นิตยสารรายสะดวก  Fiction  ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๓
เรื่องสั้นขนาดยาว #1
พลอยพนม
...ตอน​ที่ฉันเล่าเรื่อง​นี้ให้ลูก ๆ​ ฟังกันใหม่ ๆ​ พอฉันเล่าจบ เจ้าลูกชายตัวเล็กมันมองหน้าฉันอยู่​ครู่หนึ่ง​ ในแววตานั้น​เต็ม​ไปด้วย​ความลังเลสงสัย ก่อน​จะตัดสินใจพูดออกมาว่า "พ่อคบไม่​ได้"...

ตอน : พ่อคบไม่ได้

บท​ที่ ๑

ในอดีต​ได้มีนักประพันธ์ชาวจีนนามอุโฆษท่านหนึ่ง​ กล่าวคำคมไว้อย่างน่าขบคิดว่า "แรกทีเดียวมันก็ไม่มีทาง ​แต่​เมื่อมีการย่ำเดิน​ไปมานานเข้า ก็กลาย​เป็นทางเดินขึ้น​มา" ​ซึ่งคำกล่าวนี้ สำหรับผู้ด้อยปัญญาอย่างฉัน ​ความหมายในเชิงนามธรรมอาจ​จะไม่แจ่มชัดนัก ​ทว่าใน​ส่วนรูปธรรม​ที่จับ​ต้อง​และสัมผัส​ได้แล้ว​ละก้อ ฉันมองทะลุปรุโปร่งทีเดียว

ก็ซอยบ่อหินบ้านฉันยังไงเล่า ​แต่ก่อนมันก็แค่ด่านช้าง​ที่เลี้ยวลดคดเคี้ยว​ไปตาม​ความ​ต้องการของโขลงช้าง จากภูเขาลูกนี้ สู่ลูกโน้น จากทุ่งหญ้าสู่ป่ารกชัฏ เลาะเลียบห้วยหนองคลองบึง ​ซึ่งอุดมด้วยพืชพรรณธัญญาหารของพวกมัน ​ที่พากันท่องหากินอยู่​​ไปมา กลาย​เป็นทางด่านเก่าแก่มา​แต่ครั้งปู่ยาตาทวดของฉันนั่นเอง...​

"ถึงแล้ว​พ่อ ...​"

"ช้า ๆ​ หน่อย​พ่อ เดี๋ยวเลย​...​"

ลูกชายของฉันสองคน​ซึ่งนั่งอยู่​​ที่เบาะหลัง ส่งเสียงเตือน​เพื่อให้ฉันผ่อนคันเร่ง ​เมื่อเจ้ากระบะตอนครึ่งของเราแล่นเลย​สะพานข้ามลำน้ำเก่าแก่ ​ที่​ซึ่งฉันเคยดำผุดดำว่ายมาอย่างช่ำชองในอดีต

"เถอะน่า...​" ฉันโม้ "เชื่อสีมือพ่อเถอะ แถบนี้พ่อหลับตาเห็นหมดทุกซอกทุกซอย พวกแกไม่​ต้อง​เป็นห่วง"

ฉันนึกถึงตอนขับรถพาพวก​เขา​ไปเ​ที่ยวกรุงเทพฯ แล้ว​เกิดมีไอ้บ้า​ที่ไหนก็ไม่รู้ แกล้งวิ่งมาชนรถของฉัน ขณะฉันชะลอ​ความเร็วจนล้อรถเกือบ​จะหยุดหมุน ทำท่า​จะหักเลี้ยวขึ้น​ทางด่วนย่านดาวคะนอง

​โดยสัญชาติญาณ ฉันรู้ว่า เจ้าหมอนั่นมืออาชีพ ​แต่ทนการรบเร้าของพวกเด็ก ๆ​ ไม่ไหว ​เนื่องจากฉัน​เป็นคนปลูกฝังจิตสำนึกให้​เขาเอง...​ ฉันจึง​ต้องตีไฟเลี้ยวหยุดจอดรถ

"เจ็บมากไหมลุง" เจ้าคนเล็กทรุดตัวนั่งลงถามใกล้ๆ​ ขณะเจ้าคนโตยืนเกาะแขนฉันคอยมองอยู่​ด้วยสีหน้าตื่นตระหนก เคราะห์ดี​ที่วันนั้น​อ้ายหัวปิงปองไม่​ได้อยู่​แถวนั้น​ ม่ายยังงั้นแทน​ที่​จะฉัน​จะฟาดเคราะห์​ไปแค่ห้าร้อยบาท​ เผลอ ๆ​ อาจ​จะมากกว่านั้น​ก็​ได้

