![]() |
![]() |
นกน้อย"เปิดฟ้า ก้องหล้า"![]() |
...สิบสามนาฬิกาของวันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม 2553 ณ ศาลาคู่เมรุวัดทุ่งยาว เป็นอาคารกว้างใหญ่ผสมผสานแบบการก่อสร้างระหว่างศิลปะสมัยเก่ากับศิลปะสมัยใหม่แนวตะวันตก...
สิบสามนาฬิกาของวันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม 2553 ณ ศาลาคู่เมรุวัดทุ่งยาว เป็นอาคารกว้างใหญ่ผสมผสานแบบการก่อสร้างระหว่างศิลปะสมัยเก่ากับศิลปะสมัยใหม่แนวตะวันตกช่างสวยงามและกลมกลืนอย่างเหมาะเจาะ กว้างขนาด 40 x 60 เมตร ด้านหลังอยู่ทางทิศเหนือเป็นฝาทึบครึ่งหนึ่ง ข้างบนเป็นฝาโปรงลมสามารถถ่ายเทได้ตลอด มีฝาปิดรอบในบริเวณภายใน ขนาด 40 x 12 เมตร ด้านตะวันออกมีประตูใหญ่สร้างโดยแผ่นเหล็กม้วนสามารถดึงขึ้นดึงลงได้สะดวก ด้านทิศใต้เป็นประตูแผ่นโลหะตลอด ด้านตะวันตก สองส่วนเป็นกำแพงทึบอีกหนึ่งส่วนเป็นฝ่าโลหะดึงเปิดปิดได้ด้านตะวันออกใกล้กับประตูใหญ่เป็นสถานที่วางหีบศพให้นอนไปตามขวางของอาคาร คือศีรษะศพไปทางทิศใต้ ปลายเท้าไปทางทิศเหนือ ส่วนที่เหลือในสามส่วน ส่วนที่ 1 เหนือสุดเป็นสถานที่พระแสดงพระอภิธรรม พระธรรมเทศนา มีพระพุทธรูปและโต๊ะหมู่บูชา อยู่บนพื้นเดียวกัน ยกจากพื้นธรรมดาสูงประมาณ 70 เซนติเมตร ตะวันตกสุดเป็นห้องสำหรับเก็บอุปกรณ์ มีฝาปิดมิดชิด ประตูแข็งแรง
ส่วนที่สองและสามเป็นสถานที่บรรดาเจ้าภาพ ญาติสนิทมิตรสหายและแขกผู้มีเกียรติทั้งหลายได้นั่งฟังพระแสดงธรรมเทศนาและฟังพระสวดอภิธรรม ส่วนด้านนอกที่เหลือเป็นที่โล่งสร้างต่อเติมด้วยศิลปะสมัยใหม่ตามแนวตะวันตก คือมีเสาโต ชั้นเดียว เช่นเดียวกับเสาในราชสำนัก หรือวิหารใหญ่ สามารถบรรจุคนได้ประมาณ 500 - 800 คน
"ขอเชิญ คุณอรพิน จุดธูปเทียนหน้าหีบศพ" พิธีกรประกาศเชิญคุณอรพินหลังจากที่ได้เชิญชวนให้ผู้มีเกียรติและญาติได้จุดธูปเทียนหน้าพระพุทธรูปและหน้าโต๊ะพระอภิธรรมแล้ว
เมื่อเธอไปถึงหน้าศพได้ทำความเคารพศพ ซึ่งผู้ช่วยพิธีกรได้ยืนคอยอยู่ พร้อมอำนวยความสะดวกในการจุดธูปเทียนหน้าหีบศพ โดยยื่นเทียนชนวนให้ อรพินรับ เทียนชนวนแล้วเริ่มจุดเทียนจากเล่มซ้าย แล้วย้ายมาจุดเล่มขวามือ จึงจุดธูปซึ่งปักไว้เพียงดอกเดียว สำหรับบูชามนุษย์ปุถุชนทั่วไป สำหรับธูปสามดอกนั้นสำหรับบูชาพระพุทธเจ้า หมายถึง พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ
