..."....ถ้าพ่อขายที่เรามีเงินแล้วทำอะไรก็ได้ พ่อจะพาอาน้อยมูลไปเที่ยวกรุงเทพก็ได้ พ่อจะไปเที่ยวดูทะเลที่พัทยาก็ได้ " .......

หลายวันมาแล้วที่ลุงคำจัดการเก็บข้าวของลงลังกระดาษเพื่อเตรียมย้ายบ้าน เริ่มจากพระที่หิ้งบูชา แกเอากระดาษหนังสือพิมพ์ห่อพระแต่ละองค์แยกไว้ลังหนึ่งต่างหากและวางไว้บนโต๊ะ ส่วนถ้วยจานชาม ของกระจุกกระจิกเก่าๆ และเสื้อผ้าบางส่วนแกเอาใส่ลังวางไว้บนพื้นบ้าน

ความจริงมันเกือบจะไม่ต้องเก็บอะไรไปเลยด้วยซ้ำ เพราะลูกๆบอกกับแกว่าจะซื้อให้ใหม่ทั้งหมดแม้แต่เสื้อผ้า แต่แกก็เก็บๆรื้อๆของเข้าๆออกๆอยู่กับลังกระดาษห้าหกใบ ทำมันวันละนิดวันละหน่อย ค่อยทำให้มันยืดยาดอยู่อย่างนั้น แกพยายามถ่วงเวลาเพื่อจะอยู่ที่บ้านไม้เก่าหลังนี้ให้นานที่สุด

บ้านเสาไม้แก่นใต้ถุนสูง เครื่องบนเป็นไม้ประดู่ปนกับไม้แดง พื้นกระดานและฝานั้นเป็นไม้สัก ก็โค่นเอาแถวๆนี้แหละ เมื่อตอนนั้นแถวนี้มันยังเป็นป่า ข้างๆบ้านมีไผ่ซางกับ ไผ่บงสองสามกอปลูกไว้ใช้งาน มีไม้เก็ด ไม้ประดู่ และไม้มะค่าซึ่งติดที่เดิมอยู่อีกสี่ห้าต้น ปล่อยเอาไว้บังแดดบังลมให้บ้าน

บ้านหลังนี้ลุงคำสร้างขึ้นในที่ดินซึ่งหักร้างถางพงให้เป็นนาตอนยังหนุ่ม ตั้งแต่เมื่อลูกคนโตยังไม่เกิด และอ่างเก็บน้ำที่อยู่ติดที่นาของแกตอนนี้ก็ยังไม่มี ตอนนั้นมันเป็นเพียงลำห้วยที่อยู่ตรงปลายนาเท่านั้น และไกลออกไปที่ขอบฟ้าเป็นดอยสูงสลับซับซ้อนสีฟ้าหม่น

แม้จะไม่ได้เกิดที่นี้ แต่ลุงคำก็ผูกพันกับที่นี่ล้ำลึก แกได้เมียที่นี่ ลูกชายหญิงทั้งสองคนก็เกิดที่นี่ และเมียของแกก็ตายที่บ้านหลังนี้เมื่อยี่สิบกว่าปีมาแล้ว แกอยู่บ้านนี้มาก่อนที่มันจะถูกผนวกเข้าไว้ในหมู่บ้านเสียอีก

พรุ่งนี้แล้วซิ ! ก็เป็นอันหมดเวลาที่จะอยู่ที่นี่อีกต่อไป สายๆลูกชายจะมารับแกไปอยู่บ้านใหม่ในเมือง เขาเคยพาแกไปดูบ้านหลังนั้นครั้งหนึ่งแล้ว มันเป็นบ้านตึกสองชั้นมีสนามอยู่หน่อยสำหรับให้เด็กๆวิ่งเล่น มีโรงรถและมีกำแพงสูงโดยรอบ บ้านปลูกติดกันเป็นพืด ทุกหลังเหมือนกันหมดทั้งรูปร่างและสีสรร มันจะต่างกันก็ตรงเลขที่บ้านเท่านั้น เขาเรียกว่าบ้านจัดสรร ดูคล้ายกรงไก่พันธุ์ของบริษัทที่มาชักชวนให้แกเลี้ยงไม่มีผิด

