![]() |
![]() |
รจนา ณ เจนีวา![]() |
...สติหรือความระลึกได้ สติมีหน้าที่ระลึก มีหน้าที่จำ แต่เราจำได้ เฉพาะเรื่องที่เราเคยจำไว้ การจำไว้จะไม่เรียกว่าสติ จำไว้อย่างหนึ่ง จำได้อย่างหนึ่ง...
จำได้เพราะจำไว้ถอดเทปจากคำเทศน์ ของ ชยสาโรภิกขุ
(หากข้อความเบื้องล่างขาดตกบกพร่องประการใด ผู้ถอดเทปขอน้อมรับผิดไว้แต่เพียงผู้เดียว - รจนา เจนีวา)
ในการมีสติ มีความระลึกได้ พระพุทธองค์ว่าเป็นทางไปสู่ความไม่ตาย ไปสู่อมตธรรม สติเป็นสังขารอย่างหนึ่ง คำว่าสังขารในที่นี้หมายถึงสิ่งปรุงแต่ง หมายถึงสิ่งที่เกิดจากเหตุจากปัจจัย จะเกิดขึ้นก็ด้วยเหตุปัจจัย จะเจริญด้วยเหตุปัจจัย จะเสื่อมก็ด้วยเหตุปัจจัย
สิ่งทั้งปวงทั้งหลายที่เรารู้ได้ด้วยตาหูจมูกลิ้นกายใจ ล้วนแต่เป็นสังขารทั้งนั้น มีอะไรไหมที่ไม่ใช่สังขาร ก็มี สิ่งที่ท่านเรียกว่า วิสังขาร ซึ่งเป็นชื่อของพระนิพพาน โยมอาจจะสังเกตในการทำวัตรสวดมนต์ มีสัพเพสังขารา อนิจจา สัพเพสังขารา ทุกขา สัพเพธรรมา อนัตตาติ ทำไมข้อที่สามมีคำว่าธรรมะ ทำไมมีคำว่าสังขาระ เพราะว่า คำว่าสังขาร ไม่ได้รวมถึงนิพพานด้วย หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่าง เว้นแต่พระนิพพาน แต่ที่ท่านใช้คำว่า สัพเพธรรมาอนัตถา เพราะรวมถึงพระนิพพานด้วยเพราะไม่มีเจ้าของ
สติก็สังขารอย่างหนึ่ง เมื่อเรายอมรับว่า สติเป็นคุณธรรมที่สำคัญที่เราต้องการ เป็นส่วนประกอบของชีวิตที่สมบูรณ์ เราต้องสนใจในความเป็นสังขารของสติด้วย หมายถึงว่า สนใจในเหตุปัจจัยของการเกิดขึ้นของสติ เหตุปัจจัยของความตั้งอยู่ เหตุปัจจัยของการเสื่อมไปและดับไปของสติ
สติหรือความระลึกได้ หมายถึงว่า สติมีหน้าที่ระลึก มีหน้าที่จำ แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาว่า เราจำได้ เฉพาะเรื่องที่เราเคยจำไว้ ที่นี้เราแยกระหว่างจำไว้ กับ จำได้ การจำไว้จะไม่เรียกว่าสติ เป็นส่วนหนึ่งของคำสำคัญอีกคำหนึ่งคือ สัญญา แต่นี่เราไม่ต้องไปวิเคราะห์เรื่องสัญญามาก ที่อยากจะพูดวันนี้ก็เพียงว่า จำไว้อย่างหนึ่ง จำได้อย่างหนึ่ง
เมื่อเราลืมบางสิ่งบางอย่างหรือนึกไม่ออก เรามักโทษตัวจำได้ เราจะโทษจำไม่ได้ สติเราแย่ ที่จริงไม่ค่อยยุติธรรมกับตัวสติเท่าไร เพราะสติมีหน้าที่จำสิ่งที่เราเคยจำไว้ แล้วถ้าเราไม่เคยจำไว้ เราจะจำได้อย่างไร มันอาจจะไม่ใช่การบกพร่องของตัวจำได้ แต่เป็นความบกพร่องของตัวจำไว้ ดังนั้นการตั้งใจ จำไว้ สิ่งที่ควรจำไว้ เป็นการสร้างเหตุปัจจัยของการจำได้สิ่งที่ควรจำได้
การจำไว้เกิดจากความเอาใจใส่ ความตั้งใจอย่างหนึ่ง เกิดจากการท่อง การท่องคืออะไร คือตั้งใจจำไว้ ดูบ่อย ๆ ดูจนขึ้นใจ คำนี้ก็เป็นคำที่น่าสนใจ "ขึ้นใจ" ต้องท่องจนกว่ามันขึ้นใจ ขึ้นใจมันอยู่แล้วไม่ลืม จำได้ง่ายก็ขึ้นใจแล้ว เมื่อเกิดความสงสัยว่า วางแว่นไว้ตรงไหน นึกไม่ออก อยู่ข้างหลัง หรืออยู่ในรถ จำไม่ได้ ปัญหามันอยู่ตรงไหน มันอยู่ที่ว่า ในขณะที่วางแว่น เราไม่ได้ใส่ใจ กำลังพูดคุยกับคนอื่น กำลังคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ กำลังฟังวิทยุอะไร ไม่ได้อยู่กับการวางแว่น มันก็ไม่ได้ฝากข้อมูลไว้ เมื่อไม่ได้จำว่าแว่นอยู่ตรงไหน ตอนหลังอยากจะหาแว่น ก็จำไม่ได้
