![]() |
![]() |
รจนา ณ เจนีวา![]() |
ยินดีในทุกข์
ถอดจากคำเทศน์ของ อาจารย์ชยสาโร
ครั้งหนึ่ง สามสิบกว่าปีที่แล้ว ตอนที่สร้างโบสถ์วัดหนองป่าพงใหม่ ๆ มีคณะญาติโยมจากกรุงเทพฯ ไปกราบนมัสการหลวงพ่อชา เมื่อสนทนาธรรมได้พอสมควรแล้ว หลวงพ่อชวนไปชมโบสถ์
เดินขึ้นไปบนโบสถ์แล้ว โยมคนหนึ่งมองไปข้างบนเห็นรอยร้าว โยมบอกว่า เสียดาย โบสถ์สร้างไม่นานมีร้าวเสียแล้ว หลวงพ่อท่านตอบว่า อ้าว ไม่มีร้าว ก็ไม่มีพระพุทธ นี่คือคำตอบของท่าน แปลว่าอะไร?
ก็คือ การที่โบสถ์เกิดมีร้าว ในสายตาของโยมก็คือ แหม ช่าง(ก่อสร้าง)ไม่เก่ง ไม่ดี เสียดายของใหม่ก็มีมลทินเสียแล้ว แต่ความคิดของหลวงพ่อไม่เป็นอย่างนั้น ท่านเห็นว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา นั่นโบสถ์ก็ต้องมีความเสื่อมเป็นธรรมดา จะเสื่อมเร็วหรือเสื่อมช้า เป็นเรื่องที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ถ้าสร้างโบสถ์แล้ว ไม่มีร้าว ไม่มีเสื่อม แสดงว่า ไม่มีอนิจจัง แล้วก็ไม่มีพุทธศาสนา
เพราะศาสนาพุทธตั้งไว้บนฐานแห่งการรู้เท่าทันความจริงของธรรมชาติ แม้ในเรื่องเล็กเรื่องน้อยเรื่องธรรมดา ๆ เช่นเรื่องร้าวในเพดาน หลวงพ่อท่านก็มองเป็นธรรมะไปหมดเลย ในชีวิตประจำวันเราก็ต้องมองให้เป็นอย่างนี้ มองให้เป็นธรรมะมากขึ้น มากขึ้น ไม่ใช่ในลักษณะที่จะสั่งสอนคนอื่น จะไปเทศน์ให้คนอื่นฟัง หรือจะไปมองเป็นปรัชญา แต่เพื่อพินิจพิจารณาในเรื่องความจริงของชีวิตบ่อย ๆ สิ่งที่ผุดขึ้นมาในใจ คือความรับรู้ในแนวทางของธรรมะ มากกว่าจะคิดไปทางโลกย์ ซึ่งมักมีความอยากได้ อยากมี อยากเป็น มีอัตตาตัวตนเป็นแรงผลักดัน นี่เราเปลี่ยนอัตตาตัวตนจากอธรรมะให้เป็นธรรมะ ไปไหนเราก็รู้สึกว่าอยู่กับธรรมะ ธรรมะไม่ได้อยู่ในคัมภีร์หรือในหนังสือ ธรรมะอยู่กับความจริง
อยู่กับความจริงอย่างไร ทำอย่างไรจะอยู่กับความจริง เราต้องดูที่สิ่งที่รับรองความจริง คือ จิตใจ นี้จิตใจเรายังเป็นภาชนะรับรองความจริงที่ยังไม่สะอาด เหมือนจานสกปรกแล้วเอาอาหารดี ๆ ใส่ไว้ในจาน อาหารนั้นอาจจะทำให้เราไม่สบายก็ได้ เพราะตัวอาหารไปติดกับของสกปรก อาหารที่ดีก็กลายเป็นอาหารที่ไม่ดีไป เพราะตัวอาหารติดกับของสกปรก อาหารกลายเป็นอาหารไม่ดี ทำให้เราท้องเสีย
สิ่งที่เรารับรู้ต่าง ๆ หากว่า จิตใจเรายังไม่สะอาด เหมือนกับมีเชื้อโรคติดอยู่ในใจ สิ่งที่เราสัมผัส สิ่งที่เราเกี่ยวข้อง ทุกสิ่งทุกอย่างถึงแม้จะเป็นของไม่มีพิษภัย พอมาถึงใจเราแล้ว กลายเป็นสิ่งที่ไม่ดีไป โบราณท่านเปรียบเทียบกับน้ำใสสะอาด วัวกินน้ำ น้ำกลายเป็นนม นมสดเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่ทุกคนต้องการ แต่ถ้างูกินน้ำจากที่เดียวกับวัว น้ำเข้าไปในตัวงู กลายเป็นยาพิษไป น้ำใสอยู่ในบ่อ วัวกินกลายเป็นนมสด งูกินก็กลายเป็นยาพิษ น้ำคือน้ำ แต่พอมาถึงตัวเรา มันเปลี่ยนไปตามธรรมชาติของเรา
