![]() |
![]() |
รจนา ณ เจนีวา![]() |
เราปฏิบัติอย่าไปคิดว่า การปฏิบัติเหมือนขึ้นบันไดไปสู่พระธาตุดอยสุเทพ มันขึ้นบันได มันดีขึ้นเรื่อย ๆ มันต้องมีขึ้นมีลงเหมือนข้ามเทือกภูเขา ไม่ใช่ข้ามเทือกภูเขา มีแต่สูงขึ้นสูงขึ้นตลอด มันต้องลงห้วยบ้าง มันจึงจะเป็นธรรมชาติ
ฉะนั้น เมื่อจิตใจของเรารู้สึกกำลังเข้าที่ เราก็ไม่ประมาท เมื่อเรารู้สึกว่า จิตใจไม่สงบเหมือนแต่ก่อน เราก็ไม่ต้องไปตกใจมาก อย่าไปเอาสัญญา อย่าไปเอาความจำมาเบียดเบียนจิตใจเจ้าของ อย่างบางคนก็ยังบ่นถึงการนั่งสมาธิเมื่อสิบปีที่แล้ว ยี่สิบปีที่แล้ว โอ้ มันสงบพูดไม่ถูก โอ้ มันดีมากเลย แต่ทำไมตั้งแต่นั้นมา นั่งเมื่อไรมันก็ไม่เป็นอย่างนั้นเสียที เรียกว่าทรมานจิตใจ ด้วยสัญญา ด้วยประสบการณ์ในกาลก่อน
ก็ธรรมดา หลาย ๆ ครั้งแรกที่ทำก็ได้ประสบการณ์ ก็เป็นที่ประทับใจ ต่อมามันก็เป็น ค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป มันเป็นอย่างไร เราก็ต้องยอมรับ เพราะความสงบอยู่ที่การยอมรับ
ครูบาอาจารย์สอนให้เราปล่อยวางตามความเป็นจริง คำนี้มันฟังดี แต่ว่าทำยาก มันจึงมีความสงสัยว่า ถ้ายังปล่อยวางไม่เป็น จะทำอย่างไร อดทน อดทน อดทน อดทน สมมุติว่าเราอดทน อดทน อดทนแล้ว ต้องทำอย่างไรต่อ อดทน เมื่อไม่มีที่สิ้นสุดเลย อดทน
อดทนคือ ไม่รังเกียจสิ่งที่น่ารังเกียจ ไม่เห็นร้ายในสิ่งที่ชวนให้เห็นร้าย ไม่ฝืนสิ่งที่เราแก้ไม่ได้ ไม่น้อยใจกับการที่จะต้องอยู่กับสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ อดทน ทำตัวเป็นเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง
เราใช้ความอดทนแล้วเราก็ได้กำไร บางคนใช้ความอดทนได้เครื่องเผากิเลสใหญ่เท่าวัดธาตุทองแล้วในห้าหกวัน แต่ก็ต้องใช้ไป เคลื่อนไป แล้วจึงจะได้ของดี
นานมาแล้ว มีกษัตริย์องค์หนึ่ง มีลูกสาว เค้าก็เป็นเหมือนที่ถามถึงเมื่อกี้นี้ สวยด้วย แล้วก็เก่งด้วย แล้วก็ฐานะดีด้วย เพราะพ่อเป็นกษัตริย์ที่มีอันดับ แล้วก็อะไร ๆ มันดีหมด ที่นี้พวกเจ้าฟ้าชายทั้งหลายก็อยากจะแต่งงาน แต่ท่านพ่อต้องการลูกเขยที่เก่ง อดทน ฉลาด มีคุณธรรม ก็เลยให้เขาขุดบ่่อขึ้นมาหลายบ่อ แล้วให้พวกเจ้าฟ้าชายที่จะชิงเป็นสามีของเจ้าฟ้าหญิงคนนี้มาตักน้ำจากบ่อ แต่ละองค์ก็จะมีบ่อส่วนตัว ให้เขาตัก ตักน้ำจนกว่าจะได้ของดี แล้วได้ของดี เอาไปให้กษัตริย์ผู้เป็นพ่อ จะยกลูกสาวให้