การมีชีวิตอย่างเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานต้องมีความตั้งใจในการจำไว้ด้วย ไม่ใช่ว่าต้องจำได้อย่างเดียว จำได้กับจำไว้อยู่ด้วยกัน นี่ข้อมูลที่เราจำได้ ซึ่งเราเกิดจำไว้ มีผลต่อชีวิตเรามาก ประสบการณ์ที่เราเคยจำไว้ ก็มีผลต่อปัจจุบัน มีผลต่อความรู้สึกมาก ทั้งในทางที่ดี ซึ่งเรียกว่า สัมมา เป็นสัมมาสติ หรืออาจเป็นในทางที่ไม่ดี
ญาติโยมคงทราบว่า ตอนอาตมาอายุน้อยก็หาประสบการณ์ด้วยการเดินทางต่างประเทศ ก็เดินทางไปถึงประเทศอินเดีย แล้วมีประสบการณ์หลายอย่างที่ประทับใจ นี่ก็เป็นคำหนึ่ง ประทับใจ ขึ้นใจ เราจำไว้ เราจำได้ วันหนึ่งเป็นวันแรกที่ไปถึงเมืองมัทราสซึ่งอยู่ปักษ์ใต้ของอินเดียว หลังจากอยู่ทางเหนือมานานหลายวัน ก็ไปทานอาหารที่ภัตตาคารหรือที่ร้านอาหาร ซึ่งทางใต้ของอินเดีย อาหารจะไม่เหมือนทางเหนือ จะไม่ค่อยได้ทานพวกจาปาตี จะทานข้าว จะมีอาหารเฉพาะของปักษ์ใต้เขาเหมือนปักษ์ใต้ของไทยก็มีทานเป็นเอกลักษณ์
ในร้านอาหารเขาจะแจกใบกล้วย แจกข้าวเจ้า กับพวกน้ำแกงน้ำอะไรปน ๆ บนใบกล้วย พอเสร็จแล้วก็ไม่ต้องล้างจาน ก็เก็บใบกล้วยแล้วก็ทิ้งหลังร้านอาหาร วันนั้น ออกจากร้านอาหารแล้ว ก็เดินไปข้างหลัง ก็เห็นมีชาวบ้านหลายคน กับวัว กับหมา กำลังแย่งกันเก็บใบกล้วยซึ่งยังมีข้าวติดอยู่ ไม่เคยเห็นในชีวิต คนแย่งอาหารกับหมา แล้วก็แย่งกับคนอื่น แล้วก็เลียใบกล้วยด้วยความหิว
เป็นภาพที่น่าสลดสังเวช เราจำไว้ เป็นภาพซึ่งมีความหมายสำหรับอาตมามาก ตอนหลังเมื่อเราทานข้าวไม่อิ่ม เราจะนึกถึงภาพนั้น นึกถึงประสบการณ์นั้นอยู่เสมอ หรือว่าบวชพระแล้ว เดินธุดงค์บิณฑบาตได้แต่ข้าวไม่มีกับ เราก็ยังรู้สึกว่า มีข้าวก็ยังดี นึกถึงคนที่เมืองมัทราชที่ต้องแย่งกันเลียใบกล้วยหลังร้านอาหาร รู้สึก เรายังมีโชคดีที่ยังได้ขนาดนั้น
นั่นก็คือสติ เหมือนเราให้ความสำคัญกับสติ แล้วมันถูกกับความรู้สึกของเราอย่างหนึ่ง มันจะจำได้ ระลึกได้ง่าย คือจิตใจของเราไม่ใช่ว่าจะเป็นในลักษณะเครื่องอัดเทป ไม่ใช่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเห็นได้ยิน เราอัดไว้หมดเลย เราจะอัดไว้เฉพาะเรื่องที่สำคัญกับเรา เรื่องที่เราสนใจ เรื่องที่เราประทับใจ เรื่องที่กระทบกระเทือนความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง
เราต้องพยายามจำไว้ซึ่งสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นคติธรรม ความจำของเราก็จะเป็นประโยชน์ และเมื่อเราเจอประสบการณ์ใหม่ สิ่งที่ชวนให้โลภ เราจะไม่โลภ สิ่งที่ชวนให้โกรธ เราก็ไม่โกรธ สิ่งที่ชวนให้หลง เราก็ไม่หลง
แล้วก็ย้ำอยู่ด้วยว่า เรามักจะให้ความสำคัญกับสิ่งนอกตัวเรามากเกินไป บางทีเรามีความทุกข์น้อยใจเสียใจ รู้สึกว่าคนเขาทำร้ายจิตใจของเรา นี่เป็นคำที่ได้ฟังบ่อยว่าเขาทำร้ายจิตใจเรา ที่จริงไม่มีใครทำร้ายจิตใจใครได้ ทำร้ายร่างกายได้แน่นอน เรื่องทำร้ายจิตใจนี่ไม่มีในโลก นอกจากเราปล่อยให้เขาทำ
