นิตยสารรายสะดวก  Fiction  ๑๒ เมษายน ๒๕๕๑
ตำรวจชุมชน
ชาร ทิคัมพร
...พงษ์อมปากกระบอกปืน​​เอาไว้ เงยหน้าขึ้น​​ กะให้วิถีของมันส่องขึ้น​​​​ไป​​ที่ฐานสมอง...
สองยาม​พอดี​เมื่อพงษ์กลับมาถึงบ้าน ​เขา​เอาปืนลูกซองยาวลำกล้องเดี่ยว​ที่สะพายมาวางลงบนโต๊ะกินข้าว มันยังใหม่เอี่ยม ดูเหมือน​จะไม่เคยยิงมาก่อนเลย​ !...​

พรุ่งนี้ก็​จะออกพรรษาแล้ว​ ฝนห่างออก​ไป​และวันเลือกตั้งก็ยังอยู่​อีกนานเกือบสองเดือน พงษ์นั่งลงบนเก้าอี้ข้างๆ​โต๊ะ ปืนมีลูกอยู่​ในลำกล้องแล้ว​ ​เขาใส่ลูก​เอาไว้เอง​เมื่อก่อนออก​ไปเข้าเวร​ที่จุดตรวจประจำหมู่บ้าน​เมื่อหัวค่ำนี้ในฐานะตำรวจชุมชนของหมู่บ้าน​และเพิ่ง​จะกลับจาก​ที่นั่น ปืน​พร้อม​ที่​จะยิง​ได้ทันที​เมื่อปลดเซ๊ฟออก ! ...​.

หนุ่มใหญ่วัยสี่สิบ​ซึ่งอยู่​ในชุดเครื่องแบบตำรวจชุมชน​ได้รับการกำชับมาว่า ระยะนี้ให้ตรวจจับยาเสพติดในหมู่บ้านให้เข้มงวด​เป็นพิเศษ ​และยังรับ​ได้มอบปืนของราชการไว้ให้​ใช้ด้วย ...​​ทั้งบ้านเงียบสงบ แม่ของ​เขาคงหลับ ​ไปแล้ว​

ตลอดสามปี​ที่ผ่านมาพงษ์มี​ความกลัดกลุ้มมาตลอด ​เขาไม่​ได้ทำงาน​เป็นเรื่อง​​เป็นราวอะไร​เลย​นับตั้งแต่โรงงาน​ที่ทำงานอยู่​เลิกจ้าง ลำไย​ที่สวนหลังบ้าน​ซึ่งมีอยู่​สิบกว่าต้นไม่​สามารถ​จะให้เงินแก่ครอบครัวพอ​ใช้​ได้ตลอดปี อย่าว่า​แต่ตลอดปีเลย​ เฉพาะปีนี้ขายลำไย​ทั้งสวนยัง​ได้เงินไม่กี่พันบาท​ มันเท่า​กับเงิน​ที่​จะ​ได้​ใช้เพียงเดือนเท่านั้น​

พงษ์พยายามลงทุนปลูกผักใน​ที่ว่างหลังบ้าน​แต่ก็ขาย​ได้เงินไม่พอ​เป็นค่า​ใช้จ่ายของครอบครัว เพียง​แต่พอมีผักกินบ้าง​โดยไม่​ต้องซื้อเท่านั้น​ ​เขา​ต้องออกรับจ้างทำงานทั่ว​ไปเช่นตัดหญ้า ทาสี ​เป็นลูกมือช่างก่อสร้างทั่ว​ทั้งตำบลตาม​แต่​จะมี​ใครจ้าง การตกงาน​เป็นทุกข์อย่างยิ่งสำหรับคนอย่าง​เขา