พวกเจ้าฟ้าชายเห็นแล้วก็ไม่ค่อยจะพอใจ ต้องตักน้ำ บางคนแอบให้สารถีช่วยตักให้ ตักน้ำขึ้นจากบ่อกี่ถังกี่ถังก็ไม่ได้อะไร มีแต่น้ำอย่างเดียว ก็ไม่นานก็เริ่มเบื่้อแล้ว ก็ทีแรกก็คิดว่า เจ้าฟ้าหญิงคนนี้สวยมาก แต่มันตักไป ที่จริงก็ไม่สวยเท่าไร ที่สวยกว่านี้ก็ยังมีอยู่ ไปหาที่ีอื่นดีกว่า ก็บางองค์ก็เก่ง ก็ตักกันเป็นชั่วโมง ชักสงสัยว่า เอ ถูกหลอกหรือเปล่า ไม่เห็นมีของดี มีแต่น้ำ ก็ค่อย ๆ หยุดไป กลับบ้านกันหมด เหลือแต่องค์เดียว องค์เดียวตักไป ตัดไป ระดับน้ำในบ่อก็น้อยลง น้อยลง น้อยลง น้อยลง จนกระทั่งแห้ง แห้งแล้วก็ยังไม่หยุด ตักขึ้นมา ตักทรายขึ้นมา โคลนขึ้นมา อยู่ในโคลนก็มี ได้พบเม็ดนึง เอาไปให้กษัตริย์ กษัตริย์ก็มั่นใจว่าคนนี้ใช้ได้ อดทน ไม่ท้อแท้ ทำงานจนกระทั่งได้ผล ได้ของดี เชื่อมั่นในการกระทำ เชื่อมั่นในตัวเอง ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ได้ จะยกลูกสาวให้
ทีนี้เจ้าฟ้าชายคนนี้ก็บอกว่า ขอโทษครับ ผมเปลี่ยนใจแล้ว แต่ก่อนผมรู้สึกว่า ผมเป็นคนไม่เก่ง เคยคิดว่าจะบวชเป็นพระที่วัดป่านานาชาติ แต่ว่ากลัวจะทนไม่ได้ เพราะเขาตื่นเช้า แล้วก็ฉันมื้อเดียว บิณฑบาตก็เท้าเปล่า แต่วันนี้ การที่เราสู้กับงานนี้ก็ได้พิสูจน์กับตัวเองว่ามีคุณธรรมพอที่จะออกบวชได้แล้ว เรื่องลูกสาวไม่เอา แล้วก็ออกบวช แล้วก็ happily ever after
แต่งเอง
ความอดทนเป็นเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง อดทนต่อทุกขเวทนา อดทนต่อสิ่งที่ไม่ชอบ อดทนต่อคำพูดของคนอื่น ต้องใช้ความอดทนมาก อยู่ที่นี่ไม่ค่อยต้องใช้ตัวนี้ เพราะไม่ค่อยได้พูดกัน พอเราออกจากที่นี่แล้ว สิ่งที่จะกระทบกระทั่ง สิ่งที่จะก่อกวนความรู้สึกมากที่สุด ก็คือคำพูดของคนอื่น ก็ใช้ความอดทน
ดังนั้นการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ปฏิบัติธรรมอย่างไร เขาพูดถากถางเสียดสี เราก็อดทน เนี่ย ได้ปฏิบัติธรรม เป็นการปฏิบัติธรรมที่มีผล มีผลดีมาก
แต่ที่สำคัญก็คือ มีความอดทนต่อกิเลสตัวเอง การชักชวน การกระซิบในหู เหตุผลแปลกปลอมของกิเลส กิเลสนี่มันกระล่อนมาก มันมีอุบาย มีอกุศโลบายเยอะ ชวนให้เราหลง ชวนให้เราทำสิ่งที่ไม่ควรทำ พูดสิ่งที่ไม่ควรพูด คิดปรุงแต่งในสิ่งที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง งั้นเราเห็นแล้ว เราต้องอดทน นี่ความอดทนทำไมบางคนอดทนสูง บางคนอดทนน้อย คนหนึ่งคือความเคยชิน เพราะมันเคยนี่ ความเคยชินก็เป็นสังขาร คือ ถ้าเป็นคนที่ไม่เคยอดทน นั่นไม่ได้หมายความว่าเราต้องประทับตราตัวเองว่า เป็นคนไม่อดทนตลอดกาลนาน หากเป็นคนที่แต่ก่อนไม่เคยอดทน ตั้งใจว่า ต่อจากนี้เราจะเป็นผู้ที่พยายามเพิ่มความอดทนทุกวัน ทุกวัน คนที่ไม่ค่อยทนก็กลายเป็นคนที่อดทนได้ ถ้าเรามีตัวอย่างที่ดี มันก็ช่วยอีกแรงหนึ่ง
