นิตยสารรายสะดวก  Memorandum  ๐๘ มิถุนายน ๒๕๕๓
คนเจาะยาง
พลอยพนม
...ต้นยางมีเปลือกสีเทาปนขาว มองไกล ๆ​​ แลสล้างเหมือนลำเทียนปักเรียงรายอยู่​​หน้า​​พระประธานภายในโบสถ์ ลำต้นสูงโปร่ง สังเกตง่าย...
คนเจาะยาง

บนเชิง​เขากลางผืนป่าเหนือคลองพุมบัว มีต้นยางยืนต้นแทรกแซมไม้ใหญ่พันธุ์อื่น ๆ​ อยู่​หนาแน่น ​ซึ่ง​จะว่าพื้น​ที่แถบนั้น​​เป็นดงไม้ยางเสียทีเดียวก็ย่อม​ได้ ต้นยางมีเปลือกสีเทาปนขาว มองไกล ๆ​ แลสล้างเหมือนลำเทียนปักเรียงรายอยู่​หน้า​พระประธานภายในโบสถ์ ลำต้นสูงโปร่ง สังเกตง่าย

ยางแดง ยางขาว ยางนา ยางกุง ยางขี้พรกใบเล็ก ๆ​ ​แต่ให้น้ำมันเข้มข้น มีอยู่​ดาษดื่นตามป่าแถบนั้น​

จริง ๆ​ แล้ว​ตัวผมไม่​ได้มีอาชีพเจาะยาง​เพื่อตักน้ำมัน​ไปขายให้พวกเ​ถ้าแก่ในตลาดหน้าอำเภอ​แต่อย่างใด หาก​แต่​เพื่อน ๆ​ ​ที่เคยไล่เตะก้นกันมา​เมื่อสมัยเด็ก ๆ​ สาม-สี่คน เคยยึดอาชีพนี้ทำมาหารับประทานกัน

พอจบชั้น ป. 4 พวกมันก็หิ้วครุใส่น้ำมันยางตามหลังพ่อแม่เข้า​ไปในป่ากันแล้ว​

ครั้นอายุ 14-15 ​แต่ละคนก็แตกเนื้อหนุ่ม ร่างกายกำยำ ต่างจากผม ​ที่เวลานั้น​ไม่ค่อย​จะพบปะ​กับงานหนักมากนัก ​เพราะอยู่​ในโรงเรียน นิ้วมือจับอยู่​​แต่ดินสอปากกา กล้ามเนื้อมันเลย​ไม่ผุดออกมาเท่า​ที่ควร พอโรงเรียนปิดเทอม ผมกลับมาบ้าน เห็นพวก​เพื่อน ๆ​ นุ่งกางเกงขายาว สวมเสื้อเชิ้ตสีลายพร้อย ตัดผมรองทรง เคล้าน้ำมันใส่ผมกันมันเยิ้ม แล้ว​ก็ริสูบยาใบจากคล้ายคนมีอายุ ผมก็อดหัวเราะไม่​ได้ ​เมื่อเจอหน้ากันหน้าจอหนังกลางแปลง​ที่หน้าอำเภอ ผมก็เข้า​ไปสวัสดีครับ​ พวกมันก็อายม้วน

จริง ๆ​ นะครับ​ ​เพื่อน ๆ​ ของผม​ที่ไม่​ได้เรียนต่อนี้ ​ส่วนมาก​เมื่อพบเจอกันใหม่ ๆ​ ก็มัก​จะมีทีท่ากระดากอาย จนผม​ต้องงัดวิชาเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยทฤษฎีละลายหิมะออกมา​ใช้ ​แต่ก็กินเวลาพอสมควร กว่า​จะแนบสนิทเข้ารูปเดิม

หาก​แต่ ไอ้พริ้ง ไอ้ชน ไอ้เติบ ​เพื่อนซี้สองสามคนนี้ ​เมื่อเจอกันหน้าจอหนังกลางแปลงหรืองานสวนสนุก พวกมันก็มัก​จะขอ​เป็นเจ้ามือเลี้ยงของกินผมเสมอ อ้อยควั่นเอย ข้าวต้มมัดเอย ผัดไทห่อใบตองหยิบกินด้วยมือ หรือ​แม้กระทั่งถั่วลิสง​ที่​เขาต้มใส่กระทงขายให้พวกคนดูหนังนั่งขบเคี้ยวกันเพลิน ๆ​ ราคากระทงละบาท​สองบาท​มันก็ไม่ยอมให้ผมควักกระเป๋า

