![]() |
![]() |
นายอิติฯ![]() |
..."ท่านสิงห์ ท่านสิงห์รู้สึกเหมือนผมบ้างไหม ผมรู้สึกไม่ค่อยดีเลย ที่ได้เห็นบรรดาเด็กๆนักเรียน ต้องมาห้อยโหนยืนท้ายรถสองแถวแบบนี้" "...
ตอน : พุทโธ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
"ท่านสิงห์ ท่านสิงห์รู้สึกเหมือนผมบ้างไหม ผมรู้สึกไม่ค่อยดีเลย ที่ได้เห็นบรรดาเด็กๆนักเรียน ต้องมาห้อยโหนยืนท้ายรถสองแถวแบบนี้"
"ทำไงได้ล่ะท่านแจ่ม นี่มันสองแถวคันเล็กนะ หลังคาก็เตี้ย ยืนโหนได้ที่ไหน เต็มที่นะ คุณกับผม ก็ทำได้แค่ภาวนา อย่าให้เกิดเรื่องร้ายๆขึ้นเลย เราก็คงทำได้แค่เท่านี้ล่ะ หรือว่าท่านกับผมจะไปยืนแบบนั้นบ้าง แล้วให้พวกเค้ามานั่งแทน"
"แหม ท่านสิงห์ก็...พูดมาได้ เราเป็นพระนะ จะให้ไปยืนผ้าเหลืองปลิวว่อนแบบนั้นได้ยังไง"
"ผมก็พูดเล่นไปอย่างนั้นแหละท่าน"
ผมกับพระแจ่มซึ่งเป็นเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง พร้อมใจกันอุปสมบท ก่อนบวชผมชั่งใจตัวเองนิดหน่อย ว่าจะบวชกี่วันดี เอาน่ะ...บวชทั้งทีขอสักหนึ่งพรรษาก็แล้วกัน
ผมต้องมานอนวัดเป็นเวลาเจ็ดวัน ช่วงนี้ล่ะที่เขามักจะบอกว่าพวกมารจะคอยจับจ้องขัดขวางไม่ให้บวชได้ง่าย จึงควรงดการเดินทางหรือขับขี่ยวดยานพาหนะ เกรงจะเกิดอุบัติเหตุได้
ช่วงเจ็ดวันนี้ทำให้ผมได้เห็นว่าภายในวัดที่มีพระหลายรูป จะมีพระทั้งที่ปฏิบัติดีและปฏิบัติไม่ดีปะปนกัน ญาติโยมที่มาทำบุญก็ได้ทำบุญกับพระทั้งสองแบบ การครองผ้าเหลืองนั้นใช่จะเปลี่ยนคนไม่ดีให้เป็นคนดีได้เสมอไป
ดังนั้นถ้าบวชเสร็จแล้วผมตั้งใจว่าต้องออกไปจำพรรษาที่วัดอื่นแน่ๆ อย่างน้อยๆการอยู่ในร่มกาสาวพัตร์ด้วยเวลาสามเดือนต้องให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองและพระพุทธศาสนาให้มากที่สุด
หลังจากบวชกันได้หนึ่งอาทิตย์ ก็อยากออกไปศึกษาพระธรรมยังวัดอื่น สาเหตุก็อย่างที่บอกไว้เพราะวัดที่บ้านเกิด มีพระเณรนับรวมๆกันแล้วเกือบยี่สิบรูป พินิจดูแล้วจากที่ได้สัมผัสมาทั้งอาทิตย์ ออกจะเป็นวัดที่จ้อกแจ้กอึกทึกอยู่พอควร
เห็นพระบางรูปเกียจคร้าน วันๆไม่ได้ทำอะไรเลย กิจกรรมภายในวัดหลายอย่างที่น่าจะคิดเองได้ว่าควรทำอะไรก็ไม่ทำ แต่ปากก็บอกว่าถือศีลของพระภิกษุได้ครบ เพียงแต่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมจะเป็นไรไป