อาตมามีบุญที่มีเพื่อนมีอาจารย์ที่มีความอดทนอย่างสูงมาก นั่นคือท่านอาจารย์ปัสสโน ญาติโยมหลายคนก็รู้จักท่าน ท่านเป็นคนอดทนมาก อดทนต่อทุกขเวทนา อาตมาจำได้ปีหนึ่ง ท่านเป็นนิ่วในไต ซึ่งมันทุกข์ทรมานมาก ท่านเป็นแล้ว ไม่มีเสียงร้อง ไม่มีอะไร ท่านก็ปกติ แต่ว่าหน้าท่านขาวซีดมากเลย แต่ท่านก็ยังสั่งลูกศิษย์ว่า คงต้องไปหาหมอแล้ว อดทนมาหลายชั่วโมง ก็คงไม่ถ่ายออกมาเอง คงจะต้องยอม ก็ครองผ้าปกติ เดินลงมาปกติ แต่เรารู้ว่า ทุกขเวทนาของท่านสูงมาก แต่ท่านก็ไม่บอกใคร แต่เราก็เห็นจากอาการของท่าน ถ้าเรามีกัลยาณมิตรที่มีความอดทนสูงอย่างนี้ เราก็จำไว้ มันก็เป็นกำลังใจกับตัวเอง
อีกข้อหนึ่งในเรื่องความอดทน เราจะอดทนในเรื่องที่เราเชื่อว่า มีความหมาย ในบางเรื่องที่เราไม่อดทนเพราะไม่รู้จะทนทำไม แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เราเห็นว่าสำคัญและมีความหมาย
บางทีเจอความอดทนที่ไม่เคยรู้เลยว่า มีอยู่ในตัวเอง ที่เห็นชัดคือมันต้องอดทนเพื่อลูก เพื่อคนที่เรารัก ทำไมเราอดทนได้เก่งมาก แสดงว่า ความอดทนต้องมีอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่ามันเพิ่งจะเกิดในเหตุการณ์นั้น เวลานั้น มันต้องมีอยู่แล้ว เราก็ต้องพยายามเข้าถึงตัวนี้ และใช้ตัวนี้ในภาคปฏิบัติธรรม
เราต้องการเครื่องเผากิเลส กิเลสมันมากมาย แต่ก็ยังไม่มีกิเลสตัวไหนปรากฏที่สามารถอยู่เหนือพลังของธรรมได้ กิเลสมี ๘๔,๐๐๐ ตัว ธรรมะก็มี ๘๔,๐๐๐ ตัวเหมือนกัน แล้วก็เก่งกว่า ไม่มีกิเลสตัวไหนที่จะทนต่อพลังของธรรมะได้ แต่เราต้องให้อากาศแก่ธรรม
กิเลสตัวหลักนี่เรื่องตัณหา รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ เราอยากได้ เราอยากได้ทำไม คือ คำสอนของพุทธศาสนาไม่ใช่หลักศาสนาว่า อย่านะ บาปนะ หยุดนะ ตกนรกนะ ไม่มีครูแบบนั้น สอนว่า เราอยากได้เพื่ออะไร ได้แล้วได้อะไร เป็นที่พอใจหรือเปล่า ให้มันเจาะตรงจุดนั้นให้ดี เพราะส่วนมากเราก็หลอกตัวเอง
แล้วก็ขอให้สังเกตว่า การที่เราอยากได้อะไร มันต้องเกิดจากพื้นจิตที่รู้สึกว่า ขาด ถ้าเราอิ่มแล้ว เราทานข้าวอิ่มแล้ว มีใครชวนให้กินนั้นกินนี่ ถึงจะเป็นเรื่องที่อร่อยที่เราชอบ ก็ว่า พอแล้ว พอแล้ว อิ่มแล้ว เราอิ่มแล้ว ใจหนึ่งยอมรับว่า เป็นอาหารที่เป็นรสดี แต่ในขณะเดียวกันท้องก็บอกว่า ไม่ไหวแล้ว แต่เมื่อเราอิ่ม เราก็ไม่ต้องการ ถ้าเราหิว เราก็ต้องการ