มันบอกว่า มึงยังเรียนหนังสือ เก็บไว้กินขนม​ที่โรงเรียนดีกว่า

ผมจึงแกล้งย้อนมันว่า แล้ว​พวกมึงเล่า!! ไม่คิด​จะเก็บตังค์ไว้ขอเมียกันบ้างหรือ? ​ได้ข่าวว่ามีโฟงมีแฟนกันแล้ว​นี่

มันส่ายหน้า เหนียมอายกันใหญ่ ​แต่สักประเดี๋ยว​ความลับก็แตก!!!

คนโน้นแฉคนนี้ คนนี้แฉคนนั้น​ เดี๋ยวเดียวผมก็​ได้รู้​ความลับของพวกมันจนหมดสิ้น ​ซึ่งจริง ๆ​ แล้ว​ขณะนั้น​พวกมันยังไม่มีแฟนกันสักคน ​ได้​แต่ด้อม ๆ​ มอง ๆ​ ทำ​เป็นหมาหยอกไก่ บางคนก็​เป็นมดแดงแฝงต้นมะม่วง ​ซึ่งฟัง ๆ​ แล้ว​ก็ขำ จนบางครั้งก็อด​ที่​จะหัวร่อก๊าก ๆ​ ออกมาไม่​ได้

แล้ว​เราก็สนิทสนมกันดังเดิม อยู่​ว่าง ๆ​ ผมก็ปั่นจักรยาน​ไปเ​ที่ยวบ้านพวกมัน เจอหน้ามันบ้าง ไม่เจอบ้าง ​เพราะบางวันมันก็​ต้องเข้าป่า​ไปตักน้ำมันยางออกมาขาย ​ต้องเดินเท้า ​เพราะไม่มีถนนตัดเข้า​ไป ​ต้องข้ามห้วยข้ามคลอง ขึ้น​เนินลงเนิน สักประมาณหนึ่ง​ชั่วโมงจึง​จะ​ไปถึงดงไม้ยาง

ครั้งแรก​ที่ผมติดตามพวกมันเข้า​ไปในดงไม้ยางแห่งนั้น​ กว่า​จะย่ำเท้า​ไปถึงผมก็เหนื่อยจนลิ้นห้อย ​เพราะนาน ๆ​ สักครั้ง​จะ​ได้กลับมาบ้าน ​และเข้าป่าเข้าดง ไม่​ได้สมบุกสมบันเหมือนสมัยเรียนหนังสืออยู่​ชั้นประถมปลาย วึ่งสมัยนั้น​ผมเข้า​ไปเสาะหาของป่า​กับพวกญาติ ๆ​ บ่อยมาก เสาร์-อาทิตย์ ปิดเทอม ​ใครเข้าป่า ผม​เป็น​ต้องติดสอยห้อยตาม​ไปด้วยทุกครั้ง

​แต่ป่าก็​คือป่า ​เมื่อหลุดเข้า​ไปครั้งใดก็แสน​จะเพลิดเพลิน ​และมันก็​จะกลาย​เป็นโลกอีกโลกหนึ่ง​สำหรับเรา​ไปทันที นั่น​คือโลกแห่ง​ความสดชื่นรื่นรมย์​ที่เราไม่​ใคร่​จะ​ได้สัมผัสกันบ่อยนัก ต้นไม้ ใบหญ้าเขียวขจี ร่มรื่นเยือกเย็นสายตา เห็ด เฟิร์น ดอกไม้หลากสีสันดาษดื่น สร้างบรรยากาศตื่นตาตื่นใจให้​กับเรายิ่งนัก อีก​ทั้ง นก หนู ​และแมลงต่าง ๆ​ กรีดเสียงขับขานระงมไพร ทำให้เรารู้สึก​และสัมผัส​ได้ถึงอิสระเสรี​ที่มีอยู่​ ​แต่ก็มัก​จะหาไม่เจอ​เมื่อ​ต้องติดอยู่​ใน​ที่​ที่มีบรรยากาศอึกทึกครึกโครม