ในวิชาป้องกันตัวของญี่ปุ่น ตำราของนักดาบญี่ปุ่น เขาถือว่า ไม่มีใครฆ่าใคร เขาสอนว่า ถ้านักดาบสองคนมีสติอย่างสมบูรณ์ พบกันกี่ชั่วโมงกี่ชั่วโมง ไม่มีใครตาย ถ้ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแพ้หรือตาย เพราะเขาเผลอในขณะนั้น ถือว่าเป็นความผิดของคนตาย ไม่ใช่ความผิดของคนฆ่า อันนี้เราไม่ต้องไปวิเคราะห์ตามหลักพุทธศาสนา แต่วิเคราะห์ตามหลักวิชาป้องกันตัว
แต่เทียบได้ว่า ถ้าจิตใจเราเป็นทุกข์เพราะการกระทำหรือคำพูดของคนอื่น เรามีส่วนด้วย พิสูจน์ได้จากการถามตัวเองว่า ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นกับหลวงปู่มั่น หรือ หลวงปู่ชา หลวงปู่มั่นจะถูกอย่างนี้ไหม หลวงปู่ชาจะถูกอย่างนี้ไหม
ญาติของหลวงพ่อชาไม่ค่อยศรัทธาท่านเท่าไร โยมแม่ท่านศรัทธามาก ท่านสร้างวัดป่าพงแล้ว โยมแม่ก็ขอบวชเป็นชีและอยู่ด้วย และก็มีพี่ชายคนโตที่มีศรัทธา แต่พี่น้องอีกหลายคนไม่ศรัทธา มีสองสามคนที่ไม่เชื่อ แล้วเขาคงมีการพูดกัน อากัปกิริยาบางอย่างที่อาจจะไม่ดีกับท่าน แต่ท่านก็คงไม่ทุกข์กับเรา แม้ใครจะด่าจะว่าเรา เขาไม่ได้ทำร้ายจิตใจเรา
ถ้าจิตใจเรามีสติ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็มีแค่การชวน ชวนให้โกรธ ถ้าเราจะพูดถูกก็บอกว่า วันนี้ สิ่งที่เขาทำวันนี้ ชวนให้เราน้อยใจ ชวนให้เราโกรธ ชวนให้เราเสียใจ นี่เราพูดอย่างนี้แล้ว ก็ช่วยให้เราเกิดสัมมาทิษฐิ ความรู้สึกเปลี่ยนทันที จากว่าวันนี้เขาทำร้ายจิตใจ เขาทำให้เราโกรธมาก เขาทำให้เราน้อยใจมาก เสียใจ อย่างนี้เรียกว่าคิดผิดแล้ว วันนี้สิ่งที่เขาทำ มันชวนให้เราโกรธมาก ชวนให้เราเสียใจมาก อย่างนี้เรียกว่า ยังรับผิดชอบตัวเอง
คือ เราไม่จำเป็นต้องเป็นเหยื่อของสิ่งนอกตัวเรา ไม่ต้องเป็นเหยื่อของการกระทำและคำพูดของคนอื่น เราเป็นที่พึ่งของตนเองได้ จิตใจของเราไม่หวั่นไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสังขาร อะไรจะเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นตามเหตุ ตามปัจจัย มันเป็นสังขาร ใครพูดอะไร ทำไมเขาพูดอย่างนั้น คำพูดเกิดจากความคิด เกิดจากความห็น เกิดจากมุมมอง เกิดจากค่านิยมเขา เขาคิดอย่างนั้นจึงพูดอย่างนั้น ทำอย่างนั้น ถูกต้องตามหลักเหตุปัจจัย
ที่นี้เราพยายามระลึกในสิ่งที่ควรระลึก การอ่านหนังสือธรรมะ การฟังเทศน์ การพูดคุยเรื่องธรรมะ เป็นการสร้างสัญญาที่ดี ทำให้เราจำสิ่งที่ดีไว้ เพื่อต่อไปเราก็จำได้ พอเกิดความทุกข์ ญาติโยมอาจจะเคยเป็นผู้ที่ทำวัตรเช้าทำวัตรเย็น ว่าไม่สบายใจเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วก็บทสวดมนต์ก็จะผุดขึ้นมาในใจ โอ้ ใช่ เหมือนที่เราสวดมนต์ทุกวันจริง ๆ หรือว่าอาจจะฟังเสียงครูบาอาจารย์ในหัว อ้อ ท่านอาจารย์เคยพูดอย่างนี้ โอ้ มันตรงตามที่ท่านพูดจริง ๆ นี่เรียกว่า เราได้ประโยชน์จากการทำวัตร สวดมนต์ ได้ประโยชน์จากการอ่าน ได้ประโยชน์จากการฟัง เพราะจำไว้ได้ เราจำไว้แล้ว และก็จำได้ มันก็เป็นที่พึ่งของเรา ดับทุกข์ได้