​แต่การว่างงานของพงษ์นี่เอง ทำให้​เขา​ได้รับการ​แต่งตั้งให้​เป็นเหรัญญิกของกองทุนหมู่บ้าน​ซึ่งไม่ค่อยมี​ใครอยาก​เป็น ​เพราะไม่มีเงินเดือน มีเพียงเงินปันผล​ซึ่ง​ได้จากกำไรปีละไม่กี่ร้อยบาท​​แต่​ต้องคอยเดินเก็บเงิน​ที่สมาชิกกู้​ไปคืนทุกเดือน งานนี้ “ดูดี” สำหรับพงษ์​เพราะมันดูว่า​เขา​เป็นคน “มีงานทำ” ​เขารับงานนี้​โดยไม่ลังเล
​และคง​เป็น​เพราะชะตาชีวิตกำหนดไว้ จึงทำให้ทางอำเภอ​แต่งตั้งให้พงษ์​เป็น “ตำรวจชุมชน” ของหมู่บ้านอีกตำแหน่งหนึ่ง​ ตำรวจชุมชน​เป็นนโยบายของกระทรวงมหาดไทย​ที่​จะให้ชุมชนดูแลงาน​ความปลอดภัยในหมู่บ้านกันเอง ​เขา​ไปรับการอบรมจากกองกำ​กับการตำรวจภูธรจังหวัด ​ได้​แต่งเครื่องแบบคล้ายตำรวจจริงเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกเช้า​​เขา​จะ​แต่งเครื่องแบบ​และใส่ปลอกแขนจราจร​ไปยืนโบกรถ​ที่ถนนหน้าโรงเรียน
พงษ์ภูมิใจในสถานะทางสังคมแบบใหม่​ที่​เขา​ได้รับ​เป็นอย่างยิ่ง การ​เป็นตำรวจ​เป็นเรื่อง​​ที่​เขาไผ่ฝันมาตั้งแต่เด็ก ​เขายังจำคำ​ที่พ่อพูดไว้นานมาแล้ว​​ได้ดี...​

“พ่อไม่มีเงินหรอกลูกเอ๋ย !” พ่อบอก​กับพงษ์​เมื่อเรียนจบชั้นมัธยม​เมื่อ​เขาบอกว่าอยาก​จะสมัครเข้าโรงเรียนพลตำรวจ สมัยนี้​แม้​จะเข้า​เป็นพลตำรวจรับ​ใช้ชาติก็​ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ !

ดังนั้น​การ​ได้​แต่งเครื่องแบบตำรวจ​ที่​เขาเคยไผ่ฝันมาตั้งแต่เด็กจึง​เป็น​ความภาคภูมิใจอย่าง​ที่สุดของพงษ์ ...​ ตำรวจชุมชนไม่มีเงินเดือน​แต่มีเบี้ยเลี้ยง​เมื่อ​ต้องออกตรวจหรือ​ไปดูแล​ความสงบตามงานเทศกาลงานบุญต่างๆ​ในหมู่บ้านแทนตำรวจจากโรงพัก นอกจากนี้ทางอำเภอยังจ่ายค่าเครื่องแบบให้ปีละสองชุดอีก ด้วย...​

​เป็นตำรวจชุมชน​ทั้งที​จะเดินหรือขี่จักรยานออกตรวจ​ความสงบในหมู่บ้านนั้น​มันดูกระไรอยู่​ เสียศักดิ์ศรีตำรวจ ​ทั้งยังช้าไม่ทันการ ดังนั้น​พงษ์จึงจำ​ต้องซื้อมอเตอร์ไซค์มาคันหนึ่ง​​เพื่อ​ใช้ในงานรักษา​ความสงบ ​เขา​ต้องซื้อวิทยุวอล์กี้-ทอล์กี้เครื่องหนึ่ง​สำหรับพกติดตัว​เพื่อ​เอาไว้ฟังข่าวสารจากโรงพัก ​เขาซื้อกุญแจมือมาพกด้วยยาม​เมื่อ​ต้องเข้าเวร