กาีรที่เราต้องการความสุขต่าง ๆ ต้องการประสบการณ์ ต้องการวัตถุ ต้องการอะไรก็แล้วแต่ เพราะเบื้องหลังก็ต้องมีความรู้สึกว่า จิตใจชีวิตเราขาด แล้วถ้าเราได้สิ่งนั้น ความรู้สึกว่าขาดนั้นมันจะหายไป อันนี้ก็คือทิษฐิความเห็นที่ซ่อนเร้นอยู่ในจิตใจของเรา โดยที่เราไม่ค่อยจะได้สังเกต เราอาจจะบอกว่า มันดูดี อยากได้ น่าสนุก ได้แล้วมันน่าจะได้ความสุข แต่ที่เราคิดอย่างนั้น เพราะเรารู้สึกว่า ตัวเองไม่สมบูรณ์สิ ถ้าตัวเองมันสมบูรณ์แล้วจะไปแสวงหาทำไม จะไปต้องการทำไม
ในการปฏิบัติธรรมของเรา เราปฏิบัติจนจิตมันอยู่ตัวแล้ว จิตมันสงบแล้ว แค่นี้เราก็ได้ประสบการณ์ที่สำคัญมาก สิ่งที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในชีวิตเราได้ ก็เพราะจิตใจเราสงบแล้ว เรารู้สึกว่าอิ่ม อิ่มตัว จิตสงบแล้วต้องการอะไรไหม ไม่ต้องการอะไร พอใจแล้ว อยู่แค่นี้ก็ไม่มีอะไรที่จะดีกว่านี้ ที่จะยิ่งกว่านี้
งั้นเราก็ได้บทเรียน ได้บทเรียนว่า จิตใจมีนิวรณ์ จิตใจฟุ้งซ่านวุ่นวาย ต้องรู้สึกตลอดเวลาว่า ขาดอะไรสักอย่าง จิตใจที่สงบแล้ว มีความรู้สึกเป็นเอกลักษณ์เลยว่า ไม่ขาดอะไรสักอย่าง เมื่อเรามีความกระวนกระวายอยู่ในจิตใจ มีความกระสับกระส่ายอยากได้นั่นได้นี่ ปัญญาก็จะเกิดขึ้ั้้นว่า สาเหตุสำคัญคือ จิตใจเรามันไม่สงบ จิตใจก็ยังรู้สึกว่า ขาดอะไรสักอย่าง
นี่เราจะแก้เรื่องตัณหา แก้เรื่องความอยาก มันต้องจุดนี้ ถึงจุดสงบ จุดอิ่มตัว ที่เราจะเห็นว่าเหตุปัจจัยของการแสวงหาความสุขอย่างไม่มีที่จบสิ้นก็เพราะว่าเรากำลังแสวงหาสิ่งที่โลกให้เราไม่ได้ สิ่งที่เราต้องการกลับไม่ได้อยู่ที่รูป ไม่ได้อยู่ที่เสียง ไม่ได้อยู่ที่กลิ่น ไม่ได้อยู่ที่รส ไม่ได้อยู่ที่สัมผัส ไม่ได้อยู่ที่การครอบครอง การเป็นเจ้าของ ของสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่ได้อยู่ที่ยศ ไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่ง ไม่ได้อยู่ที่ชื่อเสียง ไม่ได้อยู่ที่สิ่งเหล่านั้น มันอย.ู่ที่จิตใจที่พ้นจากความรู้สึกว่า พร่อง
ท่านจึงบอกว่า จิตที่ยังไม่ได้รับการฝึกอบรมมีความรู้สึกว่า พร่องเป็นนิจ จิตใจมันพร่อง จิตใจมันรั่ว ต้องแก้ตรงจุดนี้ ถ้าจิตใจไม่พร่องเสียแล้ว จิตใจอิ่มเอิบ พอดี พอตัว การแสวงหาความสุขทางโลกมันก็จะมีอยู่บ้างเหมือนกัน แต่มีออกเหมือนเป็นกีฬาเฉย ๆ เราไม่ได้เอาจริงเอาจังกับมันจนเกินไป ไม่ได้ฝากความหวังในความสุขไว้กับสิ่งนอกตัว นั่นจะทำให้เราเป็นเหยื่อของอนิจจัง ทำให้เราไม่เป็นตัวของตัว
