...อดีตนักเรียนจากโรงเรียนนายเรือของอังกฤษกำลังทบทวนบทเรียน... เขาจำได้แม่นยำถึงวิธีเดินทัพของพระเจ้านโปเลียน เขาจำรายละเอียดของยุทธนาวีทุกครั้งของลอร์ดเนลสัน นายพลเรือผู้ยิ่งใหญ่ของราชนาวีอังกฤษได้ดี โดยเฉพาะที่ทราฟัลก้า........

ยุทธนาวีที่ยิ่งใหญที่สุดในโลกซึ่งถือเป็นตำนาน และตำราทางการทหารตลอดมาคือการรบทางทะเลที่แหลมทราฟัลก้า ระหว่างกองเรือผสมของสเปญและฝรั่งเศส กับกองเรือของราชนาวีอังกฤษซึ่งนำโดยลอร์ดเนลสันเมื่อปี ค.ศ. 1805 นั่นเป็นยุทธ นาวีสมัยเก่าที่ยังใช้เรือใบและปืนใหญ่โบราณที่เอาลูกใส่ทางปากกระบอก
นานต่อมาอีก 100 ปี ก็ได้มียุทธนาวีที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้ง แต่เป็นการรบสมัยใหม่ซึ่งเรือรบแล่นได้ด้วยกำลังเครื่องจักรไอน้ำ มีปืนใหญ่ที่หัวกระสุนระเบิดได้ยุทธนาวีครั้งนี้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1905 นั่นคือยุทธนาวีใน “ช่องแคบสัชชิม่า” ที่ครบรอบ 103 ปีพอดีในปีนี้และเดือนนี้….

หลายวันมาแล้วที่กองเรือภาคแปซิฟิคที่สองและที่สามของรัสเซียแล่นออกจากอ่าวคัมรานในประเทศญวน หลังจากที่ได้แวะจอดเพื่อเติมถ่านหินและเสบียงอาหารให้เต็มที่ ก่อนจะแล่นผ่านทะเลจีนใต้และทะเลเหลืองเข้าสู่ทะเลญี่ปุน เพื่อหาเส้นทางเข้าสู่เมืองท่าวลาดิวอสสต็อค โดยไม่ให้ข้าศึกรู้ ภาระกิจหลักอยู่ที่นั่น ! ……

พลเรือโทโรเซสท์เวนสกี้ ผิดหวังอย่างยิ่งเมื่อได้เห็นสภาพของกองเรือภาคแปซิฟิคที่สาม ณ จุดนัดพบที่เมืองท่าคัมรานของประเทศญวน กองเรือที่สามจากทะเลดำซึ่งอุตส่าห์แล่นลัดคลองสุเอซมาสมทบและมาอยู่ใต้การบังคับบัญชาของเขานี้ เรือส่วนใหญ่เก่า บางลำมีสนิมเขรอะ มันเป็นตัวถ่วงเสียมากกว่าตัวช่วย เพราะเรือหลายลำความเร็วต่ำกว่ากองเรือที่สองของเขาซึ่งก็นับว่าต่ำอยู่แล้ว มันจะดึงความเร็วของกองเรือทั้งขบวนให้ลดตามลงไปด้วย

พลเรือโทโรเซสท์เวนสกี้ส่งวิทยุโทรเลขถึงกองบัญชาการที่เซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์กทันที ขอย้ายหน้าที่จากภาระกิจครั้งนี้… แต่คำขอได้รับการปฎิเสธ

บนเรือประจันบาน ซูวารอฟ ซึ่งเป็นเรือธง พลเรือโทโรเซสท์เวนสกี้ นั่งนิ่งอยู่หน้าโต๊ะแผนที่ มองดูตำแหน่งกองเรือของเขา คือกองเรือภาคแปซิฟิคที่สองและที่สามซึ่งขณะนี้อยู่ใต้การบัญชาการของเขาแล่นเข้าสู่ทะเลเหลืองแล้ว และอีกไม่กี่วันข้างหน้าก็จะผ่านเข้าสู่ช่องแคบเกาหลี ทหารอาชีพอย่างเขารู้ดีว่าภารกิจครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ในขณะที่ประชาชนชาวรัสเซีย รัฐบาลและอาจรวมถึงองค์ซาร์นิโคลัสที่สองด้วย พากันคิดว่า กองเรือรัสเซียจะต้องบดขยี้กองเรือญี่ปุ่นได้โดยง่าย เพื่อยึดเมืองปอร์ตอาเธอร์คืน