ขณะที่จุดธูป น้ำตาของเธอก็ไหลรินหยดผ่านเป้าตาไหลสู่ริมจมูกและตกลงพื้นบ้างผ่านลงแก้ม บ้างก็ไหลลงสู่ริมฝีปากของตนเอง เพราะเธอคิดถึงสามีที่ต้องจากเธอไปทั้งชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนน เธอเองก็ประสบอุบัติเหตุด้านจิตใจเป็นสำคัญเช่นกัน เพราะเธอขาดเสาหลักค้ำยันครอบครัวไป เธอสุดเสียใจ เธอสะอึกสะอื้นด้วยความโศกเศร้าอาลัยอาวรณ์ต่อสามี น้ำตาหยดไหลรินเช่นเดียวกับน้ำตาเทียนที่กำลังร่วมแสดงความโศกเศร้าเสียใจกับเธอด้วย
ก่อนที่เธอจะกลับมาถึงที่นั่งอาการยังเหม่อลอยอยู่ พิธีกรก็เริ่มอราธนาพระธรรม เมื่อถึงที่เธอนั่งลงด้วยความอ่อนล้า ปานหัวใจจะขาดรอน ๆ เธอพนมมือขึ้น น้ำตายังมิได้หยุดไหล แต่กลับเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น เธอสะอึกสะอื้นทั้ง ๆ ที่พยายามข่มใจจะไม่ร้อง ไม่เสียดาย อยู่ตลอดเวลา คงจะตรงกับที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า การพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ อรพินเพิ่งจะได้ประจักษ์ในครั้งนี้เอง
ลูกสาวนั่งอยู่ใกล้ ๆ ก็พลอยร้องไห้ไปกับคุณแม่ของตนด้วย เธอยังอุตส่าห์เอื้อมมือพร้อมด้วยผ้าเช็ดหน้าขนาดเล็กสีชมพูไปช่วยซับน้ำตาให้คุณแม่ด้วย ทำให้หลายคนที่ได้เห็นในขณะนั้นพลอยน้ำตาซึมด้วยความสงสาร และเอ็นดูในความไร้เดียงสาของลูกสาวอายุประมาณ 6 -- 7 ปี โดยประมาณ
พระได้เริ่มแสดงพระธรรมเทศนา ตอนหนึ่งท่านกล่าวว่า "ชีวิตเป็นสิ่งไม่แน่นอน จะมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นได้เสมอ โดยที่ไม่คาดคิดฝันมาก่อน เพราะความไม่แน่นอนของสรรพสิ่ง มันไม่ใช่ของเรา เราจะบังคับไม่ให้เป็นไปไม่ได้ มันจึงทำให้มีความทุกข์ ความเศร้าโศกเสียใจ ดังเช่น คุณพ่อสมพงศ์ ที่ต้องประสบอุบัติเหตุโดยไม่คิดฝันมาก่อน นี่คือความไม่แน่นอนของชีวิตที่เรียกว่า อนิจจัง ทำให้มีความทุกข์ เรียกว่า ทุกขัง เพราะมันไม่ใช่ของเรา จึงจะบังคับไม่ให้เกิดอุบัติเหตุไม่ได้ จึงเป็น อนัตตา คุณพ่อต้องขับรถโค้งไปโค้งมาระหว่างขุนเขา แดนป่าอันเป็นพงพีที่แสนเปลี่ยว รถได้เสียหลักลื่นล้มลงไปในหุบเหวข้างทาง คุณพ่อได้รับความบาดเจ็บ แน่นอก กว่าจะมีคนมาพบและนำร่างอันเจ็บปวดสู่โรงพยาบาล ประจำอำเภอ แพทย์และพยาบาลพยายามช่วยคุณพ่ออย่างที่สุด แต่ท่านสิ้นชีวิต ในขณะที่ญาติพี่น้องไปเยี่ยมยังไม่ถึง
