![]() |
![]() |
ทิดอินทร์![]() |
ตอน : บทที่ ๑
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
หกเดือนต่อมา
บนเส้นทางระหว่างเมืองศรีจนะศะสู่เมืองกัมโพช(ละโว้)
แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ปี มะโรง ยามสาย
ผืนแผ่นฟ้ายามต้นฤดูหนาว ทอสีครามที่ปราศจากก้อนเมฆ ตัดกับสีเขียวของแมกไม้บนขุนเขาและตลอดสองฝั่งฟากของลำน้ำ ที่ทอดตัวยาวคดเคี้ยวดุจดั่งพญานาคราช ให้ความรู้สึกสงบและลึกลับยิ่งนัก
เสียงดังกุ๊บกั๊บ ผสานกับเสียงดัง เอี๊ยด อ๊าด ของล้อวัวเทียมเกวียนทั้งยี่สิบหกเล่ม ที่บรรทุกครอบครัวเจ้าขุนหาญ และหมู่ขุนองครักษ์สหายสนิท มุ่งหน้าสู่เมืองกัมโพช
"ในที่สุดวันที่พวกเรารอคอยก็มาถึง"
เจ้าขุนหาญผู้ซึ่งร่างกำยำสูงใหญ่ สวมผ้าฝ้ายเนื้อหยาบสีน้ำหมาก ไหล่ขวาคาดคันธนูมาทางซ้ายไขว้ทับกับกระบอกลูกศร มือขวากระชับหอกยาวหกศอก ยืดอกตรงบนหลังอานม้าเอ่ยขึ้นด้วยสีหน้าภาคภูมิใจ
"หากมิใช่ความเสียสละของบิดาท่านและตัวท่าน พวกเราก็คงมิอาจที่จะมีวันนี้ได้"
ขุนเคนแห่งบ้านป่าแดงเอ่ยขึ้นด้วยสำนึกขอบคุณ
"นี่กลับต้องขอบคุณ เหล่าพี่น้องของพวกเราทุกคนที่ร่วมกันพลีชีพ จึงได้มาซึ่งเกียรติและการยอมรับ จากพระเจ้าธรณินทรวรมันที่รับรองฐานะของพวกเราให้เป็นเมืองพันธมิตร มิใช่เมืองขึ้น ของเมืองพระนคร" เจ้าขุนหาญตอบ น้ำเสียงอ่อนโยน เส้นผมยาวสีดำที่เหลือจากการมวยบนศรีษะนั้น สยายไปตามจังหวะของกระแสลมที่กระทบต้อง
"สามปีนี้ที่เราได้เกณฑ์อาสาสมัคร เหล่าพี่น้องของพวกเราไปช่วยพระเจ้าธรณินทรวรมันทำสงคราม จนสามารถขับไล่พวกจามปา ที่เข้ามาล้อมเมืองพระนครออกไปได้ ก็เท่ากับช่วยพวกเราเอง เพราะหากปล่อยให้พวกจามปาเข้าครองเมืองพระนครได้ อีกไม่นานพวกมันก็คงจะกองทัพเข้ามากวาดต้อนโจมตีพวกเรา ให้เป็นเมืองขึ้นของมัน"
เจ้าขุนหาญย้ำ ให้ทุกคนเข้าใจถึงเหตุผลที่ต้องเข้าร่วมสงคราม โดยการเลือกเข้าร่วมกับเมืองพระนครของหมู่เขมร ต่อสู้กับอาณาจักรจามปานั้นเท่ากับเป็นการสร้างปราการป้องกันตนเอง จากการรุกรานของกษัตริย์เมืองจามปา ที่กำลังแผ่แสนยานุภาพ เหมือนน้ำป่าไหลหลาก เข้ากลืนกินบ้านเล็กเมืองน้อยของเมืองชวาในแถบลุ่มน้ำโขง และเข้าคุกคามหัวเมืองต่างๆในลุ่มน้ำมูล และเขตแคว้นแดนทิศตะวันออก ซึ่งเป็นรัฐภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรกัมพูชา
เหลือเพียงกลุ่มเมืองที่เกิดใหม่ ในแถบลุ่มน้ำป่าสักแห่งนี้เท่านั้น ที่แต่ละเมืองเป็นอิสระต่อกัน มีความสัมพันธ์อันดี และต่างล้วนพึ่งพาอาศัยกันในการแลกเปลี่ยนสินค้า บนเส้นทางการค้าจากฝั่งอ่าวตังเกี๋ยสู่เมืองชายทะเลในเขตอ่าวเมาะตะมะ