ฉะนั้น ท่านจึงให้เราเรียนรู้ความเป็นจริงของชีวิตเบื้องต้น จากสิ่งที่ง่ายที่สุดที่ทุกคนต้องยอมรับว่า ใช่ เป็นอาการของโรคจริง ๆ นั่นก็คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นอนิจจัง ปัญหาในการที่จะได้ประโยชน์จากหลักอนิจจัง ก็คือการดูแคลนว่า รู้แล้ว เป็นเรื่องง่ายมาก ใครจะไม่รู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปเรียนที่มหาวิทยาลัย แม้เด็กไม่กี่ขวบก็ต้องรู้ว่าทุกสิ่งต้องเปลี่ยนแปลง
เราก็รู้อยู่ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ใช่ความรู้อย่างทะลุปรุโปร่ง ยังไม่ใช่ความรู้ที่มีผลต่อพฤติกรรม เราอยากรู้ว่าจิตใจของเราเป็นอย่างไร ต้องดูว่า มีอาการอะไรบ้างเมื่อเกิดเรื่องที่เราไม่คาดหวังไม่คิดล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้นได้ เรื่องที่เกิดทันที เรื่องที่เราไม่มีเวลาเตรียมตัวล่วงหน้า มันจะมีอาการอะไรอย่างนั้น นี้จะดูเนื้อแท้ของจิตใจ
ถ้าเรามีเวลาเตรียมล่วงหน้า อาจจะหลอกตัวเอง หลอกคนอื่นได้ หากเราไม่รู้ไม่คิดล่วงหน้า นี่จะเห็นภาวะจิตของตัวเองได้ดี เมื่อมีการกดดัน เราก็ได้เห็น อย่างเช่น หากอยู่กับคนที่เอาใจเราทุกคน เราอาจรู้สึกไม่มีความโกรธ เราไม่ค่อยโกรธไม่มีโทสะ พออยู่กับคนที่ไม่ชอบเรา ไม่ดีต่อเรา มันจะเป็นอย่างไรไหม มันจะเหมือนเดิมไหม มันจะมีความเปลี่ยนแปลงไหม
ในชีวิตประจำวัน ท่านจึงให้เราเป็นนักศึกษาพร้อมที่จะเรียนรู้จากทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น จะเป็นสิ่งที่เราชอบก็ดี จะเป็นสิ่งที่ไม่ชอบก็ดี ย่อมเป็นของไม่แน่นอน เราไม่ควรด่วนสรุปว่าดีเพียงเพราะว่าสัมผัสแล้วรู้สึกชอบ ไม่ควรด่วนสรุปว่าไม่ดี เพราะสัมผัสแล้วไม่ชอบ เพราะความรู้สึกว่าชอบหรือไม่ชอบก็เป็นเพียงแต่สังขาร ไม่แน่นอน เอาเป็นหลักไม่ได้ บางสิ่งที่เราชอบทุกวันนี้ แต่ก่อนเราก็ไม่ค่อยชอบ เมื่อเป็นอย่างนั้นก็เป็นไปได้ว่า สิ่งที่เราชอบทุกวันนี้ ในอนาคตเราไม่ชอบ สิ่งที่ไม่ชอบก็เหมือนกัน นี่เราต้องค่อยสังเกต ค่อย ๆ เรียนรู้จากความเปลี่ยนแปลงของความรู้สึกภายใน มันจึงจะเข้าถึงตัวแท้ของอนิจจัง
การสังเกตความเปลี่ยนแปลงภายนอกก็เป็นส่วนหนึ่งและส่วนสำคัญ แต่ที่สำคัญที่สุดที่จะเกิดผลในภาคปฏิบัตินี่คือ ดูความเปลี่ยนแปลงจากภายใน จากความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ดูว่า เปลี่ยนแปลงเพราะอะไร เปลี่ยนแปลงอย่างไร เพราะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงโดยบังเอิญ เพราะพระผู้เป็นเจ้าดลบันดาล หรือเป็นเพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มันเปลี่ยนแปลงไปเพราะมีเหตุมีปัจจัยให้เปลี่ยนแปลง เราเรียนรู้อย่างนี้ตลอดเวลา จะทำให้เราเป็นผู้มีปัญญา
บางทีความเปลี่ยนแปลงก็ช้า และค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับ บางทีก็ช้าโดยไม่รู้สึกตัว หรือเปลี่ยนแปลงอย่างไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ บางครั้งก็เร็วมาก บางครั้งก็เร็วในทางที่พอจะทราบได้ล่วงหน้า บางครั้งก็คาดไม่ได้เลยว่าจะเป็นอย่างไร หากเราเรียนรู้อย่างนี้ตลอด ปัญญาจะเกิดขึ้น เราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่หวังในภาวะชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่ง