หลายวันที่ผ่านมา นอกจากจะใช้เวลาเก็บของอย่างอ้อยอิ่ง ลุงคำจะใช้เวลาที่เหลือเดินดูนาเก่าของแกที่ทำเป็นขั้นบันได ตั้งแต่ตีนดอยหลังบ้านที่ติดป่าอุทยานฯ ลดหลั่นเรื่อยลงไปจนจรดอ่างเก็บน้ำ อ่างเก็บน้ำนี้ก็เพิ่งจะสร้างเสร็จเมื่อสองปีที่แล้ว มันทำให้ที่นารอบๆอ่าง เก็บน้ำมีค่าขึ้นมาทันที และเมื่อมีถนน ร.พ.ช. ตัดเข้ามารอบอ่างเก็บน้ำด้านบนที่เป็นดงใหญ่ นายทุนก็เข้ามากว้านซื้อที่นารอบอ่างเก็บน้ำ พวกเขาจะทำรีสอร์ทให้นักท่องเที่ยว มันอยู่ในแผนพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดด้วย ที่นาใกล้ๆกันได้ถูกขายให้กับนายทุนไปแล้วหลายราย ลุงคำเดินดูผืนนาของแกที่ปล่อยไว้ให้เป็นทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงควายที่เหลืออยู่ แกพยายามจะเก็บความทรงจำนี้ไว้....

"เป็นโอกาสของเราแล้วละพ่อ ที่แถบนี้ราคาเหมือนกับทอง !" ลูกชายคนโตที่ทำงานในเมืองบอกกับแกในวันหนึ่ง "เราขายที่เสียแล้วเข้าไปอยู่ในเมืองด้วยกัน ซื้อบ้านจัดสรรอยู่ ผมกับเมียจะได้ดูแลพ่อ ตอนนี้พ่อก็แก่แล้ว นาก็ไม่ได้ทำมาสองปีแล้ว พ่อจะอยู่กับอาน้อยมูลสองคนได้ยังไง"

"กูอยู่ได้ กูยังหุงหากินเองได้ ควายกูก็ต้อนไปเลี้ยงใกล้นี้ๆได้" ลุงคำตอบกลับ ยืนยันว่าแกยังไม่แก่จนจะต้องไปอยู่กับลูกชายให้ช่วยเลี้ยงดู

"ถ้าหญ้าไม่พอก็ให้ไอ้น้อยมูลไปเกี่ยวมาเติมใส่คอก ผักหญ้าไอ้น้อยมูลมันปลูกสองสามร่องก็กินกันไม่หมด ปลาในอ่างก็มีกิน นาที่แบ่งให้เขาเช่าไปกูก็ได้ข้าวกิน จะไปขายมันทำไม แล้วในเมืองไม่ใช่กูจะชอบอยู่" ลุงคำไม่เห็นด้วยที่จะขายที่เพราะเหตุผลที่ว่าแกแก่แล้ว... แล้วอีกเหตุผลหนึ่งที่ซ่อนอยู่ลึกๆของลูกชายแกก็โผล่ออกมา

"พ่อ ! พ่อไม่สงสารผมกับอีแสงหล้าบ้างหรือ?" ลูกชายคนโตหมายถึงน้องสาวของเขา "ตอนนี้เราทำงานกันในเมือง มันก็เป็นแค่ลูกจ้างต๊อกต๋อยทั้งสองคน ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะตั้งตัวได้ บ้านก็ต้องเช่าอยู่เหมือนรูหนู หลานๆพ่ออีกห้าคนกำลังเรียนกำลังกินทั้งนั้น พ่อไม่อยากให้พวกมันเรียนสูงๆ กันหรือ ?"