อรพินได้ตระหนักถึงคำพูดของพระนักเทศน์ได้ว่า การพลัดพรากเป็นทุกข์ เธอรู้ดีว่าความทุกข์ในครั้งนี้เป็นอย่างไร เธอหว้าเหว่ ชีวิตอ้างว่าง ขาดที่พึงพักทางใจ ขาดเสาหลักของครอบครัว ต่อไปนาวาแห่งชีวิตในครอบครัวของเธอจะเป็นอย่างไรเธอยังนึกไม่ออก
"เมื่อสามีของเธอเสียชีวิต นี่คือการพลัดพรากจากกันอันทำให้เกิดความทุกข์ ชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน แต่สิ่งที่แน่นอนของชีวิต คือความตาย หมายถึงทุกคนต้องตาย จะตายเร็วหรือช้าอย่างไรนั้นไม่สามารถกำหนดบอกเป็นตัวเลขได้ อรพินกอดลูกสาวแน่นพร้อมปล่อยเสียงโฮออกมาอีกครั้ง ทุกคนอดสังเวชใจไม่ได้ ทุกคนพลอยหดหู่ใจ และน้ำตาไหลรินตามเธอไปด้วย
พระอธิบายว่า การพลัดพรากจากสิ่งที่ตนรักเป็นทุกข์ เราจะต้องรู้เท่าทันทุกข์ และทำการรู้จักกับทุกข์ ทุกข์มีให้เห็นไม่ใช่มีให้เป็นและไม่ปล่อยให้ทุกข์เดินลอยนวลอีกต่อไป มีหลายคนที่สูญเสียชีวิตของญาติ เช่น บุตรธิดา พ่อแม่ เขาก็ต้องมีทุกข์กว่า เขาเจ็บปวดทรมานกว่า แต่เขายังทนได้ หักห้ามใจได้ เราสูญเสียสามีเพียงผู้เดียว แต่ลูก พ่อ แม่ พี่น้อง เพื่อน ๆ ก็ยังมีอยู่ เราสามารถสร้างอนาคตได้ หยุดความทุกข์ สร้างชีวิตใหม่ ต้องต่อสู้ สู้กับตนเอง เอาชนะความเศร้าโศกเสียใจให้ได้ ซึ่งคนอื่น เสียใจมากกว่าอีกมาก
อรพินซับน้ำตาตนเอง เธอพยายามตั้งสติฟังพระแสดงพระธรรมเทศนาต่อไป ผ้าเช็ดหน้าผืนน้อยเปียกปอน น้ำตาไหลผ่านพวงแก้มกระโจนลงคลุกเสื้อจนเปียกเป็นทางยาว
"จะขอกล่าวถึงผู้ที่สูญเสีย ใน ชีวิตจริง คือ พ่อแม่ สามีได้โดยสารรถมาด้วยกัน เพื่อไปเยี่ยมญาติในต่างจังหวัด พ่อแม่เสียชีวิต สามีพิการ ผู้ภรรยาเศร้าโศกเสียใจมาก เธอนั่งเหม่อลอย ลูกชายคนเดียวอายุประมาณ 2 ปี เดินไปล้มลงในกองไฟ เธอไปช่วยไว้ทันนำส่งโรงพยาบาล และลูกเสียชีวิตในเวลาต่อมา เธอผู้นี้ได้รับความสูญเสียอย่างมหาศาล เธอต้องทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส เมื่อเทียบกับลูกสาวผู้สูญเสียสามีในครั้งนี้ ถือว่ายังน้อยนัก ควรจะระงับใจไว้ไม่ให้เศร้าโศกเสียใจมากนัก เพราะทุกสิ่งทุกอย่าง มันเกิด แล้วก็ดับไป ทุกรูปทุกนาม ไม่มีการยกเว้น เว้นแต่เวลาของตนยังมาไม่ถึงเท่านั้น" พระแสดงพระธรรมเทศนา