ฉันไม่อยากมีปากเสียง​กับ​ใครต่อหน้าเด็ก ๆ​ ​เพราะหลาย ๆ​ ​ความขัดแย้ง​ที่ฉันเคยผ่านพบยังฝังใจฉันอยู่​ ฉันจึงไม่​ต้องการให้เรื่อง​แบบนั้น​เกิดขึ้น​​กับลูกของฉันอีก ​ทว่าฉันก็ไม่พยายามอธิบายอะไร​​กับพวก​เขามาก​ไปกว่าตัดบ​ทว่า...​ ห้าร้อยบาท​ คงพอค่ายา ลูกไม่​ต้อง​เป็นห่วง​เขาหรอก

​ส่วนวันนี้ ขณะขับรถเข้า​ไปในซอยบ่อหิน ลึกค่อนซอย ​เพื่อพาครอบครัวกลับมาเยี่ยมพ่อแม่สองตายยาย ​กับหมาไทย​ที่แสนซื่อสัตย์อีกตัวหนึ่ง​ รวม​ทั้งน้องสาว​ที่อยู่​กรุงเทพฯ ​ซึ่งลาพักร้อน​พร้อม​กับล่วงหน้ามารอฉันอยู่​​ที่นี่ก่อนแล้ว​วันสองวัน ฉันปิดแอร์รถ​พร้อมลดกระจกลงเกือบสุด ค่อย ๆ​ ขับรถเคลื่อน​ไปอย่างช้า ๆ​ ​เพื่อ​ที่​จะเท้า​ความหลังให้ลูก​ได้ซึมซับ​กับสิ่ง​ที่เรียกกันว่า "​ความเจริญ" ​ซึ่งพวก​เขา​กำลังสัมผัสกันอยู่​ด้วยสายตาในขณะนี้ ​พร้อม​กับบีบแตรรถ​และหัน​ไปโบกมือทักทาย​ใครต่อ​ใคร...​ ​เมื่อขับรถผ่านหน้าบ้านของ​เขา

"บ้านตาด้วน จำ​ได้ไหมลูก?"

"ทามมาย​จะจำไม่​ได้ เก๊าะแกเคยเสียรู้พ่อ สมัยพ่อเด็ก ๆ​ ใช่ป่าว

เจ้าตัวน้องนิสัยทะลึ่ง พูดจามักออกเสียงยียวนกวนบาท​าอยู่​เสมอ ​แต่ฉันก็อดหัวเราะขึ้น​มาไม่​ได้

"เออ เอ็งจำแม่น-ว่ะ"

ฉันหัวเราะหึ ๆ​ นึกถึงตอนหลอกกินเครื่องเซ่นไหว้ของน้าด้วนในสมัยนั้น​แล้ว​ยังอดขำไม่​ได้จริง ๆ​

ตอน​ที่ฉันเล่าเรื่อง​นี้ให้ลูก ๆ​ ฟังกันใหม่ ๆ​ พอฉันเล่าจบ เจ้าลูกชายตัวเล็กมันมองหน้าฉันอยู่​ครู่หนึ่ง​ ในแววตานั้น​เต็ม​ไปด้วย​ความลังเลสงสัย ก่อน​จะตัดสินใจพูดออกมาว่า

"พ่อคบไม่​ได้"


ฉันเล่าให้พวก​เขาฟังถึงสมัย​ที่ฉันยังเรียนหนังสืออยู่​ชั้น ป. ๓ ​และ​กำลัง​จะสอบเทอมปลายขึ้น​ ชั้น ป.๔ เผอิญคุณครู​ซึ่งสอนคนเดียว​ทั้งโรงเรียน มีธุระ​ต้อง​ไปประชุมทำข้อสอบ​ที่อำเภอ​เป็นเวลา ๑ สัปดาห์ อยู่​ข้างหลัง​ที่โรงเรียนก็ขาดครูสอน จึง​ต้องปิดเรียน ให้เด็กนักเรียนหยุดท่องหนังสือสอบกันอยู่​​ที่บ้าน ฉันถือจึงโอกาสรบเร้าย่า ให้พาฉัน​ไปส่ง​ที่บ้านไร่ของพ่อ ย่าแกทนรำคาญฉันไม่ไหวก็เลย​พาฉัน​ไป

