![]() |
![]() |
ทิดอินทร์![]() |
ตอน : บทที่ ๖
สถานีการค้าสาขาด่านขุนทดแรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง ยามเช้า
รุ่งขึ้นวันถัดมาซุนปุ๊กก่ายรีบรุดมาตรวจดูอาการแต่เช้าอีกครา ขากลับออกมาซุนปุ๊กก่ายกลับมีสีหน้าแช่มชื่นขึ้น และบอกให้ทุกคนวางใจ
ตลอดวันไร้เรื่องราวใดกระทำ ผู้คนในกองคาราวานส่วนใหญ่จึงพักผ่อนเอาแรงและตรวจตราความเรียบร้อยของเล่มเกวียน เว้นแต่เจ้าขุนหาญและสี่องครักษ์สหายคู่ใจ ต่างควบขี่ม้าติดตามซุนยี่หลงออกไปชมดูฟูงม้าที่คอกเชิงเขา
แต่เดิมซุนเส้าหลงผู้เป็นบิดา ได้นำม้าสายพันธุ์มองโกลจากนอกกำแพงใหญ่มาผสมกับสายพันธุ์พื้นเมือง เนื่องจากม้าจากนอกกำแพงมีลักษณะรูปร่างสูงใหญ่ ช่วงขายาวและมีฝีเท้าปราดเปรียว แต่พ่อพันธุ์ที่คัดสรรแล้วทั้งสิ้นสามสิบตัว เมื่อบรรทุกขึ้นเรือกลับเสียชีวิตตั้งแต่อยู่บนเรือเสียสิบแปดตัว เหลือเพียงสิบสองตัวที่รอดมาถึงเมืองอโยธา แต่อยู่ได้ไม่ถึงครึ่งปี พ่อพันธุ์ที่เหลือก็เสียชีวิตทั้งหมด เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับ อากาศที่ชุ่มชื้นเข้มข้นของเขตภูมิภาคนี้ได้
ทางซุนเส้าหลง จึงได้มีหนังสือ แจ้งขอให้ทางราชสำนักพระเจ้ากรุงจีนจัดส่งพ่อพันธุ์มาใหม่ แต่ครานี้ทางราชสำนัก กลับคัดสรรพ่อพันธุ์จากเขตแดนกังหนำจำนวนสามสิบตัว เพราะเนื่องจากมีภูมิอากาศในถิ่นนี้ ไกล้เคียงกับทางอโยธยา ครั้งนี้ม้าพ่อพันธุ์ที่จัดส่งมา กลับรอดชีวิตจากบนเรือมาได้ทั้งหมด แต่มาเสียชีวิต เมื่อถึงเมืองอโยธยาแล้วจำนวนแปดตัว
ซุนเส้าหลงจึงผสมพ่อพันธุ์ที่เหลือกับแม่พันธุ์ที่คัดสรรแล้ว ในเขต อโยธยาและเมืองไกล้เคียง จากนั้นคัดเลือกรุ่นลูกที่มีลักษณะดีผสมพันธุ์กันต่ออีกสองรุ่น จึงได้ม้าที่รูปร่างเล็กกว่าพ่อพันธุ์จากกรุงจีน แต่ก็สูงใหญ่ สง่างามและปราดเปรียว กว่าม้าพันธุ์พื้นเมือง จึงทำให้ม้าของซุนเส้าหลงเป็นที่นิยมในหมู่เจ้าเมืองต่างๆ ที่ต้องการมีไว้ประดับบารมี และใช้เป็นม้าศึกในกองทัพ
การเพาะพันธุ์ม้า จึงเป็นสินค้าที่สำคัญอีกรายการหนึ่ง ที่ทำรายได้ให้แก่สถานีเป็นอย่างงาม เมื่อสิ้นซุนเส้าหลง ซุนตั่วหลงบุตรคนโต ไม่ชำนาญการเลี้ยงม้า จึงได้มอบฝูงม้าทั้งหมด ให้ซุนยี่หลงผู้น้องเป็นผู้ดูแล ซุนยี่หลงจึงได้โยกย้ายฝูงม้าทั้งหมด มาพร้อมกับการตั้งสถานีการค้าที่ด่านขุนทดนี้
