![]() |
![]() |
ทิดอินทร์![]() |
...และด้วยความผิดพลาดในการดำเนินอุบาย ต่อพระเจ้าชัยอินทรวรมันแห่งอาณาจักรจามปา ที่พระองค์ทรงวางแผนลวงให้กองทัพจามปายกกำลัง เข้าล้อมเมืองพระนครไว้ โดยพระองค์จะส่งกำลังเข้าช่วยเช่นกัน ด้วยเงื่อนไขที่ว่าเมื่อยึดเมืองพระนครได้แล้วจะทำการแบ่งสมบัติในท้องพระคลังแล...
ตอน : บทที่ ๑๒
พระราชวังหลวง เมืองนครมหิธรปุระแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะโรง ยามเช้า
แสงแดดอ่อนสาดต้องม่านระย้าที่ผูกมัดริมบัญชรแห่งท้องพระโรง สายลมเย็นโชยอ่อน พัดพาความเย็นลูบไล้ทุกสรรพสิ่งทั่วบริเวณอย่างแผ่วเบา เหล่ามหาอำมาตย์ ปุโรหิต แม่ทัพทหารและขุนนางประจำจตุสดมย์ทั้งสี่ต่างนั่งนิ่งเงียบ มีแต่เพียงเสียงหักใบพลูที่เหล่านางสนมบรรจงม้วนหมากแต่พอคำ ส่งยื่นถวายให้แก่พระเจ้าหรรษาวรมัน
"ข่าวสารที่ส่งมาจากเมืองพระนครว่าอย่างไร"
พระเจ้าหรรษาวรมันทรงตรัสทำลายความเงียบขึ้นทันที หลังจากลิ้นได้รับรสคำหมากจนชื่นพระทัย ความเคร่งเครียดกดดันในหมู่ข้าราชบริพารที่เกรงกลัวต่อพระราชอำนาจจึงค่อยลดน้อยลงมา
กษัตริย์แห่งนครมหิธรปุระพระองค์นี้ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยความเด็ดขาด หลังจากที่ทรงพ่ายแพ้สงครามชิงเมืองพระนครศรียโสธรปุระให้แก่พระเจ้าชัยวรมันที่หก ความแค้นครานั้นส่งผลให้พระองค์ทรงเก็บความพิโรธคุกรุ่นอยู่ในพระอุระตลอดเวลา
"ขณะนี้พระเจ้าธรณินทรวรมัน ทรงพระราชดำเนินไปยังเมืองกัมโพชเพื่อทรงร่วมงานเลี้ยง ฉลองชัยชนะที่เมืองพระนครศรียโศธรปุระมีชัยเหนือกองทัพอาณาจักรจามปา แล้วให้มหาอำมาตย์พิษณุ และปุโรหิตย์กชกร ร่วมกันกำกับเมืองพระนคร" มหาอำมาตย์กรกฎ รายงานข่าวสารตามที่ได้รับจากพิราบ
"กำลังทหารที่อยู่รักษาเมืองพระนครมีเหลืออยู่ประมาณเท่าใด"
"กำลังทหารของเมืองพระนครเองนั้น ตามที่ผู้แทรกซึมของเรารายงานมาว่ามีอยู่ประมาณสองหมื่นเศษ เมื่อรวมกับทหารเมืองวิมายปุระ อันพระเจ้าธรณินทรวรมันทรงเรียกเข้ามาช่วยรักษาเมืองพระนครอีกแปดพันคน คาดว่าทำให้เมืองพระนครจะมีกองกำลังทหารที่รักษาเมืองอยู่ทั้งสิ้นสามหมื่นกว่าคน"
"ไพร่พลเราเมื่อรวมกับกำลังเชลย ที่กวาดต้อนมาได้จากเมืองสะเกษและเมืองประทายมีกำลังกว่าสี่หมื่น หากเราบุกโจมตีรุกเข้าเอาเมืองโดยเฉียบพลันนั้น อาจจะยึดเมืองพระนครของเราให้กลับคืนมาได้" พระเจ้าหรรษาวรมันทรงตรัสคล้ายปรึกษาต่อเหล่าเสนาอำมาตย์คล้ายรำพึงรำพันต่อพระองค์เอง