โดยแต่ละเมืองเริ่มต้นขึ้นจากจุดพักของขบวนสินค้า หรือแหล่งรวบรวมสินค้าทรัพยากร แล้วจึงค่อยๆพัฒนาตนเองมาเป็นหมู่บ้าน ชุมชนและกลายเป็นเมือง ซึ่งแต่ละเมืองมีประชากรไม่เกินสามสี่พันหลังคาเรือน
และเมืองต่างๆจะมีการคัดเลือกผู้นำของตนเอง ที่เรียกว่า"เจ้าขุน" โดยส่วนใหญ่แล้วจะสืบทอดตำแหน่งตกทอดกันในสายเลือด นานๆครั้ง จึงจะมีการเปลี่ยนแปลงจากเจ้าขุนผู้หนึ่ง ไปสู่อีกผู้หนึ่งในขณะที่มีชีวิตอยู่ เนื่องจากเจ้าขุนคนเดิมขาดการยอมรับจากชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านจะหันไปสนับสนุนเจ้าขุนคนใหม่ ที่มีความสามารถและได้รับความนับถือมากกว่า เข้ามาเป็นผู้นำ แทนเจ้าขุนคนเดิมที่ถูกชาวบ้านถอดถอนออกไป
หลังจาก"เจ้าขุนภูไท"ผู้เป็นบิดา เสียชีวิตในการเข้าช่วยกองทัพเมืองพระนครศรียโศธรปุระ ของพระเจ้าธรณินทรวรมันแห่งอาณาจักรกัมพูชา โจมตีขับไล่ทหารจามปาที่เมืองวิชัย "เจ้าขุนหาญ"บุตรโทนจึงรับสืบทอดตำแหน่ง เป็นเจ้าขุนคนที่ยี่สิบสามแห่งเมืองราด นับตั้งแต่เจ้าขุนปู่จ้าว ผู้เป็นบรรพบุรุษ ได้อพยพพาผู้คนหนีสงครามระหว่างเมืองจันทราและเมืองพนม พร้อมกับเจ้าขุนบรม
โดยเจ้าขุนบรมพาผู้คนอพยพขึ้นทางตะวันตกเฉียงเหนือ แล้วสร้างอาณาจักรล้านช้างขึ้นมา ส่วนเจ้าขุนปู่จ้าวพาผู้คนอพยพผู้คนไปยังทิศตะวันตกเฉียงใต้มาตั้งบ้านเมือง แล้วเลือกทำเลที่ตั้งให้ลำน้ำป่าสักอยู่ทางทิศตะวันออก วางตัวทอดยาวจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ ให้เป็นปราการธรรมชาติในการป้องกันศัตรู และใช้เป็นเส้นทางในการติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้ากับเมืองทางใต้ เช่น เมืองสุพรรณภูมิ เมืองอโยธยา เมืองศรีจนะศะ เมืองเพรียว และเมืองกัมโพช(ละโว้)
ส่วนด้านทิศตะวันตกนั้น เป็นเทือกเขาทอดตัวยาว ดั่งกำแพงธรรมชาติที่ใช้ในการป้องกันข้าศึก เลยออกไปเป็นที่ตั้งของเมืองอิสระใต้ อาณาจักรหริภุญชัย อันได้แก่ เมืองนครไท เมืองสระหลวง เมืองสองแคว เมืองลุมบาจาย เมืองทุ่งยั้ง เมืองเชลียง เมืองสรรคโลก เมืองสคา เมืองชากังราว เมืองนครพระชุม เมืองเถิน เมืองระแหง จรดแดนเมืองฉอดแถบลำน้ำอิรวดี ซึ่งอยู่ภายไต้การปกครองของอาณาจักรมอญแห่งหงสาวดี