วันที่กองเรือที่สองจะออกจากท่าโครนสตัดท์ในทะเลบอลติก โรเซสท์เวนสกี้ยังจำได้ดี…ที่ท่าเรือมีแตรวงเล่นเฉลิมฉลองการออกทัพครั้งนี้อย่างยิ่งใหญ่ ประชาชนหลายพันคนมาโบกมือไชโยโห่ร้องส่งทหารหาญของพวกเขาเต็มท่าเรือ มีเสียงตะโกนโห่ร้องกึกก้องให้

“ถล่มญี่ปุ่น ๆ ๆ ๆ “

พวกเขาโกรธแค้นที่กองทัพญี่ปุ่น บังอาจโจมตีเมืองปอร์ตอาเธอร์ของมหาอาณาจักรรัสเซีย ชนทั้งชาติมั่นใจกับทัพเรือของมหาอาณาจักรรัสเซีย หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งถึงกับลงข้อความว่า….

“แค่ทหารของเราเอาหมวกโยนใส่เรือรบญี่ปุ่น พวกมันก็จมแล้ว…”
ประชาชนรัสเซียยังไม่รู้จักคนญี่ปุ่น ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าประเทศญี่ปุ่นอยู่ส่วนไหนของโลก พวกเขารู้แต่ว่ารัสเซียคือประเทศมหาอำนาจของโลกเท่านั้น แต่สำหรับโรเซสท์เวนสกี้ แม้จะไม่คิดดูถูกญี่ปุน ขนาดนั้น แต่เขาก็ไม่ค่อยรู้จักญี่ปุ่นสักเท่าใด นอกจากในในแผนที่เดินเรือ และในวิชาภูมิศาสตร์ที่เรียนมา เขาไม่รู้จักพลเรือเอกโตโก ผู้บัญชาการกองเรือที่บุกปอร์ตอาเธอร์มากกว่าที่เป็นข่าว…และตอนนี้โรคปวดประสาทเรื้อรังของเขากำเริบขึ้นอีกแล้ว

เจ็ดเดือนมาแล้วที่กองเรือภาคแปซิฟิคที่สองภายใต้บัญชาการของเขาต้องรอนแรมฝ่าคลี่นลมอ้อมแหลมกูดโฮปมาจนถึงทะเลเหลืองในวันนี้ มันเป็นระยะทางถึง 18,000 ไมล์ ครึ่งโลกทีเดียวที่ทหารของเขาต้องระหกระเหินมาเพื่อจะทำลายการปิดล้อมของญี่ปุ่นที่ปอร์ตอาเธอร์ มันเป็น 18,000 ไมล์ที่แสนทารุณในสาระพัดเรื่อง นับแต่ขบวนเรือของเขาไม่มีท่าที่จะเข้ารับเสบียงอาหารและการซ่อมบำรุง ถ่านหินก็ไม่มีเมืองท่าไหนเต็มใจขายให้ ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศษซึ่งมีถ่านหินเก็บสำรองไว้ตามเมืองท่าอาณานิคมของตัวเองทั่วโลก แสร้งทำตัวเป็นกลางในความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่นในครั้งนี้

ที่เกาะมาดากาสก้า เมืองขึ้นของฝรั่งเศส กองเรือของเขาได้รับอนุญาตให้เข้าจอดพักได้แค่เวลาที่จำเป็น และที่นี่เองที่โรเซสท์เซนสกี้ ได้พบเรือรบของรัสเซียหลายลำที่หนีตายกระเซอะกระเซิงอย่างบอบช้ำมาจากปอร์ตอาร์เธอร์ เขาจึงได้รู้ว่าปอร์ตอาเธอร์ถูกตีแตกและถูกญี่ปุนยึดไว้ได้แล้วโดยสิ้นเชิง