ลุงคำนิ่ง ไอ้นี่มันกำลังจะบอกกลายๆว่าแกเห็นแก่ตัวที่ไม่อยากขายที่นาผืนนี้ เพราะแค่ยังไม่อยากขายเท่านั้นเอง นี้หรือคือเหตุผลของแกที่เขาคิด !

มันไม่ใช่แค่นี้หรอกที่แกไม่อยากขาย มันมีอะไรยิ่งไปกว่านั้น แกคิดถึงวันที่แกบุกเบิกที่จากป่าจนกลายมาเป็นนาที่อุดมสมบูรณ์ แกคิดถึงควายที่มันอยู่กับแกมานานแสนนาน พวกมันเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ควายพวกนี่แหละที่ทำให้แกได้ส่งลูกชายลูกสาวเข้าเรียนแม้จะไม่สูงนัก แต่ก็เข้าไปทำงานเป็นลูกจ้างบริษัทในเมืองได้ แทนที่จะต้องมาทำนาอยู่ที่นี่อย่างแก

ตั้งแต่หนุ่มจนแก่ มีควายนับสิบตัวที่ผ่านเข้ามาในคอกบ้านนี้ แล้วก็แก่ตายไปตามอายุของมัน แกไม่เคยขายควายเลยแม้มันจะแก่จนทำงานไถนาไม่ได้แล้ว เมื่อควายตัวใดล้มก็จะให้เขาเอาล้อมาบรรทุกมันไปแล่กันที่อื่น เอาไปแบ่งกินกัน ลุงคำไม่เคยกินเนื้อควายของแกเองเลย

ควายที่เหลืออยู่ในคอกอีกสี่ตัวนี่ก็เป็นรุ่นสุดท้าย มันเป็นควายลูกคอกทั้งหมด "ไอ้ก้ำ" ควายพ่อพันธุ์ที่แกเอาไว้ไปทับกับควายคอกอื่น "อีเผือก" แล้วก็ "อีคำใส" กับ"ไอ้โก๋" ลูกของมัน ซึ่งหลานแกเป็นคนตั้งชื่อให้ ต่างก็เกิดในคอกนี้ทั้งนั้น ลุงคำไม่ยอมขายมันแม้จะเลิกทำนามาสองปีแล้ว เพียงแต่ไม่เอามันไปทับใหม่อีกเท่านั้น นาส่วนหนึ่งที่แกให้เขาเช่านั้น เขาก็ไม่เช่าควายแกไปด้วย เดี๋ยวนี้เขาใช้รถไถกันแล้ว แกจึงต้องเลี้ยงมันไว้เอง นี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผูกพันแกไว้กับที่นาผืนนี้

ยังมีอีกอย่างที่ลูกๆแกไม่รู้ เพราะแม้แต่แกเองก็เพิ่งจะคิดถึงมันเมื่อไม่นานมานี้... แกหวังว่าจะตายที่นี่ ! ที่บ้านหลังนี้ อย่างที่เมียของแกตายไปเมื่อนานมาแล้ว

นานนับเป็นเดือนๆที่ลุงคำเฝ้าคิดถึงแต่เรื่องที่ลูกชายอยากให้ขายที่ แกเอาความผูกพันของแกกับที่นาและควาย รวมทั้งความอยากอยู่ที่นี่และหวังว่าจะตายที่นี่ ขึ้นตาชั่งเปรียบเทียบกับความสุขสบายและโอกาสก้าวหน้าของลูกๆและหลานๆของแก ตาชั่งของลุงคำแกว่งไปแกว่งมาไม่ยอมนิ่งสักที ...