จากทำเลที่ตั้งอยู่บนเส้นทางลำเลียง สินค้าจากสองฝั่งฟากสมุทร และจากลำน้ำป่าสัก สู่เมืองต่างๆแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งเมืองกัมโพช อโยธยา สุพรรณภูมิ ศรีชัยสิงห์บุรี และเมืองปากอ่าวแถบเมืองพระสมุทร เมืองนครชัยศรี เมืองพาน ตลอดจนสามารถออกทะเลไปยังเมืองทางใต้ เช่น เมืองเพชรบุรี เมืองศรีธรรมโศก ทำให้เมืองราด มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จนเป็นที่จับตา ทั้งจากเมืองชวาแห่งอาณาจักรล้านช้างและเมืองพระนครแห่งอาณาจักรกัมพูชา
ชาวบ้านในเมืองอิสระแถบนี้เรียกตนเองว่าหมู่ไท แต่ชาวขอมกลับเรียกว่าชาวเสียม และชุมชนส่วนใหญ่ต่างซึมซับรับวัฒนธรรมและความเชื่อจากอาณาจักรทราวดีที่เคยรุ่งเรืองและเผยแพร่อิทธิพลมาถึง ผสมผสานกับความเชื่อเดิมของตน ดังนั้นถึงแม้ว่าลักษณะส่วนใหญ่จะคล้ายคลึงกัน แต่ธรรมเนียมปฏิบัติและจารีตกลับแตกต่างกันออกไปตามความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น
จากการที่เมืองราด เป็นเมืองศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสินค้า ที่เมืองต่างๆในแถบนี้ต้องพึ่งพาอาศัย ทำให้เจ้าขุนหาญจึงเป็นที่เกรงอกเกรงใจ และกลายเป็นผู้นำของเจ้าขุนเมืองต่างๆ ด้วยกองทหารที่เข้มแข็ง
ควรทราบว่า หลังจากความแตกแยกออกเป็นสองส่วนของอาณาจักรแล้ว เมื่อเอ่ยถึงอาณาจักรกัมพูชาในขณะนี้ ต้องระบุให้ถูกต้องว่าคืออาณาจักรกัมพูชาภายใต้อำนาจของเมืองพระนครศรียโศธรปุระ หรือเมืองนครหิธรปุระ
ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองพระนครศรียโศธรปุระ และเมืองราด เกิดขึ้นแต่ครั้งที่เจ้าขุนภูไทผู้เป็นบิดา และเป็นสหายรักกับพระเจ้าขุนธรณินทรวรมันแห่งอาณาจักรกัมพูชา แต่ครั้งที่ยังครองตำแหน่งเจ้าขุนเมืองกัมโพช(ละโว้) และเมื่อสิ้นแผ่นดินพระเจ้าชัยวรมันที่หก ราชสำนักเมืองพระนครศรียโศธรปุระ ได้เกิดการแตกแยก แบ่งเป็นฝักฝ่ายแย่งชิงราชบรรลังค์กันเอง จนบ้านเมืองอ่อนแอลง
เจ้าขุนภูไท บิดาผู้มองการไกลได้เล็งเห็นว่า ไม่ว่าผู้ใดจะได้ขึ้นครองราชบัลลังค์ของอาณาจักรกัมพูชานั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อบ้านเมืองรอบข้าง แต่จะเป็นไปในทิศทางใดเท่านั้นเอง
ดังนั้นจึงตัดสินใจได้เข้าช่วยเจ้าขุนธรณิน ปราบปรามกลุ่มอำนาจและเชื้อพระวงศ์สายต่างๆ จนสามารถปราบดาภิเษก เป็นพระเจ้าธรณินทรวรวรมันที่หนึ่ง เพื่อแลกเปลี่ยนกับเงื่อนไขในสถานะความเป็นเมืองพันธมิตรระหว่างกัน แต่ข้อตกลงเหล่านั้นกลับต้องแลกมาด้วยชีวิตของเจ้าขุนภูไทเอง