แผนการของนายพลเรือจากกองเรือรัสเซียจึงเปลี่ยนเป็นการหาทางผ่านช่องแคบเกาหลีไปตั้งหลักที่เมืองท่าวลาดิวอสสต็อค และถ้าเป็นไปได้ ก็หวังว่าจะไม่ต้องเผชิญหน้ากับกองเรือของนายพลโตโก

ในเดือนมีนาคมและเมษายน ระหว่างที่กองเรือของเขาแล่นอยู่ในทะเลจีนใต้แถบเส้นศูนย์สูตร อากาศที่ร้อนอบอ้าวทำให้ลูกเรือต้องขึ้นมานอนหลับกันบนดาดฟ้าเรือ แต่ก็ต้องอยู่กันอย่างแออัดเพราะมีกระสอบถ่านหิน เชื้อเพลิงสำคัญวางอยู่ทั่วไปหมดในเรือทุกๆลำ มันคล้ายเรือบรรทุกถ่านหินปนกับเรือรบ และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความเร็วของเรือลดลงไปอีก เจ็ดเดือนกับความยากลำบาก และขาดการติดต่อกับทางบ้าน ไม่มีขวัญและกำลังใจเหลืออยู่สักเท่าใดสำหรับลูกเรือกองเรือภาคแปซิฟิคของเขา ร้ายยิ่งกว่านั้นมันรวมถึงตัวเขาเองด้วย !...

เช้าตรู่ของวันที่ 27 พฤษภาคม ปี 1905 ช่องแคบเกาหลีมีคลื่นลมแรงและมีหมอกลงหนา พลเรือเอก เฮอิฮาชิโร โตโก ยืนอยู่บนหอบังคับการของเรือหลวง
“มิกาซา “เรือประจันบานที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในโลกลำหนึ่ง ซึ่งราชนาวีของสมเด็จพระจักรพรรดิ์สั่งต่อจากอังกฤษ เรือหลวง มิกาซา ถูกใช้เป็นเรือธงของกองเรือผสมซึ่งมีเขาเป็นผู้บัญชาการ

พลเรือเอกโตโกกวาดกล้องสองตาไปมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ แต่ก็ยังไม่เห็นอะไรนอกจากหมอกหนา สิบกว่าวันที่ผ่านมา เขาได้รับรายงานจากเรือสอดแนมว่า กองเรือของรัสเซียจำนวนมากได้แล่นเข้าสู่ช่องแคบเกาหลีแล้ว และเขาได้รับรายงานล่าสุดเมื่อ 7 น.วันนี้เองว่ากองเรือรัสเซียนับได้กว่าสี่สิบลำกำลังผ่านเข้ามาทางช่องแคบด้านใต้ของเกาะ “สัชชิมา” มุ่งเข็มสู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

หมอกลงหนาจนมองเห็นได้ไกลไม่เกิน 5 ไมล์ ประมาณว่ากองเรือข้าศึกอยู่ห่างออกไปเพียง 30 ถึง 40 ไมล์เท่านั้น โตโก สั่งให้หมู่เรือตอร์ปิโดหลบคลื่นลมอยู่ตามฐานชายฝั่งก่อน

หลังจากพิชิตศึกที่ปอร์ตอาร์เธอร์เมื่อครึ่งปีมานี้ ทหารเรือของสมเด็จพระจักรพรรดิ์เต็มไปด้วยขวัญกำลังใจและความฮึกเหิม พวกเขาได้พักอย่างเพียงพอและถูกฝึกอย่างหนักอยู่ในทะเลแถบนี้ ได้รู้จักเกาะแก่งทุกแห่ง รู้กระทั่งกระแสน้ำตลอดทั้งช่องแคบสัชชิม่า กองเรือผสมภายใต้การนำของพลเรือเอกโตโกพร้อมอย่างยิ่งที่จะเข้าสู่ยุทธนาวีในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้ มีคำสั่งให้เอาทรายมาโรยไว้บนพื้นดาดฟ้าเรือ กันทหารลื่นล้มหากจะมีเลือดนองพื้น