อย่างเช่นหลวงพ่อชาท่านสอนพวกเรา อาตมายังจำได้ แก้วนี้แตกแล้ว จำไว้นะ แก้วนี้มันแตกแล้ว ถ้าคนไม่เข้าวัดก็คงไม่รู้เรื่อง ท่านหมายถึงว่า ธรรมชาติของแก้วนี้เป็นสิ่งที่แตกได้ และต่อไปจะต้องแตก ไม่รู้ว่าจะแตกวันนี้ พรุ่งนี้ เดือนหน้า ปีหน้า แต่เรามั่นใจได้ว่า วันใดวันหนึ่งแก้วนี้ต้องแตก สำนวนของท่านมันแตกแล้ว คือ มีธรรมชาติที่จะแตกได้ตลอดเวลา
ถ้าเราจำคำพูดนี้ไว้ เอาไปใช้กับทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ความรู้สึกต่าง ๆ ก็เปลี่ยนไป มองทรัพย์สมบัติของเรา บ้านของเรา รถของเรา อะไร ๆ ที่ถือว่า เป็นของเรา ถือว่าตรงนี้มันแตกแล้ว เราก็ใช้ชั่วคราวจนกว่าจะแตก เรามีหน้าที่เหมือนกันที่จะป้องกัน รักษาไว้ให้ดี ไม่ให้แตก แต่ไม่ถึงขั้นที่เราไปหลงว่า เรามีสิทธิที่จะไม่ต้องเจอความแตกสลายของสิ่งที่เรารักเราชอบ
การศึกษาเรื่องชีวิต การศึกษาเรื่องธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญ และเมื่อเรารู้จักวางอารมณ์ต่าง ๆ ไว้มันก็ถอนตัวออกจากอารมณ์ที่เป็นปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ที่เป็นปัจจุบัน เราสามารถชั่งน้ำหนักของเรื่องนั้นได้ดี จิตใจเราจะเป็นกลาง
เราอยู่ในสังคม ก็อยู่กับสิ่งแวดล้อมซึ่งมีหลายสิ่งหลายอย่างที่มุ่งจะกระตุ้นอารมณ์ กระตุ้นความรู้สึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโฆษณา การโฆษณาทุกวันนี้มีเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา โยมอยู่กับการโฆษณาจะไม่รู้สึกตัว สำหรับอาตมาอยู่ในวัด จะรู้สึกเหมือนกับถูกเบียดเบียน เพราะเข้าไปในกรุงเทพฯ ป้ายโฆษณาก็ดี เสียงโฆษณาก็ดี การโฆษณาให้เราซื้อ ให้เราบริโภคก็มีมากทีเดียว การโฆษณาก็มุ่งที่จะกระตุ้นอารมณ์ ถ้าเราเป็นผู้เชื่ออารมณ์และลอยตามอารมณ์เสมอ เราก็จะตกเป็นเหยื่อของพวกโฆษณาได้ง่าย
แม้กระทั่งการบริโภคข่าว เดี๋ยวนี้ข่าวก็คือสินค้า การฟังข่าวก็คือการบริโภคสินค้าอย่างหนึ่ง ซึ่งเราก็ต้องมีสติให้มาก ต้องระมัดระวังให้มาก อย่างเช่นดูรูปถ่ายในหนังสือพิมพ์ เราเคยคิดไหมว่า ทำไมเขาเลือกรูปนี้ คือไม่เหมือนพวกเราจะทำหนังสือธรรมะ เอ จะมีรูปที่ดี ๆ ไหม หารูปหลวงพ่อชา หลวงปู่มั่นก็มีให้เลือกไม่กี่รูป มันไม่ใช่อย่างนั้น นักถ่ายภาพเขาถ่ายเป็นร้อย ๆ ภาพ เขามีหลักอะไรในการเลือกภาพลงหนังสือพิมพ์ ก็ต้องเลือกให้ตรงกับความต้องการของเขา คือมันผ่านความคิดเห็น ผ่านความต้องการของบุคคลอยู่แล้ว ไม่ใช่เพียงแค่สะท้อนภาพของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
อย่างเช่น ที่อังกฤษทุกวันนี้มีหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่อยู่ในกระแสต่อต้านสถาบันกษัตริย์ ฉะนั้นจะสังเกตว่า ถ้ามีรูปสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธก็ดี ปริ้นส์ชาร์ลสก็ดี หนังสือพิมพ์จะเลือกภาพที่ท่านจะดูไม่น่าเคารพ ซึ่งไม่ได้ว่าท่าน แต่การเลือกภาพเป็นการว่าท่านอยู่ในตัว ฉะนั้น การเลือกภาพ เขามีเจตนาให้เกิดความรู้สึกในผู้อ่านหรือผู้ดู
เราอยู่ในโลกซึ่งเต็มไปด้วยผู้ที่ต้องการสร้างความรู้สึกในจิตใจของเรา ซึ่งเป็นประโยชน์แก่เขา เราจึงต้องระมัดระวัง รู้เท่าทัน รู้เท่าทันว่าความรู้สึกอะไรมันเกิดขึ้น มันเกิดเพราะอะไร รู้จักหยุด รู้จักดูให้ดี มีสติ สิ่งที่เราต้องระลึกอยู่เสมอก็คือ ข่าวมีเจ้าของ ข่าวคือสินค้า ไม่ใช่ข้อมูลล้วน ไม่มีหรอกข้อมูลล้วน