ปุโรหิตพยุห์ มหาพราหมณ์เฒ่า ผู้ซึ่งเคยเข้ารับตำแหน่งมหาพราหมณ์แห่งเมืองพระนครศรียโศธรปุระ แทนที่มหาพราหมณ์ทิวกรปัณฑิต เมื่อสิ้นรัชกาลของพระเจ้าสุริยวรมันที่หนึ่ง และรับใช้ราชสำนักตั้งแต่ครั้งแผ่นดินพระเจ้าอุทัยทิตย์วรมันที่สอง พระเชษฐาของพระเจ้าหรรษาวรมัน เมื่อได้ยินว่าพระองค์ใคร่ก่อสงครามชิงเมืองพระนครคืนกลับมา ก็เกิดหวาดหวั่นใจจนรีบถวายบังคมกล่าวว่า
"การจะยกไพร่พลเข้าโอบล้อมเมืองพระนครในขณะนี้นั้น ข้าพเจ้าคิดว่ายังมิใช่เวลาอันควรเพราะหนทางที่จะได้ประโยชน์นั้นเพียงน้อยนิด ในขณะที่โอกาสที่จะเสียประโยชน์นั้นมีอยู่มากมาย"
ได้ยินเช่นนั้นพระเจ้าหรรษาวรมันจึงทรงขมวดคิ้วนิ่วหน้าตรัสขึ้นว่า
"หนทางที่ได้ประโยชน์และหนทางที่เสียประโยชน์นั้น เป็นเช่นไร ท่านโปรดอธิบายให้เราฟังสักครา"
"หนทางได้ประโยชน์เพียงน้อยนิดที่ข้าพเจ้ากล่าวนั้นหมายถึง โอกาสที่กองทัพพวกเรายกเข้าปล้นเอาเมืองพระนครได้นั้นมีอยู่เพียงน้อยนิด เพราะต้องใช้โชคช่วยสถานเดียว ด้วยเพราะกองทัพของเราต้องเร่งเดินทางไกลเข้าโจมตีเมืองพระนครโดยเฉียบพลัน แม้นว่ากองทัพเราจะมีไพร่พลมากกว่าเกือบกึ่งหมื่น แต่คูค่ายกำแพงเมืองนั้นกลับแน่นหนามั่นคง ประกอบกับไพร่พลของเราต้องตรากตรำเดินทางไกลและส่วนใหญ่ล้วนเป็นเชลยต่างเมืองที่ถูกต้อนมา อันน้ำใจที่จะรบพุ่งเอาชัยถวายพระองค์นั้น ย่อมต่างจากทหารหลักของเมืองเรา ประกอบกับนับตั้งแต่เมืองพระนครเกิดสงครามกับเมืองเราและเมืองจามปานั้น จึงได้จัดสร้างหอไฟระวังเหตุอยู่เป็นระยะ และจัดผู้คนเข้าประจำการณ์ตลอดเวลา เมื่อหากพบการเคลื่อนไหวของกองทัพใด ก็จะจุดไฟในกระถางเพลิงส่งสัญญานต่อกันเป็นระยะไป ดังนั้นการที่เราจะยกทัพเข้าประชิดกำแพงเมืองนครโดยมิให้ตั้งตัวได้นั้น มีเพียงสถานเดียวคือ การยกกองทัพทางเรือลงทะเลแล้วจึงค่อยวกกลับมาตามลำน้ำเข้าสู่ทะเลสาบเขมร เช่นเดียวกับที่กองทัพเมืองจามปาเคยกระทำ แต่การเช่นนั้นเป็นไปได้ยากจริงๆ"
"ส่วนการที่ข้าพเจ้ากล่าวว่าหนทางเสียประโยน์นั้นมีมากมาย ด้วยชัยภูมิของเมืองนครมหิธรปุระเรานั้น อยู่กึ่งกลางของก้อนเส้าในอาณาจักรทั้งสามอันได้แก่ อาณาจักรพนม อาณาจักรจามปาและอาณาจักรกัมพูชาแห่งเมืองพระนคร เมื่อเรายกไพร่พลไปและทิ้งกำลังอันเหลือน้อยไว้รักษาเมือง ก็ย่อมจะกลายเป็นเหยื่ออันโอชะให้แก่อาณาจักรพนมและอาณาจักรจามปา โดยเฉพาะอาณาจักรจามปานั้นยิ่งมีความอาฆาตแค้นต่อนครเรา ที่เคยทำอุบายให้เข้าล้อมเมืองพระนครด้วยกัน แต่เรามิได้นำกำลังเข้าช่วย หากเมื่อเห็นว่าเรายกกำลังไปเอาเมืองพระนคร พระเจ้าชัยอินทรวรมันแห่งอาณาจักรจามปา ย่อมถือเป็นโอกาสยกกำลังเข้ามาเอาเมืองมหิธรปุระของเราแห่งนี้ทันที"
กล่าวจบปุโรหิตพยุห์ก็นั่งสงบนิ่ง สองดวงตาจับจ้องพระพักต์พระเจ้าหรรษาวรมัน บรรดาเหล่าเสนาอำมาตย์ต่างรับรู้ดีว่า มีเพียงปุโรหิตนี้เพียงผู้เดียวเท่านั้นที่จะสามารถทัดทานพระองค์ได้