ครั้นเมื่อเกิดสงครามครั้งที่สอง ในแผ่นดินของพระเจ้าธรณินทรวรมัน ซึ่งเกิดขึ้นระหว่าง อาณาจักรจามปาและอาณาจักรกัมพูชาภายใต้การปกครองของเมืองพระนครศรียโศธรปุระ ขณะนั้นทางเมืองพระนครยังคงมีกองทัพที่อ่อนแอ เพราะอยู่ระหว่างการฟื้นฟูจากการสู้รบกันเองและเกิดอุทกภัยซ้ำเติม พระเจ้าธรณินทรวรมันจึงได้ส่งม้าเร็ว เข้ามาขอความช่วยเหลือมายังเจ้าขุนหาญ ดังนั้นเจ้าขุนหาญจึงได้เข้าเกลี้ยกล่อม เจ้าขุนเมืองต่างๆของชาวไทให้ส่งเสบียงและไพร่พลเข้าร่วมรบกับกองทัพจากเมืองราด จนสามารถรวบรวมกำลังทั้งหมดได้ห้าพันเศษ จึงได้เร่งเดินทางเข้าไปช่วยเมืองพระนคร ซึ่งถูกกองทัพจากอาณาจักรจามปาเข้าโอบล้อมเอาไว้
เมื่อถูกจู่โจมอย่างกระทันหันโดยมิได้ตั้งตัว จากกองทัพอาสาชาวไทของเจ้าขุนหาญแล้ว ยังถูกตีกระหนาบกระทบซ้ำเติมจากทหารภายในเมืองพระนครที่เจ้าขุนธรณินทรวรมันเกณฑ์ให้เปิดประตูออกสู้รบตีกระหนาบ จึงทำให้กองทัพของอาณาจักรจามปาแตกพ่ายในทันที สูญเสียทั้งอาวุธและเสบียงเป็นจำนวนมาก ไพร่พลเสียชีวิตกว่าสองหมื่น ที่ถูกกวาดต้อนและยอมจำนนกว่าแปดพันคน
ด้วยความดีความชอบที่เกิดขึ้น พระเจ้าธรณินทรวรมันที่หนึ่งจึงได้ จัดแบ่งอาวุธและเชลย ที่ยึดมาได้แบ่งให้แก่เจ้าขุนหาญ พร้อมทั้งศิวลึงค์อันเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ เพื่อแบ่งปันให้แก่เจ้าขุนเมืองต่างๆตามความชอบที่ได้เข้ามาร่วมรบ
โดยมอบหมายให้เจ้าขุนตะวันแห่งเมืองกัมโพช ซึ่งเป็นราชบุตรบุญธรรมและเป็นว่าที่องค์รัชทายาทแห่งอาณาจักรกัมพูชา คุมขบวนอาวุธและเชลยศึกจำนวนสามพันคนจากเมืองพระนคร มาส่งมอบให้เจ้าขุนหาญที่เมืองกัมโพช
ดังนั้นเจ้าขุนหาญและเหล่าสหายองครักษ์ จึงออกเดินทางล่วงหน้ามาก่อน เพื่อร่วมงานเลี้ยงฉลองชัยชนะ ที่พระเจ้าธรณินทรวรมันตั้งพระทัย จะจัดให้เป็นเกียรติแก่เจ้าขุนหาญและเป็นการขอบคุณต่อเจ้าขุนเมืองต่างๆ ที่ส่งทหารเข้าช่วยต้านทานข้าศึก ส่วนขบวนทหารที่จะมารับเชลยศึกและสินสงคราม ต้องเดินเท้าเปล่าจึงล่าช้ากว่า
"เจ้าขุนหาญ รีบมาทางนี้"
เสียงบ่าวรับใช้ของเจ้านางจันทร์ ภรรยาเจ้าขุนหาญเรียกขึ้น
เจ้าขุนหาญจึงกระตุ้นม้าเข้าเทียบข้างเกวียน พลันพลิกตัวคราหนึ่ง ก็เห็นกลับไปยืนขึ้นบนเล่มเกวียน ด้วยท่าร่างอันสง่างาม
เมื่อมุดเข้าไปในซุ้มเกวียน ที่มีม่านบังป้องกันแสงแดดและฝุ่นละออง ก็พบกับหญิงสาวสามนาง เห็นนางหนึ่งผิวขาวละเอียดประดุจหยวก บุคคลิกนิ่งเงียบ แลดูสงบ สง่าและสูงส่ง แต่ในสองดวงตาคู่โตดำขลับนั้น กลับปรากฎริ้วรอยวิตกกังวล สองมือโอบอุ้มทารกแรกเกิดไว้กับอ้อมอก
