![]() |
![]() |
กานต์พิชชา๐๐๙![]() |
...เราทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ ทุกคนต้องรู้จักกับความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ความทุกข์เป็นของจริง เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุ...
![]() |
![]() |
|
![]() |
||
![]() |
![]() |
![]() |
เราทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ ทุกคนต้องรู้จักกับความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น
ความทุกข์เป็นของจริง เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องเจอ ความทุกข์เป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่แก่เราเสมอ
ตั้งแต่ลืมตาเกิดมามีชีวิตบนโลกใบนี้ ทุกลมหายใจเข้าออกซึ่งล้วนเป็นความทุกข์แทบทั้งสิ้น
ลองนึกดูสิถ้าเราหายใจเข้าอย่างเดียวแล้วไม่หายใจออกจะเป็นทุกข์ไหม
ถ้าเรานั่งลืมตาอย่างเดียวโดยไม่หลับตาเลยเราจะเป็นทุกข์ไหม
แล้วถ้าเรานั่งหรือนอนอยู่ในท่าเดียวโดยไม่ขยับตัวเลยสักนิดเดียวเราจะเป็นทุกข์ไหม
สิ่งที่กล่าวมาเป็นเพียงแค่ความทุกข์ที่เกิดจากอิริยาบถต่างๆ ของร่างกายมนุษย์
ซึ่งเป็นความทุกข์ที่เราต้องเจอโดยธรรมชาติของร่างกายของเราเองอยู่แล้ว
เมื่อเทียบกับความทุกข์ที่เราต้องเจอในแต่ละวันตั้งแต่ลืมตาตื่นจนกระทั่งหลับตานอน
มันก็เป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวเล็กๆเท่านั้น บางทีเราอาจจะไม่รู้สึกเลยสักนิดเดียวว่าเป็นความทุกข์
เพราะเราไม่เคยมานั่งพิจารณาดูว่าถ้าร่างกายเรามันไม่เปลี่ยนอิริยาบถมันจะเป็นทุกข์ถึงขนาดไหน
ถึงขั้นอาจทำให้ตายได้หรือเปล่า การเปลี่ยนอิริยาบถจึงเป็นการแก้ทุกข์
แต่เราจะรู้สึกได้ชัดเจนก็ต่อเมื่อร่างกายของเรามีปัญหา ชำรุด เจ็บป่วย ไร้สมรรถภาพ
ไม่สามารถแก้ไขความทุกข์นั้นได้ นั่นแหละถึงจะเห็นถึงความทุกข์ที่กล่าวมาแล้วนั้นอย่างชัดเจน
ความทุกข์ที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นความทุกข์ที่เกิดจากร่างกาย แต่ความทุกข์ที่เกิดจากจิตใจ
บางครั้งก็สาหัสสากรรจ์มากจนถึงกับทำให้ร่างกายเราล้มป่วยลงจนอาจถึงแก่ความตายได้เหมือนกัน
ความทุกข์ที่เกิดจากใจของเรา ใจที่คอยนึกคิดถึงแต่เรื่องที่ผิดหวังหรือเสียใจในอดีตที่ผ่านมาแล้ว
หรือไม่ก็เรื่องของอนาคตที่ยังมาไม่ถึง แล้ววิตกกังวลไปต่างต่างนานาจนเกิดความกลัว
กระทั่งกลายเป็นความทุกข์ก่อเกิดขึ้นในใจของเรา จนส่งผลมายังร่างกายของเราจนทำให้เจ็บป่วยได้
อาการคิดมากเหล่านั้น เรียกกันว่า "ฟุ้งซ่าน" ซึ่งเป็นการคิดต่อเนื่องกันไม่หยุดจนลืมความรู้สึกตัวในขณะปัจจุบันไป
ความทุกข์นั้นเกิดขึ้นได้ทั้งทางกายและทางใจ เราไม่สามารถที่จะกำจัดให้หมดสิ้นไปได้
แต่อาจทำให้หายไปเพียงชั่วครู่เท่านั้นแล้วมันก็จะกลับมาใหม่ตามธรรมชาติของมัน
