทร์ ขาวงาม (สำนักพิมพ์คำสมัย)
สะท้อนภาพชีวิตประจำวันที่ประทับอยู่ในใจของผู้แต่งผ่านบทร้อยกรองที่ ละเมียดละไมในอารมณ์ คล้ายผู้แต่งกำลังวาดภาพด้วยภาษา แตะแต้มรายละเอียดให้ผู้อ่านสัมผัสรับรู้ รูป รส กลิ่น เสียง ที่ผู้แต่งรู้สึก โดยภาพที่ผู้แต่งวาดไว้สะท้อนถึงพื้นหลังของชีวิตและสังคมที่รองรับ แม้เป็นเพียงภาพของคนเล็กๆ เช่น ช่างเขียนป้าย อดีตแชมป์มวย หญิงเลี้ยงวัว ช่างเครื่องเสียง พระชรา และพ่อค้าร้านของชำ หรือเพียงภาพของสถานที่ธรรมดา ล้วนบอกเล่าชีวิตร่วมสมัยของคนสามัญที่เป็นอยู่จริง แม้จะเป็นชีวิตที่ลำบากยากเข็ญ ผู้แต่งก็ยังมองเห็นแง่มุมของความงามและอารมณ์ละเมียดละไมที่กล่อมเกลาจิตใจ ให้มีแรงกำลังที่จะดำรงอยู่
5.ไม่มีหญิงสาวในบทกวี ของ ซะการีย์ยา อมตยา (สำนักพิมพ์หนึ่ง)
เป็นกวีนิพนธ์แบบไร้ฉันทลักษณ์ (free verse) ที่มีความสั้น-ยาวแตกต่างกันตั้งแต่ 11 บรรทัดจบในครึ่งหน้าจนถึงร้อยกว่าบรรทัดหลายหน้าจบ รวม 36 บท โดยสื่อประสบการณ์และทัศนะอันหลากหลายของผู้แต่ง ตั้งแต่การสำรวจตนเอง ทัศนะต่อบทบาท ธรรมชาติ หน้าที่ของกวีและกวีนิพนธ์ ไปจนถึงทัศนะต่อมนุษย์ ชีวิต ปรากฏการณ์และสถานการณ์ร่วมสมัยในสังคมทั้งในระดับบุคคลและก้าวไปถึงระดับ มนุษยชาติโดยเชิญชวนให้ผู้อ่านร่วมคิดไปกับเขา แต่ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ผู้อ่านและผู้แต่งมองเห็นหรือค้นพบอาจไม่ใช่สิ่ง หรือคำตอบเดียวกัน
6.รูปฉายลายชีพ ของ โชคชัย บัณทิต' (สำนักพิมพ์มิ่งมิตร)
รวมบทกวีนิพนธ์ 56 บท ระหว่างช่วงปลายปี 2541 จนถึงต้นปี 2553 กวีนิพนธ์แต่ละบทแม้จะแต่งขึ้นต่างกรรมต่างวาระ แต่ได้ผ่านการคัดสรรและจัดลำดับภายในกรอบของโครงเรื่อง 'รูปเล่าเรื่อง' โดย 'รูป' ในที่นี้มีทั้งภาพวาด ภาพถ่าย ภาพในจินตนาการ ภาพที่ได้พบเห็น ภาพในความทรงจำ ฯลฯ ซึ่งสะท้อนถึง 'เรื่อง' อันได้แก่ชีวิตหลากหลายแง่มุมที่หลายคนอาจจะมองข้ามออกมาอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นหญิงบ้า หมอดู คนใบ้หวย เด็กขายของ ขโมย หรือพระ โดย 'ชีวิต' เหล่านี้มีทั้งที่เจาะจงเฉพาะชีวิตใครคนใดคนหนึ่งและชีวิตของผู้คนที่มารวม กันในที่นั้นๆ ด้วยเหตุผลต่างๆ กันในกวีนิพนธ์แต่ละบท