พระเจ้าหรรษาวรมันได้ยินเช่นนั้นจึงหลบสายพระเนตรลงนั่งตรึกตรอง อันความชำนาญเรื่องการพิชัยสงครามของปุโรหิตย์พยุห์นั้น พระองค์ย่อมทรงทราบดี ด้วยเป็นปุโรหิตย์ผู้นี้เอง ที่เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชบัลลังค์แห่งเมืองพระนครศรียโศธรปุระสืบทอดราชวงศ์ศรวะ ต่อจากพระเจ้าอุทัยทิตย์วรมันที่สอง เคยเสนอให้พระองค์ทำการยกกำลังเข้าปราบปรามกำจัดพระเจ้าชัยวรมันที่หกแห่งราชวงศ์มหิธร ก่อนที่จะสามารถรวบรวมอำนาจเข้าต่อกรกับพระองค์ได้ แต่ครั้งนั้นพระองค์กลับมิยอมเชื่อฟังด้วยความประมาท และเห็นแก่ที่การพระเจ้าชัยวรมันที่หกก็ทรงเป็นเชื้อพระวงศ์จันทราของฝ่ายพระราชมารดา จึงทำให้พระองค์ทรงเพิกเฉย แล้วหันไปสนใจปราบปรามแต่กลุ่มอำนาจกลุ่มอื่นๆ กระทั่งสุดท้ายทุกอย่างล้วนเป็นไปตามที่ปุโรหิตพยุห์เคยคาดการณ์ไว้ เมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่หกทรงกำลังทำทีจะออกจากเมืองไปปราบปราบพวกจามปาที่แข็งเมือง แต่แล้วกลับยกไพร่พลวกกลับเข้าโจมตีเมืองพระนคร จนพระองค์ต้องหลบหนีพาเหล่าขุนนางผู้จงรักไปหลบซ่อนซ่องสุมผู้คนอยู่เมืองสะเกษชายแดนติดต่อกับอาณาจักรพนม
และด้วยอุบายอันอำมหิตของปุโรหิตผู้นี้เช่นกัน ที่แจ้งให้พระองค์ทรงยกทัพเข้ามาตีเมืองนครมหิธรปุระแห่งนี้ แล้วใช้ครอบครัวไพร่พลเชลยที่จับได้เป็นตัวประกัน บังคับให้ทหารเมืองมหิธรปุระจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับอีกฝ่ายซึ่งเป็นญาติพี่น้องกันเอง แล้วใช้พระประยูรญาติของพระเจ้าชัยวรมันที่หก เป็นตัวประกันในการต่อรองขอสงบศึกจนเป็นผลสำเร็จ
และด้วยความผิดพลาดในการดำเนินอุบาย ต่อพระเจ้าชัยอินทรวรมันแห่งอาณาจักรจามปา ที่พระองค์ทรงวางแผนลวงให้กองทัพจามปายกกำลังเข้าล้อมเมืองพระนครไว้ โดยพระองค์จะส่งกำลังเข้าช่วยโจมตีเช่นกัน ด้วยเงื่อนไขว่าเมื่อยึดเมืองพระนครได้แล้วจะทำการแบ่งสมบัติในท้องพระคลังและแผ่นดินภายใต้อาณาจักรกัมพูชาคนละกึ่ง
แต่ครั้นเมื่อถึงเวลา พระองค์กับแสร้งให้กองทัพหยุดยั้งรีรอมิได้รีบเร่งเดินทาง แล้วกลับปล่อยให้ทัพเมืองจามปาเข้าล้อมเมืองพระนครโดยลำพัง โดยคาดว่าหากกองทัพเมืองจามปารบชนะเมืองพระนครได้ ก็ย่อมที่จะต้องสูญเสียเหล่าทหารมิใช่น้อย เมื่อเป็นเช่นนั้นพระองค์จึงค่อยนำกองทัพเข้าโจมตียึดเมืองพระนครจากกองทัพจามปาอีกที
แผนครั้งนั้นแม้นว่าแลดูแยบยล แต่ปุโรหิตพยุห์กลับทัดทานขอให้พระองค์เร่งนำกองทัพเข้าช่วยกองทัพจามปาโจมตี ด้วยเกรงว่าลำพังกองทัพทหารจามปาซึ่งขาดระเบียบวินัย เป็นเพียงกองกำลังชาวทะเลอันหยาบกร้าน จะมิอาจต้านทานกองทัพเมืองพระนครได้ แต่พระองค์กลับทรงดื้อดึงมิยอมฟังคำ