เดี๋ยวนี้กลางวันที่เคยเงียบสงบเริ่มมีเสียงเลื่อยไฟฟ้า เสียงการก่อสร้างมาจากที่นาใกล้ๆซึ่งเขาขายไปแล้ว และการก่อสร้างบ้านพักของรีสอร์ทกำลังเริ่ม มันคงจะขยายวงออกไปเรื่อยๆ ต่อไปมันคงจะไม่ใช่นาบ้านป่าที่เงียบสงบอย่างที่แกเคยอยู่อีกแล้ว

หลายเดือนมาแล้วที่ลุงคำเริ่มปวดเข่าปวดข้อ จนไม่ค่อยอยากจะเดินไปไกลจาก บ้านนัก แกเหนื่อยมากขึ้นกับการเดินเท่าเดิมอย่างเมื่อก่อน ตอนที่เมียแกตายหล่อนเจ็บเพียงสามวันที่บ้านนี้แล้วก็ตายไป ห้อมล้อมด้วยลูกๆ และตัวแกที่คอยดูใจ

แต่สำหรับแกเล่า ถ้ายังอยู่ที่นี่ต่อไป ตอนเจ็บลูกเขาจะทิ้งงานบริษัทในเมืองมาดูแก ได้หรือ และถ้าแกไม่ตายในสองสามวัน แต่ต้องนอนเจ็บยืดเยื้อเป็นเดือนๆ ใครจะมาดูแก น้อยมูลถึงจะอยู่กันมานานนับสิบๆปีก็เป็นคนอื่น ในที่สุดลูกๆเขาก็คงเอาแกไปส่ง โรงพยาบาลให้ไปตายที่นั่น ความคิดที่จะตายที่บ้านนี้เริ่มสับสน ปัญหามันมากกว่าที่ว่า "จะตายที่ไหน" แต่ยัง "จะตายอย่างไร" อีกด้วย !

นับตั้งแต่แกปฏิเสธเรื่องการขายที่นาไปตั้งแต่ครั้งนั้น ทั้งลูกชายและลูกสาวก็ไม่เคยเอ่ยถึงเรื่องนี้กันอีกเลย พวกเขารู้ดีว่าคนอย่างพ่อไม่ต้องพูดซ้ำสอง ถ้าบอกว่า "ไม่" ก็คือไม่

แต่ทั้งสองครอบครัวก็ยังผลัดเปลี่ยนกันมาเยี่ยมแกเกือบทุกเดือนอย่างเคย มีของกินมาฝากแกกับน้อยมูลลูกจ้างคนเก่าคนแก่ของบ้านนี้ซึ่งอยู่ด้วยกันมาจนเหมือนญาติ บางครั้งพวกเขาก็จะเอาลูกๆมาเยี่ยมด้วย พวกหลานๆจะรบแกให้ทำว่าวให้ เขาซื้อป่าน กระดาษและกาวมาให้ ที่นี่โล่งและลมดีหลานๆติดใจฝีมือทำว่าวของปู่ของตานัก

บางทีเด็กๆก็จะชวนแกไปตกปลาที่ริมอ่างเก็บน้ำ แกจะสอนวิธีขุดหาไส้เดือนที่จะใช้เป็นเหยื่อ พวกเขาได้เล่นซุกซนสนุกสนานในทุ่งกว้างอย่างเด็ก... ก็ที่บ้านของพวกเขา "เล็กเหมือนรูหนู" พ่อของเขาว่าไว้ยังงั้น ลุงคำเองเคยไปเห็นมาแล้วและก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน คิดๆไปแล้วก็ให้นึกเอ็นดูหลานๆ บ้านเช่าในเมืองมันก็ได้เท่านี้แหละ

แล้ววันหนึ่งเมื่อลูกชายกับลูกสาวพร้อมทั้งสะใภ้และเขย ตลอดจนหลานๆซึ่งมารดน้ำดำหัวแกในวันสงกรานต์ก็ต้องประหลาดใจกับคำถามของลุงคำ

"ถ้าขายบ้านขายนานี้ไปแล้วกูกับไอ้น้อยมูลจะไปอยู่ที่ไหน?" ลุงคำเอ่ยขึ้นเมื่อกินข้าวกลางวันเสร็จ แกยังห่วงกับลูกจ้างวัยกลางคนเก่าแก่ ที่เคยอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ลูกทั้งสองคนยังเด็กๆ ตาชั่งของลุงคำเริ่มนิ่งแล้ว