ออกจากบ้านย่า​ที่หมู่บ้านชายทุ่ง​ซึ่งอยู่​ใกล้​กับรั้วโรงเรียน ฉัน​กับย่าย่ำเท้าเปลือยเปล่า​ไปตามร่องทางแคบ ๆ​ ​ที่​เป็นดินเหนียวปนทรายสีขาวแข็งกระด้าง ​และคดเคี้ยวเหมือนงูเลื้อยอยู่​กลางผืนหญ้าสีเขียวกว้างใหญ่ จนกระทั่งทะลุออกสู่ถนนหลวง​ซึ่งอยู่​ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน

ถนนหลวงสายนี้เพิ่งตัดเสร็จใหม่ ๆ​ ยังมีสภาพ​เป็นถนนลูกรัง ต้นหญ้า ใบไม้ริมทางโดนฝุ่นลูกรังย้อมสีจนแดงแปร๊ด​ไป​ทั้งสองด้าน ฉัน​กับย่าข้ามถนนตรงทางแยกหน้าร้านค้าเก่าแก่ของหมู่บ้าน ​ซึ่งขี้ฝุ่นลูกรังก็ย้อมสีร้านค้าหลังนั้น​เสียจนแดงแปร๊ด​ไปทั่วอีกเหมือนกัน ​โดยเฉพาะบนหลังคา ฉันว่าฝุ่นลูกรังจากถนนหล่นลง​ไปกองทับถมกันอยู่​บนนั้น​ไม่น้อยกว่าครึ่งข้อนิ้วของฉันแน่

ย่าแวะซื้อขนม​ไปฝากน้องสาวของฉัน ​และแบ่งให้ฉันเดินกิน​ไปตามทางหน่อย​หนึ่ง​ "เดี๋ยวค่อย​ไปกิน​กับน้อง​ที่บ้านอีก" ย่าชี้​ไป​ที่ถุงขนม ​ซึ่งห่อ​กับชายผ้าขาวม้าสีแดง ​ที่เตรียม​จะยกขึ้น​พาดบ่าตามประสานักเลงเฒ่าของแก แล้ว​เร่งให้ฉันออกเดินนำหน้าแก​ไป

ด่านช้างอยู่​ห่างจากร้านค้าริมถนนเพียงแค่เดินเท้าพอเหงื่อซึมแผ่นหลัง มีลักษณะ​เป็นทางแคบ ๆ​ เช่นเดียว​กับทางเดินในทุ่ง ​จะผิดกันก็ตรง​ที่มัน​เป็นร่องลึกอยู่​สักหน่อย​ ​เพราะมันเคยผ่านการเหยียบย่ำซ้ำแล้ว​ซ้ำเล่าจากโขลงช้างป่ามาก่อน ​ซึ่งช้างเหล่านั้น​​แต่ละตัวมีน้ำหนัก​เป็นตัน ๆ​

ทางด่านช่วงแรกเลาะเลียบ​ไปตามชายคลอง คดเคี้ยว​ไปตามต้นไม้พุ่มใหญ่ใบหนา บางต้นแผ่กิ่งก้านอยู่​สูงจนแหงนคอตั้งบ่า สลับ​กับป่าไผ่ ​ซึ่งมีกอไผ่ขึ้น​อยู่​​เป็นพืด ​เป็นไผ่ป่าลำโตเกือบเท่าต้นตาล ไม่มีหนาม ผิด​กับไผ่ชายทุ่ง​ที่บ้านย่า

ขณะนั้น​​แม้​จะ​เป็นยามสาย ​และจวน​จะเ​ที่ยงอยู่​รอมร่อ หาก​แต่บรรยากาศ​ระหว่างทาง ก็ไม่ร้อนระอุเหมือนเดินอยู่​กลางทุ่งนา ​เพราะเบื้องบนมีกิ่งไม้สูงใหญ่แผ่ปกคลุมอยู่​หนาทึบ อีก​ทั้งเสียงนกร้อง เสียงกระรอกกระแตร้องทัก ​และเสียงไก่ป่าขานขันขับกล่อม​ไปตลอดทาง ทำให้ฉันเพลิดเพลินจนลืมเหนื่อย ลืมร้อน ​และพลอยลืมนึกถึงขนมในห่อสะพายของย่า​ไปด้วย พอนึกขึ้น​​ได้อีกทีก็จวน​จะลุเข้าเขตแดนบ้านไร่ของพ่อฉันแล้ว​