ส่วนกองทัพจามปา แม้เห็นว่ากองทัพพระเจ้าหรรษาวรมันมิได้ยินยอมเร่งติดตามเข้ามาช่วยล้อมเมืองพระนคร แม่ทัพใหญ่เหงียนจงแห่งกองทัพจามปาก็มิได้ติดใจสงสัย ด้วยเหยียดหยามว่าพระองค์ทรงเกิดความขลาดเขลากลัวตายประกอบกับผลของการสู้รบนั้น ได้รับชัยชนะติดต่อกันหลายครา จึงมิได้ส่งคนเข้าไปเร่งกองทัพของพระองค์ให้รีบติดตามมา
จนกระทั่งในที่สุด เมื่อเจ้าขุนหาญนั้นยกกองทัพเข้าจู่โจมกระทันหันจนกองทัพจามปาแตกพ่ายกระเจิดกระเจิงผิดแผนการตามที่วางเอาไว้ ครั้นพระองค์จะทรงยกทัพเข้าโจมตีเมืองพระนครต่อก็มิกล้า ด้วยไม่ทราบว่าจำนวนกองกำลังที่เจ้าขุนหาญยกมาช่วยนั้นมีจำนวนเท่าใด อีกทั้งเกรงว่าเมื่อกองทัพจามปาพลาดจากเมืองพระนครแล้ว จะพากันยกทัพเข้ายึดเอาเมืองนครมหิธรปุระแทน ดังนั้นทั้งหมดจึงต้องเร่งยกกองทัพเดินทางกลับเพื่อรักษาเมืองเอาไว้
หลังความปราชัยในครั้งนั้น แม่ทัพใหญ่เหงียนจงจึงกราบทูลต่อพระเจ้าชัยอินทรวรมันว่า อันความพ่ายแพ้ที่ได้รับมานั้น มีเหตุเพราะกองทัพของเมืองนครมหิธรมิยินยอมเข้าช่วยเหลือตามที่เจรจาตกลงกันไว้ พระเจ้าชัยอินทรวรมันจึงทรงพระพิโรธโกรธแค้นเป็นอย่างมากและทรงประกาศอาฆาตเอาไว้ ดังนั้นพระองค์จึงต้องตกที่นั่งลำบาก ด้วยต้องระมัดระวังศึกจากทั้งสามด้านตามที่ปุโรหิตพยุห์กล่าวทัดทานเอาไว้
ซึ่งความเป็นจริงแล้ว เหตุผลตามที่ปุโรหิตพยุห์ได้กล่าวอธิบายมานั้น ใช่ว่าพระเจ้าหรรษาวรมันจะมิได้คาดคำนวนไว้ก่อน เพียงแต่ความอาฆาตที่ใคร่จักได้เมืองคืนทำให้พระองค์ทรงลืมตระหนักไปชั่วคราว
"เช่นนั้นเราสมควรทำเช่นไร" พระองค์ทรงเอ่ยถามน้ำเสียงราบเรียบ
"มิต้องกระทำอันใด เพียงแต่พระองค์ทรงอดทนและรอคอยดุจเดิม ขณะนี้คนของข้าพเจ้ารายงานมาว่า เจ้าขุนตะวันราชบุตรบุญธรรมของพระเจ้าธรณินทรวรมันนั้น มีจิตใจริษยาต่อเจ้าขุนหาญแห่งเมืองราดอยู่ ด้วยความหวาดระแวงว่าพระเจ้าธรณินทรวรมัน จะทรงยกราชบัลลังค์ให้แก่เจ้าขุนหาญราชบุตรเขย อีกทั้งเจ้าขุนตะวันนั้นมีความอาฆาตต่อพระองค์เป็นยิ่งนักเพราะพระองค์ทรงเป็นผู้เข้ายึดเมือง ต้นเหตุให้พระราชบิดาและพระราชมารดาของเจ้าขุนตะวันต้องสิ้นพระชนต์ ดังนั้นเจ้าขุนตะวันจึงใคร่ได้ราชบัลลังค์ เพื่อจะได้สามารถบัญชาการกองทัพอาณาจักรกัมพูชาเข้ามาโจมตีล้างแค้นให้กับพระราชบิดาและพระราชมารดาของเจ้าขุนตะวัน และข้าพเจ้าคาดการเอาไว้ว่า อีกคงมินาน ไฟอาฆาตของเจ้าขุนตะวันจะลุกโชนโชติช่วงขึ้นเผาพลาญเมืองพระนครให้เกิดความวุ่นวายและอ่อนแอลงก่อน จากนั้นเราค่อยโจมตียึดเมืองพระนครกลับคืนมา"
ปุโรหิตพยุห์กล่าวอธิบายยืดยาวอย่างแช่มช้า พระเจ้าหรรษาวรมันจึงพลันเข้าใจแล้วทรงแย้มพระสรวลออกมา