ผมมีความรู้สึกว่าช่างบวชมาเปลืองข้าวสุกของญาติโยมซะจริงๆ เพราะผมคิดว่าบวชแล้วต้องทำหน้าที่ ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม แสดงธรรม เท่านี้แหละการบวชจึงจะไม่เสียเปล่า
ครั้นได้เห็นการผิดวินัยของพระภิกษุเก่าหลายๆรูปแล้ว ดูจะไม่ขลังและไม่เหมาะเท่าไหร่ที่จะพำนักอยู่ที่นี่จนครบหนึ่งพรรษาตามที่ได้ตั้งใจเอาไว้ เลยชักชวนกับท่านแจ่มพากันไปจำพรรษาตามคำแนะนำของญาติโยม
วัดหนองออกคือจุดหมายของพวกผม ซึ่งวัดนี้อยู่ในเขตตำบลจอหอ ไกลจากบ้านเกิดก็ประมาณร้อยกว่ากิโล ญาติโยมบอกว่า..ที่นี่ดูเหมาะสมที่สุดสำหรับผมและหลวงพี่กำพล (แจ่ม จุลวโร) ที่มีไฟของการอยากศึกษาพระธรรมวินัย ที่แรงเอาการ โยมแม่ดีใจอย่างสุดซึ้ง ด้วยใบหน้าที่แสดงออกถึงการอนุโมทนา กับหนึ่งพรรษาที่ได้แจ้งท่านไป
ผมเคยนั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนกับท่านแจ่มอยู่บ่อยครั้งเหมือนกัน ว่าการบวชกันแค่หกเจ็ดวันมันทดแทนบุญคุณค่าน้ำนมได้แล้วหรือ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น แล้วที่บวชสามสี่วันล่ะ จะได้อะไร เถียงกันไปโต้กันมาอยู่บ่อยครั้งจนเลิกถามและเลิกคิดกันไป
เพราะความจริงบางครั้งถ้าตอกย้ำเกินไป มันก็จะเกิดรอยขุ่นอยู่ในใจของเราไม่รู้จบ แต่เท่าที่เคยทราบมาบ้างนิดหน่อยก่อนบวช ถ้าจะให้ได้กุศลและอานิสงส์ของการบวชอย่างน้อยๆก็ต้องเก้าเดือน ซึ่งมันก็ได้เพียงแค่เสี้ยวหนึ่งของพระคุณผู้เป็นมารดาบิดา กว่าจะเติบใหญ่ได้บวชมันก็นานน่าดู ความรัก ความอาทร ความห่วงใย และความเสียสละที่แม่มีให้แก่ลูกนั้น จะคิดทดแทนบุญคุณยังไงก็ไม่มีหมด
ดังนั้นการบวชมันบอกระยะเวลาไม่ได้หรอกว่า ต้องเท่านั้นเท่านี้วัน จึงจะทดแทนบุญคุณพ่อแม่ได้ มันขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตนของผู้บวชเสียมากกว่า บางทีบวชนานแต่ปฏิบัติตัวย่อหย่อนต่อพระธรรมวินัยก็ใช่ว่าจะพาพ่อแม่ขึ้นสวรรค์ได้ อาจจะพาท่านตกนรกเสียด้วยซ้ำไป
ทุกๆคนไม่ว่าชายหญิงหรือแม้แต่เด็ก "บวชพระ" เป็นคำที่คนไทยทุกคนรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะสังคมไทยตั้งแต่อดีตจะมีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา หรือมีรากฐานมาจากพระพุทธศาสนาโดยตรงนั่นเอง