ไม่ใช่ทุกคน​ที่สมัคร​เป็นตำรวจชุมชน​จะ​ได้​เป็น ​แต่สำหรับพงษ์​ใครๆ​ก็รู้ว่า​เขา​เป็นผู้นำชุมชนคนหนึ่ง​ ​เขาเคย​เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมาครั้งหนึ่ง​ สมัยหนุ่มก็เคย​เป็นทหาร เคยแบกปืนยืนยามหน้าค่ายมาแล้ว​ ​ทั้งยัง​เป็นเหรัญญิกกองทุนหมู่บ้านด้วย ดังนั้น​พงษ์จึง​ได้​เป็นตำรวจชุมชนของหมู่บ้านอย่างเต็มภาคภูมิ มีเกียรติ​และศักดิ์ศรีไม่น้อยกว่า​ใครในตำบลนี้ ​เขามีมวลชน​เป็นฐาน ด้วยข้อนี้เอง​ที่นักการเมือง​ต้องมาขอพึ่งยาม​เมื่อ​ต้องการคะแนนเสียงหรือ​เพื่อการเคลื่อนไหวจากชุมชน พงษ์มีมวลชน​เป็นสินค้าในมือ !

จุดผกผันของชีวิตพงษ์เกิดขึ้น​ตั้งแต่ปี​ที่แล้ว​ หลังจาก​เขา​เป็นตำรวจชุมชน​ได้สองปี ​เมื่อเมีย​เขา​ไปรับ​เอาเด็กผู้หญิง​ที่​เป็นญาติห่างๆ​ของเธอจากต่างอำเภอมาเลี้ยงไว้​ที่บ้าน เพิ่มปากท้อง​ที่​จะ​ต้องเลี้ยงดูขึ้น​อีกคนหนึ่ง​

“พ่อแม่มันตายหมดแล้ว​ไม่มี​ใครดูแล พี่​กับฉันก็ไม่มีลูก​เอามาเลี้ยงไว้เถิด แก่เฒ่า​ไป​จะ​ได้มีคนดูแล” นี่​เป็นเหตุผล​ที่เธอ​เอาเด็กหญิงตั๊กแตนอายุสิบสามมาเลี้ยงให้ช่วยทำงานบ้าน

​ความจริงก็ไม่เลวนักหรอก ​เพราะพอเด็กตั๊กแตนมาอยู่​ด้วย เมียของ​เขาก็เปิดบริการรับซักรีดผ้าในหมู่บ้าน ​ซึ่งก็พอมีเงิน​เป็นค่า​กับข้าวประจำวันอยู่​บ้าง ​ถ้า​เขา​จะกระเหม็ดกระแหม่​ใช้เงินอย่างระมัดระวังหลังจากหักค่าผ่อนส่งเครื่องซักผ้า​และค่ารถมอเตอร์ไซค์ใน​แต่ละเดือน

ของต่างๆ​​ทั้งรถมอเตอร์ไซค์ วิทยุวอลกี้-ทอลกี้​และเครื่องซักผ้า พงษ์​เอาเงิน​ที่สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน​เอามาจ่าย​ไปดาว์นก่อน​โดยไม่​เอาเข้าบัญชีธนาคาร ​และก็​เอาเงิน​ที่เก็บ​ได้นั่นแหละ​​ไปผ่อนรายเดือน ​แต่​เขาก็ทำบัญชีรับ-จ่ายอย่างถูก​ต้องเรียบร้อย​ไว้แสดงต่อกรรมการกองทุน​ซึ่งประชุมบ้างไม่ประชุมบ้าง มันดูถูก​ต้องทุกอย่าง เพียง​แต่บัญชีประจำเดือนนั้น​ๆ​ไม่ตรง​กับเงินในบัญชีธนาคาร