ป่าเหนือต้นน้ำคลองพุมบัวมีพืชพรรณนานาชนิด​ที่เอื้อประโยชน์แก่ผู้คนในย่านนั้น​ อย่างเช่นสีเสียด ก็กะเทาะเปลือก​เอา​ไปกิน​กับหมากพลูป้องกันปูนแดงเผาปาก เถาวัลย์เปรียง ก็​ใช้​เป็นยาสมุนไพรช่วยรักษาอาการปวด​เมื่อย ปวดข้อ ​และปวดหลัง ​ได้​เป็นอย่างดี รวม​ทั้งพืชพรรณอื่น ๆ​ อีกหลายชนิด​ที่มีอยู่​ตามแถบนั้น​ แล้ว​พวกชาวบ้าน​เขาก็เข้า​ไปตัด​และเก็บ​เอามาทำเครื่องยารักษาโรค หรือตัดเก็บมาตากแห้ง​เอา​ไปชั่งกิโลขายให้​กับร้านขายเครื่องยาในตลาด

สำหรับน้ำมันยาง​ที่พวกพ่อค้ารับซื้อนั้น​ ​เขา​จะ​ใช้ขวานเจาะตรงโคนต้น ​ซึ่ง​เป็นขวาน​ที่มีลักษณะใบยาว ๆ​ ด้ามสั้น ๆ​ ผิด​กับขวาน​ที่​ใช้งาน​โดยทั่ว​ไป ​เพราะขวานเจาะมีไว้สำหรับเจาะลึกเข้า​ไปในเนื้อไม้อย่างเดียวเท่านั้น​ ​โดยเฉพาะตรงโคนของมัน​จะ​ต้องเจาะเข้า​ไปให้ลึก​ที่สุด ​คือ ยิ่งลึก​ได้เท่าไหร่ยิ่งดี ขุดเจาะ​เป็นโพรงเหมือนนกเงือกทำรัง สำหรับ​ใช้​เป็นแอ่งขังน้ำมัน ​ซึ่ง​เขาเรียกกันว่า "ขุมยาง"

​และ​เมื่อขุดเจาะขุมยางเสร็จใหม่ ๆ​ ก็​จะปรากฏน้ำมันยางสีใสเหมือนน้ำในบ่อหยดลงมาขังอยู่​ในขุมนั้น​ ​ซึ่งมัน​จะค่อย ๆ​ หยดลงมาทีละนิดละหน่อย​ ​แต่​เมื่อทิ้งไว้สักสองสามวัน ใน​แต่ละขุมของ​แต่ละต้นก็​สามารถ​เอากะลาใบเขื่อง ๆ​ จ้วง​ไปตักออกมา​ได้ถึงค่อนกะลา หาก​ใครมีต้นยางไว้ในเขตจับจองสักสี่ห้าสิบต้น ก็​จะ​ได้น้ำมันยางไม่ต่ำกว่าสองปี๊บ

สมัยนั้น​น้ำมันยางใส​เป็นสินค้าจากป่า​ที่มีราคา ​ที่ตลาดหน้าอำเภอรับซื้อปี๊บละ 50 --60 บาท​ ในขณะ​ที่ข้าวสารอย่างดีถังละสามสี่สิบบาท​เท่านั้น​ ​ถ้านำมาเปรียบเทียบ​กับสมัยนี้ น้ำมันยางหนึ่ง​ปี๊บ ก็คง​จะขาย​ได้ไม่ต่ำกว่าเจ็ดแปดร้อยบาท​ ​และ​ถ้าอาชีพนี้ยังมีอยู่​ ก็นับว่า​เป็นอาชีพ​ที่ทำราย​ได้​ได้ไม่เลวเหมือนกัน

ผมเข้า​ไปเ​ที่ยวดงไม้ยาง​กับพวก​เพื่อน ๆ​ ครั้งแรก ก็รู้สึกแปลกใจ​ที่เห็นแถว ๆ​ ปากขุมยางมีร่องรอยถูกไฟลนจนไหม้ดำ ​และภายในขุมมีน้ำยางสีขุ่น ๆ​ ขังอยู่​ แล้ว​พวกมันก็​เอากะลาจ้วงตักมารินใส่ครุ พอใส่ลง​ไป​ได้เกือบเต็ม ก็หิ้ว​ไปถ่ายใส่ปี๊บ​ซึ่งวางไว้​ที่ขนำ ​และ​ที่ปี๊บก็ผูกรัดสาแหรกสำหรับสอดไม้คานหาบเตรียมไว้เสร็จสรรพแล้ว​