เช่น ถ้าเรายึดมั่นถือมั่นในหน้าที่ของเราอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเปลี่ยนแปลง เราต้องรู้สึกเป็นทุกข์ ความพลัดพรากก็ทำให้เราเป็นทุกข์ได้ เพราะเรามีความรู้สึกในสิ่งที่พลัดพรากว่า เป็นเรา เป็นของเรา ถ้ามีสิ่งใดที่เราไม่มีความรู้สึกว่า เรา ว่าของเรา ถ้าค่อย ๆ เปลี่ยนไป ค่อย ๆ หายไป เรามีความรู้สึกอะไรไหม เปล่า เพราะไม่มีความผูกพันว่าเป็นเรื่องของเรา เรื่องของเขา เรื่องของมัน ไม่ใช่เรื่องของเรา แต่ความทุกข์จากการพลัดพรากต้องเกิดขึ้นจากความยึดมั่นว่าเป็นเรา เป็นของเรา นี่พระพุทธองค์ให้เราได้สังเกต
หากเราเกิดความเศร้าโศกเสียใจ เราก็รู้ว่านี่คือความรู้สึกอย่างหนึ่ง เป็นผลจากความยึดมั่นถือมั่น หรือความผูกพันในอดีต เป็นผลจากความรู้สึกในอดีต เรารู้เท่าทัน ถ้าเรารู้เท่าทันแล้วไม่ปรุงแต่ง มันก็จะค่อย ๆ หายไป ความปรุงแต่งหมายถึง ความยินดีหรือความยินร้ายในเรื่องนั้น เรื่องความรู้สึกอย่างนั้น ถ้าความยินดีไม่ได้หมายความว่าจะต้องชอบหรือจะต้องเพลิดเพลิน แต่เป็นความต้องการให้เรื่องนั้นอยู่ต่อ ให้มีความรู้สึกอย่างนั้นต่อ
เช่น เราเคยทำอะไรผิด ตอนหลังรู้สึกว่ามีความผิด การที่จะไปแก้ไขกับคนนั้น ในเรื่องนั้น มันก็ไม่มีเวลาเสียแล้ว คนนั้นอาจตายไป อาจจะหายไป เรื่องนั้นอาจเปลี่ยนไปแล้ว แก้ไขข้างนอกไม่ได้ เมื่อเรารู้สึกว่าตัวเองมีความผิด บางทีก็มีความยินดีที่จะรู้สึกอย่างนั้นต่อ เพราะคิดว่า เหมือนเป็นการลงโทษตัวเอง คิดว่าตัวเองไม่ดี ควรจะรับการลงโทษ ในเมื่อคนอื่นไม่ลงโทษ ไม่มีการลงโทษจากภายนอก วิธีลงโทษคือครุ่นคิดในเรื่องไม่ดีบ่อย ๆ หรือรู้สึกสมน้ำหน้า ไม่อยากปล่อยวางเพราะรู้สึกว่าตัวเองจะลอยนวล เหมือนกับตัวเองเป็นผู้มีความผิดที่ควรจะทุกข์ ที่ควรได้รับการลงโทษ ดังนั้นควรลงโทษตัวเองด้วยการทำให้เป็นทุกข์ทางใจ นี้คือความยินดีอย่างหนึ่งเหมือนกัน
บางสิ่งบางอย่างเราเป็นทุกข์ทางใจ ทุกข์เรื่องเก่า ทุกข์ทำไม ปล่อยวางไม่ได้หรือ จริง ๆ ก็ปล่อยวางได้ แต่ยังไม่พร้อมที่จะปล่อยวาง ถ้าเรื่องไหนอยู่ในจิตใจได้นาน ปล่อยไม่ได้จริง ๆ ถามตัวเองว่า ทำไมมันปล่อยไม่ได้ อาตมารับรองว่าจะต้องได้คำตอบว่า ยังไม่อยากจะปล่อยวาง ถ้าค้านว่า ทำไมจะไม่อยากเพราะมันเป็นเรื่องทุกข์ ไม่มีใครอยากเป็นทุกข์ อาตมาว่าไม่เสมอไป
บางทีเรายินดีจะเป็นทุกข์เพราะรู้สึกว่า สมควรที่จะเป็นทุกข์ คนเรานี่จะมีอคติต่อตัวเอง หรือมองตัวเองในทางคับแคบ สรุปตัวเองง่ายเกินไป ถ้าเป็นชาวตะวันตก มักจะมองว่าตนเองเป็นคนไม่ดีเป็นหลัก ตอนที่อยู่อังกฤษ อาตมาดูสารคดีเรื่องคนที่ตาย ตายแล้วออกจากร่างกายแล้วมีประสบการณ์อะไรต่าง ๆ ตอนหลังก็ฟื้นขึ้นมาใหม่แล้วจำได้ว่าอะไรเกิดขึ้น