11.00 น. พลเรือเอกโตโกได้รับรายงานครั้งอีกว่า กองเรือทั้งสองของรัสเซียจัดขบวนเป็นแถวตอนเรียงสอง ใช้ความเร็ว 12 น๊อต และยังคงตั้งเข็มมุ่งสู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

13.45 น. โตโกก็เห็นกองเรือข้าศึกเป็นครั้งแรก ในระยะห่างประมาณเจ็ดไมล์ มันเหมือนดังที่ได้รับรายงาน ! เรือรัสเซียจัดขบวนเป็นสองแถวคู่ นำหน้าด้วยเรือประจัญบาน ตามด้วยเรือลาดตระเวน เรือพิฆาต และมีเรือลำเลียงอยู่กลาง ขบวนเรือข้าศึกยาวถึงหกไมล์ !

13.55 น. พลเรือเอกโตโกสั่งเรือรบทุกลำประจำสถานีรบ และส่งสัญญานข้อความถึงทหารบนเรือทุกลำว่า
“ ณ บัดนี้โชคชะตาของราชอาณาจักรเรา ขึ้นอยู่กับการรบครั้งนี้แล้ว ขอให้ทหารทุกท่านทำหน้าที่ให้ดีที่สุด”….

โตโกเพ่งมองไปยังเรือข้าศึก อดีตนักเรียนจากโรงเรียนนายเรือของอังกฤษกำลังทบทวนบทเรียน... เขาจำได้แม่นยำถึงวิธีเดินทัพของพระเจ้านโปเลียน เขาจำรายละเอียดของยุทธนาวีทุกครั้งของลอร์ดเนลสัน นายพลเรือผู้ยิ่งใหญ่ของราชนาวีอังกฤษได้ดี โดยเฉพาะที่ทราฟัลก้า…..

14.00 น….แล้วพลเรือเอกโตโกก็ตัดสินใจครั้งสำคัญ…. ด้วยฝีจักรที่เร็วกว่า เขาสั่งกองเรือเลี้ยวตัดตรงเป็นเส้นตั้งฉากเข้าหาขบวนเรือรัสเซียที่หัวขบวนด้วยแถวตอนเรียงหนึ่ง ซึ่งลอร์ดเนลสันเคยทำมาแล้วที่ทราฟัลก้าในเดือนเดียวกันนี้เมื่อร้อยปีก่อน

14.08 น. เรือรัสเซียเปิดศึกทันทีด้วยการระดมยิงเข้าใส่กองเรือผสมของญี่ปุ่น แต่ระยะยังห่างเกินกว่าที่จะเป็นอันตรายได้ เมื่อหัวขบวนซึ่งนำโดยเรือธง มิกาซา แล่นเข้ามาถึงระยะ 6000 เมตร โตโกสั่งบรรดาเรือของเขายิงตอบกลับไป โดยให้เน้นที่เรือธง ซูวารอฟ และเรือประจันบาน อเล็กซานเดอร์-3 ซึ่งอยู่ต้นขบวนให้หนัก เรือประจันบานรัสเซียที่อยู่หัวขบวนแถวซ้ายถูกยิงจนเกิดไฟลุกท่วม และต้องผละออกจากการรบไป

กองเรือญี่ปุ่นแล่นตัดทะลุขบวนเรือทั้งสองแถวของรัสเซีย แล้วเลี้ยวกลับเป็นรูป ตัวยู หัวแถวของกองเรือรัสเซียเสียขบวน และถูกบีบให้แล่นขนานกับกองเรือผสมของโตโก ควันจากปล่องไฟของกองเรือรัสเซียลอยบังทางปืนของตัวเอง จากนั้นเรือรบทุกลำของพลเรือเอกโตโกก็ยิงปืนเข้าใส่เรือรัสเซียตลอดทั้งขบวนด้วยอานุภาพการยิงที่เหนือกว่า…