ผมเฝ้าดูพวกมันทำงานกันอย่างแคล่วคล่อง ​แต่ละคนเดินหิ้วครุใส่น้ำมัน​ไปตามโคนต้นยาง​ที่ขึ้น​อยู่​ตามเนินสูง ๆ​ ต่ำ ๆ​ ​และบางแห่งก็อยู่​ใน​ที่สูงชัน พวกมันก็เดิน​ไปเดินมาอย่างแคล่วคล่อง เหมือนพวกแม่ค้าเดินอยู่​ในตลาด ดูช่างปราดเปรียวน่านับถือจริง ๆ​

​เมื่อเก็บตักน้ำมันยางออกจากขุมหมดทุกต้นแล้ว​ ก็ถึงเวลาเผายาง ​ซึ่งพวกมันก็​จะจุดคบไฟ​ที่ทำจากเปลือกเสม็ดชุบน้ำมันยาง ​โดย​เอาเปลือกเสม็ดมามัดเข้าด้วยกัน​เป็นก้อนกลม ๆ​ ยาว ๆ​ ขนาดท่อนแขน จุ่มลง​ไปในครุน้ำมันยางจนชุ่ม แล้ว​ยกขึ้น​มาจุดไฟแดงโร่ ควันสีดำพวยพุ่ง ตลบอบอวน กลิ่นขื่น ๆ​ โชยเข้าจมูก หลังจากนั้น​ก็นำ​เอาคบไฟ​ที่ลุกโชนตรง​ไปสอดเข้า​ที่ปากขุมยาง​ซึ่งตักน้ำมันยางออกหมดแล้ว​ ลนอยู่​สักพักไฟก็ลุกไหม้ลง​ไปในขุม ​เพราะมันยังมีร่องรอยของน้ำมันยางหลงเหลืออยู่​ พวก​เพื่อน ๆ​ ของผมจึง​ต้องคอยระวังกะจังหวะไม่ให้ไฟลุกไหม้นานเกิน​ไป

พอเห็นว่าไฟไหม้ลามจนทั่ว ก็​จะดับด้วยกิ่งไม้สด ๆ​ ​ที่​ไปตัดมา​เอามา​ทั้งใบ ฟาดแรง ๆ​ เข้า​ไปสักสามสี่ครั้งไฟก็มอด เหลือเฉพาะควันสีขาว ๆ​ ลอยกรุ่นออกมา ทำอย่างนี้จนทั่วหมดทุกต้นก็เป็​เป็นอันเสร็จภารกิจ หาบน้ำมันยาง​ที่ใส่ไว้ในปี๊บกลับบ้าน​ได้ รอกระทั่งครบกำหนดน้ำมันยาง​ที่เผาลนครั้งใหม่ย้อยลงมาเต็มขุม ​ซึ่งก็​ใช้ระยะเวลาประมาณสามสี่วัน จึงค่อยกลับเข้า​ไปในดงไม้ยางพวกนั้น​อีกครั้ง...​

ด้วยประสบการณ์ของพวก​เขา ผม​ได้สดับมาว่าการเผาลน​ไปตามขุมยางนั้น​ ​เป็นการกระตุ้นให้ต้นยางขับน้ำมันออกมา หาก​แต่รอบหลังน้ำมัน​ที่​ได้​จะไม่ใช่น้ำมันยางชนิด​ที่มีใสเหมือนน้ำในบ่ออีกแล้ว​ ​เพราะน้ำมันยางใส​จะหยดลงมาก็เฉพาะตอน​ที่ขุดเจาะครั้งแรกเท่านั้น​ ครั้งต่อ​ไป​จะ​ต้อง​ใช้วิธีกระตุ้นด้วยการสุมไฟอย่างนี้เสมอ น้ำมันยางจึง​จะหยดออกมา ​และมีสีขุ่น ๆ​ ​ซึ่งราคาก็​จะถูกกว่าน้ำมันยางสีใสครึ่งต่อครึ่ง ตกปี๊บละ 30 บาท​ ​แต่ก็พออยู่​​ได้ ​เพราะ​ถ้าขยันก็คุ้มค่าเหนื่อยเหมือนกัน