"พ่ออย่าห่วงเลย พ่อก็ไปอยู่กับผม เอาอาน้อยมูลไปด้วย" ลูกชายคนโตตอบแบบงงๆ เขาไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน แสงหล้าน้องสาวช่วยเติมคำตอบให้กับพี่ชาย

"เราจะซื้อบ้านจัดสรรกันคนละบ้าน มีห้องให้พ่อกับอาน้อยมูลอยู่กันคนละห้องทั้งสองบ้าน พอพ่ออยู่บ้านพี่จนเบื่อก็ย้ายไปนอนบ้านฉัน เล่นกับหลานตา พอเบื่ออีกก็กลับมาอยู่กับพี่เล่นกับหลานปู่ ถ้าพ่อขายที่เรามีเงินแล้ว ทำอะไรก็ได้ พ่อจะพาอาน้อยมูลไปเที่ยวกรุงเทพก็ได้ พ่อจะไปเที่ยวดูทะเลที่พัทยาก็ได้" แสงหล้าพูดถึงทะเลที่แกไม่เคยเห็น

จากนั้นไม่นานที่นาของแกก็ถูกขายให้กับนายทุนที่จะทำรีสอร์ท ในราคาที่ทุกคน พอใจ....

คืนสุดท้าย กว่าลุงคำจะกินข้าวเย็นกับน้อยมูลเสร็จก็ค่ำพอดี อากาศต้นฤดูฝน ลมใต้ยังพัดเฉื่อยฉิวผ่านอ่างเก็บน้ำมาที่บ้าน มันพาเอาความเย็นสดชื่นมาด้วย นกกระปูดหลายตัวร้องมาจากพงอ้อริมน้ำ เดือนนี้เป็นหน้าจับคู่ของมัน พอมืดสนิทหิ่งห้อยรุ่นแรกที่อยู่ในรูดินในทุ่งหญ้ารอบบ้านก็พากันออกจากดักแด้ ขึ้นมาบินเพื่อผสมพันธุ์นับพันนับหมื่นตัว เป็นประกายกระพริบเต็มไปทั้งท้องทุ่ง มันจะเป็นอย่างนี้ทุกต้นฤดูฝน หิ่งห้อยหลายตัวบินวนหลงเข้ามาที่ระเบียงบ้านที่ลุงคำนั่งสูบบุหรี่อยู่ แล้วก็บินหลบออกไป

ลุงคำกำลังซึมซับบรรยากาศคืนสุดท้ายของบ้านนาชายป่าหลังนี้ไว้ในความทรงจำให้มากที่สุด ดาวพรายแสงอยู่เกลื่อนฟ้าเพราะเป็นคืนแรม หิ่งห้อยที่พากันออกจากรูบินไปทั่วท้องทุ่ง เป็นสัญญาณว่าอีกไม่กี่วันจากนี้ ฝนใหญ่ห่าแรกก็จะลงชะผืนดิน ทีนี้ก็จะเป็นคราวที่แมงมันกับแมงเม่าจะออกจากรูบ้าง แต่แกคงไม่ทันได้อยู่ดูแมงมันพรั่งพรูขึ้นจากรูตอนค่ำเหมือนปีก่อนๆ... เสียงนกเค้าแมวร้องอยู่บนก่อไผ่ข้างบ้าน

น้อยมูลลงไปเติมหญ้าที่สุมไฟให้กับควายเป็นคืนสุดท้าย กลิ่นควันหญ้าใหม่หอมกรุ่นกว่าทุกๆวันที่แกเคยสูดดมมันมา

น้อยมูลเดินกลับขึ้นมาบนบ้าน นั่งลงตรงระเบียงบ้านเงียบๆใกล้แก "พรุ่งนี้เขาจะมาเอาควายกี่โมง ?" ลุงคำหันไปถามน้อยมูล