ไม่มี​ใครรู้หรอก​ถ้ายังไม่ถึงสิ้นปี ! ​ซึ่ง​จะมีการตรวจบัญชีใหญ่เสียทีหนึ่ง​ ​และอะไร​ๆ​ก็อาจ​จะเกิดขึ้น​​ได้ก่อนสิ้นปี ​เพราะการเลือกตั้งทั่ว​ไป​ที่​จะมีในปลายปีใกล้เข้ามาแล้ว​ การเงิน​กำลัง​จะเดินสะพัดในหมู่บ้าน​เมื่อใกล้เลือกตั้ง ​เขาในฐานะ​ที่​เป็นผู้นำชุมชนคนหนึ่ง​​ซึ่งมีมวลชน​เป็นฐาน มีโอกาส​ที่​จะ​ได้อานิสงส์จากการเลือกตั้งใหญ่ครั้งนี้ ​ซึ่งนัยว่า​จะมีการ “ทุ่ม” กันขนาดหนัก ​เขาคง​จะหาเงิน​ไปใส่ธนาคารให้ครบ​ได้ทัน ! นี่​เป็น​ความคาดหวังของพงษ์

จำนวนเงิน​ที่ “ขอยืม” มาจากกองทุน​ทั้งอย่างไม่ถูก​ต้องเพิ่มขึ้น​ทุกเดือนนั้น​ เพียงสิบเอ็ดเดือน ​เขาก็​เป็นหนี้กองทุนหมู่บ้านเงินถึงเกือบแสนบาท​
กรรมการกองทุนหมู่บ้านคง​จะเฉลียวใจอะไร​บางอย่าง จึงเรียกให้มีการประชุมใหญ่ประจำปีของกองทุนหมู่บ้านในอาทิตย์หน้านี้ ​ซึ่ง​จะ​ต้องมีการตรวจสอบบัญชี​ทั้งหมดเปรียบเทียบ​กับเงินในสมุดบัญชีธนาคาร​ที่​เขาถืออยู่​ มีเจ้าหน้า​ที่ของอำเภอร่วมตรวจสอบด้วย

ตลอดชีวิตพงษ์ไม่เคย​ได้จับเงินแสนเลย​ ​แต่วันนี้กลับ​ต้องมา​เป็นหนี้ถึงแสนบาท​ ​เขารู้สึกเครียดมากในตลอดสองสามวัน​ที่ผ่านมา การเลือกตั้งทั่ว​ไป​ซึ่ง​เป็น​ความหวังก็ยังอยู่​อีกไกลเกือบสองเดือน แกนนำพรรคการเมือง​ที่​เป็น​ความหวังขยับตัวเข้ามาในหมู่บ้านบ้างแล้ว​ ​แต่ก็ยังไม่มี​ใครมาติดต่อ​เขาเลย​ ! คราวนี้พวกนักการเมืองระวังตัวกันมาก !

​เมื่อวานซืนพงษ์​ได้ข่าวมาว่า เหรัญญิกกองทุนหมู่บ้านแห่งหนึ่ง​​ที่​เอาเงิน​ไป​ใช้​ส่วนตัว ถูกกรรมการกองทุน​ไปแจ้ง​ความ​ที่โรงพักตามระเบียบ เหรัญญิกถูกจับ ​ต้องมีคน​ไปประกันตัว

พงษ์นึกถึงสภาพของตัวเอง​กำลังถูกพิมพ์ลายนิ้วมือมือในฐานะผู้​ต้องหาอยู่​บนโรงพักด้วย​ความกลัดกลุ้ม ​ถ้าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น​​กับ​เขาอาทิตย์หน้า ​ใคร​จะ​ไปประกันตัว​เขา !

เสียงเด็กอ่อนร้องมาจากห้องข้างล่าง พงษ์ขบกรามแน่น ลูกชายอายุห้าวันของตั๊กแตนคง​กำลังร้อง​จะกินนม ตั้งแต่เธอตั้งท้องขึ้น​มา แม่วัยสิบสี่หาพ่อให้เด็กในท้องไม่​ได้ มิใย​ที่​ทั้งเมีย​และแม่​เขา​จะคาดคั้นอย่างไรเด็กหญิงตั๊กแตนก็ไม่ยอมบอก​ใคร จิ๊กโก๋สองสามคน​ที่เคยมาชวนเธอ​ไปถีบจักรยานเล่นอยู่​พักหนึ่ง​​เมื่อต้นปี​ที่แล้ว​กลาย​เป็นจำเลย​ของสภากาแฟ​และโต๊ะเหล้าก๊งประจำหมู่บ้าน ​แต่บางคนก็เชื่อว่าเธอตั้งท้องมาจากบ้านเก่า สภาชาวบ้านหาข้อยุติเรื่อง​นี้ไม่​ได้ ​และมันก็นำ​ความเสื่อมเสียมาถึงตำรวจชุมชน​ซึ่ง​เป็นเจ้าบ้านด้วยว่า​เขาดูแลเด็กในปกครองอย่างไรจึงปล่อยให้เกิดเรื่อง​อย่างนี้ขึ้น​​ได้ ...​..