พวกน้ำมันยางพวกนี้ ​ที่ตลาดแถวนั้น​​เขารับซื้อ​ไปขายต่อ​ที่กรุงเทพฯอีกทอด ​เพื่อนำ​ไปผลิตดัดแปลง​เป็นผงชันสำหรับยาหมันเรือ หรือ​ใช้ในการเผาไหม้ของเครื่องยนต์แทนน้ำมันขี้โล้ นอกจากนั้น​ก็​ใช้​เป็นสรรพคุณทางยารักษาโรค ​ซึ่ง​สามารถนำ​ไปรักษา​ได้สารพัดโรคเช่นกัน เช่น โรคเรื้อน โรคริดสีดวง ฝี หนอง ​แม้ผสม​กับเม็ดกุยช่ายคั่วให้เกรียม บดให้ละเอียด ​ใช้อุดฟันแก้ฟันผุก็ยัง​ได้

หากเดี๋ยวนี้ป่าต้นน้ำเหนือคลองพุมบัว ​ถ้าผมไม่เก็บมาเล่าไว้ ณ ​ที่นี้ ผู้คนแถบนั้น​ก็คง​จะลืมกัน​ไปแล้ว​ ​เพราะกาลเวลา​ได้ล่วงผ่านมานานแล้ว​ ​และ​ที่สำคัญ ครั้งหนึ่ง​เคยมีเจ้าสัวจากเมืองกรุง​ไปตั้งโรงเลื่อยเลื่อยไม้แปรรูป ​โดยขอสัมปทานป่าไม้​กับทางราชการอย่างถูก​ต้อง ไม้ยางแถวนั้น​เลย​เหี้ยนเตียน​ไปหมด พวกเจาะยางขายน้ำมันก็หลงลืมตัว​เมื่อโดน​เขา​เอาเงินเข้าล่อ หลงตัดต้นยางของตนขายให้​กับโรงเลื่อย​ไปเสีย พอโรงเรื่อยเลิกกิจการ ​เพราะรัฐบาลประกาศยกเลิกสัมปทาน ​และปิดป่า พวก​เขาบางคนจึงคิด​ได้ ​แต่มันก็สาย​ไปเสียแล้ว​...​ ผืนป่าเชิง​เขาเหนือคลองพุมบัวไม่มีไม้ยางต้นโต ๆ​ ให้​เขา​ได้ขุดเจาะลนไฟ​เอาน้ำมันของมันใส่ปี๊บ​ไปขายหลงเหลืออีกเลย​

นี่แหละ​ครับ​​ที่​เขาว่าคนจนสายตาสั้น ​ซึ่งมันก็ถูกของ​เขาเหมือนกัน ​แต่​ถ้า​จะให้ถูก​ที่สุดก็​ต้องว่าผู้ปกครองตาบอด

​คือไม่มองเห็นอนาคตของบ้านเมือง ไม่คิดว่าต่อ​ไปภายหน้าราษฎร​จะอยู่​กันอย่างไร ​เพราะมัว​แต่ตั้งหน้าตั้งตากอบโกยผลประโยชน์เข้าพกเข้าห่อของตน จนไม่ลืมหูลืมตา ครั้นมาตอนนี้ พวกราษฎร​เขา​ได้รับการศึกษา ทำให้สายตายาวขึ้น​ ​เขาก็เอะอะ​เอาบ้าง ก็พานโกรธตีโพยตีพาย​จะตายชัก

เฮ้อ—เวรกรรม

*********************************************

 

F a c t   C a r d
Article ID A-3415 Article's Rate 4 votes
ชื่อเรื่อง คนเจาะยาง
ผู้แต่ง พลอยพนม
ตีพิมพ์เมื่อ ๐๘ มิถุนายน ๒๕๕๓
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ บันทึกเงาความคิด
จำนวนผู้เปิดอ่าน ๕๙๖ ครั้ง
จำนวนความเห็น ๖ ความเห็น
จำนวนดอกไม้รวม ๒๐
| | | |
เชิญโหวตให้เรตติ้งดอกไม้แก่ข้อเขียนนี้  
R e a d e r ' s   C o m m e n t
ความเห็นที่ ๑ : ศาลานกน้อย [C-17037 ], [000.000.000.000]
เมื่อวันที่ : 08 มิ.ย. 2553, 07.18 น.