ที่น่าสนใจคือ ผู้หญิงคนหนึ่ง บอกว่าเขาตายในห้องผ่าตัว เขาลอย เขารู้สึกว่า มองเห็นหมอกำลังปั๊มหัวใจ ก็รู้ว่ากำลังตาย ข้างหน้ามีแสงสว่าง เป็นอุโมงค์ มีความปิติ ปลาบปลื้ม รู้สึกสุขที่สุดอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน ได้ปล่อยวางร่างกายที่แสนทรมาน แต่เขาบอกว่า เขารู้สึกว่า ที่นี่เพอร์เฟ็คเกินไปสำหรับคนแบบฉัน ฉันเป็นคนไม่ดี ฉันไม่มีคุณภาพพอที่จะมาอยู่สุขสบายแบบนี้ ก็กลับมาอยู่ในร่างกายดีกว่า จากความคิดอย่างนั้น ความรู้สึกต่อไปคือห้องผ่าตัด เสียดายนะ มองตัวเองในแง่ร้าย เลยไม่ได้สิ่งที่ควรจะได้
ในการทำความเข้าใจเรื่องตัวเองในการปฏิบัติ ต้องสังเกตมุมมองท่าทีที่เรามีต่อตัวเรา และเข้าใจว่า เราจะมองตัวเองในลักษณะอย่างไร การมองนั้นก็คือสังขาร เป็นแค่ความคิดเท่านั้น เป็นความคิดที่เปลี่ยนแปลงได้ บางคนอาจจะค้าน ที่จะมองว่าฉันเป็นคนไม่ดี มันมีเหตุผล ที่มองว่าตัวเองไม่ดีก็เพราะเคยทำอย่างนั้นอย่างนี้ มีนิสัยอย่างนั้นอย่างนี้ มีเหตุผลสนับสนุน แต่นั่นก็เป็นการกระทำในอดีต เป็นความคิดความรู้สึกในอดีต ไม่ปฏิเสธ แต่การที่เราสรุปตัวเองว่าเป็นคนอย่างนั้นอย่างนี้ นี่คือความผิดพลาด
การรับรู้ต่อบาปกรรมที่เราเคยทำไว้ ถูกต้อง เราก็รู้ว่าเราเคยทำบาปกรรมเอาไว้ เรามีนิสัยบางอย่างที่ไม่ดี นั้นคืองานของเรา นั่นคือสิ่งท้าทายซึ่งอาจไม่เหมือนคนอื่น เป็นงานที่กำลังคั่งค้างอยู่ รู้สึกตัวเองนิสัยไม่ดีอย่าง คือ ไม่มีมุฑิตา เห็นความดีของคนอื่นแล้วไม่เคยยินดีเลย มีแต่อิจฉา อยากจะแข่งขันกับคนอื่น อยากจะเด่นกว่าคนอื่น อยากจะดีกว่าคนอื่น เห็นผู้ใหญ่ชมคนอื่นแล้วรับไม่ได้ สรุปว่า ฉันเป็นคนไม่ดี สรุปผิดแล้ว ไม่ต้องสรุป
เราเคยสร้างนิสัยอย่างนี้มา ด้วยการกระทำ ด้วยการพูด ด้วยความคิด จะเป็นการสะสมเฉพาะในชาตินี้หรือเคยสั่งสมมาแต่ชาติไหนเราไม่ต้องวิเคราะห์ แต่รู้ว่าเป็นนิสัย เหมือนกับเป็นกระแสหนึ่ง ในกระแสทั้งหลายที่เรียกรวมกันว่า ชีวิต แต่ไม่ใช่ของตายตัว ไม่ใช่สิ่งที่ต้องเป็นอย่างนี้ตลอดกาลนาน เพราะแม้ในชีวิตที่ผ่านมานี้ เราจะเห็นว่า มีบางช่วงที่ค่อนข้างอ่อน มีบางช่วงค่อนข้างรุนแรง จะมีเหตุปัจจัยอย่างอื่นมาเกี่ยวข้อง จะเห็นว่าเป็นของไม่เที่ยง
การสรุปทำให้เรามองข้ามว่า มันก็ยังมีอยู่เหมือนกัน บางครั้งบางคราวที่เรามีความยินดีในความเจริญของคนอื่น แต่เราไม่ได้ให้ความสำคัญ เพราะเราได้สรุปแล้วว่า เราเป็นคนขี้อิจฉา เมื่อเราสรุปอะไรลงไปแล้ว ผลเสียคือ เราจะไม่ให้น้ำหนักเข้ากับสิ่งที่ไม่เข้ากับคำสรุป อันนี้เข้าใจไหม เช่น เราสรุปว่าเราเป็นคนขี้อิจฉา แม้ว่าในบางครั้งที่เรารู้สึกมุฑิตาอย่างแท้จริง เราก็จะปัดไปว่าไม่เป็นเรื่องจริง เพราะเราไม่ได้สรุปไว้เราเป็นอย่างนั้น มองคนอื่นก็เหมือนกัน เมื่อเราสรุปคนอื่นแล้วว่า ไว้ใจไม่ได้ ไม่ซื่อสัตย์ ในกรณีไหนที่เขาแสดงความซื่อสัตย์ให้เราเห็น เราก็จะปัดว่า ใช่มันก็มีเหมือนกัน แต่จริง ๆ แล้วเขาไม่ใช่อย่างนั้น