ด้วยความใส่ใจจึงใช้เวลาเพียงสิบปีก็สามารถเพาะพันธุ์ม้าลักษณะดีได้ถึงสี่ร้อยห้าสิบตัว แต่กลับเลือกคัดสรรเฉพาะม้าที่มีลักษณะชั้นเลิศได้หนึ่งร้อยห้าสิบตัว แล้วมอบทั้งหมดนั้นให้แก่เจ้าขุนหาญ เพื่อเป็นการตอบแทนที่เคยได้ช่วยชีวิตของซุนยี่หลงไว้
คอกม้าของซุนยี่หลงเลือกทำเลได้อย่างดีเยี่ยม แลเห็นเป็นที่ลาดเอียงปกคลุมไปด้วยผืนหญ้าสีเขียวขจี สลับกับดอกกระดุมทองสีเหลืองกระจ่างพร่างพรายเต็มผืนดิน ด้านล่างมีลำธารกรวดขนาดเล็กที่มีน้ำจากภูเขาไหลผ่านตลอดทั้งปี ข้างลำธารปลูกไว้ด้วยเพิงยาวสำหรับให้ม้าหลบแดดฝน อยู่สิบกว่าหลัง และระหว่างแต่ละหลังนั้น ก็ปลูกเรือนพักสำหรับผู้ดูแลคอกม้าเพื่อให้สามารถดูแลฝูงม้าแต่ละฝูง ที่ตนเองรับผิดชอบได้อย่างไกล้ชิด
เจ้าขุนหาญชักชวนเหล่าองครักษ์สำรวจดูอย่างถี่ถ้วน และให้ทุกคนช่วยกันจดจำ พร้อมทั้งซักถามรายละเอียดต่างๆจากซุนยี่หลง เพื่อที่จะนำไปเป็นแบบอย่างในการสร้างฝูงม้าที่เมืองราด
"ผืนดินที่ลาดเอียง เพื่อระบายน้ำอย่างรวดเร็วมิให้ท่วมขัง ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคอื่นๆติดตามมาได้ อีกทั้งนิสัยของม้าชอบที่ราบกว้าง ไม่ชอบที่ชื้นแฉะ มันอาจจะชอบเล่นน้ำบ้างเป็นบางครั้งคราว แต่นิสัยโดยทั่วไป ชอบโลดแล่นอยู่บนทุ่งกว้างมากกว่า"
ซุนยี่หลงอธิบาย ทั้งหมดจึงร้องอ้อและเข้าใจว่าเหตุใด คอกม้าจึงต้องเลือกทำเลมีลักษณะที่ผิดแผกแตกต่างจากคอกควาย ที่ต้องมีปลักไว้ให้มันนอนแช่ แต่ดูไปก็คล้ายคลึงกับเพนียดช้างของเจ้าขุนหาญ แต่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและคำนึงถึงการกินการอยู่ของมันมากกว่าช้าง ที่ปล่อยให้มันหากิน ต้นไม้ใบหญ้าในป่า ตามอัธยาศัย
"นอกจากหญ้าและน้ำที่สะอาดสมบูรณ์แล้ว เรายังต้องใช้สมุนไพรป้อนให้แก่ม้าเพื่อป้องกันบำรุงร่างกายและรักษาโรคบางชนิด ซึ่งเราได้ทำแปลงเพาะปลูกไว้ที่ปลายลำธารท้ายคอกม้า ขากลับจากรับเชลยที่เมืองกัมโพชแล้ว ให้ท่านมาแวะรับต้นกล้าไป เราให้คนจัดเตรียมไว้ให้ครบครัน"
กล่าวเสร็จ ก็ชักม้านำทั้งหมดควบเหยาะย่างไปยังแปลงสมุนไพร จนกระทั่งถึงยามบ่าย ดวงตะวันทอแสงแผดกล้า ทั้งหมดจึงพากันกลับสถานี
เมื่อวันที่ : ๒๐ ต.ค. ๒๕๕๓, ๒๓.๓๐ น.
อิงประวัติศาสตร์หรือเปล่าครับ?
ผมตามอ่านมาถึงบทนี้แล้ว รู้สึกคล้าย ๆ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
เขียนต่อนะครับอ่านเพลินดี