![]() |
![]() |
จันทน์กะพ้อ![]() |
...
ช่วงปลายฤดูหนาว ในระหว่างปลายปีต่อช่วงต้นปี หรือ ในระหว่างช่วงต่อฤดูหนาวกับฤดูร้อนนั้น จะเป็นช่วงที่ต้นไม้ป่าจะแตกยอดอ่อนเพื่อออกดอกและ...



ฉันรู้จักผักหวานป่าตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก ที่บ้านมีป่ายางซึ่งจะมีต้นผักหวานขึ้นอยู่มากมาย เพราะในสมัยก่อนชาวบ้านไม่ได้ทำสวนยางที่สวยงามเรียบร้อย เขาไม่ได้ทำสวนเกษตรแบบอุตสาหกรรมเช่นในปัจจุบันที่ไม่มีต้นไม้ต้นหญ้าขึ้นรกเลยแม้แต่สักต้น หากคนโบราณจะปลูกเป็นป่ายาง หมายถึงปลูกยางแล้วปล่อยให้มันเป็นป่ารก ซึ่งจะเต็มไปด้วยพืชพันธุ์นานาชนิดที่เป็นผักเป็นอาหารของชาวบ้านด้วย เช่น มีผักป่ามากมาย ทั้งยอดเต่าร้าง ยอดหวาย ใบเสม็ด ใบแต้ว ใบชะมวง ยอดผักหวานป่า และมีเห็ดชนิดต่างๆ ได้แก่ เห็ดตีนตุ๊กแก เห็ดขอน เห็ดหูหนู เป็นต้น
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
แม่จะเอาผักหวานมาต้มน้ำปลาให้กิน เมื่อต้มแล้วน้ำจะออกสีเขียวๆเหลืองๆ แต่รสชาติหวานชื่นใจดีมาก สมกับชื่อ ผักหวานจริงๆ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
วันนี้ฉันไปเก็บผักหวานในป่าเสม็ดและป่าเบญจพรรณท้ายสวน ทำให้รำลึกถึงคืนวันเก่าๆในวัยเด็กที่ฉันมักจะเดินเข้าไปในป่ายางคนเดียว ดูดอกไม้สวยๆ ดูนกที่บินไปมาและส่งเสียงร้องอย่างเบิกบาน วันนี้ป่าก็ยังสวยด้วยตัวของมันเอง มียอดอ่อนสีชมพูของต้นอบเชย มีดอกพวดสีชมพู และมีดอกส้านสีเหลืองบานอยู่อย่างงดงาม
ฉันสอดสายตามองหายอดผักหวาน ซึ่งจะมีสีเขียวอ่อนมองเห็นได้ไม่ยาก ผักหวานจะต้นไม่ใหญ่ ลำต้นมักคดงอ และมีลายขาวด่างๆตามต้น และในฤดูนี้มักจะมีช่อดอกเล็กๆละเอียดๆอยู่ตามต้นเสมอ การเก็บผักหวานจะต้องผจญภัยหลายอย่าง เช่น มดแดงอาจอยู่ตามต้นผักหวาน อาจมีหนอน หรืออาจอยู่สูงเกินเอื้อม ต้องเอามีดพร้าเกี่ยวกิ่งก้านให้โน้มลงมาจึงจะเด็ดได้ และอาจจะต้องฝ่าดงหนามและหญ้าใบคมเฉียบเหมือนมีดโกน
ดังนั้นการเข้าป่าเก็บผักหวานจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อม ใส่เสื้อแขนยาวกันหนามเกี่ยว ใส่หมวกกันอะไรๆหล่นใส่หัว ใส่รองเท้าบู๊ตหรือผ้าใบเพื่อกันงูหรือกันหนามเกี่ยว ขาหรือตอตำเท้า ต้องเตรียมถุงหรือห่อผ้าไปใส่ผัก และเอาพร้าไปด้วยเผื่อใช้ในยามจำเป็น เช่น เอาเกี่ยวกิ่งผักหวานลงมาเป็นต้น
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
