...

นานๆกลับมาที เลยขอเอาเรื่อง "เส้น" มาแบ่งปันกันซะหน่อยจ้า...

ช่วงนี้ได้รับอีเมล์เรื่องพิษภัยจากการกินเส้นก๋วยเตี๋ยวบ่อยๆ เลยคิดว่าน่าจะเขียนอะไรที่เกี่ยวกับเส้นมาแบ่งปันกัน

เส้นก๋วยเตี๋ยวนั้นมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีนเมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว ก่อนจะมีการกระจายมาสู่เอเชียตอนใต้ ในช่วงศตวรรษที่ 15 โดยชาวจีนที่อพยพไปยังดินแดนต่างๆ และคาดว่าเส้นก๋วยเตี๋ยวเดินทางมายังเมืองไทยในช่วงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากประวัตินั้นก๋วยเตี๋ยวได้มีการบริโภคอย่างกว้างขวางในช่วงที่ จอมพล ป. พิบูลย์สงครามเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ก๋วยเตี๋ยวเป็นที่รู้จักและนิยมรับประทานมากขึ้น

ทีนี้เรามาดูกระบวนการผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวกันบ้าง เริ่มจากการนำข้าวเจ้ามาบด นิยมใช้ข้าวเก่าที่เก้บมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3-4 เดือน และนิยมใช้ข้าวหักมาทำเพราะโม่ง่าย และราคาถูก จากนั้นทำให้เป็นเส้นโดยผ่านความร้อน สมัยก่อนการทำเส้นก๋วยเตี๋ยวเริ่มจากการนำข้าวมาแช่และล้างสิ่งสกปรกออก หรืออาจจะแกว่งสารส้มในน้ำแช่เพื่อให้ข้าวขาว เวลาล้างจะใช้คนลงไปถีบข้าวเพราะมีปริมาณมาก พอล้างสิ่งสกปรกออกแล้วจะเอาข้าวไปโม่ด้วยโม่หิน เมื่อได้แป้งขาวข้นแล้วจะนำไปเทลงในถาด แล้วนำไปนึ่งประมาณ 1-3 นาที จากนั้นทางน้ำมันให้ทั่วแผ่นกันเส้นติดกัน ลอกขึ้นจากถาดแล้วนำไปผึ่ง พอเส้นก๋วยเตี๋ยวแห้งก็นำไปหั่น แต่ปัจจุบันการผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวนั้นใช้เครื่องจักรเกือบทั้งหมด

เส้นก๋วยเตี๋ยวที่เรารับประทานกันทุกวัน โดยทั่วไปแบ่งได้เป็น 3 ประเภทตามวัตถุดิบที่ใช้ คือเส้นที่ทำจากแป้งสาลี เช่นบะหมี่ ราเมน และอูด้งของญี่ปุ่น อีกประเภทคือเส้นที่ทำจากแป้งข้าวจ้าว เช่น เส้นหมี่ เส้นเล็ก เส้นจันท์ ชนิดสุดท้ายคือเส้นที่ทำจากแป้งถั่วเขียว มันเทศ และข้าวโพด เช่น วุ้นเส้น

ความปลอดภัยของเส้นก๋วยเตี๋ยวขึ้นอยู่กับชนิดและลักษณะของเส้นก๋วยเตี๋ยว โดยก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่สด จะมีความชื้นประมาณร้อยละ 60-70 เส้นเล็กมีความชื้นประมาณร้อยละ 20-25 ส่วนเส้นชนิดอบแห้งจะมีความชื้นต่ำ ประมาณร้อยละ 14 ซึ่งจะเป็นระดับที่ปลอดภัยจากจุลินทรีย์ที่ทำให้เน่าเสีย ดังนั้นก๋วยเตี๋ยวเส้นสดจึงต้องมีการเติมสารป้องกันการเสื่อมเสียจากจุลินทรีย์ลงไป เพื่อยืดอายุการเก็บเส้นก๋วยเตี๋ยวให้นานขึ้น ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 (พ.ศ. 2547) เรื่องวัตถุเจือปนในอาหาร กำหนดให้ใช้กรดเบนโซอิกได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อเส้นก๋วยเตี๋ยว 1 กิโลกรัม แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าผู้ผลิตใส่เกินปริมาณที่กำหนด ทำให้สามารถเก็บเส้นสดแบบไม่ต้องแช่เย็นนานเป็นสัปดาห์ กรรมก็เลยมาตกกับผู้บริโภค เนื่องจากเมื่อร่างกายรับสารในปริมาณมาก การกำจัดสารนั้นออกจากร่างกายก็อาจทำได้ไม่หมด เกิดการสะสมของสารเจือปนเหล่านั้นในร่างกาย ทำให้เราเกิดโรคต่างๆขึ้นได้ เช่นมีผลต่อกระดูก และการเกิดโรคมะเร็ง อันนี้แสนรักขอตั้งข้อสังเกตด้วยว่าส่วนหนึ่งนั้นมาจากคนขายด้วยว่าอยากให้เก็บได้นาน บางท่านอาจได้เคยเห็นฝรั่งที่ขายตามตลาดมีการย้อมสีจนเขียว ก็ไม่รู้ว่ายังขายอยู่ได้อย่างไร หรือเพราะว่ายังมีคนกิน ก็เลยยังมีคนเอามาขายอยู่
กลับมาพูดถึงเรื่องเส้นกันต่อ นอกจากกรดเบนโซอิกแล้ว ปัจจุบันยังมีการเติมสารเจือปนที่เรียกว่าน้ำมันหัวเชื้อลงไปในกระบวนการรีดแผ่นก๋วยเตี๋ยว หรือผสมกับแป้งเพื่อทำให้เส้นร่วนซุย ไม่ติดกัน สารดังกล่าวยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคหรือไม่ แต่จะทำให้เส้นก๋วยเตี๋ยวมีรสเปรี้ยวและเฝื่อน ขอแถมท้ายว่าการบริโภคหรือกินอาหารชนิดเดิมซ้ำๆนั้นเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการรับสารเจือปนชนิดใดชนิดหนึ่งเข้าไปในร่างกายเป็นประจำ ดังนั้นเราควรบริโภคอาหารให้หลากหลาย จะดีกว่าเพราะนอกจากจะลดความเสี่ยงในการรับสารเจือปนชนิดใดชนิดหนึ่งในปริมาณมากแล้วยังทำให้เราได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนด้วยค่ะ...วันนี้หวังว่าคนชอบกินเส้นคงจะได้รับประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะคะ...

เมื่อวันที่ : 25 ก.พ. 2552, 22.44 น.
ผู้อ่านที่รัก,
นิตยสารรายสะดวก และผู้เขียนยินดีรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดงความเห็นได้โดยอิสระ ขอขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมีส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...