..." เจ้ายอดอาชา ! ข้ามาอย่างมิตร ให้ข้าได้ขี่หลังเจ้าวันนี้เพียงวันเดียว จากนั้น เจ้าก็เลือกอิสรภาพของเจ้าเองได้ " อเล็กซานเดอร์หนุ่มบอกกับม้าเขาเดียว...
ท่ามกลางพายุฝนต้นฤดูมรสุมที่พัดกระหน่ำอย่างหนักริมแม่น้ำไฮดัสเพส (Hydaspes) แม่น้ำสาขาสายสำคัญของแม่น้ำสินธุในอินเดีย กองทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช กำลังสัประยุทธ์กับกองทัพของพระเจ้าพอเริส (Porus) กษัตริย์แห่งอินเดีย อันมีทหารเดินเท้าซึ่งนำหน้าด้วยช้างศึกจำนวนสองร้อยเชือก

พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ มหาราชหนุ่มแห่งมาซีโดเนียผู้มีพระชนม์เพียงสามสิบชันษา ตะลุยรบร่วมกับเหล่าทหารของพระองค์บนหลังม้าศึกตัวโปรดที่ชื่อว่า บิวเซเฟอลัส (Bucephalus) อย่างอาจหาญที่ริมฝั่งแม่น้ำสายนี้

ไม่รู้กี่ศึกต่อกี่ศึกที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชพิชิตมา พระองค์จะอยู่บนหลังของบิวเซเฟอลัสทุกครั้ง จอมกษัตริย์แห่งมาซีโดเนียได้ "ม้าแก้ว " ตัวนี้มา อย่างไร...

ตามตำนานเล่าว่าตอนที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มีพระชนม์ได้สิบสามชันษา พระเจ้าฟิลิป กษัตริย์แห่งมาซีโดเนีย พระราชบิดาด้ซื้อม้าประหลาดมาตัวหนึ่ง ม้านี้มีเขาเพียงเขาเดียวที่หน้าผาก จึงได้ชื่อว่า บิวเซเฟอลัส ตามลักษณะของมัน ตั้งแต่ทรงได้ม้าตัวนี้มายังไม่มีอัศวินคนใดของพระเจ้าฟิลิปขี่มันได้เลย มันทั้งเปรียวทั้งพยศและดุร้ายเป็นที่สุด จนทำให้พระเจ้าฟิลิปตัดสินพระทัยที่จะปล่อยมันไปเสีย เพราะเลี้ยงเอาไว้ก็ไม่มีประโยชน์

เจ้าชายวัยสิบสามทราบเรื่องเข้าก็คัดค้านพระราชบิดาว่า การทำเช่นนั้นเป็นการสูญเสียของสำคัญไป และรับอาสาจะขี่มันให้ดู

"เจ้าคิดว่าเจ้าเก่งกว่าเหล่าอัศวินของข้ายังงั้นหรือ ? " พระเจ้าฟิลิปทรงถามเจ้าชายหนุ่มน้อย

"เกล้ากระหม่อมทำได้ดีกว่าแน่นอน " เจ้าชายหนุ่มนามอเล็กซานเดอร์ตอบพระราชบิดาอย่างมั่นใจ พระเจ้าฟิลิปไม่ตรัสว่ากระไร พระองค์ตั้งพระทัยจะให้บทเรียนแก่ราชโอรสหนุ่มน้อย สำหรับความห้าวเกินเหตุในครั้งนี้ จึงยินยอมให้เจ้าชายหนุ่มได้ทดลองขี่เจ้าบิวเซเฟอลัสจอมพยศ แต่ก็มีข้อแม้ว่าถ้าขี่ไม่ได้จะต้องเสียค่าปรับเท่ากับราคาม้าที่พระองค์ซื้อมา และถ้าขี่ได้พระองค์ก็จะยกม้าตัวนี้ให้เป็นรางวัล

มีเสียงหัวเราะเยาะดังขึ้นจากผู้คนรอบๆ ที่ได้รับรู้ถึงการขันต่อระหว่างกษัตริย์แห่งมาซีโดเนียกับพระราชโอรส ต่างก็ถกเถียงกันว่าพระราชโอรสหนุ่มผู้นี้กล้าหาญจริงหรือว่าเกิดเสียสติกันแน่ แล้วก็มีการพนันขันต่อกันว่าอเล็กซานเดอร์หนุ่มจะขี่ม้านี้ได้หรือไม่

ณ สนามประลอง เมื่อเจ้าชายอเล็กซานเดอร์เดินเข้าไปยังเจ้าม้าเขาเดียว ความใหญ่โตของม้าประหลาดแทบจะบดบังร่างของเจ้าชายหนุ่มน้อยเสียสิ้น