เลย​แนวป่าข้างหน้ามองเห็นโล่งเตียน​ไป​แต่ไกล ฉันจำ​ได้

ฉันเคยถามพ่อหนสองหนว่าทำไมพ่อด้นดั้นมาอยู่​เสียไกลลิบ ทำไมไม่แผ้วถางป่าริมถนน

พ่อหัวเราะหึ ๆ​ ก่อนตอบ

"พ่อไม่อยากกินข้าวแดงในคุกนะซีลูก"

การแผ้วถาง​และตัดไม้ทำลายป่า ​แม้​จะ​เพื่อ​ที่อยู่​อาศัย หรือขยับขยายสร้าง​ที่ทำกิน ก็มี​ความผิด​และมีโทษตามกฎหมาย ​โดยไม่มีการปรับปรุงแก้ไข ไม่มีนโยบายปฏิรูป​ที่ดินให้​เป็นรูปธรรม​ที่ชัดเจน หาก​แต่ปล่อยให้ราษฎรแอบ​ไปบุกรุกแผ้วถางกันเอง​โดยรู้เท่าไม่ถึงการ ผืนป่าเมืองไทยจึงถูกบุกรุกแผ้วถางอย่างไร้กฎเกณฑ์อยู่​เสมอ ​และ​ที่สำคัญก็มีพวกอีแอบ​ซึ่ง​เป็นพวกคนใหญ่คนโต ​เป็นหุ้น​ส่วนคอย​เป็นเงายืนชักใยอยู่​ข้างหลัง ​ซึ่ง​เป็นสาเหตุหนึ่ง​​ที่ว่า ทำไมทรัพยากรป่าไม้จึงตก​ไปอยู่​ในมือนายทุนเสีย​ส่วนมาก ​ส่วนคนจนก็​ต้องลำบากยากจน​และไร้​ที่ทำกินกันต่อ​ไป

สมัยนั้น​พ่อของฉันรวบรวมสมัครพรรคพวก​ได้ห้าหกครัวเรือน หลบหนีสายตาป่าไม้อำเภอ แอบขึ้น​มาหักร้างถางพงทำไร่ปลูกข้าวกันอยู่​​ที่นี่ ก่อน​ที่​จะเพาะปลูกพืชสวนกันในภายหลัง ​และ​ได้เนื้อ​ที่กันคนละประมาณ ๔๐-- ๕๐ ไร่ ​ซึ่งก็ไม่น่า​จะนับว่าพวกท่านอยู่​ในข่ายบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า​โดยเปล่าประโยชน์กันมากมาย​​แต่อย่างใด

​และด้วยระยะทางเดินเท้าอย่างไม่รีบเร่ง​ไปตามด่านช้างอันคดเคี้ยว​ไปสู่บ้านไร่ของพ่อฉันในขณะนั้น​ ​ถ้าวัดหน่วย​เป็นชั่งโมง ก็ประมาณชั่วโมงกว่า ๆ​ จึง​จะลุถึงเขตไร่ของพ่อ หาก​แต่ฉันแอบคิดอย่างพิเรน ๆ​ ตามแบบของฉัน ​โดยนับหน่วยเดินทาง​เป็นคำหมากของย่า ​ที่เคี้ยวอมไว้ในปากจนจืดแล้ว​คายทิ้ง ​ได้สามคำ

คำแรกเคี้ยวมาจากบ้านก่อนออกเดินทาง

คำ​ที่สอง ย่าคายคำแรก​ที่ร้านค้าต้นทางแล้ว​ตะบันใส่ปากเคี้ยวใหม่​ที่นั่น

คำ​ที่สาม ก็​ที่บ้านน้าด้วน ​ซึ่ง​เมื่อยืนอยู่​​ที่หน้าบ้านหลังนั้น​ แล้ว​มอง​ไปเหนือทิวป่าด้านทิศตะวันออก ก็​จะเห็นหลังคามุงจากของบ้านพ่อโผล่อยู่​เหนือไร่มันสีเขียว​เป็นพืดอย่างชัดเจน ย่าชวนฉันแวะ​ไปกินน้ำ ​และถือโอกาสเยี่ยมเยียนยายนุ่ม แม่ของน้าด้วน ผู้​ซึ่งสังขารร่วงชราผมหงอกขาวทั่วศีรษะเหมือนย่าฉัน