อรพินสะอึกสะอื้นเบา ๆ ตายังแดงกล่ำ รู้สึกอิดโรย เธอพยายาม.....ตัวเองและคิดว่าผู้อื่นเขาเสียชีวิตไปตั้งแต่อายุยังน้อยก็เยอะ ด้วยอุบัติเหตุ ด้วยการเจ็บป่วย ก็มากมาย บางครั้งบางคนสูญเสียเยอะแยะกว่าเธออีก ฉะนั้นจึงจะต้องเรียนรู้ธรรมชาติ ว่า ทุกอย่างไม่มีความแน่นอน ไม่เที่ยงแท้ จึงทำให้เกิดทุกข์ เพราะมันไม่ใช่ของเรา ทุกข์มีให้เห็นไม่ใช้มีให้เป็น เราจะเข้าไปควบคุมความเจ็บปวด ความเสียหาย ความตายไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่ของเราจริง ๆ ดังที่พระท่านได้สั่งสอนพวกเรา ความรู้สึกของเธอก็สดชื่นขึ้น
อรพินคิดได้ว่ามันเป็นตามความเป็นจริงดังที่ท่านผู้แสดงพระธรรมเทศนากล่าวจริง ผู้ที่สูญเสียมากกว่าเรา ย่อมจะเสียใจมากกว่าเรา แต่เราจะปรับใจตนเองให้คิดถึงสัจธรรม คุณธรรมเป็นเหตุแห่งการหลุดพ้นตามฐานันดรของแต่ละคน
"ในสมัยพุทธกาล มีลูกสาวของเศรษฐีคนหนึ่งชื่อนาง ปัตตาจารา เป็นหญิงที่มีผิวพรรณผุดผ่อง กริยามารยาทเรียบร้อย ผู้เป็นพ่อมีความประสงค์ ให้ลูกสาวแต่งงานกับบุตรท่านอำมาตย์ผู้หนึ่ง แต่นางปัตตาจารา ไม่รักใคร่ชอบพอ ซึ่งนางเองได้หลงรักชอบพออยู่กับคนใช้ในบ้านผู้หนึ่ง เมื่อเธอถูกบังคับให้แต่งงาน จนใกล้ถึงวันพิธีวิวาห์ เธอบอกให้ท่านเศรษฐีทราบ แต่ท่านไม่ยอมรับฟังความต้องการของลูก" พระนักเทศน์สาธยาย
อรพินฟังอย่างตั้งใจ น้ำตาของเธอก็ยังไหลซึมมิขาดสาย
"ปัตตาจาราจึงตัดสินใจหนีจากบ้าน พร้อมด้วยคนใช้สุดที่รักหนีไปตายดาบหน้า ทั้งสองไปยังสถานที่อันไกลโพ้น เป็นถิ่นทุระกันดาน ภายในป่าเชิงเขา"
"ทั้งสองช่วยกันสร้างกระท่อมอยู่กันอย่างมีความสุข สองปีผ่านไปลูกสาวเศรษฐีเธอตั้งครรภ์และ ใกล้จะคลอด เธอมีการเจ็บท้องในบางครั้ง"
"ตามธรรมเนียมของผู้หญิงในอินเดีย ผู้หญิงจะต้องกลับไปคลอดที่บ้านของตนเอง มีพ่อ แม่พี่น้อง และ ญาติ ๆ เฝ้าดูแลอย่างดี"
"น้องใกล้จะคลอดแล้ว ขอความกรุณานำน้องกลับไปบ้านเพื่อจะได้คลอดที่นั่น"
"พี่ไม่กล้า กลัวว่าทางครอบครัวท่านเศรษฐีจะไม่อภัยพี่"