การให้ชื่อก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง เช่นทุกวันนี้มีหลายกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับลักษณะของกระบวนการโลกาภิวัติ ก็มีการเดินขบวน มีการต่อต้านด้วยวิธีการต่าง ๆ ทีนี้ทางหนังสือพิมพ์ตั้งชื่อ องค์การต่าง ๆ องค์กรต่าง ๆ ว่าเป็นพวกแอนตี้โกลบัลไลเซชั่น พอตั้งชื่ออย่างนี้ ก็เลยถูกว่าไปว่า เป็นคนเห็นอะไรในแง่ร้าย เพราะเป็นพวกแอนตี้ ไม่มีอะไรในทางฝ่ายบวกเลย เพราะเป็นพวกแอนตี้ เป็นพวกต่อต้าน
พวกนี้จะมีปัญหาอย่างหนึ่งคือ ถ้าเดินขบวนหรือมีกิจกรรมที่เป็นสันติ หนังสือพิมพ์จะไม่ลงข่าวเพราะไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น แต่ถ้ามีการสู้กับตำรวจ เขาถึงจะเป็นข่าว นี่ก็เป็นปัญหาเหมือนกันเพราะข่าวก็คือสินค้า เดี๋ยวนี้พวกนี้ก็มีการเสนอตั้งชื่อตัวเองใหม่ว่า เป็นกระบวนการเพื่อ Social justice เขาบอกว่า เขาไม่ใช่แอนตี้โลกาภิวัติทุกอย่าง เขาแอนตี้โลภาภิวัติที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติ แต่เขาไม่ใช่ว่าต่อต้านการค้าขายระหว่างประเทศทุกอย่าง แต่เขาต้องการให้เป็นประโยชน์กับคนทุกคน
ดังนั้น ภาพก็มีผลต่อจิตใจ ชื่อก็มีผลต่อจิตใจ เพราะตั้งชื่อคนพวกนี้ว่าเป็นพวกแอนตี้ เราก็รู้สึกว่า เป็นพวกมองในแง่ร้าย ถ้าว่าเป็นพวกสนับสนุนความยุติธรรมในระบบการค้า ก็มีความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง จะเรียกพวกนี้ว่าเป็นผู้ก่อการร้ายก็มีความรู้สึกอย่างหนึ่ง จะเรียกว่าเป็นพวกสู้เพื่อเอกราชก็มีความรู้สึกอย่างหนึ่ง ใครเป็นผู้เลือกชื่อ ใครมีสิทธิที่จะเรียกพวกนี้ว่า เป็นผู้ก่อการร้าย คือ เขาไม่ได้รับการเลือกตั้งใช่ไหม เจ้าของหนังสือพิมพ์ เจ้าของอะไรเขาไม่ได้รับการเลือกตั้ง
นี่ก็เป็นเรื่องของการใช้สติในชีวิตประจำวัน ในเมื่อเราอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เราก็ต้องรู้เท่าทัน พยายามระลึกในข้อธรรมะให้มาก เพราะข้อธรรมะต่าง ๆ จะเป็นดาบที่ตัดความยุ่งเหยิงได้ทุกอย่าง ทำให้สิ่งที่สลับซับซ้อน ดูง่าย เช่น เรื่องกุศลธรรมกับอกุศลธรรม เป็นต้น
พระพุทธองค์ตรัสว่า ก่อนจะเกี่ยวข้องกับสิ่งใด ต้องถามตัวเองดูให้ดีว่า การเกี่ยวข้องกับสิ่งนี้ทำให้กุศลธรรมเพิ่มขึ้นไหม หรือเสื่อมลง ทำให้อกุศลธรรมเพิ่มขึ้นหรือเสื่อมลง ง่ายมาก แต่เอาหลักการนี้ใช้กับกิจกรรมในชีวิตประจำวันอาจจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้านเหมือนกัน มีผลต่อคุณภาพชีวิตเราอย่างไร ทำให้จิตใจเราแข็งกระด้างมากขึ้นไหม ทำให้เห็นแก่ตัวมากขึ้นไหม ทำให้เมตตากรุณาเพิ่มมากขึ้นไหม แล้วก็ดูผลต่อชีวิต ในแง่ว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ก็ทำ ทำให้มีหนทาง
ฉะนั้น เราต้องมีการระลึกในสิ่งเหล่านี้ ต้องมีคอนเซ็ป หรือมีหมวดธรรมซึ่งเราจำไว้ เหมือนกับเป็นวิธีช่วยแปลความหมายของสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต จะเป็นเรื่องการชั่งน้ำหนักก็ดี จะเป็นเรื่องการเลือกหนทางก็ดี ก็ช่วยเราได้
