![]() |
![]() |
จันทน์กะพ้อ![]() |
...
วันตรุษจีน
เป็นวันขึ้นปีใหม่ของจีนตรงกับวันที่ 1 เดือน 1 ของจีน ตามวันทางจันทรคติ ถือเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ของปี และเป็นวันแรกของฤ...
ซินเจียยู่อี่ขอให้สมหวัง

ซินนี้ฮวดใช้ให้โชคดีดังปรารถนา
วันตรุษจีน

ใน 1 ปี จีนแบ่งเป็น 4 ฤดู คือ ชุง แห่ ชิว ตัง วันตรุษจีนจะเป็นวันแรกของฤดูชุง หรือฤดูใบไม้ผลิ ตรงกับเดือนที่ 1,2,3 ของปีเป็นช่วงเวลาที่่อากาศดีที่สุด คือ ไม่ร้อน ไม่หนาว และไม่มีฝน วันตรุษจีนจึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า " วันชุงเจ๋"
เนื่องจากประเทศจีนเป็นผืนแผ่นดินกว้างใหญ่ไพศาล ประชากรมากมาย การทำเกษตรกรรมไร่นาเพื่อเลี้ยงปากท้องประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการทำนาปลูกข้าว แต่ช่วงปลายปีคือฤดูหนาวที่หนาวจัด ในบางพื้นที่อาจมีการปลูกพืชได้หลายอย่าง แต่ทุกพื้นที่ไม่สามารถปลูกข้าวได้ เมื่อได้เวลาของฤดูใบไม้ผลิ ที่อากาศเริ่มดีขึ้น ได้เริ่มทำนา ได้ทำงานอย่างเป็นเรื่องเป็นราว จึงมีการฉลองและไหว้ขอพระเทพเจ้าเพื่อให้เป็นศิริมงคล อวยพรให้ปีใหม่นี้จะทำงานได้ดี ทำนาได้ผลขอให้ผลิตผลพืชไร่สมบูรณ์ กิจการก้าวหน้า การค้ารุ่งเรือง จึงมีการเรียกวันตรุษจีนอีกอย่างหนึ่งว่า "ง่วงตั้งโจ่ย" แปลว่า เทศกาลเริ่มต้น
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
เทศกาลตรุษจีน พี่น้องชาวจีนมีประเพณีปฏิบัติกันอยู่ 3 วัน คือ
วันจ่าย ทำก่อนวันสิ้นปี 1 วัน ซื้อหาจัดเตรียมของให้เสร็จภายในวันนี้ ก่อนที่ร้านค้าจะหยุดยาว
วันไหว้ สำหรับการไหว้สิ้นปีมีการไหว้เจ้าที่ในตอนเช้า ไหว้บรรพบุรุษในตอนสาย ไหว้ผีไม่มีญาติในตอนบ่าย (แล้วแต่บางบ้านเท่านั้น) การไหว้วันตรุษจีน เรียกว่า การไหว้วันชิวอิด
วันถือ คือ วันตรุษจีน เมื่อตื่นขึ้นมาในเช้าวันตรุษจีน จึงไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งบางบ้านนิยม ไหว้อาหารเจ ส้ม และขนมอี๊ และบางบ้านที่เคร่งธรรมเนียม ผู้ใหญ่จะกินเจ 1 มื้อ หรืออาจกินเจวันนั้นทั้งวัน วันถือ คือ วันตรุษจีน โดยถือกันว่าในวันนี้ทุกคนจะพูดและทำแต่สิ่งที่เป็นมงคล เช่น ไม่มีการพูดว่ากัน แต่จะกล่าวคำอวยพร "ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้" แปลเป็นไทยคือ ขอให้โชคดีปีใหม่นั่นเอง การถืออื่น ๆ ที่นิยมว่าถือกัน เช่น ห้ามจับไม้กวาดกวาดบ้าน เพราะ อาจเป็นการกวาดสิ่งดีๆ ในบ้านออกไปแล้วกวาดสิ่งไม่ดี เข้ามา วันถือนี้ บางคนก็เรียกวันเที่ยว ซึ่งคงมาจากธรรมเนียมการแต๊ะเอีย ที่พอลูกหลาน และลูกจ้างได้เงินแต๊ะเอีย ที่เปรียบได้กับโบนัสพิเศษ ก็ไปเที่ยวกัน วันนี้จึงมี ชื่อเรียกอีกว่า วันเที่ยว เลขที่ดีที่สุด คือ เลขสี่ เรียกว่า ซี่สี่ เป็นเลขสิริมงคล