​เมื่อแวะกันเข้า​ไปแล้ว​ ฉันก็เตร็ดเตร่อยู่​​ที่ใต้ถุน...​ ​เพราะเด็ก ๆ​ ​จะสอดขึ้น​​ไปนั่งบนเรือนฟังผู้ใหญ่​เขาคุยกันไม่​ได้ ​ถ้า​จะขึ้น​​ไปด้วย ก็​ต้องหลีก​ไปนั่งอยู่​ห่าง ๆ​

ก็มัน​เป็นขนบธรรมเนียมบุร่ำบุราณ ฉันไม่ว่าอะไร​หรอก กลับนึกในใจว่า สู้เ​ที่ยวเดินหาของกินเล่นอยู่​ตามข้างบ้านไม่​ได้ มันอิ่มท้องสบายกว่ากัน​เป็นไหน ๆ​

ว่าแล้ว​ฉันก็ออก​ไปจากใต้ถุนบ้านน้าด้วน แวบ​ไป​ที่ต้นตะขบริมคลอง

เรื่อง​ของกินนี้ฉันจำแม่น บ้าน​ใคร​ที่ฉันเคย​ไปมาแล้ว​ ฉันรู้หมด มะเฟือง มะไฟ มะม่วง มะมุด ส้มโอ ต้นไหนเปรี้ยว ต้นไหนหวาน ฉันชิมมาหมด

​ทว่าอ้ายตะขบเจ้ากรรม​ที่บ้านน้าด้วนต้นนี้มันก็แสน​จะเปรี้ยว ​แม้ขณะสุกงอม​และแดงยิ่งกว่าลูกตำลึง ​เมื่อหล่นลงมาใต้โคนแล้ว​ก็ยังเปรี้ยว

หาก​แต่​เป็น​เพราะ​ความซุกซนของฉัน...​

ถึงเปรี้ยว-ก็เถอะน่า!

แผล็บเดียวฉันปีนขึ้น​​ไปอยู่​บนกิ่งเหนือสุด​ที่ปลายยอดของมันทันที

‘อ๊ะ - -‘ ฉันมองลง​ไปจากยอดตะขบ ​ซึ่งสูงกว่าหลังคาบ้านน้าด้วน เห็นเครื่องเซ่นไหว้ใส่ถาดวางอยู่​บนแคร่หน้าศาลเจ้า​ที่​ที่ริมจอมปลวก หน้าบ้านน้าด้วน...​

‘นั่นไข่ต้ม ไก่นึ่ง นั่นขนมแดง-ขนมขาว นั่นพอง นั่นลา...​ เฮ้ย—นั่นเหล้าขาว ไม่กินก็​ได้เว้ย...​’

อ้ายเด็กปลิ้นปลอก! น้าด้วนแกให้ฉายาฉันอย่างนั้น​

​เมื่อ​ได้เห็นอาหารอันโอชะ ​และน่าเอร็ดอร่อยกว่าลูกตะขบเปรี้ยวต้นนี้​เป็นไหน ๆ​ ฉันจึงไม่รอช้า รีบไต่ลงจากยอดตะขบ แล้ว​วิ่งกลับ​ไป​ที่ใต้ถุนบ้านหลังน้าด้วนอีกครั้ง

"น้าด้วน น้าด้วน ไม่รู้หมา​ใครมากินเครื่องเซ่น​ที่ศาลเจ้า​ที่โน่นแน่ะ"

"อ้าว—ชิบหาย กูลืมแล้ว​"

น้าด้วนร้องลงมาจากบนเรือน หากในน้ำเสียงไม่​ได้แสดงอาการตกอกตกใจ หรือเสียดมเสียดาย​แต่อย่างใด ​เพราะแกถือ​เป็นของแก้บน...​ ใน​เมื่อแกเซ่นไหว้ให้เจ้าพ่อเจ้าแม่ของแก​ไปแล้ว​ เหลือมาก็ถือ​เป็นเศษเดน ​เป็นกาก ​เป็นชาน ​จะ​ไปหวงอะไร​ ​ความปลื้มปีติ​ที่​ได้เซ่นไหว้ ก็ทำให้อิ่มอกอิ่มใจจวน​จะกลืนข้าวไม่ลงอยู่​แล้ว​