สมัยพุทธกาลมีพระสาวกชื่อ พระรัฐบาล พวกเราคงจะเคยได้ยินชื่อท่าน พ่อแม่ไม่ให้บวช ท่านก็นอนไม่ยอมทานข้าวหลายวัน เกือบตาย พ่อแม่ก็ยอม แต่ก็บอกว่า บวชแล้วก็ขอมาเยี่ยมมั่ง ท่านบรรลุอรหันต์แล้ว ท่านกลับไปเยี่ยม แต่เวลาผ่านไปสองสามปี และก็ทางบ้านไม่เคยเห็นท่านห่มผ้าเหลืองมาก่อน ท่านเดินบิณฑบาต พ่อกำลังนั่งหน้าบ้าน เห็นพระก็โกรธ พวกนี้ พวกสมณะหัวโล้นที่เอาลูกชายไป ห้ามใครใส่บาตร
ท่านก็เดินผ่านบ้าน แต่ทาสทาสีกำลังจะเทขนมบูดแล้ว จะทิ้ง ท่านรัฐบาลบอกว่า ถ้าจะทิ้ง เทใส่บาตรอาตมาได้ไหม เขาเทใส่บาตร ทาสีพอใส่บาตรแล้วสังเกตลักษณะมือลักษณะเท้าจำได้ ตื่นเต้น วิ่งเข้าไปบอกในบ้านว่า ท่านลูกชายกลับมาแล้ว พระท่านไปแล้ว ท่านไปในอุทยาน ไปฉัน พ่อวิ่งตาม นิมนต์ไปฉันในบ้าน ฉันได้อย่างไร อาหารบูด พระบอกว่า เราเป็นผู้ไม่มีบ้านแล้ว อาหารเราก็รับแล้ว เมื่อกี้นี้ไปที่บ้าน โยมก็ห้ามไม่ให้ใครใส่บาตร เราก็ได้ของบูดก็ดีแล้ว วันนี้เราก็ไม่ได้ฉันอีกแล้ว พ่อท่านก็เลยบอก ถ้างั้นจะขอนิมนต์ฉันในบ้านพรุ่งนี้เช้า ท่านก็รับ
เศรษฐีนี่ก็กลับบ้าน ก็สั่งให้เขาเอาสมบัติทั้งหมดกองไว้อยู่ในห้องรับแขก กองทองกองหนึ่ง กองเงินกองหนึ่ง สูงมาก ใหญ่มาก แล้วก็ปิดบังเอาไว้ แล้วก็ให้ภรรยาเก่าของท่านแต่งตัวให้สวยงามที่สุด ตอนเช้า เข้าไปในบ้านก็เปิดทรัพย์สมบัติให้เห็น นี่คือมรดก ก็ขอลาสิกขาเถอะ จะได้เสวยทรัพย์สมบัติ จะได้ทำบุญ ท่านก็นั่งนิ่ง ภรรยาเก่าก็เข้าไป ท่านก็เรียกว่า น้องหญิง เขาเลยล้มสลบไป
ท่านบอกว่า ถ้าจะทำตามคำของอาตมา ก็ขอขนเงินและทองนั้นไปที่แม่น้ำ แล้วก็ทิ้งไว้ในแม่น้ำเสีย จะได้ไม่เป็นทุกข์กับมัน ถ้ามีอะไรจะถวายก็นำมาถวายเถอะ ก็เลยนำอาหารมาถวาย ฉันเสร็จ ท่านก็ให้โอวาทสั้น ๆ ให้เห็นความทุกข์ของทรัพย์สมบัติ ให้เห็นความที่ร่างกายคนนี้ก็มีแต่กระดูก มีแต่อาการสามสิบสอง ถึงจะแต่งตัวสวยงาม จะทาปากทานั่นทานี่ ผู้เห็นธรรมแล้วไม่หลง
แล้วก็ออกไป ก็ไปปักกลดอยู่ในอุทยาน ทีนี้ กษัตริย์ของแคว้นนั้น ชื่อ คุระวยะ เข้าไปในอุทยาน ก็ไปเจอท่าน แล้วจำท่านได้ ก็เลยสงสัย ถามว่าท่านบวชทำไม ส่วนมากคนจะบวช จะต้องเจอความทุกข์หรือความเสื่อมอย่างใดอย่าง คือหนึ่ง แก่แล้ว คิดว่าแก่แล้ว ทำอะไรไม่ได้แล้ว ทรัพย์สมบัติคงไม่เพิ่มมากกว่านี้ คงจะไม่มีความเจริญทางโลกมากกว่านี้ พอแล้ว ออกบวช แต่ท่านยังหนุ่มอยู่ ก็คงไม่ได้เสื่อมอย่างนี้
หรือ บางคนเจ็บไข้ได้ป่วย สุขภาพไม่ดี จะเจริญทางโลกต่อไปก็คงไม่เจริญแล้ว ไม่มีกำลัง ออกบวชดีกว่า แต่ความเสื่อมอย่างนี้ท่านก็ไม่มีเหมือนกัน ดูแข็งแรงดี เลยสงสัย บางคนบวชเพราะมีความเสื่อม คือ พลัดพรากจากทรัพย์สมบัติ เคยร่ำรวย เคยเจริญ ต่อไปเศรษฐกิจตก มีปัญหาต่าง ๆ เงินหมดแล้ว ทรัพย์สมบัติหมดแล้ว ไม่รู้จะทำอย่างไร สร้างตัวอีกครั้งหนึ่งก็ไม่มีกำลัง ออกบวชดีกว่า แต่ว่าท่านก็คงไม่เป็นอย่างนั้น ก็รู้ว่าบ้านท่านก็ร่ำรวยมาก มรดกก็มีมาก ก็คงไม่มีปัญหาอย่างนี้