เมื่อตอนที่บรรดาอัศวินแต่ละคนพยายามจะขี่เจ้าม้าประหลาดตัวนี้ เจ้า ชายอเล็กซานเดอร์ได้สังเกตว่าแต่ละคนต่างก็ทำผิดทั้งนั้น โดยตั้งท่าที่จะเข้าไปพิชิตมัน เจ้าชายหนุ่มรู้ด้วยญาณว่าใครก็ตามที่จะขี่เจ้าบิวเซเฟอลัสได้ ก็ด้วยความยินยอมของมันเองเท่านั้น

อัศวินทุกคนทำผิดเหมือนกันหมดคือ ถอดเสื้อคลุมของตนออกแล้วโยนไปคลุมหัวม้าเพื่อปิดตามันก่อนที่จะขึ้นขี่ นั่นเป็นการหักหาญน้ำใจ เมื่อรู้เคล็ดดังนี้ เจ้าชาย อเล็กซานเดอร์จึงพยายามทำให้เจ้าม้าประหลาดเห็นว่า พระองค์ไม่เหมือนกับพวกอัศวินเหล่านั้น ทรงถอดเสื้อคลุมออกแล้วโยนลงกับพื้น ให้ม้าเห็นว่าพระองค์นั้นมาอย่างมิตร ไม่มีดาบ ไม่มีแส้ ไม่มีแม้แต่เชือกสักเส้น เจ้าชายหนุ่มน้อยค้อมเศียรลงอย่างนอบนบตรงหน้าม้าประหลาด

" เจ้ายอดอาชา ! ข้ามาอย่างมิตร ให้ข้าได้ขี่หลังเจ้าวันนี้เพียงวันเดียว จากนั้น เจ้าก็เลือกอิสรภาพของเจ้าเองได้ " อเล็กซานเดอร์หนุ่มบอกกับม้าเขาเดียว

เจ้าชายอเล็กซานเดอร์ยืนอย่างสงบตรงหน้าม้าและไม่อยู่ในสภาพที่จะป้องกันพระองค์เองได้เลย เจ้าบิวเซเฟอลัสขยับเข้ามาใกล้ มันก้มหัวลงมาหาเจ้าชายหนุ่มจนคมเขาที่วาววับจรดอยู่กับอุระตรงระดับพระหฤทัยทีเดียวละ !

ฝูงชนส่งเสียงร้องด้วยความหวาดเสียวแทน พลแม่นธนูขึ้นสายและเล็งธนูมายังเจ้าม้าประหลาด เพื่อจะปกป้องพระราชโอรสตามคำสั่งของพระเจ้าฟิลิป แต่ทุกคนก็รู้ดีว่าหากเจ้าม้าลงมือเมื่อใด ใครก็มิอาจช่วยชีวิตเจ้าชายหนุ่มน้อยได้ทัน !

และแล้ว เจ้าบิวเซเฟอลัส ก็ก้มหัวต่ำลงไปอีกจนเขาของมันจรดดิน ตัวของมันสั่นสะท้านด้วยความรู้สึกภักดี และยอมให้เจ้าชายอเล็กซานเดอร์กระโจนขึ้นนั่งบนหลัง มันรอชั่วครู่ให้ต่างฝ่ายรู้สึกคุ้นเคยกันและกัน แล้วก็ควบตะบึงพาเจ้าชายอเล็กซานเดอร์ออกไปจากสนามประลอง.... เร็วดังลมพัด หายลับไป ! ฝูงชนพากันคิดว่าพวกเขาคงจะไม่มีวันได้เห็นเจ้าชายหนุ่มน้อยผู้ห้าวหาญอีกแล้ว แต่ไม่นานเจ้าชาย อเล็กซานเดอร์ก็ขี่ม้าตัวนั้นกลับเข้ามาในสนามประลองอีกครั้ง ท่ามกลางเสียงโห่ร้องกึกก้อง

เล่ากันว่า พระเจ้าฟิลิปถึงกับหลั่งน้ำพระเนตรด้วยความปิติ ทรงเข้าสวมกอดราชโอรสไว้เมื่อลงมาจากหลังม้าแล้ว

" ลูกเอ๋ย ! แผ่นดินมาซิโดเนียเล็กเกินไปสำหรับเจ้าเสียแล้ว " พระเจ้าฟิลิปตรัสแก่เจ้าชายอเล็กซานเดอร์ ผู้เยาว์

คำตรัสของพระเจ้าฟิลิปไม่เกินจริง เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระองค์ ไม่มีแผ่นดินใดที่กองทัพอันเกรียงไกรขององค์มหาราชจะผ่านไปไม่ได้ ทั้งในย่านทะเลเอเจียน ในอาณาจักรเปอร์เซีย ในอียิปต์ และกระทั่งที่สุดในอินเดีย... พระเจ้าอเล็กซานเดอร์กับม้าแก้วบิวเซเฟอลัสเป็นสิ่งที่คู่กันมากับทุกสนามรบ