การบวช จึงถือเป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนไทยตั้งแต่อดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน อย่างที่เราเห็นๆกัน สังคมไทยของเราสมัยนี้ ใช้การบวชพระเป็นทางออกให้กับชีวิตไปซะแล้ว
บางคนบวชเพื่อหนีหนี้ บางคนบวชหนีรัก และหนีปัญหาต่างๆอีกมากมาย ความไม่สบายใจกับเรื่องบางเรื่อง หรือกับคนบางคน กับทุกๆ ปัญหาที่เข้ามาในชีวิต สุดท้ายก็นำพาพวกเขาให้ตัดสินใจไปบวช
อีกอย่างการเป็นพระ กลับมีรายได้มากกว่าการเป็นคนธรรมดาเสียอีก สังคมของพระจากที่ผมเห็นมามันเป็นเช่นนั้นจริงๆ มารวยตอนที่เป็นพระก็มีแทบจะทุกวัด เมื่อสังคมเปลี่ยนฉันใด วัดก็ต้องถูกปรับเปลี่ยนตามไปฉันนั้น
การบวชพระของคนไทยในปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่แล้วผมมองว่าจะเป็นการบวชกันตามประเพณี มากกว่าการบวชเพื่อการสืบทอดทางศาสนา หรือมุ่งมั่นเพื่อการศึกษาเรียนรู้พระธรรมอย่างจริงจัง แต่ถึงจะอย่างไรก็ตาม สังคมก็ยังเป็นตัวแปรให้คิดเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีอยู่ เพราะสังคมไทยได้ออกแบบความคิดให้ชายไทยได้บวชเรียน เพื่อเป็น การทดแทนบุญคุณพ่อแม่ไปในตัว นับเป็นกลวิธีอีกประการหนึ่งในการสร้างสายใยทางสังคม ให้เกิดความเหนี่ยวแน่นโดยมีศาสนาเป็นแกนนำ
๐๐๐๐๐
"ผู้คนบ้านช่องแถวนี้ช่างดูเงียบสงบดีนะ ท่านสิงห์"
"แค่เห็นผ่านๆนะท่านอย่าเพิ่งเออออว่าเป็นอย่างที่เห็นเลย ไว้ให้ไปถึงวัดก่อนเถอะ อย่าตัดสินใจสิ่งใดด้วยการเห็นแค่สายตานะท่าน ไม่แน่นะ ผมกับท่านอาจจะอยู่ได้ไม่ถึงสามวัน จากนั้นก็ต้องเผ่นกลับวัดเก่าก็เป็นได้"
"คงไม่หรอกท่าน ผมสะพายย่ามอุ้มบาตรแบกกลดมาไกลซะขนาดนี้แล้ว คงไม่ถอยแล้วล่ะ คิดไว้ในใจแล้วว่า หากโยมพ่อโยมแม่ยังทำนาไหวและไม่ว่ากระไร ผมก็กะจะบวชให้นานที่สุดเลย อีกอย่างผมก็อยากบวชเรียนไปในตัวด้วยน่ะ หยุดอยู่แค่มอสามมานานแล้ว"
"อนุโมทนาสาธุ ด้วยท่านแจ่ม แต่ผมขอแค่หนึ่งพรรษาก็คงพอ จากนั้นก็คงต้องออกไปเผชิญโลกของฆราวาสต่อไป แต่ถ้าขอความเห็นบรรดาญาติโยมบุพการีแล้วล่ะก็ ผมว่า ท่านก็คงอยากให้พวกเราบวชไม่ต้องสึกเลยได้ยิ่งดี"