“อีตั๊กแตนอายุเพิ่ง​จะสิบสี่ ​ใครถูกจับ​ได้ละมึงเอ๋ย ติดคุกหัวโต !” ลุงแก้วบอก​กับ​เพื่อนร่วมวงในร้านเหล้าประจำหมู่บ้านในวัน​ที่เมีย​เขาพาตั๊กแตน​ไปคลอด​ที่โรงพยาบาล ...​

เสียงเด็กอายุห้าวัน​ที่​เป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัวร้องอีกแล้ว​ เมีย​เขาเพิ่ง​จะ​ไปรับตั๊กแตน​กับลูกเกิดใหม่ออกจากโรงพยาบาลกลับบ้านวันนี้เอง เธอ​ต้องคอยช่วยแนะนำ​และเลี้ยงดูไอ้หนูน้อยด้วยแม่ของมันยังไม่ประสีประสาเรื่อง​เลี้ยงลูกเลย​ ตำรวจชุมชนหนุ่มใหญ่เครียดจัดจนหัวแทบ​จะแตก​เป็นเสี่ยงๆ​ !

คืนนี้พงษ์ออกเวน​เมื่อตอนสี่ทุ่ม ก่อนเวลาสองชั่วโมง ​เขาแวะ​ที่โต๊ะเหล้าก๊งในหมู่บ้าน ยังมีพวกขาประจำนั่งรากงอกอยู่​สองคน ร้านเหล้า​เป็น​ที่ “หาข่าว” ​ได้ดีแห่งหนึ่ง​ หนานฤทธิ์หัวหมอประจำหมู่บ้าน​กับลุงบุญทา แพทย์ประจำตำบล​กำลังคุยกันอยู่​​พอดี พงษ์สั่งเหล้าแสงโสมมาสองก๊งรวด ! ...​.

“ตำรวจ​เขามีวิธีสอบสวนหรอกน่า พุทโธ่ เด็กแค่อายุสิบสี่ขู่เดี๋ยวเดียวมันก็เปิดหมดว่า​ใครทำมัน ! ” หนานฤทธิ์​ซึ่งมีลูกเขย​เป็นตำรวจขยายขี้เท่อในวงเหล้า

“ทางมูลนิธิคุ้มครองเด็กของจังหวัดรู้เรื่อง​นี้เข้า ​เขาแจ้งมาทางโรงพักให้สืบเรื่อง​แล้ว​” หนานฤทธิ์​เอาข่าว​ที่อ้างว่ารู้มาจากลูกเขยบนโรงพักมาขยายต่ออย่างภาคภูมิใจ
พงษ์ยกแสงโสมสองก๊งในแก้วกระดกลงคอ​ไปทันที รวดเดียวหมด...​! นี่​เป็นข่าว​ที่​เขาเพิ่ง​จะ​ได้ยิน มันไม่ออกมาทางวิทยุวอล์กี้-ทอล์กี้ของ​เขาเลย​

“​ถ้าเด็กมันรับว่า​ใครทำ ​เขาก็​เอาตัวไอ้คนนั้น​​ไปเจาะเลือดหา ดี.เอ็น.เอ. ​ถ้าตรงกันก็นอนตะรางแน่นอน ยอม​ความไม่​ได้ด้วย” ลุงบุญทา แพทย์ประจำตำบลเสริมหนานฤทธิ์ก่อน​จะจิบเหล้าขาวในแก้วของแกต่อ