เมื่อความทุกข์ไม่สามารถกำจัดให้หมดสิ้นไปได้ เราควรอยู่กับความทุกข์ให้ได้โดยที่เราไม่ทุกข์
วิธีการนั้นจะว่ายากมันก็ไม่ยากจะว่าง่ายมันก็ไม่ง่าย เพียงแค่เราดูความรู้สึกอารมณ์ในขณะปัจจุบัน
ดูไปเฉยเฉย โดยที่ไม่รู้สึกชอบหรือชัง ไม่ใส่ความรู้สึกนึกคิดอะไรทั้งนั้นในขณะที่กำลังดูอยู่
อย่างเช่น ในขณะที่กำลังกินอาหารอยู่ เมื่ออาหารเข้าปากก็รู้สึก ขณะที่กำลังเคี้ยวก็รู้สึก
โดยไม่ต้องไปคิดหรือนึกว่าอาหารที่กินเข้าไปมันอร่อยหรือไม่อร่อย รู้สึกชอบหรือไม่ชอบ
เราก็ดูความรู้สึกอารมณ์ในขณะปัจจุบันในทุกทุกอิริยาบถของเราไป
ซึ่งสามารถทำได้ในทุกๆอิริยาบถ รวมถึงความคิดด้วย ทำได้ตั้งแต่ลืมตาตื่นจนกระทั่งนอนหลับ
มันจะทำให้เรามีสติ รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งเวลาที่คิดฟุ้งซ่านเราก็ดูไปเรื่อยเรื่อย
อาการฟุ้งซ่านก็จะหายไปเองจิตของเราก็จะอยู่กับตัวไม่หนีออกไปไหน
การฝึกทำตอนแรกก็จะรู้สึกว่ามันยากแล้วหลุดบ่อย เพราะเราไม่เคยทำมาก่อน
ถ้าเราดูไปเรื่อยเรื่อยจนเกิดความชำนาญจิตมันก็จะดูของมันไปเองโดยอัตโนมัติ
แม้กระทั่งเวลานอนหลับเราก็จะรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ฝันก็รู้ว่าฝันอะไร
ได้ยินแม้กระทั่งเสียงกรนของตัวเอง พลิกตัวซ้ายขวาก็รู้หมด
เห็นความเป็นจริงของธรรมชาติ ที่ทำให้เกิดทุกข์ในแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน
แล้วจะทำให้เรารู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ไม่มีสิ่งใดที่แน่นอนมันจะเปลี่ยนแปลงไปเสมอ
เมื่อเห็นแล้วว่าทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ไม่แน่นอนเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอความทุกข์ก็เหมือนกัน
มันก็เลยทำให้เราสามารถอยู่กับความทุกข์ได้โดยที่เราไม่ทุกข์ แต่ถ้าอยากจะพ้นทุกข์นั้น
เราต้องไปปฏิบัติธรรม ที่เรียกกันว่า วิปัสสนากรรมฐาน ในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งจะนำเราไปสู่การพ้นทุกข์ด้วยปัญญา
โดยการพิจารณาดูสภาพธรรมตามความเป็นจริง ด้วยการอาศัยสติรู้ดูอารมณ์ปัจจุบัน
ซึ่งเมื่อฝึกปฏิบัติมากมากเข้า จิตก็จะเห็นการเกิด-ดับ การเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น
จนสุดท้ายจิตจะเข้าใจและยอมรับความเป็นไปของธรรมชาติได้เอง
ว่าทุกสิ่งล้วนเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ความทุกข์ไม่มี ความสุขไม่มี
เมื่อวันที่ : 08 ก.พ. 2553, 16.48 น.
ผู้อ่านที่รัก,
นิตยสารรายสะดวก และผู้เขียนยินดีรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดงความเห็นได้โดยอิสระ ขอขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมีส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...