สู้มาแล้วหลายศึก ชนะทุกครั้งแต่ก็ไม่มีครั้งใดเลยที่จะยากเท่ากับสงครามในอินเดียที่ริมฝั่งแม่น้ำไฮดัสเพสครั้งนี้ ทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่มีทหารสองหมื่นคนอยู่ฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ พระเจ้าพอเริส กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอินเดียวางกำลังไว้รับทัพกรีกด้วยรี้พลสกนธ์ไกรถึงสามหมื่นห้าพันคนอยู่อีกฝั่งหนึ่ง ยิ่งกว่านั้นทัพอินเดียยังมีช้างศึกอีกสองร้อยเชือก ตั้งแนวรับเป็นหน้ากระดานสลับด้วยทหารเดินเท้าทุกระยะสามสิบเมตร เป็นครั้งแรกที่กองทัพกรีกต้องพบกับกองทัพช้าง

การสัประยุทธ์ครั้งนี้ทำกันถึงสามวัน ระยะแรกฝ่ายกรีกต้องเสียทีฝ่ายอินเดีย เพราะม้าของทหารกรีกกลัวช้าง พากันแตกร่น แต่เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงทราบถึงจุดอ่อนของกองช้างศึกว่า ความสำคัญอยู่ที่ควาญบนคอช้างนั่นเอง ก็สั่งให้ฆ่าควาญช้างก่อนด้วยธนูและพุ่งหอกเข้าใส่ เมื่อปราศจากควาญ ช้างศึกก็ทำอะไรไม่เป็น ถูกจับได้จำนวนมาก นอกจากนี้กองทัพอินเดียยังถูกทหารมาซีโดเนียซึ่งแอบข้ามแม่น้ำทางเหนือน้ำมาตีตลบหลังอีก ด้วยกลศึกชั้นยอดของจอมทัพแห่งมาซีโดเนีย

การรบที่ยิ่งใหญ่บนฝั่งแม่น้ำ ไฮดัสเพส ท่ามกลางพายุฝนจบลงภายในเวลาเย็นของวันที่สาม กองทัพอินเดียพ่ายแพ้ ตัวพระเจ้าพอเริส ทรงได้รับบาดเจ็บและถูกจับได้

แม้จะมีชัยต่อกองทัพของพระเจ้าพอเริส แต่ฝ่ายกรีกก็เสียหายมาก มากกว่าการรบครั้งใด ๆ และที่สำคัญยิ่งสำหรับพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชก็คือ พระองค์ต้องสูญเสียบิวเซเฟอลัส ม้าแก้วในการรบที่ริมฝั่งแม่น้ำ ไฮดัสเฟสในศึกครั้งนี้ด้วย ณ เดือนมิถุนายนแห่งปีสามร้อยยี่สิบหกก่อนคริสกาล !

พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชทรงเสียพระทัยกับการตายของม้าแก้วคู่บารมีเป็นอย่างยิ่ง ทรงให้สร้างเมืองขึ้นเมืองหนึ่งในอินเดีย และตั้งชื่อให้เหมือนกับชื่อม้าตัวโปรดของพระองค์ ม้าแก้วซึ่งย่ำศึกมากับพระองค์ทุกแว่นแคว้นจวบจนการศึกที่ฝั่งแม่น้ำไฮดัสเฟส ......มันเป็นศึกครั้งสุดท้ายของบิวเซเฟอลัสและขององค์มหาราช ด้วย

สิ้นซึ่งม้าแก้วคู่พระทัย ดูเหมือนเป็นลางร้ายว่าบารมีของพระองค์จะเสื่อมถอยลงไปด้วย หลังจากมอบอำนาจให้พระเจ้าพอเริส ปกครองบ้านเมืองต่อไปในฐานะประเทศราชแล้ว พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ไม่อาจสั่งให้กองทัพของพระองค์เดินทางต่อไปได้ บรรดาแม่ทัพนายกองขอร้องแกมบังคับให้กลับบ้าน ระหว่างเดินทางกลับพระเจ้า อเล็กซานเดอร์และกองทัพต้องเผชิญกับความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัส เมื่อต้องข้ามทะเลทราย "มากราน" (Makran - ปัจจุบันอยู่ในปากีสถาน) องค์มหาราชต้องสูญเสียรี้พลอันมิได้เกิดจากการรบอีกมากมาย กว่าจะกลับถึงนครบาบิโลนได้

พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชทรงประชวรและสวรรคตลงเมื่อพระชนมายุได้สามสิบสามชันษา ตามตำนาน (อีกเช่นกัน) เล่าว่าพระบรมศพถูกบรรจุในหีบทองคำและถูกส่งไปยังเมืองเมมฟิส ประเทศอียิปต์ เพื่อลำเลียงต่อไปยังเมืองอเล็กซานเดรีย และฝั่งไว้ในสุสานอันงดงามที่นั่น.... แต่จนบัดนี้ยังไม่มีผู้ค้นพบสุสานของพระองค์แต่อย่างใด

ผู้สนใจประวัติศาสตร์น้อยคนที่จะไม่รู้จัก "พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช" แต่ที่รู้จักประวัติของพระองค์นั้นมีไม่มากคน ที่จะรู้จักบิวเซเฟอลัสม้าแก้วคู่บารมีที่ย่ำศึกมากับองค์มหาราชตั้งแต่ศึกแรกจนศึกสุดท้าย...

ยังจบไม่ลง ! ภาษิตฝรั่งที่ว่า " เหรียญย่อมมีสองหน้า " ยังใช้ได้อยู่ เรื่องที่เขียนให้อ่านสนุก ๆ กันข้างบนนี้ ก็เป็นเพียงด้านหนึ่งของเหรียญพระเจ้าอเล็กซานเดอร์เท่านั้น นักประวัติศาตร์พวกหนึ่งพยายามพลิกเหรียญอีกหน้าหนึ่งของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชแล้วบอกว่า....พระเจ้าอเล็กซานเดอร์นั้นหมดความเป็น "มหาราช" เมื่อย่างเข้าสู่อินเดีย เพราะไม่เคยชนะศึกในอินเดียเลย ยิ่งกว่านั้นพระองค์ยังพ่ายแพ้ด้วยซ้ำไป ! การศึกที่แม่น้ำไฮดัสเฟส (เรียกอีกชื่อว่า เจลัม- Jhelum) ตอนนั้นกองทหารม้าของกรีกถูกฆ่ายับเยินโดยทหารของพระเจ้าพอเริส กษัตริย์แห่งปันจาบ เหล่าทหารกรีกพากันเสียขวัญและหมดกำลังใจที่จะรบ ต่างพากันโยนหอกดาบทิ้ง และขอให้พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ยอมแพ้เสีย !

พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ทรงตระหนักดีว่าหากแข็งขืนสู้รบต่อไปจะต้องพินาศย่อยยับแน่นอน จึงขอเจรจาสงบศึกและได้กล่าวทูลต่อพระเจ้าพอเริสว่า

"ข้าแต่พระเจ้าพอเริส ...ขอได้โปรดอภัยแด่ข้าพเจ้าเถิด บัดนี้ข้าพเจ้ามิอาจทนความเจ็บปวดทรมานได้อีกต่อไป ข้าพเจ้าได้ตระหนักแล้วซึ่งความกล้าหาญและความแข็งแกร่งของพระองค์ ข้าพเจ้าเศร้าใจมากและรู้ว่าชีวิตของข้าพเจ้าจะจบลงอย่างไรต่อไป แต่ข้าพเจ้าไม่ต้องการให้บรรดาทหารของข้าพเจ้าจะต้องย่อยยับอย่างข้าพเจ้าไปด้วย ข้าพเจ้าเป็นผู้ผิดเองที่ผลักไสพวกเขาเข้าไปสู่อุ้งหัตถ์แห่งมฤตยู ซึ่งนั่นหาใช่วิถีแห่งกษัตริย์ไม่ที่จะผลักไสทหารของตนเข้าไปสู่ความตาย....."

พระเจ้าพอเริส ก็ถือธรรมเนียมเฉกเช่นกษัตริย์อินเดียคือ จะไม่ประหารข้าศึกที่ขอยอมแพ้ ดังนั้นจึงมีการทำสัญญาสงบศึกกัน โดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้ยกดินแดนของอินเดียที่มีราชาองค์หนึ่งถวายให้องค์อเล็กซานเดอร์โดยดีก่อนหน้านี้ ผนวกเข้ากับดินแดนของพระเจ้าพอเริส...

ยังมีอีกมากที่บรรดาผู้พยายามพลิกเหรียญอีกหน้าหนึ่งกล่าวถึงพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ในทางลบ ซ้ำยังเรียกพระองค์ว่า"พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ธรรมดา" (Alexander, The Ordinary)แทนที่จะเรียกว่ามหาราช...แต่ภาษิตไทยที่ยังใช้ได้อยู่เหมือนกันบอกว่า "ฟังหูไว้หู ! "

เมื่อวันที่ : 04 พ.ย. 2553, 17.41 น.
ผู้อ่านที่รัก,
นิตยสารรายสะดวก และผู้เขียนยินดีรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดงความเห็นได้โดยอิสระ ขอขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมีส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...