ขอให้เห็นผลของการสรุปอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการสรุปตนเอง หรือการสรุปคนอื่น พอเราสรุปอะไรลงไปแล้ว เราก็ได้ปฏิเสธหลักอนิจจังอย่างหนึ่ง และจะทำให้การรับรู้เหมือนมีเครื่องกรอง มีฟิลเตอร์ เพราะเราตัดสินเขาแล้ว เราตัดสินตัวเองแล้ว เมื่อตัดสินแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตรงกับคำตัดสิน เราก็จะใช่ นั่นแหละ สิ่งไหนที่เกิดขึ้นที่ไม่ตรง เราก็จะไม่เห็นเลยก็ได้ หรือรับรู้แล้วก็ปัดไปว่า ไม่สำคัญ เมื่อเรามองด้วยสายตาของธรรมะ ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ ตามเหตุ ตามปัจจัย
ผลของการมองอย่างนี้ คือ สามารถจะรับรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น เพราะไม่ขัดกับทฤษฎีอะไร เมื่อเราเห็นสิ่งที่ไม่ดีในตัวเรา เราก็ไม่ตกใจจนเกินไป ไม่กลุ้มใจจนเกินไป สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเป็นนิสัยเท่านั้น และเป็นของไม่มีแก่นสารสาระอะไร เราก็เปลี่ยนได้ แก้ได้ โดยยอมรับว่า สิ่งที่เราเคยสนับสนุน สิ่งที่เราเคยเชื่อ สิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นมานานแล้ว เราจะระงับทันทีและโดยเร็วคงจะยาก แต่ถ้าเราเชื่อว่าทำได้ เราก็มีกำลังใจทันที นี่คือบทบาทของศรัทธาความเชื่อ
ความเชื่อทำให้เรามีกำลัง ทำสิ่งที่ทำยาก ทำให้เรากล้า ทำให้เรายอมลำบากในการงานต่าง ๆ เพราะเราเชื่อว่า หนึ่ง งานนี้เป็นงานที่มีความหมาย เป็นงานที่ทำแล้วมีผลจริง และเชื่อว่า เราสามารถทำเรื่องนี้ได้ นี่คือความเชื่อที่เราขาดไม่ได้ในการประพฤติปฏิบัติ ไม่ว่าทางโลกทางธรรม ต้องกำหนดเป้าหมาย เชื่อว่าตัวเองเข้าถึงได้ ถ้าปฏิเสธว่า ฉันทำไม่ได้ ยากเกินไป ให้มาพิจารณาตรงข้อนี้อีกที มีเหตุผลอะไรที่บอกว่า ทำไม่ได้
และที่พระพุทธองค์เคยตรัสไว้เสมอว่า พวกเธอทั้งหลายจงละบาปและบำเพ็ญกุศล เพราะอะไร เพราะเป็นสิ่งที่พวกเธอทำได้ ถ้าพวกเธอไม่สามารถละสิ่งที่ไม่ดีได้ หากพวกเธอไม่สามารถบำเพ็ญสิ่งที่ดีได้ พระตถาคตไม่สอน เพราะพระตถาคตบังเกิดขึ้นในโลก เพื่อประโยชน์สุของชาวโลก และพระตถาคตอยู่ในโลกเหมือนมนุษย์ทั่วไป คือจะมีอายุในโลกแค่ 80 ปี เพราะฉะนั้น ท่านจะต้องใช้เวลาเลือกเฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์และจะนำไปสู่ความสุขมาประกาศให้ชาวโลกทราบ และหลักสำคัญที่พระองค์ทรงสอนทุกวันคือ เรื่องละ เรื่องบำเพ็ญ
ถ้าเราเชื่อว่าท่านเป็นผู้มีปัญญาสุดยอดแล้ว เชื่อว่าสิ่งที่ท่านเลือกมาสอนต้องสุดยอดเช่นกัน เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ถ้าเรามีความท้อแท้ว่า ทำไม่ได้ เกินกำลัง เราต้องเตือนตัวเองทันทีว่า เถียงกับพระพุทธเจ้าเสียแล้ว นี่เราถือว่าเถียงพระเป็นบาปใช่ไหม แล้วไม่แค่นั้นนะ ยังเถียงพระพุทธเจ้าเสียอีก เป็นบาปขนาดไหน ถ้าเราท้อแท้ใจ ให้เรารู้เท่าทันว่านี่คืออารมณ์ท้อแท้ อารมณ์ทุกอย่างให้เรารู้เท่าทัน รู้โฉมหน้าของมัน รู้รสชาติของมัน เมื่อมันเกิด เราก็รู้ทันที เหมือนเราเห็นหน้าคนใกล้ชิด ไม่ต้องคิดว่าใคร รู้ทันที ไม่ต้องไปคิด เมื่อได้กลิ่นบางอย่าง เรารู้ทันทีว่ากลิ่นอะไร เสียงอะไร สิ่งที่เรามองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่นหลายอย่าง เราคุ้นเคยจนไม่ต้องคิด