ก่อนหน้านั้น .. หลังจากผมบวชมาได้เกือบหนึ่งอาทิตย์ที่บ้านเกิดก่อนเดินทางออกมายังวัดแห่งใหม่นี้ ผมได้พบได้เห็นสิ่งต่าง ๆ มากมาย เกิดขึ้นรอบๆตัวเอง อันมี ผลมาจากคุณค่าของการบวชนั่นเอง เช่น ความชื่นชมที่คนรอบข้างมีต่อพระบวชใหม่อย่างผมและท่านแจ่ม ได้มีโอกาสรับการกราบไหว้อย่างสนิทใจของญาติโยมบุพการี ด้วยรอยยิ้มที่บ่งบอกว่าปลื้มปีติ กับชายผ้าเหลืองที่เห็น
วันนั้นหยดน้ำตาบริสุทธิ์ของผมถูกกลั่นออกมาอย่างห้ามเสียมิได้ ก้าวแรกผ่านพ้นประตูโบสถ์ออกมาได้ ก็เห็นโยมแม่ พี่น้อง ลุงป้า น้าอายืนรอรับบุญจากการได้มาบวชพระใหม่ น้ำตาจากที่แค่เอ่อคลอเบ้าตอนก้าวออกมาจากโบสถ์ มันพรวดไหลย้อยผ่านแก้มหยดแหมะลงบนจีวรของผมทันทีที่ได้เห็นโยมแม่ ย่อตัวนั่งพับเพียบก้มลงกราบตัวผม คนเฒ่าคนแก่ต่างก็พร้อมใจนั่งยองๆยกมือสาธุ กับพระภิกษุเต็มตัวยืนเด่นอยู่เบื้องหน้า ที่ร้องให้แบบไม่มีเสียงอย่างไม่อายใคร
"รูปงามเหลือเกิน.."
ความรู้สึกตอนนั้นบอกได้เลยว่า นี่ล่ะเป็นความสุขที่สุดที่ผมต้องจดจำภาพอันงดงามเหล่านี้ไปจนวันตายเลยทีเดียว และผมก็เชื่อว่าหลายๆคนที่ได้ผ่านการบวชมาแล้ว คงตราตรึงใจกับเหตุการณ์ของวันนั้นได้เป็นอย่างดี เมื่อเป็นพระโดยสมบูรณ์แล้วผมก็คงได้แต่ปล่อยให้น้ำตามันไหลออกไป เพราะยังไงเสียมันก็เป็นน้ำตาแห่งความสุขที่บริสุทธิ์และยิ่งใหญ่ ไม่ต้องไปอายใครๆแล้วล่ะ ญาติโยมที่มาก็เป็นญาติพี่น้องลุงป้าน้าอาเพื่อนพ้องน้องพี่ของเราทั้งนั้น
ในใจก็ได้แต่คิดว่า "แม่จ๋า....ผมรักแม่นะครับ" เหลือบหันหลังกลับไปก่อนเดินขึ้นกุฏิ ก็ยังเห็นโยมแม่ยังนั่งพับเพียบมองตาม ด้วยรอยยิ้มที่เปี่ยมสุขยิ่งนัก
อีกอย่าง...ผมได้เข้าใจถึงวิถีบุญ วิถีศรัทธา และการให้ ที่พระบวชใหม่อย่างผมรับมาด้วยใจอิ่มเอมแห่งบุญ ที่ได้บิณฑบาตเดินเท้าเปล่า ตลอดเส้นทางก็จะได้พบกับคนเฒ่า คนแก่ ยืนหลังงุ้มหลังงอ รอตักบาตร ด้วยมือ อันเหี่ยวย่น แถมสั่นนิดๆ ก่อนย่อกายลงไหว้รับศีลรับพร ริมฝีปากที่ไร้ฟันก็ขมุบขมิบพึมพำอธิษฐานไปเรื่อย