"ช่างเถอะ เป็นหน้าที่ของน้องที่จะพูดจาต่อรองเอง ขอให้เราออกเดินทางไปกันเถอะ"
"ได้ พี่จะไปกับน้องเดี่ยวนี้"
ทั้งสองเดินทางมาได้ครึ่งทาง เธอมีอาการปวดท้อง เธอนั่งและนอนลงร้องไห้ดิ้นรนไปมาด้วยความทุกข์ทรมาน ปานชีวิตจะสิ้นไป ไม่มีใครช่วย มีแต่สามีเท่านั้น เมื่อคลอดลูกออกมาแล้ว เธอก็มีความสุขสุดปิติ หลังจากนั้นทั้งสองก็นำลูกกลับไปกระท่อมที่จากมา
ทั้งสองมีชีวิตอย่างมีความสุข จนเกือบสามปี จากวันนั้น เธอก็ท้องโตกำลังจะคลอด ทั้งสองสนทนากันว่า จะต้องไปคลอดที่บ้านเกิดของท่านเศรษฐี ใกล้ถึงเวลาคลอดพร้อมด้วยลูกชายคนโตทั้งหมดก็เดินทางมาถึงกลางป่าก็มีอาการปวดท้อง และคลอดเป็นผู้หญิง จึงได้เดินทางกลับไปที่กระท่อมที่จากมา
ขณะเดินทางมาได้คืนหนึ่ง ฝนก็ตกลงมาอย่างหนักทำให้น้ำเจิ่งนองไหลท่วมบ่าลำคลอง จมไร่สวนนา ทั้งครอบครัวก็อาศัยร่มไม้เป็นที่พัก ลูก ๆ ต้องหนาวสั่น พ่อจึงออกไปหาไม้ฟืนมาสุมก่อไฟให้ความอบอุ่นแก่ลูก จนกระทั้งรุ่งเช้า สาย เที่ยง บ่าย พ่อก็ยังไม่กลับมา
ฝนหยุดตกตั้งแต่เมื่อคืน แม่จึงตัดสิ้นใจพาลูกออกไปตามหาพ่อ ไปเจอพ่อนอนนิ่งอยู่ มีเลือดไหลออกทางจมูกและขุมขน มีรอยแผลเลือดจิ่ม สองรอยใกล้กัน เธอสันนิษฐานว่าพ่อน่าจะโดนงูกัด จึงเสียชีวิต เมื่อกอดศพพ่อล่ำลาด้วยความอาลัยและเสียใจที่สุดในชีวิต เธอจึงนอนเฝ้าศพอยู่หนึ่งคืนเริ่มมีกลิ่น รุ่งเช้าเธอจึงจะเริ่มออกเดินทาง
เธอเสียใจร้องไห้แทบจะสิ้นชีวิต ลูกคนโตก็พลอยร้องไห้ด้วย เธอสุดอาลัยและเสียใจ แต่จะต้องเดินทางต่อไป เพื่อเจอบ้านผู้คนจะได้ให้ความอบอุ่นแก่ลูกทั้งสอง
อรพินนึกถึงลูกของตน เมื่อหวนคิดถึงข้อความของพระนักเทศน์ที่พูดว่า การพลัดพรากจากกัน หรือพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ ลูกทั้งสองก็ร้องห่มร้องไห้ เขาปลุกพ่อเท่าไรพ่อก็ไม่ตื่น เมื่อขาดพ่อแล้ว แม่จะช่วยลูกได้แค่ไหนก็ไม่รู้ มันอาจจะไม่ดีเหมือนที่มีคุณพ่ออยู่
เธอร่ำไห้กอดศพสามี คิดถึงชีวิตลูกทั้งสอง จำจะต้องละร่างของสามีไป และหวังว่าคงจะได้รับการอภัยที่ไม่สามารถฝังศพของพ่อได้