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
การไหว้เจ้า
การไหว้เจ้าของคนจีนมีทั้งการไหว้ตามศาลเจ้าต่าง ๆ การไหว้พระภูมิเจ้าที่หรือตี่จู๋เอี๊ยตลอดจนการไหว้บรรพบุรุษของตน การไหว้เจ้ามีในหลายโอกาส เช่น ไหว้ในโอกาสเทศกาลสำคัญ ๆ ไหว้ในวันเกิดของเทพเจ้าหรือไหว้เพื่อตอบแทนคุณในการทำการสำเร็จตามที่ได้บนขอไว้ เป็นต้น
เครื่องเซ่นไหว้ มี ซาแซ คือ เนื้อสัตว์ 3 ชนิด เช่น หมู เห็ด ไก่ ปลาหมึก เป็นต้นแจฉ่ายคืออาหารเจ มักจะเป็นวุ้นเส้นกับเห็ดหูหนูและฟองเต้าหู้ (ไม่ได้ปรุงอาหาร) อั่งก๊วยท้อคือ ขนมกุยช่ายรูปลูกท้อสีชมพูที่จะไหว้จำนวนเป็นคู่ บางครั้งมีการใส่ถั่วเผือก หน่อไม้แทนใบกุยช่าย ผลไม้อาจมีส้มเพียงอย่างเดียวหรือมีผลไม้ 5 อย่าง ขนมฮวกก้วยหรือขนมฟูจีนหรือสาลี่มาไหว้ น้ำชา เหล้า ขนมฟูของจีน บางครั้งก็ใช้ขนมสาลี่ขนาดใหญ่แทนในความหมายเฟื่องฟู ร่ำรวยเพิ่มขึ้น มีโชคลาภมากมาย กระดาษเงินกระดาษทองซึ่งมีรูปแบบหลายอย่าง ธูปเทียนจีนก็เป็นอันครบ ในบางครั้งไม่ต้องมีครบทุกอย่าง และการไหว้ในบางครั้งก็มีการตัดบางอย่างออกไม่ได้ไหว้ตามนี้ โดยปกติการไหว้เจ้าในเทศกาลขึ้นปีใหม่ของชาวจีนมักจะไหว้เฉพาะส้ม 4 ลูก หรือเรียกว่า "ไต่กิก" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ ความราบรื่นเหมือนผลกลมของส้ม และความเจริญรุ่งเรืองตามสีของเปลือกส้ม
บางครอบครัวก็จะมีกระดาษเงินกระดาษทอง และจุดประทัด การจุดประทัดนี้เป็นความเชื่อว่าเพื่อขับไล่สิ่งเลวร้ายต่าง ๆเช่น ภูตผีปีศาจที่ซ่อนเร้นอยู่ในบ้านเรือนให้หนีไปเพราะเชื่อว่าผีจีนกลัวไฟและเสียงประทัดเมื่อสิ้นสุดพิธีไหว้แล้วในตอนค่ำวันนั้น
ชาวจีนถือว่าเป็นวันมงคลชาวจีนจะไม่ประกอบการงานไม่ซื้อ ไม่ขาย งดเว้นการกระทำหลายอย่างที่ถือว่าจะเป็นไปในทางที่ไม่เป็นคุณ เช่น ไม่ทะเลาะกันไม่ทำเครื่องภาชนะแตก ไม่ใช้มีดหรือของมีคม ไม่กวาดบ้าน เพราะถือว่าเป็นการกวาดเอาโชคออกจากบ้าน แต่งกายด้วยเสื้อสีฉูดฉาดให้สวยที่สุดเท่าที่จะหาได้ตามความแก่ฐานะของครอบครัว เที่ยวไปตามบ้านญาติมิตร เมื่อพบกันก็กล่าวคำอวยพรแก่กันในวันตรุษจีนนี้ทุกแห่งหนจะเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความสนุกสนานรื่นเริง
อย่างไรก็ตามในวันตรุษจีนถือเป็นธรรมเนียมที่จะต้องไปไหว้ญาติผู้ใหญ่ เรียกว่า "ไป๊เจีย" และมีการหิ้วส้มไปแลกเปลี่ยนกัน เพราะส้มนี้ มีคำจีนเรียกว่า "ไต้กิก" แปลว่า โชคดี การแลกส้ม จึงมีความนัยว่าเอาความโชคดีมามอบให้แก่กัน พร้อมคำอวยพร โดยนิยมกันว่า เอาส้ม 4 ผล ใส่ผ้า เช็ดหน้าผืนใหญ่มาส่งให้เจ้าบ้าน เจ้าบ้านจะรับไว้แล้วนำส้ม 2 ผล ของแขกขึ้นมาเปลี่ยนเอาส้ม 2 ผล ของที่บ้านผลัดให้แทน