เราต้องปฏิบัติให้มีความไวในเรื่องอารมณ์เช่นเดียวกัน มีอารมณ์ว่า เศร้า มีสติเกิดขึ้นทันทีว่านี่คืออารมณ์เศร้า นี่คืออารมณ์ท้อแท้ สติจะบอกว่า เป็นอย่างนี้แหละ อารมณ์ต่าง ๆ มีความรู้สึกทางร่างกายเหมือนกัน สังเกตดูไหม ความเปลี่ยนทางทางร่างกายเฉพาะอารมณ์ต่าง ๆ เวลาเราจับอารมณ์ได้ นี่คือความเพลิดเพลิน นี่คือความเศร้า นี่คือความกลัดกลุ้ม ให้สังเกตอาการต่าง ๆ ของร่างกาย ก็จะช่วยรู้เท่าทัน ไม่หลง ถ้าจิตใจของเรามีสติ บาปอกุศลธรรมไม่ปรากฏ เพราะนี่เป็นธรรมชาติของจิตใจว่า ถ้าจิตใจมีส่วนที่เป็นกุศล หรือมีกุศลธรรมข้อใดข้อหนึ่ง พวกอกุศลทั้งหลายเกิดไม่ได้ ขณะเดียวกัน หากจิตใจเป็นอกุศล ตัวกุศลก็ไม่มี
อย่างเช่นคนที่บอกว่า โกรธแต่รู้ตัวว่าโกรธ เป็นไปไม่ได้ ขณะที่โกรธก็ไม่รู้ ขณะที่รู้ก็ไม่โกรธ สังเกตดู โกรธแล้วก็รู้ มีตัวรู้เกิดขึ้น แต่ตัวรู้นั้นมันไม่ค่อยเข้มแข็ง มันก็ฟุบไป แล้วโกรธก็กลับมาใหม่ โกรธแล้วรู้ รู้ไม่นานแล้วก็โกรธ เพราะโลภ โกรธ หลงเกิดจากความไม่รู้ ไม่เห็นตามความเป็นจริง
หลายอย่างทำให้เราคับแคบ เพราะการด่วนสรุปหรือมุมมอง อย่างเช่น เรามองคนอื่น บางทีเราก็ชอบสรุปว่า คนนั้นก็เป็นอย่างนั้น คนนี้ก็เป็นอย่างนี้ เมื่อเราสรุปเขาแล้ว เราก็คอยเก็บข้อมูลที่จะสนับสนุนการสรุปของเรา ทุกครั้งที่เราได้ข้อมูลที่ตรงกับความคิดก็ถือเป็นการยืนยันว่าใช่ ว่าถูก เราต้องพยายามดูอยู่ตัวเองตลอดเวลา เฝ้าสังเกตจิตใจตลอดเวลา เฝ้าสังเกตอารมณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ต้องไปกลัวอารมณ์ ไม่ต้องไปปฏิเสธอารมณ์
เมื่อกี้นี้พูดถึงความยินดีในอารมณ์ ซึ่งมีทั้งเพลิดเพลินชอบ นี่ตรงไปตรงมา แต่บางทีมีความยินดีที่จับยาก เช่น ยินดีในทุกข์ เห็นว่าตัวเองไม่สมควรมีความสุข เพราะตัวเราไม่ดีพอ นี่เป็นความยินดีที่เรามองไม่เห็น
ความยินร้ายก็เช่นเดียวกัน ความยินร้ายก็เป็นการปรุงแต่ง ถ้ามีลูกวัยรุ่น ยิ่งห้ามยิ่งดื้อ จิตใจเราเหมือนเด็กวัยรุ่น เห็นอะไรไม่ดี ยิ่งห้ามมันก็ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะเราไม่ฉลาดในการปกครองตนเอง ไม่ฉลาดในการบริหารอารมณ์ เมื่อมีสิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้น เราก็ต้องใช้สติปัญญาของเราในการระงับ เรารู้ว่า อารมณ์ทุกอย่างต้องมีอาหาร มันจึงอยู่ได้ อะไรคืออาหารของอารมณ์ อะไรคืออาหารของสิ่งที่ไม่ดี
เหมือนกับเสือโคร่งอยู่ในกรง จะเข้าไปสู้กับเสือโคร่ง มันก็ต้องแพ้ หากเราไม่ให้อาหารมัน ไม่กี่วันมันก็หมดกำลัง เราก็เข้าไปทำอะไรกับมันได้ เสือโคร่งเป็นสัตว์ร้าย เป็นสัตว์มีกำลัง เป็นสัตว์น่ากลัว เพราะมันมีอาหารเป็นหลัก นี่อารมณ์ต่าง ๆ เรารู้จักดัด ไม่ให้มันกินอาหาร มันก็จะอ่อนลง เชื่องได้ ค่อยเป็นค่อยไป ให้อภัยตัวเอง การปฏิบัตินั้นไม่โง่ ไม่ผิดพลาด ไม่มีหรอก