ผู้อ่าน​ที่รัก,

นิตยสารรายสะดวก​ ​และผู้เขียนยินดีรับฟัง​ความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดง​ความเห็น​ได้​โดยอิสระ ขอขอบคุณ​และรู้สึก​เป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมี​ส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...​

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๒ : นาม อิสรา [C-17038 ], [112.142.49.38]
เมื่อวันที่ : 08 มิ.ย. 2553, 07.38 น.

หากยังพบเจอข้อ​ความตกหล่นก็​ต้องขออภัยนะครับ​

กะว่าวันนี้ ​(8 มิ.ย.) เย็น ๆ​ ​จะย้อนมาอ่านทบทวนอีกครั้ง

ขอบคุณ​ที่ติดตามอ่านกันนะครับ​ หวังว่าคง​จะ​ได้รับการชี้แนะเช่นเคย

ขอบคุณล่วงหน้าอีกครั้ง-ครับ​ผม

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๓ : Rotjana Geneva [C-17043 ], [193.134.193.5]
เมื่อวันที่ : 08 มิ.ย. 2553, 17.11 น.

"ผมสะดับมาว่า" ​ที่ถูก​ต้อง​เป็น "ผมสดับมาว่า" ค่ะ​


​แต่รจนาไม่​ได้ตั้งใจตรวจตัวอักษรหรอกค่ะ​ เข้ามาชื่นชมฝีมือการเขียน ​และซาบซึ้ง​ไป​กับชีวิตพื้นบ้านอีกครั้งหนึ่ง​

มีข้อสงสัยว่า ทำไมจึงเรียกว่า "เจาะยาง" ไม่ "กรีดยาง" คะ​?

​ต้องนับว่าคุณนามฯมีคุณูปการมาก​ที่ทำเรื่อง​เช่นนี้มาถ่ายทอด ด้วยสำนวนง่าย ๆ​ ภาษาไทยชั้นดี ​และเล่า​ได้เห็นภาพ ​ได้กลิ่นอาย ​ได้​ความรู้สึก ​ได้สัมผัสด้วยใจอันละมุน ให้พวกเราคนรุ่นหลัง​ได้กลิ่นอายของน้ำยางในป่าอีกครั้งหนึ่ง​

​และจบลงอย่างร่วมสมัยจริง ๆ​ ​ความมีวิสัยทัศน์สั้นของ​ทั้งผู้ปกครอง​และชาวบ้าน​ที่เห็นแก่เงิน"เร็ว" จนลืมมองประโยชน์ระยะยาว ​เป็น​ความผิดพลาด​ที่ลูกหลาน​ต้องมารับต่อ​ไปอีกหลายชั่วคน

รจนาไม่อยากโทษ​ความไม่รู้ของมนุษย์เรา คิดว่าการเกิดขึ้น​ ตั้งอยู่​ ดับ​ไป ​และ​ความเจริญ​กับ​ความเสื่อม​เป็นของคู่​กับโลก

หวังเพียงว่า คนรุ่นใหม่​จะ​ได้เรียนรู้ รู้เท่าทัน ​และไม่​เอาแบบอย่างเท่านั้น​เอง

มอบดอกไม้ให้หมดตะกร้านะคะ​ ​และขอเชียร์ให้เขียนต่อ​ไปค่ะ​

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๔ : นาม อิสรา [C-17045 ], [112.142.49.229]
เมื่อวันที่ : 08 มิ.ย. 2553, 22.46 น.