บางบ้านที่ใช้ขนมอี๊ไหว้เจ้า ก็อาจมีการเตรียมขนมอี๊ไว้เลี้ยงแขกด้วย อี๊ คือ ขนมบัวลอยจีน ใช้แป้งข้าวเหนียวนวดจนได้ที่ ผสมสีแดง ซึ่งเป็นสีแห่งมงคล แต่ใส่นิดเดียวพอให้เป็นสีชมพูดูน่ากิน ต้มใส่น้ำเชื่อม ความกลมนุ่มที่เคี้ยวง่ายของขนม มีความหมายว่าให้โชคดี คิดทำสิ่งใดก็ให้ง่ายและราบรื่น
เมื่อถึงวันตรุษจีน ประเพณีตั้งแต่โบราณมา มีธรรมเนียมการแต๊ะเอีย เงินแต๊ะเอีย แปลตรงตัวว่า ถ่วงเอว คือสมัยก่อนคนจีนใช้เงินเหรียญ มีรูร้อยเชือกคาดเอว หรือใส่ถุงผ้าห้อยไว้ที่เอว พอถึงตรุษจีนเถ้าแก่ให้เงินลูกจ้าง ลูกจ้างก็เอามาร้อยเอวเป็นเงินแต๊ะเอีย คือถ่วงเอวให้หนักขึ้น
สมัยต่อมาแต๊ะเอียด้วยการให้เงินใส่ซองที่เรียกว่า อั้งเปา
อั้ง หรือ อั๊ง แปลว่า สีแดง สีสิริมงคล อวยพรให้โชคดี
เปา แปลว่า ห่อ หรือ ซอง นั่นเอง จึงหมายถึง ซองแดง
การให้แต๊ะเอียนี้ คือ นายจ้างให้ลูกจ้าง กับให้กันเองในครอบครัวว่าพ่อแม่ให้ลูกหลาน แต่ถ้าลูกได้ทำงานแล้ว หรือออกเรือนแล้ว ก็จะเป็นฝ่ายให้พ่อแม่ ซึ่งพ่อแม่ที่ฐานะดี ก็มักจะแต๊ะเอีย กลับคืนมาในจำนวนที่เท่ากัน หรือเพิ่มให้มากขึ้น ได้แต่จะให้เป็นเงินของพ่อแม่เอง ไม่ใช่เอาเงินที่ลูกให้มานั้น ให้กลับคืนมา ส่วนเขย สะใภ้ ตามธรรมเนียมก็ควรให้น้องสามีและน้องภรรยา ส่วนคน ที่มีศักดิ์เป็นลุง ป้า น้า อา ก็ควรมีแต๊ะเอียให้หลาน ๆ เช่นกัน ธรรมเนียมการแต๊ะเอียนี้ ผู้ใหญ่ที่พิถีพิถันจะเอาเงินใส่ซองแดงอย่างมีเคล็ด คือให้เป็น เลขที่ดีที่สุด เรียกว่า "ซี่ลี่" เพราะถือว่าเป็นเลขสิริมงคล ซี่ กับ สี่ คือเลข 4 ซี่สี่ ก็คือ คู่สี่ นั่นเอง
ตัวอย่างการให้แต๊ะเอียเป็นเลข "ซี่สี่" คือ 400 จะเป็นตัวเลข 400 กับแบงก์ร้อย 4 ใบ หรือจะให้เป็น 2 เท่า 3 เท่า ของซี่สี่ เช่น 800 , 1200 ก็ได้
อีกเกร็ดหนึ่งที่น่าสนใจ สำหรับเทศกาลตรุษจีน คือ การเล่นไพ่ โดยเฉพาะการเล่นยี่อิด จะนิยมกันมากผู้ใหญ่หลายท่านถือเอาการเล่นไพ่ ในวันตรุษเป็นเรื่องเสี่ยงทาย ถ้าเล่นได้ก็ถือเป็นเคล็ดว่าตลอดปีใหม่นี้จะเฮงหรือโชคดี และที่พลาดไม่ได้ คือ การติดยันต์แผ่นใหม่ที่หน้าประตูบ้าน เพื่อเป็นสิริมงคลและคุ้มครองภัย
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
15 วันแห่งการฉลองตรุษจีน
วันแรกของปีใหม่ เป็นการต้อนรับเทวดาแห่งสวรรค์และโลก หลายคนงดทานเนื้อ ในวันนี้ด้วยความเชื่อที่ว่าจะเป็นการต่ออายุและนำมาซึ่งความสุขในชีวิตให้กับตน
วันที่สอง ชาวจีนจะไหว้บรรพชนและเทวดาทั้งหลาย และจะดีเป็นพิเศษกับสุนัข เลี้ยงดูให้ข้าวอาบ น้ำให้แก่มัน ด้วยเชื่อว่า วันที่สองนี้เป็นวันเกิดของสุนัขทุกตัว
วันที่สามและสี่ จะเป็นวันสำหรับลูกหลานจะไปเคารพอวยพรต่อบิดามารดา บุตรเขยที่จะต้องทำความเคารพแก่พ่อตาแม่ยายของตน