เพราะเมื่อสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และสิ่งที่จิตใจของมนุษย์ต้องการมากที่สุด คือ ความสุขที่ไม่เปลี่ยนแปลง ก็เป็นอันว่าการแสวงหานั้นก็ย่อมลม ๆ แล้ง ๆ หาความสุขที่เที่ยงจากสิ่งที่ไม่เที่ยง มันจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร
ขอให้สังเกตขอให้พิจารณาข้อคิดข้อนี้ให้ดี อาตมาก็ขอเสนอเป็นสมมติฐานให้เอาไปวิเคราะห์หน่อยว่า สิ่งที่เราต้องการจริง ๆ คือความสุขที่เที่ยงแท้ถาวร ต้องการความสุขที่ไม่เปลี่ยนแปลง ใช่หรือไม่ ถ้าหากว่าเรายอมรับว่า ใช่ ก็ต้องถามตัวเองต่อไปว่า ที่เราแสวงหาด้วยการซื้อสิ่งนั้น แสวงหาสิ่งนี้ มันจะเหมาะไหม เราหวังอะไรบ้างจากสิ่งเหล่านั้น คือ เราหวังอะไรที่สังขารให้เราไม่ได้หรือเปล่า
ถ้าเราแสวงหาด้วยรู้เท่าทัน อยู่ในขอบเขตของศีลธรรม ของฆราวาส มันก็ไม่ผิด ทุกคนก็มีสิทธิที่จะมีความสนุกสนานพอสมควรแก่อัตภาพ พอสมควรแก่ฐานะ พอสมควรแก่ความอยู่ของตน แต่เราไม่ได้หวังสิ่งที่มันให้เราไม่ได้ เราจึงจะไม่เป็นทุกข์
งั้นทิษฐิความเห็นเราก็มีอยู่ทุกคน บางคนก็ยังถือว่าก็ไม่ได้คิดอะไรมากเรื่องนี้ แต่ที่จริงเราทุกคนก็ต้องมีแนวความคิด ต้องมีปรัชญาชีวิต เพียงแต่ว่าบางคนก็รู้ตัวว่า ปรัชญาชีวิตเราคืออะไร บางคนไม่เคยได้คิดเท่านั้นเอง แต่มีอยู่ แต่เพราะไม่เคยได้ส่องแสงสว่างเข้าไปดูจิตใจของตัวเอง ปรัชญาชีวิตก็มีความขัดแย้งอยู่ในตัวก็เลยทำให้สับสน เราจะรู้ได้อย่างไรปรัชญาชีวิตตัวเองหรือทิษฐิของตัวเองเป็นอย่างไร
ข้อหนึ่งก็ต้องดูที่การตัดสินใจชีวิตของเรา ในชีวิตของเราทุกคนก็ต้องการตัดสินใช่ไหม ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างมันจะตายตัว ต้องมีการตัดสินที่จะทำตามด้วยไม่ต้องไปคิดอะไรเลย ต้องมีการตัดสิน ที่นี้ก็ตัดสินว่า เราจะเรียนในสถาบันไหน เราจะเรียนต่อในเืมืองไทยหรือเมืองนอก จะแต่งงานหรือไม่แต่งงาน จะทำงานอะไรหรือไม่ทำงาน คือมันจะมีการตัดสินเป็นระยะ ๆ ในชีวิต แล้วเรามาดูว่า เรามีเครื่องตัดสินอะไรบ้างในกรณีที่เราเคยตัดสินเรื่องสำคัญ ๆ ในชีวิต เราเอาอะไรเป็นหลักในการตัดสิน นี่เราจะได้รู้ว่าทิษฐิของเรามันคือะไร ปรัชญาชีวิตของคืออะไร
เมื่ออาทิตย์ก่อนอาตมาได้ไปร่วมงานวัดป่าพง ก็ได้แสดงธรรม ก็ได้พูดกับชาวบ้านในเรื่องนี้ว่า ถ้าคนเราเป็นสัมมาทิษฐิจริง ๆ ถ้าลูกขอบวชตลอดชีวิต เราจะมีความสุขจนน้ำตาไหล สาาาาาาาาธุ นี่ก็ลักษณะของพ่อแม่ที่มีสัมมาทิษฐิในทางพุทธศาสนา เพราะอะไร เพราะว่า ถ้าเราเชื่อจริง ๆ ว่า ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่การหลุดพ้นจากความทุกข์๋ ก็ถือว่า ทางไปสู่ความพ้นทุกข์คือการเจริญตามหลักอริยมรรคมีองค์แปด และสถาบันสงฆ์เป็นสถาบันที่องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าเองท่านทรงแต่งตั้งเพื่อผู้ที่จะมุ่งมั่นต่อมรรคผลนิพพานจริง ๆ สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อที่สุดต่อการเข้าถึงสิ่งสูงสุด คือ นิพพานสุข