ขอบคุณคุณรจนาฯ ​ที่ช่วยสะกิดให้เห็นคำ​ที่เขียนผิดครับ​ สักประเดี๋ยวผมทำการตรวจทานอีกรอบ

​ส่วน​ที่​ใช้ "เจาะ" ไม่​ใช้"กรีด" ก็​เป็น​เพราะว่าเจาะ​และกรีดนั้น​ ​ใช้​กับต้นยางคนละชนิดกันครับ​

ไม้ยาง​ที่กล่าวถึงอยู่​ตอนนี้ ​เป็นพืชยืนต้นอยู่​ในป่าครับ​ ไม่​ได้​เป็นพืชสวนเหมือนไม้ยางอีกชนิด​ที่​ใช้มีดกรีด​เอาน้ำยาง ​คือ ยางพารา

ไม้ยางป่านั้น​​เขา​จะ​ต้องเจาะ​เอา"น้ำมัน" ของมัน​ที่ฝังตัวลึกอยู่​ในเนื้อไม้ครับ​ ไม่​ได้​เอา"น้ำยาง"

​ส่วนยางพารา ​ที่มีน้ำยางสีขาว ๆ​ นั้น​ น้ำยางของมัน​จะฝังอยู่​แค่เปลือกครับ​ ​ใช้มีดกรีดยางลักษณะงอ ๆ​ กรีด​เอา​ได้ กรีดให้​เป็นร่องลึกสักประมาณครึ่ง ม.ม. น้ำยางก็​จะไหลปรี่ออกมาแล้ว​

อันนี้กรรมวิธีไม่ยุงยาก เสีย​แต่ว่า​ต้องกรีดในเวลากลางคืน ​ซึ่งมัน​กำลัง​ใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปรุงอาหาร มันจึง​จะให้น้ำยางออกมาดี

ผมอธิบายคร่าว ๆ​ คิดว่าคุณรจนาฯ​และท่านผู้อ่านอีกหลาย ๆ​ ท่านคง​จะนึกภาพออกกันนะครับ​

​และขอแย้มว่า ชีวิตกรีดยางพารา ผมก็แผนอยู่​ในหัวว่า​จะนำมาเล่าอยู่​เหมือนกันครับ​

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๕ : vorya9451 [C-17569 ], [118.173.178.130]
เมื่อวันที่ : 22 ก.ย. 2553, 02.41 น.

ขอบคุณสำหรับข้อเขียน​ที่บันทึกอาชีพคนเจาะยาง
เจาะยางอีกชนิดหนึ่ง​​คือ บาดแผล​ที่​เป็นฝีหนอง
ยิ่งล้างยิ่งทำแผล ฝีหนองยังออกทุกวัน คนแถวบ้าน​เขาเรียกแผลเจาะยาง ​คือยิ่งยิ่งออก

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๖ : นเรศ หอมหวล รพ.ปากพะยูน อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง 93120 โทร 089 7729573 [C-17570 ], [118.173.178.130]
เมื่อวันที่ : 22 ก.ย. 2553, 03.35 น.

สวัสดีครับ​คุณพลอย พนม กระผมนายนเรศ หอมหวล หรือ vorya 9451
บล๊อกเกอร์ ผม​ได้นำข้อ​ความบางตอนจากเรื่อง​คนเจาะยาง​เอา​ไปอ้าอิงในข้อเขียนของตัวเอง​โดยพละการ ไม่​ได้ขออนุญาติจากเจ้าของข้อเขียน
จึงถือโอกาสมาขออนุญาติจากท่าน ​เพื่อ​เป็นประขยาย​ความคำว่าเจาะยางให้ชนรุ่นหลัง​ได้รู้จักอาชีพนี้
ขอ​ความกรุณาเข้า​ไปดูในบันทึกของผม ​ถ้าเห็นไม่สมควรประการได ผมก็​จะ​ได้ลบบันทึกของผมออก
ด้วยหวังใน​ความกรุณา

แจ้งลบข้อความ


สั่งให้ระบบส่งเมลแจ้งการเพิ่มเติมความเห็น
 ศาลานกน้อย พร้อมบริการเสมอ และยินดีรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกท่าน  ติดต่อเว็บมาสเตอร์ได้ทางคอลัมน์ คุยกับลุงเปี๊ยก หรือทางอีเมลได้ที่ uncle-piak@noknoi.com  พัฒนาระบบ : ธีรพงษ์ สุทธิวราภิรักษ์  โลโกนกน้อย : สุชา สนิทวงศ์  ภาพดอกไม้ในนกแชท : ณัฐพร บุญประภา  ลิขสิทธิ์งานเขียนในนิตยสารรายสะดวก เป็นของผู้เขียนเรื่องนั้น  ข้อความที่โพสบนเว็บไซต์แห่งนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้โพสทั้งสิ้น