เมื่อเก็บผักหวานได้แล้วต้องห่อให้ดีอย่าให้โดนแดดเพราะจะเหี่ยวเฉาได้ง่าย ถ้ามีน้ำให้เอาชุบน้ำก่อนจะช่วยให้ผักหวานสดตลอด และไม่ควรจะทิ้งไว้ค้างคืน ควรจะปรุงเป็นอาหารเลย จะได้รสชาติที่สดชื่น
ผักหวานจะปรุงอาหารได้หลายชนิด ต้มน้าปลา ต้มน้ำปลาใส่ไข่ แกงเลียง แกงเลียงใส่ไข่มดแดง ผัดใส่ไข่ ลวกจิ้มน้ำพริกกะปิ ฯลฯ
ลูกของผักหวานก็เอาเก็บเอามากินได้ ทั้งลูกที่เขียวๆยังไม่สุกและลุกที่สุกเหลืองจนแดงก็กินได้ เอามาหมกไฟแล้วไปจิ้มน้ำพริกจะมันๆกรุบๆ
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
เมื่อได้ไปเก็บผักหวานป่า ทั้งมุด ทั้งชะเง้อ เขย่งเก็บมาทีละใบทีละยอด แม้จะดูเหมือนว่าเสียเวลา แต่การได้ไปใกล้ชิดธรรมชาติ ได้ทำสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ คือ หาการอยู่หากิน ทำให้ได้ตระหนักถึงคุณค่าของความเป็นคน ทำให้ภาคภูมิใจ เพลิดเพลิน มีความสุขที่สุด และทำให้คิดได้ว่า
ชีวิตคนเราก็เท่านี้ มาทำสิ่งที่มีความสุขที่หาได้ง่ายๆกันเถอะ
กับข้าวมื้อนี้อร่อยที่สุดในโลก ผักหวานต้มน้ำปลาใส่ไข่ ที่เติมเต็มด้วยรสชาติแห่งความสุข
ผักหวานป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์ Melientha suavis Pierre
วงศ์ Opliaceae
ประเภท ไม้ยืนต้น
ผักหวานป่าเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 6-10 เมตร ใบเดี่ยวรูปไข่ ปลายแหลม คล้ายใบมะนาว ยาวประมาณ 6-9 ซม. เรียงสลับแบบตรงข้ามมีลักษระคล้าย ใบประกอบ ยอดอ่อนใบเล็กเรียบ สีเขียวอมเหลือง ผลขนาดกลางออกเป็นพวง เมื่อสุกสีเหลืองถึงแดง รสหวาน รับประทานได้ ขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าสนผลัดใบ และป่าดิบชื้นทั่วไป
ราก ระงับพิษ แก้พิษร้อนกระสับกระส่าย แก้น้ำดีพิการ แก้ตาเสื่อมมัว
ช่วยเผาผลาญกรดอมิโนจากโปรตีน คาร์โบไฮเดรตและไขมัน จึงช่วยลดความอ้วนได้ทางหนึ่ง ช่วยถอนพิษไข้ แกไขผมแห้ง และแก้โรคเบาหวาน
http://web.ku.ac.th/agri/melientha/p17_1.htm
เมื่อวันที่ : 13 ม.ค. 2547, 14.59 น.
อยากไปเที่ยวบ้านจันทน์กระพ้อบ้าง จะขอเดินตามไปเที่ยวป่า เก็บเห็ดเก็บผัก อย่างที่เล่าให้ฟัง น่าชื่นใจและขอบคุณที่นำมาเล่าให้ฟัง ข้อเขียนแบบนี้ จะมีประโยชน์ระยะยาวกับผู้คนที่ห่างไกลธรรมชาติ
อยากไปเยือนจริงๆนะเออ... จะมีโอกาสไหมนะ จะไ้ด้ชักชวนพรรคพวกสักหลายคน