บางคนยังอุตส่าห์ตักน้ำฝนจากตุ่มมาเต็มขัน เพียงเพื่อเอามาล้างเท้าพระที่ออกมาบิณฑบาต การได้เห็นรอยยิ้มพิมพ์ใจของคนเฒ่า คนแก่ ปู่ย่าตายาย ที่มีใจศรัทธาในพุทธศาสนาลุกขึ้นมาตักบาตรยามเช้านั้นมันช่างดูสุขใจอิ่มบุญไปกับพวกท่านด้วย แม้จะเป็นฤดูทำนาแล้วก็ตาม แต่ผู้เฒ่าผู้แก่ก็ยังคงเฝ้านั่งคอยตักบาตรกันทุกเช้าไม่เคยขาด โดยหวังแต่เพียงว่า พระนี่ล่ะจะเป็นสะพานเชื่อมโยงผลแห่งกุศลบุญ บุญที่จะนำพาชีวิตของตัวเองไปพบพาสู่ความสุขทั้งชาตินี้และชาติภพหน้า
สำหรับวัดบ้านเกิดที่ผมบวชนั้น ด้วยความที่ว่า..มีพระเณรเยอะ การออกบิณฑบาตจึงแบ่งเป็นสายๆ เดินเข้าไปในหมู่บ้าน ทั้งหมดก็สี่สาย พระเณรแบ่งแยกกันไป สายละห้ารูปบ้าง สี่รูปบ้าง โดยการนำของเจ้าอาวาสและพระที่บวชก่อน ซึ่งจะเจนสนามเป็นที่สุดเป็นผู้นำประจำสาย
อีกอย่างผู้นำสายต้องมีสายตาที่ยาวไกลนิดหนึ่ง ซึ่งอันนี้คงไม่ผิดวินัยที่ห้ามสงฆ์เบิ่งตามองไกลควร แต่ตรงนี้ผมว่าจำเป็นอยู่เหมือนกัน จะให้พระผู้นำทางมองแค่สั้นๆคงไม่ได้ หากวันใดขาประจำที่มีบ้านเลยออกไปไกลหลายร้อยเมตรไม่มา พระก็เดินไปเสียเวลาเปล่า เมื่อพระผู้นำมีสายตาที่ยาวไกล เมื่อยิงสายตาไปที่หน้าบ้านขาประจำที่ตั้งอยู่หลังเดียวไกลออกไปลิบ โฟกัสแล้วไม่เห็นญาติโยมมายืนรอ หัวขบวนก็จะได้หักพวงมาลัยวกกลับได้ทันการณ์ ช่วยลดระยะทางการเดินลงได้อีกมากโขทีเดียว
เวลาออกออกจากวัด ปล่อยตัวพร้อมกันก็จริง แต่ขากลับจะกลับเข้าวัดไม่พร้อมกัน มันขึ้นอยู่กับระยะทางและฝีมือบวกกับไหวพริบของผู้นำแต่ละสายด้วย เพราะบางสายที่มีญาติโยมขาประจำเต็มเอี๊ยดอยู่แล้ว บางวันก็อาจมีขาดหายไป ตรงไหนลดระยะทางได้ก็ต้องทำ
ระยะทางการเดินไปกลับของแต่ละสายจึงไม่เท่ากันในแต่ละวัน การออกไปบิณฑบาตนั้นเป็นกิจอย่างหนึ่งของสงฆ์ที่จะต้องทำเป็นกิจวัตร เป็นกิจหนึ่งที่ต้องมีการเตรียมพร้อมและการวางแผนให้ดี เริ่มตั้งแต่การถือบาตร การอุ้มบาตร การคล้องบาตรไว้กับตัวให้มั่นคงไม่ให้หล่นเมื่อเวลาเดิน หรือเร่งฝีเท้าเพื่อหลบสุนัขดุๆของญาติโยมที่กัดไม่เลือกแม้กระทั่งพระเณร
หากอุ้มบาตรไม่ดี เจอกรณีนี้มีหวังบาตรได้หล่นหลุดมือแน่ อีกอย่างข้าวที่บรรดาญาติโยมแฟนๆขาประจำที่มีจำนวนมาก ในแต่ละคุ้มบ้านนั้น ข้าวที่ได้รับมาแทบล้นบาตรทุกที เรื่องน้ำหนักของบาตรจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการอุ้มบาตรจึงต้องระมัดระวังให้ดีเป็นกรณีพิเศษ
เมื่อวันที่ : ๑๘ ก.ค. ๒๕๕๓, ๑๘.๑๘ น.
อนุโมทนาด้วยครับ...