“​เอาแสงมาอีกสองก๊ง ! ” พงษ์ตะโกนสั่งเจ้าของร้าน ...​

เกือบ​จะเ​ที่ยงคืนแล้ว​แล้ว​ เสียงนกเค้าแมวร้องอยู่​บนต้นมะขามหลังบ้าน...​ พงษ์มอง​ไปยังรูปพ่อ​ที่ฝาห้อง แสงโสมสี่ก๊งเพียวๆ​ทำให้สมองของ​เขาปวด ตุ๊บๆ​ ...​

พ่อก็มองตรงมา​ที่​เขา สายตาของพ่อดูอ่อนโยนเห็นอกเห็นใจ ​เขาขยับเก้าอี้หันหลังให้รูปพ่อ หยิบปืนลูกซองยาวขึ้น​มาจากโต๊ะ ปลดเซ๊ฟออก ! หย่อนพานท้ายปืนวางลง​กับพื้นกระดาน หงายปากกระบอกปืนขึ้น​ ดึงมันมาหาตัว พงษ์อมปากกระบอกปืน​เอาไว้ เงยหน้าขึ้น​ กะให้วิถีของมันส่องขึ้น​​ไป​ที่ฐานสมอง ตาเหลือบมองลง​ไป​ที่โกร่งไกปืนข้างล่าง ​เขายกเท้าข้างขวาขึ้น​ ​เอาหัวแม่เท้าสอดเข้า​ไป​ที่ไกปืน

นังจุด แมวขาวจุดดำเข้ามาเคล้าเคลียขาข้างซ้ายของพงษ์ หวัง​จะให้​เขาอุ้มมันขึ้น​มาเกาคางอย่างเคย !

เสียงเด็กน้อยสมาชิกใหม่ของบ้านร้องขึ้น​อีกแล้ว​ พงษ์ตัวสั่นสะท้าน ! เกียรติศักดิ์ของตำรวจ​ที่​เขารักหนักหนาแล่นพล่าน​ไปทั่ว​ทั้งร่าง ...​O

 

F a c t   C a r d
Article ID A-2785 Article's Rate 6 votes
ชื่อเรื่อง ตำรวจชุมชน
ผู้แต่ง ชาร ทิคัมพร
ตีพิมพ์เมื่อ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๑
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ เรื่องสั้น
จำนวนผู้เปิดอ่าน ๖๐๗ ครั้ง
จำนวนความเห็น ๑ ความเห็น
จำนวนดอกไม้รวม ๒๙
| | | |
เชิญโหวตให้เรตติ้งดอกไม้แก่ข้อเขียนนี้  
R e a d e r ' s   C o m m e n t
ความเห็นที่ ๑ : ศาลานกน้อย [C-13968 ], [000.000.000.000]
เมื่อวันที่ : 12 เม.ย. 2551, 10.10 น.

ผู้อ่าน​ที่รัก,

นิตยสารรายสะดวก​ ​และผู้เขียนยินดีรับฟัง​ความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดง​ความเห็น​ได้​โดยอิสระ ขอขอบคุณ​และรู้สึก​เป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมี​ส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...​

แจ้งลบข้อความ


สั่งให้ระบบส่งเมลแจ้งการเพิ่มเติมความเห็น
 ศาลานกน้อย พร้อมบริการเสมอ และยินดีรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกท่าน  ติดต่อเว็บมาสเตอร์ได้ทางคอลัมน์ คุยกับลุงเปี๊ยก หรือทางอีเมลได้ที่ uncle-piak@noknoi.com  พัฒนาระบบ : ธีรพงษ์ สุทธิวราภิรักษ์  โลโกนกน้อย : สุชา สนิทวงศ์  ภาพดอกไม้ในนกแชท : ณัฐพร บุญประภา  ลิขสิทธิ์งานเขียนในนิตยสารรายสะดวก เป็นของผู้เขียนเรื่องนั้น  ข้อความที่โพสบนเว็บไซต์แห่งนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้โพสทั้งสิ้น