นักปฏิบัติทุกคนต้องมีหลายเรื่องที่นึกแล้วต้องขำ ได้รู้จักขำตัวเอง ได้ว่าตัวเอง ไม่ต้องเป็นทุกข์ทรมานใจนาน ถือว่าเป็นเรื่องน่าตลกนะ กิเลสของคน น่าขำ ให้อภัยตนเอง ขำแล้ว เราก็ยังรู้สึกว่า เรื่องนี้คงไม่หลงอย่างนี้อีกแล้ว ได้บทเรียนแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เราก็รู้ว่า เรายังไม่เป็นพระอริยะเจ้า เรายังไม่เป็นพระอรหันต์ โอกาสที่จะหลง โอกาสที่จะผิดทาง โอกาสที่จะทำผิด พูดผิด คิดผิด มันมีตลอดเวลา แต่เราจะพยายาม อย่างน้อยที่สุด
เมื่อเราหลงทางแล้ว ผิดพลาดแล้ว อย่างน้อยที่สุดเราก็จะมีความสบายใจว่า เราก็ได้บทเรียน ต่อจากนี้ไปจะฉลาดขึ้น จะรับรองได้ไหมว่าจะไม่ผิดอีก รับรองไม่ได้หรอก เพราะเรายังเป็นปุถุชน แต่จะพยายามให้ดีที่สุดเท่าที่จะพยายามได้ เอาความจริงใจ เอาความซื่อสัตย์เป็นที่พึ่ง ถ้าจะมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะไม่หลงอย่างนี้อีกแล้ว เข็ดหลาบแล้ว อันนี้หลอกตัวเองแล้ว เพราะคุณธรรมไม่เพียงพอที่จะรับรองตัวเองได้ถึงขนาดนั้น เราต้องระมัดระวัง
บางอย่างหากเรารู้ว่า กำลังใจยังไม่ดีพอ อยู่ห่างเสียก่อนดีกว่า อย่าเข้าใกล้เลย นี่ไม่ใช่ความขี้ขลาด เป็นความฉลาดเสียมากกว่า เมื่อเรารู้ว่าสู้เรื่องนี้ยังไม่ได้ กำลังไม่พอ ก็อย่าไปพยายามสู้กับมันสิ พยายามอยู่ห่าง ๆ เท่าที่จะห่างได้ นี่เรียกว่า เป็นการรู้ตัว แล้วค่อย ๆ เพิ่มกำลังของตัวเองไปเรื่อย ๆ นี่การปฏิบัติมันสนุกแบบนี้ มันสนุกมาก ดูความเปลี่ยนแปลง ดูความไม่แน่นอนว่าจะทำให้ประมาท สิ่งที่ทำให้เราโง่ที่สุดคืออะไร ก็คือตัณหานั่นแหละ อยากได้ อยากได้อะไรสักอย่าง ความคิดเราก็พุ่งไปในสิ่งที่อยากได้ เห็นความดี ความงาม ความน่าเอาของสิ่งที่เราจะได้
มีเรื่องจักรพรรดิจีนจะทำสงครามกับอีกประเทศหนึ่ง อยากได้ของเขา พวกอำมาตย์ ที่ปรึกษา ประชาชนทุกคนก็คัดค้าน ไม่อยากทำสงคราม แต่จักรพรรดิไม่สนใจ ฉันจะต้องทำ ก็มีนักปราชญ์คนหนึ่งอยู่ในวัง ทำอย่างไรหนอจึงจะให้ท่านได้สำนึกได้คิด
เช้ามืด ท่านออกไปย่างสติออกไปสวนหลังวัง เพราะรู้ว่าจักรพรรดิชอบออกไปที่สวนหลังวังไปดูตะวันขึ้น ท่านออกไปย่างสติไปเป็นชั่วโมง จนตัวเปียกน้ำค้างหมด พอสว่างก็กลับเข้าไปข้างใน ทำอย่างนี้อยู่สองวันสามวัน จักรพรรดิเห็นทุกวันก็สงสัยว่าคนนี้ทำอะไร ก็เลยเรียกมาเฝ้า ถามว่าทำอะไร เขาบอกว่า ผมยังทำอะไรไม่ได้ คือที่ต้นไม้กลางสวนมีจั๊กจั่นตัวหนึ่งกำลังเพลินกินน้ำค้าง โดยไม่รู้ว่าข้างหลังมีตั๊กแตนตัวใหญ่กำลังจะกินมัน แต่ตั๊กแตนตัวนั้นที่จะกินจักจั่น ไม่รู้ว่ามีนกกระจอกกำลังจะกินมัน แต่นกกระจอกกำลังมุ่งกินของอร่อย ก็ไม่รู้ว่าผมอยู่ข้างหลัง กำลังย่างสติ จะไปยิงนกกระจอก ผมออกไปทุกวันก็เห็นว่า จั๊กจั่นเพลิดเพลินโดยไม่สนใจสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง ตั๊กแตนก็มุ่งจะกินของอร่อย โดยไม่รู้ว่ามีนกกระจอกรออยู่ ส่วนนกกระจอกถือว่าตัวเองฉลาด ก็ไม่รู้ว่ามีมนุษย์คนหนึ่งกำลังจะยิงมัน แล้วผมก็เกิดความคิดว่า แล้วผมจะรู้อย่างไรว่า ไม่มีอะไรอยู่ข้างหลังผม ผมก็เลยไม่กล้า ไปทุกวันก็เลยไม่ยิงมันสักที