ถ้าเราเป็นพ่อแม่ที่รักลูกมาก ถ้ารักลูกถูกทาง ต้องหวังว่า ขอให้ลูกของเรามีบารมีที่จะได้บรรลุธรรม ที่จะได้บรรลุพระนิพพาน นี่ก็ต้องเป็นความหวังลึกซึ้งในหัวใจของพ่อแม่ผู้มีสัมมาทิษฐิ ก็ไม่ใช่จะบังคับลูกที่ไม่มีศรัทธา แต่ก็เป็นความหวังลึก ๆ ขอให้ลูกเรามีบารมีพอที่จะบวชพระ พอที่จะเป็นที่พึ่งทางใจให้เราตอนวัยชรา เพราะท่านจะได้สั่งสอน ท่านจะให้กำลังใจ ท่านจะให้ธรรมะ ขอให้ท่านบรรลุธรรมขั้นสูง ท่านจะไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ขอให้เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นลูกก็ไปเรียนเมืองนอกกลับมา เขาก็จะให้ทำงาน เงินเดือนเป็นแสน หลายแสน ลูกก็บอกพ่อแม่ว่า คงไม่เอาครับ จะออกบวชที่วัดป่านานาชาติ เพื่อจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน สาาาาาาธุ และผมจะบวชตลอดชีวิต สาาาาาาธุ
อาตมาว่า เรื่องนี้ชักเป็นนิทานไปแล้ว คือเมืองพุทธ แต่ว่าผู้ปกครองที่คิดอย่างนี้น้อยมาก คนบวชบางคนเรียนเก่ง เรียนหมอก็ไปเป็นหมอเก่ง ๆ ที่่อเมริกา แต่ก็เจอพระฝรั่งอยู่ที่อเมริกา ก็ไม่เอาแล้ว ไม่เป็นหมอแล้ว จะมาบวช ปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพาน กลับมาก็ออกบวช บางคน แหม เสียดายเนาะ เรียนเก่งมากด้วย แล้วก็จบเป็นหมอด้วย แล้วก็สุดท้ายก็มาบวชเป็นพระ ไม่สึก เสียดาย งั้นมันก็กลายเป็นว่า ทุกคนก็ต้องการให้พระดี แต่ไม่ค่อยอยากให้คนดีบวช
ทุกวันนี้ไม่รู้จะไปทำบุญที่วัดไหน พระท่านก็ไม่ค่อยเรียบร้อย กิริยามารยาทไม่ชวนให้ศรัทธา ยอมรับว่าทุกวันนี้มันกราบไม่ลง ไม่อยากจะไหว้ด้วยซ้ำ โอย ทำไมทุกวันนี้พระดี ๆ หาได้ยากมาก แต่บอกว่า เราจะให้ลูกชายบวชนี่ไม่เอา ลูกชายกำลังจะจบ กำลังจะไปทำงาน
เพราะฉะนั้นสัมมาทิษฐิจริง ๆ แ้ล้วก็ต้องเห็นว่า สิ่งสูงสุดคือการพ้นทุกข์ทางใจ และผู้ใดที่มุ่งมั่นในการปฏิบัติิเพื่อพ้นทุกข์ เราก็ต้องอนุโมทนา ยินดี จะเ็ห็นว่าประเทศไทยก็ดี บรรพบุรุษทั้งหลายก็ดี แม้จนกระทั่งครอบครัวของเรา ตัวเอง ก็ต้องยอมรับว่า สถาบันสงฆ์เป็นสถาบันที่มีบุญคุณต่อเรามากที่่สุด ที่เราทุกวันนี้ยังมีโอกาสศึกษา ปฏิบัติธรรม พัฒนาจิตใจ เพราะมีสถาบันสงฆ์ดำรงอยู่ในโลกถึงสองพันห้าร้อยปี เพราะมีพระเรียน พระท่านปฏิบัติ พระท่านเผยแผ่ ศาสนาจึงยังอยู่ในโลก นั่นก็ถือว่าเป็นสถาบันที่สูงสุด สถาบันที่น่าเคารพที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ถึงแม้ว่าสมาชิกของสถาบันบางท่านบางองค์อาจจะไม่ค่อยน่าเลื่อมใสนัก แต่โดยภาพรวมแล้ว สถาบันนี้เป็นสถาบันที่สูงสุด