เธอพาลูกทั้งสองถึงฝั่งคลองซึ่งฝนตกใหม่ ๆ มีน้ำขุ่นข้นและเชี่ยวมาก คงจะลึกไม่มาก เธอจึงตัดสินใจพาลูกคนโตลุยน้ำข้ามไปจนถึงฝั่งตรงข้ามและวางลูกผู้พี่ไว้ เธอจึงลุยน้ำกลับไปรับลูกคนเล็ก ซึ่งวางอยู่บนฝั่งที่แรกถึง ลุยมาได้ครึ่งทาง มีพญานกยักษ์ตัวหนึ่งบินมาเห็นเด็กแบเบาะนอนอยู่จึงเฉี่ยวลงโฉบเด็กไป แม่จึงตะโกนและใช้มือยกขึ้นโบกไล่นก ปานหัวใจเธอขาดรอน ฝ่ายลูกชายอยู่บนฝั่งคิดว่าแม่เรียกให้ตนลงไป จึงลุกขึ้นเดินลงไปในน้ำ แม่ห้ามไม่ทัน ลูกลงถึงน้ำถูกกระแสน้ำเชียวนำลูกจมหายไป แม่เสียใจเป็นที่สุด ปานดวงใจถูกกวักไป เธอปวดร้าว เวทนา เธอปวดร้าวกว่าใครในโลกนี้ เธอร้องไห้รำไร เดินขึ้นจากน้ำเดินพรางร้องพราง ไปเรื่อย ๆ
"อรพินร้องไห้โฮด้วยความสงสารคุณแม่ที่พระนักเทศน์เล่าให้ฟัง เธอมิได้เสียใจด้วยเรื่องของตนเอง แต่อรพินสงสารหญิงในนิทานที่พระนักเทศน์เล่าให้บรรดาแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมพิธีในการบำเพ็ญศพสามีของเธอได้ฟัง"
เธอผู้เคราะห์ร้ายสูญเสียสามี ลูกทั้งสองไปแล้ว เธอก็เดินร้องห่มร้องไห้มาเรื่อย ๆ ด้วยความเศร้าโศกเสียใจ
จนกระทั้งมาถึงสถานที่แห่งหนึ่ง เธอเห็นไฟลุกโชนไหม้บ้านคนอยู่หลังหนึ่ง
"น้า ๆ เขาเผาอะไรหรือ" หญิงเคราะห์ร้ายถาม
"ที่เห็นไฟโชนอยู่นั้นเป็นบ้านของเศรษฐี เมื่อคืนฝนตกหนัก เกิดฟ้าผ่าลงมาที่กลางบ้าน มีไฟลุกโชนเผาผลาญชีวิตของท่านเศรษฐีและ ภรรยาตลอดจนคนใช้ตายหมด ไม่มีใครสามารถช่วยบุคคลในบ้านหลังนี้ได้เลย
เธอจำได้ว่าบ้านหลังที่ติดไฟอยู่นี้เป็นบ้านของเธอเอง ซึ่งเธอคิดถึงพ่อแม่และน้อง ๆ คนใช้ยิ่งทำให้เธอมีความเศร้าโศกเสียใจเพิ่มเป็นทวีคูณ มากขึ้น ๆ ถ้าตัวเธอเปรียบกับแก้ว ความทุกข์ ความโศกเศร้าเสียใจดุจน้ำ ขณะนี้น้ำนั้นล้นแก้ว เธอจึงกลายเป็นคนเสียสติ เดินแก้ผ้าร้องไห้ไปเรื่อย ๆ บางครั้งก็หัวเราะ ผมกระเชิงฟุ้ง บางพูดคนเดียว พูดกับต้นไม้ พูดกับสายลม บางครั้งร้องไห้
"น่าสงสารจริง ๆ เธอสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต เธอเศร้าจนกลายเป็นบ้าไปแล้ว นี่เราจะปล่อยให้เสียใจ แล้วปล่อยให้เป็นบ้าเดินแก้ผ้า เดินร้องไห้ เช่นเธอหรือ อย่าเลย หยุดความทุกข์ไว้ก่อนเถอะนะ" อรพินปรารภกับตนเอง
คืนนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จประทับ ณ วัดเวฬุวรรณ ท่านทราบด้วยญาณว่า พรุ่งนี้จะมีผู้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