แล้วก็มีอีกข้อหนึ่ง คือเสื่อมจากญาติ สามีภรรยา ภรรยาตาย ลูกตายไป เสียใจอาลัย ก็คิดออกบวช เสื่อมอย่างนี้ท่านก็ไม่มี เพราะท่านไม่เคยแต่งงาน ไม่เคยมีครอบครัว ก็เมื่อความเสื่อม คือ ความแก่ ความเสื่อมคือความเจ็บไข้ ความเสื่อมคือพลัดพรากจากทรัพย์สมบัติ ความเสื่อมคือพลัดพรากจากคนรักไม่มี เราจึงงงว่า ทำไมจึงบวช
นี้ท่านรัฐบาล ท่านบอกว่าท่านฟังธรรมะ ท่านก็เกิดความประทับ ท่านฟังแล้วจำไว้ จำไว้แล้วลืมไม่ได้ จำได้ตลอดเวลา จึงทำให้เบื่อในชีวิตฆราวาส จึงออกบวช พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า "ชีวิตนี้ความแก่พัด พัดไปเรื่อย ๆ คือเหมือนกับน้ำ" น้ำมันเป็นกระแสที่พัดไปเรื่อย ๆ หมายถึงว่า ชีวิตของเรามันหมดไปทุกวัน ๆ มันแก่ลงทุกวัน ๆ ๆ เมื่อเราเห็นว่าความแก่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกวัน ไม่ใช่ว่าอีกกี่ปีข้างหน้าเราจะแก่ เราจะว่า การที่คนแก่มันเป็นธรรมชาติ ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เป็นไปทุกวันตั้งแต่วันเกิด แล้วก็ดูจากคนรอบข้าง
ถามว่า มหาบพิตร สมัยก่อน ตอนอายุยี่สิบสามสิบปีแข็งแรงไหม โอ้ แข็งแรงมาก เล่นกีฬาก็ชอบ จะไปรบในศึกสงครามเราก็เป็นคนแข็งแรงที่สุด ทุกวันนี้เป็นอย่างไร ไม่ไหวแล้ว อายุแปดสิบแล้ว กษัตริย์องค์นี้ก็เข้าใจ
คือ ธรรมะ พระพุทธเจ้า มีคำหนึ่งที่เราสวดทุกวันเหมือนกันคือ โอปะณะยิโก คำนี้สำคัญเหมือนกัน คือ น้อมเข้ามา ไม่ใช่เห็นคนอื่นแก่ก็เรื่องของเขา แต่เราน้อมเข้ามาว่า เรากำลังจะเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน พระพุทธองค์ให้พระไปปฏิบัติในป่าช้า ให้ดูซากศพ ให้ดูซากศพแล้วเพื่ออะไร เพื่อน้อมเข้ามาว่า วันใดวันหนึ่ง เราก็จะเป็นอย่างนั้น ธรรมะจะเกิดขึ้นเมื่อเราเอาข้อมูลต่าง ๆ น้อมเข้ามาสู่จิตใจ ถ้ารู้แล้วก็แล้วไป มันก็ยังไม่เกิดเป็นธรรมอยู่ในใจของเรา
นี่พระรัฐบาลก็บอกว่า ข้อที่สองที่จำตั้งแต่วันนั้น และก็จำได้ตลอดคือ "ชีวิตไม่มีที่พึ่ง ไม่มีผู้ป้องกันอันตรายได้" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงว่า ไม่มีสิ่งเหนือโลกเป็นที่พึ่ง อย่างพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หมายถึงในกระแสความเปลี่ยนแปลง ในกระแสสังขาร ในโลกธรรมดา ไม่มีสิ่งใดที่เราจะยึดเหนี่ยว ที่จะเป็นที่พึ่งของเราได้ตลอด เมื่ออาตมาภาพฟังอย่างนี้ก็รู้สึกว่า จะไปแสวงหาความยั่งยืนในสิ่งที่ไม่ยั่งยืน มันก็ไม่เกิดประโยชน์ คำถามพระราชาองค์นั้นว่า
ทุกวันนี้มหาบพิตรสุขภาพดีไหม ท่านบอกว่าก็ไม่ค่อยดีแล้ว อายุมากแล้ว มีโรคประจำตัว ทรมานเหมือนกัน บางครั้งเมื่อมีอาการกำเริบ เหมือนกับจะไม่รอดเหมือนกัน เจ็บปวดทรมานพอสมควร ท่านรัฐบาลเลยถามว่า เวลาไม่สบายนั้น แล้วก็มีภรรยา มีลูกมีหลาน มีคนใช้ มีอำมาตย์รอบตัว มีใครไหมที่สามารถรับทุกขเวทนาของมหาบพิตรไปบ้างไหม แบ่งให้ภรรยาได้บ้างไหม แบ่งให้ลูกให้หลานได้บ้างไหม แบ่งให้อำมาตย์ได้บ้างไหม บอกว่า ไม่ได้ ต้องเจ็บแล้วต้องทนคนเดียว จะแบ่งให้คนอื่นไม่ได้หรอก