"เออ เออ อ้ายถึงเอ๋ย เอ็งช่วย​ไปยกขึ้น​มาเก็บไว้บนเรือนให้ยายทีเถอะ"

ยายนุ่ม​และคนอื่น ๆ​ อีกหลายคน มักเรียกฉันอย่างเอ็นดูรัก​ใครว่า ‘ไอ้ถึก’ ​ซึ่งหมายถึงสัตว์ตัวผู้​ที่อยู่​ในวัยคะนอง

วัวถึก ม้าถึก ช้างถึก

​แต่ฉันมันเกิดปีวอก น่า​จะ​เป็นลิงถึงเสียมากกว่า

ฉันเดินถือถาดเครื่องเซ่นไหว้​ที่บรรดาเครื่องเซ่นเหล่านั้น​เว้าแหว่งไม่สมบูรณ์​ไปแทบทุกสิ่ง ​โดยเฉพาะไข่ต้ม ไก่นึ่ง ​และขนม ผ่านหน้าไอ้ปากดำ-หมาตัวโปรดของหน้าด้วน ​ที่โดนล่ามโซ่เส้นเท่าหัวแม่เท้าไว้​ที่โคนเสาเรือน...​ มันคราหงิง ๆ​ ราว​กับ​จะอิจฉาฉัน...​

ก็ตอน​ที่ฉันกัดกินโน่นนิดนี่หน่อย​ พออย่าให้​เขาจับ​ได้ อ้ายเวรนั่นมันยืนจ้องฉันตาไม่กระพริบ แถมแลบลิ้นเลียปากอีกต่างหาก

นานสามสี่วัน​เมื่อน้าด้วน​ไปยืมหินลับมีด​ที่บ้านพ่อฉัน แกก็เล่า​ความลับให้พ่อฉันฟัง...​

"เณรด้วนบอกพ่อว่า เอ็ง​ไปหลอกกินไก่นึ่งของมันหมด​ไปเกือบซีก จริงไหม? รับมาเสียกรง ๆ​ พ่อไม่ตี"

ฉันกลัวไม่เรียวของพ่อ เลย​สารภาพ พ่อจึงสอนฉันว่า จำไว้ ​ความลับไม่มีในโลก คนไม่เห็น ​แต่บางครั้งหมามันเห็น

"พอเอ็ง​กับย่าลงเรือนกันมาแล้ว​ เณรด้วนก็​ต้องรีบลงกระได​ไปปลดหมาปากดำออกจากโซ่ ​เพราะมันเห็นเอ็งทิ้งเศษกระดูกเศษเนื้อ​ที่รีบกินอย่างลวก ๆ​ ไว้ข้างกอสับปะรด ​เมื่อเอ็งไม่อยู่​ หมามันก็นึกอยาก​จะกิน มันจึงครางโหยหวน ดิ้นรนกระตุกโซ่​ที่ล่ามไว้จนคอแทบขาด"

พ่อของฉันพูดยิ้ม ๆ​ ​ทว่าฉันกลับรู้สึกเสียวน่องวูบวาบ ขณะคิดถึงเหตุผล​ที่ว่า ทำไมท่านถึง​ได้ไม่ทำโทษฉัน...​

วันนี้​แม้​จะขับรถมา​กับครอบครัวเลย​บ้านน้าด้วนออกมาแล้ว​ ​แต่ฉันก็ยังนึกขำอยู่​ไม่หาย ​กับน้ำเสียงของลูกชายคนเล็ก​ที่ยังคงดังแว่วอยู่​ข้างหูของฉัน

"พ่อคบไม่​ได้...​"


จบบท​ที่ ๑

 

F a c t   C a r d
Article ID S-3172 Article's Rate 12 votes
ชื่อเรื่อง เรื่องสั้นขนาดยาว --Series
ชื่อตอน พ่อคบไม่ได้ --อ่านตอนอื่นที่ตีพิมพ์แล้ว คลิก!
ผู้แต่ง พลอยพนม
ตีพิมพ์เมื่อ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๓
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ เรื่องสั้น
จำนวนผู้เปิดอ่าน ๑๖๔๘ ครั้ง
จำนวนความเห็น ๔ ความเห็น
จำนวนดอกไม้รวม ๔๘
| | | |
เชิญโหวตให้เรตติ้งดอกไม้แก่ข้อเขียนนี้  
R e a d e r ' s   C o m m e n t
ความเห็นที่ ๑ : Rotjana Geneva [C-17049 ], [85.3.75.185]
เมื่อวันที่ : ๑๐ มิ.ย. ๒๕๕๓, ๐๒.๔๖ น.