เรือธง ซูวารอฟ และเรือ อเล็กซานเดอร์–3 เกิดระเบิดอย่างรุนแรงและไฟไหม้หนัก ไม่สามารถปฎิบัติการได้ต้องหนีออกจากแนวรบ พลเรือโทโรเซสท์เวนสกี้ได้รับบาดเจ็บสาหัสและหมดสติอยู่ในหอบังคับการ กองเรือรัสเซียต้องเปลี่ยนตัวผู้บัญชาการรบกลางศึก ยังความสับสนในการสั่งการทันที เรือรบรัสเซียที่ตามมาอีกเจ็ดแปดลำถูกยิงไฟไหม้เกิดควันโขมงผสมกับหมอกหนาจนปกคลุมไปทั่วท้องทะเล จนมองไม่เห็นเรือรัสเซียซึ่งเสียขบวนแตกกระจัดกระจาย พลเรือเอกโตโกต้องสั่งหยุดยิงชั่วคราวเมื่อ เวลา 14.45 น.

หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อกลุ่มควันจางลงจนพอมองเห็นเรือรัสเซียได้อีก กองเรือรบญี่ปุ่นก็ไล่ล่าเรือเหล่านั้นไปทางทิศใต้ด้วยการเข้าไปเลือกระดมยิงตามสบาย เรือตอร์ปิโดจากชายฝั่งอีกกว่าสี่สิบลำเข้ามาสมทบ และยิงตอร์ปิโดใส่เรือที่ส่วนใหญ่เสียหายอยู่แล้ว เรือรัสเซียแตกขบวนหนีไปหลายทิศทาง แต่ก็ถูกเรือลาดตระเวนหุ้มเกราะ เรือพิฆาต และหมู่เรือตอร์ปิโดของญี่ปุ่นตามยิงกระหน่ำ หลายลำต้องจมลง และหลายลำลูกเรือต้องเปิดน้ำเข้าเพื่อจมเรือตัวเอง อีกหลายลำไฟไหม้ลามถึงห้องคลังกระสุนและระเบิดกระจายเป็นเสี่ยงๆ

เรือธง ซูวารอฟ ลอยนิ่ง ไม่อยู่ในสภาพที่ช่วยเหลือตัวเองได้ เปลวไฟลุกโชติช่วง เสากระโดงอันหนึ่งหักสะบั้น ปล่องควันแหลกกระจุยทั้งสองปล่อง กลายเป็นเป้านิ่งสำหรับเรือตอร์ปิโดและเริ่มจมลง เรือพิฆาต บายนี่ ของรัสเซียเข้ามาจอดเทียบเพื่อช่วยเอาตัวผู้บัญชาการกองเรือของเขาและทหารที่ยังมีชีวิตอยู่ออกมาได้ แต่มีนายทหารหนุ่มหลายคนปฏิเสธที่จะออกจากเรือและยอมจมลงไปกับเรือธง ซูวารอฟ
การรบในวันแรกจบลงเมื่อเวลา 19.27 น. เมื่ออาทิตย์อัสดง….

ใกล้รุ่งของวันที่ 28 พฤษภาคม ปี 1905 หมอกจางกว่าเมื่อวาน ขณะที่พลเรือเอกโตโกกำลังจัดกำลังเรือลาดตระเวนหุ้มเกราะ เพื่อติดตามสะกัดเรือรัสเซียที่หลบรอดไปได้นั้น เขาก็ได้รับรายงานเข้ามาว่า พบเรือข้าศึกแล่นเป็นขบวนอยู่ทางทิศตะวันออกเจ็ดลำ ประกอบด้วยเรือประจันบาน เรือลาดตระเวน และเรือป้องกันฝั่ง ขบวนเรือกำลังมุ่งขึ้นเหนือ โตโกสั่งกองเรือลาดตระเวนของเขาตามไปสะกัดกันทันที และไปทันกันเมื่อเวลา 10.30 น พบว่าเรือเกือบทุกลำอยู่ในสภาพบอบช้ำจากการรบเมื่อวาน เมื่อเรือลาดตระเวนของโตโกเปิดฉากยิงชุดแรก พลเรือตรีโนโบกาต๊อฟ ก็ส่งสัญญาณขอยอมแพ้พร้อมกับทหารทั้งหมด พลเรือเอกโตโกให้เกียรติแก่นายทหารเรือที่ยอมแพ้นี้โดยไม่ปลดกระบี่ประจำตัวออกเมื่อถูกนำตัวขึ้นเรือของญี่ปุน