นั่นแหละ ท่านรัฐบาลจึงบอกว่า ชีวิตนี้ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีใครป้องกันอันตราย ไม่มีใครป้องกันทุกขเวทนาได้ ไม่มีใครจะป้องกันไม่ให้เจ็บไข้ได้ สุดท้าย จะต้องเป็นทุกคน จะต้องอดทนคนเดียว พระราชาก็ยอมรับ
อย่างหนึ่งคือ ไม่มีอะไรที่เป็นของเราจริง ๆ แล้ว สิ่งที่เป็นของเราจริง ๆ ก็เป็นของเรายืมเขามาใช้แล้วชั่วคราว ตายแล้วต้องทิ้งหมด พระราชาก็บอกว่า ในคลังในพระราชวังมีเงินมีทองมหาศาล นั่นจะไม่ใช่ของเราหรือ พระรัฐบาลก็บอกว่า ถ้าสวรรคตแล้ว ตั้งใจได้ไหมว่าชาติหน้าขอให้เราได้เสวยต่อไป ก็ไม่ได้ เพราะว่าไม่ใช่ของเราแท้ ๆ
ยิ่งในสมัยปัจจุบันก็เห็นได้ชัดเห็นไหม หุ้นต่าง ๆ ก็เกิดมีปัญหา หุ้นที่เคยมีราคาอย่างหนึ่ง ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง หรือไม่กี่นาที ราคาก็ตกฮวบได้ ราคาอันแท้ของหุ้นก็ไม่มีใช่ไหม เราเป็นเจ้าของของสิ่งทั้งหลายก็เป็นโดยสมมติ แต่เราจำไว้ เราจำได้ว่าเป็นของเราโดยสมมติเท่านั้น เป็นของใช้ชั่วคราว
สุดท้าย ข้อสุดท้ายที่พระรัตทะบาลจำไว้ตั้งแต่วันนั้น จำได้ตลอด ก็คือ "ชีวิตมีแต่พร่อง ไม่มีที่อิ่ม ชีวิตของปุถุชนเป็นทาสของตัณหา" ตราบใดที่เรามีตัณหาอยู่ในใจ ไม่มีวันสงบได้ ไม่มีวันจะมีความสุขที่แท้จริง เพราะมีเท่าไรก็ไม่พอ
อย่างเช่น มหาบพิตรตอนนี้มีราชอาณาจักรที่กว้างใหญ่ แต่ถ้าสมมติว่า มีอำมาตย์หรือคนเชื่อถือมาบอกว่า ภาคเหนือมีอีกประเทศหนึ่ง ร่ำรวยมาก ทรัพยากรธรรมชาติมีมาก แล้วก็กองทัพเขาก็ไม่ค่อยดี ถ้าจะรบก็คงยึดได้ง่าย จะเอาไหม พระราชาก็บอก คงจะเอาเหมือนกัน ถ้ามีตะวันออกแบบเดียวกันเอาไหม เอาเหมือนกัน ตะวันตกเอาไหม เอา ทางใต้เอาไหม เอา ทางทะเลเอาไหม เอา นี่ขนาดนี้ เป็นพระราชาเป็นกษัตริย์แล้วก็ยังไม่พอ
มีเท่าไร ถ้าตัณหายังเป็นเชื้อโรคอยู่ในใจก็ไม่พอ เรียกว่าชีวิตของปุถุชนพร่องเป็นนิตย์ เราจึงเกิดความรู้สึกว่า ถ้าดำเนินชีวิตตามการบัญชาของตัณหา ไม่มีวันสงบสุขได้ จำได้ตลอด เห็นโทษในตัณหาจึงออกบวช
นี่ก็เป็นตัวอย่างของพระอริยะเจ้า ตัวอย่างของพระสาวกที่ฟังธรรมะได้ข้อคิด ซึ่งไม่ใช่ทฤษฎี ปรัชญา อภิปรัชญา เป็นข้อสังเกตเรื่องธรรมชาติของชีวิตมนุษย์ ธรรมชาติของความที่คนเราเกิดแล้ว ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ธรรมชาติว่าชีวิตที่มีกิเลสเป็นชีวิตที่ไม่มีวันจะรู้ความสุขที่แท้จริง
การมีสติในชีวิตประจำวัน ให้เราจำไว้เรื่องนี้ คิดบ่อย ๆ ให้มันขึ้นใจ เรื่องความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เรื่องทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทางดับทุกข์ หนทางไปสู่ความดับทุกข์ เหมือนกับเอาจิตใจเรามาแช่อยู่ในความจริง จะมีผลต่อความรู้สึกชีวิต จะช่วยให้เราทำสิ่งที่ถูกต้อง พูดสิ่งที่ถูกต้อง คิดสิ่งที่ถูกต้องได้เป็นประจำ
เมื่อวันที่ : 10 พ.ค. 2548, 21.44 น.
ผู้อ่านที่รัก,
นิตยสารรายสะดวก และผู้เขียนยินดีรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดงความเห็นได้โดยอิสระ ขอขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมีส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...