เธอผู้แก้ผ้าเดินรำเต้นมาตลอดทาง มุ่งตรงมายังวัดเวฬุวรรณ บรรดาพุทธบริษัทเห็นจึงชวนกันไล่นางมิให้เข้ามาภายในวัด เพราะเป็นการอุจาดตา ไม่เหมาะที่จะให้พระภิกษุเห็น แต่พระพุทธเจ้าทรงขอร้องไว้
"ปล่อยเธอเข้ามาเถอะ"
พุทธบริษัททั้งหลายมิกล้าขัดขืนพระประสงค์ได้ จึงปล่อยให้ผู้หญิงนั้นเดินมาจนถึงที่ประทับ เธอนั่งลง พระพุทธเจ้าหันมาแล้วพูดว่า
"ตื่นเสียทีเถอะ"
"ตื่นเสียทีเถอะ"
เมื่อนางได้ยินคำกล่าว "ตื่นเสียทีเถอะ" ทำให้เธอสามารถระลึกได้ มีสติคืนมาเหมือนเดิม เห็นว่าตนไม่นุ่งผ้า กายล่อนจ้อน ก็มีความรู้สึกละอาย ใบหน้าแดงระเรื่อกระบิดกระบวน พุทธบริษัทคนหนึ่งได้โยนผ้าให้เธอได้นุ่งและห่ม เธอจึงลุกขึ้นจะไปอาบน้ำล้างหน้า ก่อนจะล้างหน้าเธอตักน้ำ สามขันราดรดลงบนพื้น ปรากฏว่า
ขันที่ 1 น้ำไหลไปประมาณ 2 - 3 ศอก น้ำไหลไปไม่มากนัก เปรียบเหมือนมนุษย์ที่มีอายุน้อย ต้องเสียชีวิตเสียก่อน
ขันที่ 2 น้ำไหลไกลออกไปประมาณ เกือบ 2 เท่า เปรียบเหมือนกับมนุษย์ที่มีอายุอยู่ในวัยหนุ่มสาว ที่สามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้แค่นั้น
ขันที่ 3 น้ำไหลไกลออกไปกว่าครั้งแรกและครั้งที่สอง คือน้ำไหลได้มากที่สุด เปรียบเหมือนคนที่มีอายุมาก ยืนยาวกว่า 60 ปีขึ้นไป
ชีวิตต่างกัน เช่นเดียวกัน น้ำที่หยดลงพื้นย่อมเป็นไปดุจวัยของคน ไม่มีความแน่นอน
อรพินยกมือขึ้นปิดหน้า นั่งนิ่งนึกอยู่นาน ปล่อยใจให้วนไปตามความจริงดุจน้ำ 3 ขัน ที่ตักสาดไป เธอเห็นสภาพธรรมและเกิดปัญญา เห็นธรรมชาติของโลกธรรม อรพินคิดว่า ฉันก็สามารถเข้าใจธรรมะได้บ้างเช่นเดียวกัน
"ขอเชิญคุณอรพิน ถวายผ้าไตรพระนักเทศน์" พิธีกรกล่าวเชิญ
อรพินลุกขึ้นยืนอย่างสง่า และเดินตรงไปรับผ้าจากผู้ทำหน้าที่ส่งผ้า ไม่มีร่องรอยของความเศร้าหมอง ความอิดโรย ความเสียใจใด ๆ เหลืออยู่อีกเลย เป็นปกติวิสัย เช่นเดียวกับเมื่อสามียังมีชีวิตอยู่
เมื่อวันที่ : 14 พ.ค. 2558, 16.01 น.
ผู้อ่านที่รัก,
นิตยสารรายสะดวก และผู้เขียนยินดีรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดงความเห็นได้โดยอิสระ ขอขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมีส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...