" เขาว่าแปดโมงเช้า" น้อยมูลตอบ

"พวกพ่อค้าควายที่ห้วยเดื่อบอกว่าที่นั่นมีคนอยากได้ควายไปทำนา" น้อยมูลบอกต่อไปด้วยเสียงเบาโดยไม่ยอมมองหน้าแก สามอาทิตย์มาแล้วที่เขาต้องไปตระเวนหาพ่อค้าควายทั่วทั้งอำเภอนี้และอำเภอข้างเคียง แต่ก็ไม่มีพ่อค้าคนไหนรับปากว่าจะหาคนที่ซื้อมันเอาไป ทำนาได้เลย เขาเองอยู่ทำนากับลุงคำที่นี่มานานและรักควายทุกตัวอย่างที่ลุงคำรัก น้อยมูลเห็นความหวังริบหรี่ที่ควายเหล่านี้จะได้กลับไปทำนาอีกครั้ง

ลุงคำพยักหน้าช้าๆ แล้วคิ้วแกก็กลับขมวดเข้าหากัน สีหน้าดูครุ่นคิดอะไรบางอย่าง ก่อนที่จะสั่งให้น้อยมูลไปบอกขายควาย แกเองได้เที่ยวตระเวนไปแล้วหลายวัด แกนึกถึงคำตอบของหลวงพ่อวัดแรกที่ไปหา...

"ไม่ได้หรอกโยม ควายตั้งสี่ตัวใครจะเป็นคนเลี้ยง หมาแมวที่วัดนี่ก็เยอะแยะแล้ว โยมคำยังจะเอาควายมาปล่อยอีกสี่ตัวเชียวหรือ" และคำตอบของหลวงพ่อวัดอื่นๆก็ไม่ต่างกันกับวัดแรกสักเท่าใด

"มึงคิดยังไงที่เราต้องไปอยู่ที่อื่นพรุ่งนี้" ลุงคำถามลูกจ้างเก่าแกที่อยู่กันมานานจนเหมือนญาติโดยไม่หันไปมองหน้า

"ผมยังอยากอยู่ที่นี่ แต่ถ้าพ่อจะไปผมก็ต้องกลับบ้าน ผมไม่ไปอยู่บ้านในเมืองกับพ่อหรอก" น้อยมูลเลือกที่จะกลับไปอยู่บ้านเกิดเขาที่เมืองพร้าว

ผีพุ่งใต้ดวงหนึ่งพุ่งวาบลงจากท้องฟ้าเป็นทางยาว ทั้งสองคนมองขึ้นไป พรุ่งนี้ที่บ้านใหม่คงจะไม่มีแสงดาวอย่างคืนนี้อีกแล้ว นอกจากแสงไฟตามตลาดและแสงไฟถนนในหมู่บ้านจัดสรร... คืนนั้นลุงคำนอนฟังเสียงนกเค้าแมวร้องอยู่จนดึก

รุ่งขึ้นลูกชายคนโตมาถึงบ้านแต่เช้า ด้วยรถกระบะคันใหม่ที่เขาเพิ่งซื้อ น้อยมูลรีบยกข้าวของต่างๆและลังกระดาษของลุงคำและของตัวเองเอาลงมาใส่รถ

ลุงคำลงไปที่คอกควาย พวกมันทั้งสี่ตัวขยับเข้ามาใกล้แก อีคำใสเอาจมูกมาดุนๆมือของลุงคำที่เกาะรั้วคอกอยู่ ไอ้โก๋ ลูกของมันที่อายุเพียงสองปีพยายามแทรกแม่มันเข้ามาบ้าง ในบรรดาควายที่แกเคยมีมา อีคำใสฉลาดและเชื่องที่สุด เมื่อแกใช้มันไถนามันจะเลี้ยวกลับเองเมื่อสุดคันนา แกเพียงแต่ยกคันไถกลับตามเท่านั้น ไม่ต้องร้องบอกหรือคอยตีเตือนเหมือนควายตัวอื่น แกไม่เคยตีอีคำใสเลย