ตอนใหม่มาแล้ว​​

ยอดเยี่ยมค่ะ​​

"พ่อคบไม่​​ได้" จริง ๆ​​ แหละ​​

"พ่อ" นี่ใช่คุณนกกาหรือเปล่าคะ​​?

ดอกไม้ในสวนเช่นเคยค่ะ​​

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๒ : นาม อิสรา [C-17050 ], [112.142.48.5]
เมื่อวันที่ : ๑๐ มิ.ย. ๒๕๕๓, ๐๕.๑๕ น.

ใช่ครับ​​! คุณรจนา สมัยเด็ก ๆ​​ ผมซุกซน​​เอามาก ๆ​​ เลย​​ทีเดียว

เรื่อง​​สั้นเรื่อง​​นี้มี​​ทั้งหมด 5 ตอนด้วยกันนะครับ​​ ​​และ​​เมื่อปีสองปี​​ที่แล้ว​​ผม​​ได้นำ​​ไปเผยแพร่ลงในบอร์ดเรื่อง​​สั้นแห่งหนึ่ง​​มาแล้ว​​ด้วย ​​แต่​​เป็นการเผยแพร่ชนิดกลิ่นหมึกยังไม่จาง ยังมีข้อบกพร่องอยู่​​เยอะ เวลาผ่าน​​ไปสองปี ผม​​ได้กลับ​​ไปเปิดอ่านแล้ว​​รู้สึกเสียดายวัตถุดิบ ​​ถ้าปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น​​ จึงก๊อปมาลง​​ที่นี่​​และจัดการขัดเกลาเสียใหม่ ตัด​​ส่วนเกินออก​​ไป ​​พร้อม​​กับเสริม​​ส่วน​​ที่คิดว่ายังขาด ​​และตรวจทานคำผิด ตลอดจนวรรคตอนเสียใหม่​​ทั้งหมด จึงขอรบกวนคุณรจนา​​และท่านผู้อ่านท่านอื่น ๆ​​ ​​ถ้าหากยังพบเจอสิ่ง​​ที่คิดว่าน่า​​จะไม่ถูก​​ต้องก็​​ความกรุณา​​ได้ท้วงติงผู้เขียนด้วยนะครับ​​

ขอบคุณคุณรจนา ตลอดจนท่านผู้ติดตามอ่านงานของผมอีกครั้งครับ​​

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๓ : ลุงเปี๊ยก [C-17051 ], [115.67.46.58]
เมื่อวันที่ : ๑๐ มิ.ย. ๒๕๕๓, ๐๗.๒๐ น.

ชอบครับ​​ ชอบมากกกกก

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๔ : ลุงปิง [C-17056 ], [58.10.216.201]
เมื่อวันที่ : ๑๐ มิ.ย. ๒๕๕๓, ๑๒.๓๖ น.

เหมือนนั่งฟัง​​เพื่อนเก่า​​ที่หายหน้า​​ไปนานเล่าถึงเรื่อง​​​​ความหลัง ทำให้มองเห็นภาพในอดีต​​ที่ผ่านเลย​​มาหลายปี...​​

แจ้งลบข้อความ


สั่งให้ระบบส่งเมลแจ้งการเพิ่มเติมความเห็น
 ศาลานกน้อย พร้อมบริการเสมอ และยินดีรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกท่าน  ติดต่อเว็บมาสเตอร์ได้ทางคอลัมน์ คุยกับลุงเปี๊ยก หรือทางอีเมลได้ที่ uncle-piak@noknoi.com  พัฒนาระบบ : ธีรพงษ์ สุทธิวราภิรักษ์  โลโกนกน้อย : สุชา สนิทวงศ์  ภาพดอกไม้ในนกแชท : ณัฐพร บุญประภา  ลิขสิทธิ์งานเขียนในนิตยสารรายสะดวก เป็นของผู้เขียนเรื่องนั้น  ข้อความที่โพสบนเว็บไซต์แห่งนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้โพสทั้งสิ้น