นี่ย่อมเป็นเจ้านางจันทร์ พระราชธิดาองค์เดียวของพระเจ้าธรณินทรวรมัน ที่มอบให้เป็นภรรยาเจ้าขุนหาญแล้ว
"เกิดเรื่องราวใด"
เจ้าขุนหาญเอ่ยขึ้น สองคิ้วขมวดด้วยความวิตกกังวล
"ทารกน้อย มีอาการตัวร้อน และไม่ยอมดื่มนม"
เจ้านางจันทร์เอ่ยตอบด้วยน้ำเสียงกระวนกระวาย
"นี่คงเป็นเพราะต้องตรากตรำเดินทางไกล หากมิใช่พระเจ้าธรณินทรวรมันและเจ้าขุนตะวันราชบุตร ยืนกรานต้องการเห็นหลานให้จงได้ เราคงมิให้ท่านและลูกเราต้องทุกข์ยากลำบากตรากตรำเดินทางไกล ทารกน้อยนี้พึ่งเกิดได้เพียงหนึ่งเดือน ยากนักที่จะทนทานได้ นี่ตะวันก็บ่ายคล้อยแล้ว อีกไม่เกินห้าหกสิบเส้นก็ถึงด่านขุนทด"
"พวกเราเดินทางรุดหน้ามาเร็วกว่าขบวนเดินเท้าอยู่มากนัก หากหยุดพักที่เรือนท่านทูตซุนยี่หลงสักสองคืน แล้วค่อยหยิบยืมเรือนสินค้าสักหลายลำจากนั้นจึงบรรทุกพวกเราเข้าเมืองกัมโพช คาดว่าคงยังทันกำหนดเวลา" เจ้าขุนหาญปลอบประโลมภรรยารักให้ คลายกังวลใจ
เจ้านางจันทร์จึงแย้มยิ้มตอบ เป็นการขอบคุณ ที่สามีซึ่งปกติเป็นผู้เข้มงวดต่อกำหนดการ ยินยอมผ่อนปรนให้นางและลูก ได้มีโอกาสพักผ่อน
เมื่อสามีกลับออกไป นางจึงให้บ่าวตักน้ำ เช็ดตัวทารกแล้วให้นมอีกครา แต่ทารกน้อยนั้นยังไม่ยอมดื่ม ส่งเสียงร้องให้อีกชั่วครู่ก็หลับไหลไปด้วยความอ่อนเพลีย
เจ้าขุนหาญ ตะโกนบอกพวกกองคาราวานให้เร่งเดินทาง
ในขบวนผู้คุ้มกันคาราวานของเจ้าขุนหาญนั้น ล้วนแต่คัดเลือกผู้มีฝีมือดี ด้วยเมืองราดนั้นเป็น จุดพักสินค้าขนาดใหญ่จากหลายเส้นทาง จึงเป็นแหล่งรวมของนักคุ้มกันสินค้าอาชีพ ที่คอยรับจ้างพ่อค้าจากเมืองต่างๆที่จัดส่งสินค้ามาตามเส้นทางนี้
ตามปกติ ในช่วงฤดูฝนทุกผู้คนต่างทำไร่ไถนาเพื่อเก็บเข้ายุ้งฉาง ไว้ใช้เป็นเสบียงอาหารและเป็นสินค้าแลกเปลี่ยน จวบจนเมื่อหมดฤดูฝน หนทางบกและทางน้ำสามารถสัญจรได้โดยสะดวก จึงเป็นช่วงของการเดินทางแลกเปลี่ยนสินค้า
อาชีพรับจ้างคุ้มกันสินค้าจึงเป็นอีกอาชีพที่นิยมรองลงมา จากการทำเกษตรกรรม และการเข้าป่าล่าสัตว์ ลูกเล็กเด็กแดงในเมืองนี้ แทบจะรู้จักวิชาฝีมือในการต่อสู้มาตั้งแต่แรกกำเนิด และนี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เมืองต่างๆในเขตนี้ครั่นคร้ามต่อความเข้มแข็งของชาวเมืองราด
เมื่อวันที่ : ๐๒ ต.ค. ๒๕๕๓, ๑๙.๔๙ น.
มาติดตามดูค่ะว่า เรื่องจะไปในทิศทางไหน
คุณทิดอินทร์เรียนทางด้านประวัติศาสตร์หรือมนุษยวิทยาคะ เขียนได้น่าสนใจมากเลยค่ะ
รจนาไม่ค่อยชอบประวัติศาสตร์เท่าไร จำวันเดือนปีและตัวบุคคลไม่ค่อยได้เลย
เป็นกำลังใจให้สำหรับตอนต่อไปนะคะ