กองเรือญี่ปุ่นแยกกันออกหลายทิศทางเพื่อติดตามเรือรัสเซียที่แตกหนีจากการรบเมื่อวาน มีการต่อสู้จากเรือรัสเซียบ้างอย่างประปราย และสามารถจมเรือรัสเซียได้หลายลำ ทั้งยังยึดเรือได้อีกพร้อมเชลยศึกจำนวนมาก

เวลา 15.30 น.เรือพิฆาต ซาซานนามิ และเรือพิฆาต กาเกอโร พบเรือข้าศึกสองลำกำลังหลบหนีไปทางทิศตะวันออก จึงไล่ติดตามจนทันเมื่อเวลา 16.45 น. เรือรัสเซียทั้งสองลำชักธงขาวยอมจำนนทันที เมื่อเข้ายึดเรือได้ก็พบพลเรือโทโรเซสท์เวนสกี้ ผู้บัญชาการกองเรือรัสเซีย และบรรดานายทหารผู้ช่วยอยู่บนนั้น จึงจับเป็นเชลยศึก

การรบสิ้นสุดลงในบ่ายวันที่ 28 พฤษภาคม ปี 1905 ยังความสูญเสียให้ทั้งสองฝ่ายคือ เรือรบของรัสเซียส่วนใหญ่ในจำนวนทั้งสิ้น 45 ลำ ต้องจมลงและถูกยึดได้ มีเพียงไม่กี่ลำที่หนีรอดไปได้ถึงวลาดิวอสสต๊อคและเมืองท่าประเทศที่สาม รัสเซียสูญเสียชีวิตทหาร 5,045 คน ถูกจับเป็นเชลย 6,106 คน สำหรับญี่ปุ่นสูญเสียเรือตอร์ปิโดเพียงสามลำ และเรือขนาดใหญ่ถูกยิงเสียหายบ้าง ญี่ปุ่นเสียทหารในการรบครั้งนี้ 116 คน และได้รับบาดเจ็บอีก 538 คน

ยุทธนาวีที่ช่องแคบสัชชิมาทำให้ประชนรัสเซียถึงกับช็อค กองทัพเรือถูกตำหนิอย่างรุนแรงจากทุกฝ่าย นายทหารระดับสูงที่ร่วมอยู่ในการรบต้องกลายเป็นแพะรับบาปโดยถูกนำขึ้นศาลทหารเมื่อกลับมาถึงประเทศ และทั่วทั้งยุโรปเริ่มค้นหาว่า “ญี่ปุ่น” เป็นใคร อยู่ที่ไหน… ที่ญี่ปุ่น พลเรือเอกโตโกกลายเป็นวีรบุรุษและ เรือหลวง มิกาซาก็เป็นขวัญใจของชาวญี่ปุ่น

แต่ก็เหมือนกำกงกำเกวียน เพียงอีกสี่เดือนต่อมา เรือหลวงมิกาซาเรือประจันบานขวัญใจของประเทศระวางขับน้ำ 15,200 ตัน ก็ประสพอุบัติเหตุโดยห้องคลังกระสุนเกิดระเบิดขึ้นขณะจอดอยู่ในอ่าวเมืองซาเซโบ และได้จมลงพร้อมกับทหาร ถึง 339 คน มากกว่าทหารที่เสียชีวิตในการรบที่สัชชชิม่าถึงสามเท่า

เรือหลวงมิกาซาถูกกู้ขึ้นในเวลาต่อมา ขณะนี้จอดเป็นอนุสรณ์สถานอยู่ ณ ฐานทัพเรือที่เมืองโยโกซูกะ ประเทศญี่ปุน….O

เมื่อวันที่ : 27 พ.ค. 2551, 13.31 น.
ผู้อ่านที่รัก,
นิตยสารรายสะดวก และผู้เขียนยินดีรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดงความเห็นได้โดยอิสระ ขอขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมีส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...