วันที่ห้า เรียกว่า พูวู ซึ่งวันนี้ทุกคนจะอยู่กับบ้านเพื่อต้อนรับการมาเยือน ของเทพเจ้าแห่งความร่ำรวย ในวันนี้จะไม่มีใครไปเยี่ยมใครเพราะจะถือว่าเป็นการนำโชคร้าย มาสู่พวกเขาทั้งสองฝ่าย
วันที่หก ถึงสิบชาวจีนจะเดินทางไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องเพื่อนฝูงของ ครอบครัว และไปวัดไปวาสวดมนต์เพื่อความร่ำรวยและความสุข
วันที่เจ็ด ของตุรุษจีนเป็นวันที่ชาวนานำเอาผลผลิตของตนออกมาชาวนาเหล่านี้จะทำน้ำที่ทำมาจากผักเจ็ดชนิดเพื่อฉลองวันนี้ วันที่เจ็ดถือเป็นวันเกิด ของมนุษย์ในวันนี้อาหารจะเป็น หมี่ซั่วกินเพื่อชีวิตที่ยาวนานและปลาดิบเพื่อความสำเร็จ
วันที่แปด ชาวฟูเจียน จะมีการทานอาหารร่วมกันกับครอบครอบอีกครั้ง และเมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนทุกคนจะสวดมนต์ของพรจาก เทียนกง เทพแห่งสวรรค์
วันที่เก้า จะสวดมนต์ไหว้และถวายอาหารแก่ เง็กเซียนฮ่องเต้
วันที่สิบถึงวันที่สิบสอง เป็นวันของเพื่อนและญาติๆ ซึ่งควรเชื้อเชิญกันมาทานอาหารเย็น หลังจากที่ได้รับประทานที่อุดมด้วยไขมันมามากแล้ว
วันที่สิบสามถือเป็นวันที่เราควรทานข้าวธรรมดากับผักดองกิมกิ ถือเป็นการชำระล้างร่างกาย
วันที่สิบสี่ ความเป็นวันที่เตรียมงานฉลองโคมไฟซึ่งจะมีขึ้น ในคืนของวันที่สิบห้าแห่งการฉลองตรุษจีน
บ้านที่ทำการค้า บางแห่งเริ่มเปิดงานวันที่ 2 บางแห่งดูวันดี และยางทีก็รอเปิดวันที่ 4 วันที่"เหล่าเอี้ย" หรือเจ้าจะเสด็จกลับลงมา แต่สำหรับชาวนาชาวไร่จีน จะพักเต็ม ๆ ถึงวันที่ 15 เดือน 1 ของจีน ซึ่งคนจีนจะมีไหว้อีกครั้ง เรียกเทศกาลไหว้นี้ว่า "ง่วงเซียวโจ่ย" แปลว่า เทศกาลกลางเดือน และมีบ้างที่เรียกเทศกาลนี้ว่า เทศกาลชาวนา เพราะเป็นวันและคืนสุดท้ายที่ชาวนาจะฉลองเต็มที่ก่อนเริ่มทำงาน
ตรุษจีนจึงเป็นเทศกาลแห่งความสุข มีกลิ่นอายของความรักความอบอุ่นและสดขื่นรื่นเริงทุกปี เป็นวิถีชีวิตที่ดีงามที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ สร้างลูกหลานจีนไทยส่วนใหญ่ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ เป็นคนดีของประเทศไทย
ข้อมูลจากหนังสือ "ตึ่งหนั่งเกี้ย"และ "เอี้ยซุงฮวดไช้-ลูกหลานกตัญญูโชคดี" โดย จิตรา ก่อนันทเกียรติ
http://www.thummada.com/cgi-bin/iB3/ikonboard.cgi?s=400e8bb40c29ffff;act=ST;f=7;t=665;st=0
เมื่อวันที่ : 21 ม.ค. 2547, 01.56 น.
ผู้อ่านที่รัก,
นิตยสารรายสะดวก และผู้เขียนยินดีรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดงความเห็นได้โดยอิสระ ขอขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมีส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...