คนรับซื้อควายมาถึงพอดี เขาตรวจดูควายจนพอใจและนับเงินจ่ายให้ลุงคำจนครบตามที่ตกลงกัน จากนั้นก็เปิดประตูคอกเข้าไป เอาเชือกล่ามตรงที่สนตะพายไว้ จูงมันออกไปทีละตัว แปลกที่ทุกตัวดิ้นอลหม่าน พวกมันไม่เคยตื่นกลัวใครขนาดนี้ คงเพราะผิดกลิ่น ! แต่อีคำใสนั้นดื้อเป็นพิเศษ มันไม่ยอมออกจากคอกจนเขาต้องเอาไม้เฆี่ยนแรงๆหลายที และช่วยกันลากถึงสี่คน จึงเอามันออกจากคอกได้

ลุงคำขบฟันแน่น แกไม่เคยตีมันเลยแม้แต่ทีเดียว เมื่อเขาลากมันออกจากคอกและผ่านตรงที่แกยืนอยู่ อีคำไสหันมามองแกแล้วหยุดนิ่งไม่ยอมไป มีน้ำตาไหลออกมาจากตา ของมัน พวกที่มาซื้อควายทั้งลากทั้งดัน ร้องฮุยๆ แล้วเงื้อไม้หวดหลังมันอีกหลายฉาด เงินค่าควายในกำมือของลุงคำร้อนฉ่าเหมือนกำไฟเอาไว้

"ไม่ต้องตี กูจะจูงมันไปให้" ลุงคำรีบร้องบอก แล้วก็เข้าไปรับเชือกจากคนซื้อควาย จูงมันไปผูกรวมไว้กับควายตัวอื่นๆที่ริมกอไผ่ ลุงคำยกผ้าขาวม้าที่คล้องบ่าขึ้นซับหน้าและที่หางตาของแก....

"พ่อขึ้นรถเถอะ เดี๋ยวสายจะร้อน" น้อยมูลเร่งแก

รถกระบะคันใหม่ที่ลูกชายขับมารับค่อยๆแล่นออกจากบ้าน ลุงคำหันกลับมามองบ้านไม้เสาแก่นหลังเก่าและฝูงควายเป็นครั้งสุดท้าย

"เขาจะขายมันให้คนเอาไปทำนาแน่หรือ ? " ลุงคำหันไปถามน้อยมูลซึ่งเป็นคนไปติดต่อพ่อค้าควาย

"เขาบอกว่างั้นพ่อ" น้อยมูลตอบเบาๆ แล้วหันหน้าออกไปนอกหน้าต่างรถ ไม่ให้ใครเห็นน้ำตาของเขาที่คลอออกมา ลุงคำหันกลับไปมองข้างหน้ารถ ดูถนนที่จะพาไปยังบ้านหลังใหม่ในเมือง แกหวังว่าควายพวกนี้คงได้ไปทำนากับเจ้าของใหม่ที่รักพวกมันอย่างแก

ลูกๆหลานๆทุกคนพอใจกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต พวกเขาได้อยู่บ้านจัดสรร มีรถยนต์ใช้ หลานๆแกก็ได้ย้ายไปอยู่โรงเรียนใหม่ที่ดีกว่า และลูกๆยังมีเงินเหลือเก็บไว้ในธนาคาร ทุกคนต่างก็สมหวังกันจากการขายนาผืนนี้

ลุงคำนั่งนิ่งอยู่ในรถ ไม่ยอมหันกลับมาดูบ้านเก่าอีกเลย แกจึงไม่เห็นว่ามีรถบรรทุก หกล้อคันหนึ่งแล่นเข้าไปในที่ดินซึ่งเคยเป็นของแก มันแล่นไปยังก่อไผ่ตรงที่ควายและพวก พ่อค้าควายยืนรออยู่ ข้างรถมีตัวหนังสือเขียนว่า "โรงฆ่าสัตว์เทศบาลตำบลห้วยเดื่อ" .... O

เมื่อวันที่ : 07 ก.พ. 2548, 11.11 น.
ผู้อ่านที่รัก,
นิตยสารรายสะดวก และผู้เขียนยินดีรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดงความเห็นได้โดยอิสระ ขอขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมีส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...