จักรพรรดิก็เลยได้ข้อคิดเรื่องการทำสงคราม ว่าตัวเองกำลังคิดอยากจะได้ แต่ไม่รู้ว่าจะเกิดผลอะไรในอนาคต จะได้เป็นเหยื่อของคนอื่นต่อไปหรือเปล่า ก็เลยไม่ทำสงคราม แสดงว่า จักรพรรดิจีนฉลาดกว่าผู้นำโลกในสมัยปัจจุบัน
ท่านให้เราระมัดระวัง รู้ตัว เรียนรู้ รู้เท่าทันอารมร์ ความรู้สึกนึกคิด รู้ว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามความต้องการก็มี แต่เมื่อโลกที่เราอยู่มีความสลับซับซ้อน เราทำอะไรลงไป มีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่เราควบคุมไม่ได้ และอาจจะเรามองไม่เห็น ที่ทำให้เกิดผล ที่เราวางแผนล่วงหน้าไม่ได้ ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปตลอดเวลา
เราก็ควรจะเรียนรู้ในกระบวนการเปลี่ยนแปลง เรียนรู้ว่าสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นอย่างไร เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ได้อาศัยอาหารอะไรมันจึงอยู่ได้ เมื่อจะให้มันดับ ควรจะให้ดับอย่างไร เมื่อสิ่งทั้งหลายทั้งโลกเปลี่ยนไปอย่างสลับซับซ้อน เราจะหวังหรือจะหมายมั่นปั้นมืออย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ฉลาด แต่ที่พึ่งของเราก็คือ ความเชื่อมั่นว่า เราเป็นผู้ที่สามารถปรับตัวให้ถูกต้องกับความเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอ เราเป็นผู้ที่ฉลาดในการรู้เท่าทันและได้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอ อันนี้เป็นหลักตายตัว เป็นที่พึ่งได้ หากจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ฉันจึงจะสบาย ต้องมีภาวะชีวิตอย่างนั้น จะต้องมีอะไรต่ออะไร อย่างนั้นฉันต้องการ เมื่อเป็นอย่างนั้น ฉันจะดีฉันจะสบาย นี่เป็นความคิดที่ไม่ฉลาด
แต่ความคิดของนักปราชญ์คือ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ว่าสิ่งที่ดีสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่ชอบสิ่งที่ไม่ชอบ ย่อมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ฉันจะเป็นผู้ฉลาดในเรื่องความเปลี่ยนแปลง ฉันจะได้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลง ฉันจะไม่เป็นเหยื่อของความเปลี่ยนแปลง ฉันจะอยู่เหนือความเปลี่ยนแปลง นี่คือท่าทีของนักปราชญ์ในทางพุทธศาสนา
เมื่อวันที่ : 07 พ.ค. 2548, 21.56 น.
ผู้อ่านที่รัก,
นิตยสารรายสะดวก และผู้เขียนยินดีรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดงความเห็นได้โดยอิสระ ขอขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมีส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...