กรุงเทพธุรกินออนไลน์
ผู้จัดการออนไลน์
กระปุก
ซะการีย์ยา อมตยา
Thaipoem
OK.nation
ตัวอย่างบทกวีของซะการีย์ยา อมตยา
ผลิบานจากคาบสมุทรมลายู
เธออาจ ถามฉันว่า บุหงาของฉันหายไปไหน
มาตุภูมิของฉันอยู่แห่งหนใด
ฉันมีความภักดีต่อราชอาณาจักรแห่งนี้หรือไม่
ฉันจะมีชีวิตเยี่ยงไรในประเทศที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม
ฉันจะยืนเคียงข้างฝ่ายใดในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ไป
นี่คือเรื่องราวที่ฉันได้พบเห็น
ฉันมาจากคาบสมุทรมลายู
ดินแดนแห่งความรัก สันติภาพและแรงบันดาลใจ
ตาของฉันเป็นช่างไม้ ส่วนยายเย็บปักถักร้อย
ฉันเติบโตในหมู่บ้านเล็กเล็กริมตีนเขาบูโด
ในท่ามกลางนิทานพื้นบ้านและเรื่องเล่าจากอัลกุรอาน
ทุกวันฉันพูด ร้องไห้ และหัวเราะ
ด้วยภาษาแม่ของฉัน
บทสนทนายามเช้าที่ร้านน้ำชา
ราวสำนักข่าวอิสระประจำท้องถิ่น
ถ่ายทอดเรื่องราวจากที่ห่างไกล
ในสรรพสำเนียงของเรา
ฉันมาจากคาบสมุทรมลายู
ดินแดนแห่งความรัก สันติภาพและแรงบันดาลใจ
เสียงปืนในภาษาของฉันและเธอแตกต่างกัน
เมื่อเสียงปืนแตกโป้งโป้งหนังสือพิมพ์ลงข่าวปังปัง
นกดุเหว่า บรรพบุรุษของฉันเรียกบุหรงตูโว
คำว่า เลือด น้ำตา ผู้ปกครอง และการกดขี่
เมื่อเปล่งออกมาจากปากของฉันด้วยภาษาของเธอ
ความหมายและการตีความจึงกัดกร่อนความจริง
ฉันไม่ได้ร่วมสร้างถ้อยคำเหล่านี้
กระนั้นฉันยังคงฝันที่จะถักทอความในใจ
และจินตนาการของฉันด้วยภาษาของเธอ
แม้ที่สุดภาษาของเธอ
เป็นได้เพียงภาษาที่สองของฉันก็ตาม
ฉันมาจากคาบสมุทรมลายู
ดินแดนแห่งความรัก สันติภาพและแรงบันดาลใจ
บางทีเธออาจสงสัยในตัวฉัน
แต่ศาสนาของฉันสอนให้มองโลกในทางดี
ให้เชื่อฟังผู้ปกครองอันเปี่ยมธรรม
ให้ต่อสู้กับความอยุติธรรม
และให้กล่าวความจริงเบื้องหน้าผู้ปกครองที่อธรรม
ไม่ต้องกลัวว่าฉันจะก่อการกบฏ แบ่งแยกดินแดน
ไม่ต้องกลัวว่าฉันจะขัดขืนยื้อแย่งอำนาจรัฐ
เพียงเธอยื่นมือที่ปราศจากเขม่าดินปืน
ฉันจะหอบดอกไม้จรุงกลิ่นหอมยื่นให้
แต่หากมือนั้นเปื้อนเลือดที่แห้งกรังของผู้คนไซร้
ฉันจะโบกธวัชแห่งเมล็ดข้าว
ร่วมต่อต้านกับผืนแผ่นดิน
แม้ที่สุดความปราชัยจะเป็นทางเลือกสุดท้าย
“ ซะการีย์ยา อมตยา ”