มีไหมในประวัติศาสตร์ของโลก ในประเทศไทย วัฒนธรรมไหน สถาบันที่จะเทียบได้กับสถาบันสงฆ์ในพุทธศาสนา ถ้าเราถือว่า กลุ่มบุคคลที่สูงสุดคือกลุ่มพระอรหันต์ทั้งหลาย แล้วเรายอมรับว่า พระอรหันต์ก็เป็นพระภิกษุกับภิกษุณีสงฆ์เกือบทั้งหมด เราจึงจะเห็นความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันนี้ แทนที่เราจะไปเบื่อหน่าย ไปวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อสิ่งที่ล้ำค่าอย่างนี้ สถาบันดีที่สุดมาจากพระพุทธเจ้าเอง ที่พระพุทธองค์ป็นผู้แต่งตั้งเอง แหม เราทำไมจึงจะช่วยบำรุงให้สถาบันนี้เข้มแข็ง จะได้สร้างความสุขและประโยชน์แก่ชีวิตของเรา ชีวิตของลูกของหลานของเราต่อไป นี่ก็คือตัวอย่างของสัมมาทิษฐิในทางพุทธศาสนา เป็นความคิด
ตัณหา ทิษฐิ และ กิเลส อีกตัวหนึ่ง คือ มานะ คำนี้เราใช้ความหมายทางบาลี คือ ถือตัว ถือตัวว่าสูงกว่า ถือตัวว่าต่ำกว่า ถือตัวว่าเสมอกับ ตรงนี้เราจะเห็นว่า ไม่มีในศาสนาอื่นที่จะละเอียดอย่างนี้ ในศาสนาอื่นจะมีถือตัวว่า สูงกว่า ดูถูกดูหมิ่น ทุกศาสนาจะสอนเรื่องนี้ แต่เรื่องการถือตัวว่าต่ำกว่า ไม่มีศาสนาองค์อื่นที่จะชี้ว่าเป็นกิเลสเหมือนกัน ส่วนมากก็จะสรรเสริญ ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของคนจิตใจสูง ฉะนั้น การอ่อนน้อมถ่อมตัวมักเป็นอาการของกิเลสมากกว่าจะเป็นอาการของวิชชา ของปัญญา ของความบริสุทธิ์ของจิตใจ เพราะมันจะเกิดจากความยึดมั่นในอัุตตาตัวตน
นี้เราอยากจะรู้ว่านี่เป็นอย่างไร ตัวอย่างของการถือตัวว่าสูงกว่า คือ แมว เห็นไหม แมวเป็นอย่างไร แมวมองเราอย่างไร มันชัดเลยว่า แมวถือว่าตัวเองสูงกว่าเราใช่ไหม มันก็อิสระของมัน จะไปก็ไป จะมาก็มา เราก็ยังจัดอาหารให้มันอยู่ ให้มันกิน จัดที่ให้มันอยู่ เราัรับใช้มันทุกอย่าง มันก็ไม่เคยทำอะไรให้เรา เดินไปเดินมา อยากจะนอนตรงไหนก็นอนตรงนั้น ก็นอน นี่ืคือความถือตัวว่าสูงกว่า
ทีนี้ถือตัวว่า ต่ำกว่า คือ สุนัีข นี่เราจะดูได้เยอะที่นี่ มาอยู่อำเภอบ้านพอ กิ่งอำเภอสุนัขบุรี สุนัขเยอะมาก สุนัขก็จะถือว่าเราสูงกว่า แมวก็จะอย่างนี้ใช่ไหม หมาก็จะ...อย่างนี้ แมวนี่ไม่สนใจ แมวไม่มีกระดิกหาง เฉย ๆ แต่หมามี ดีใจ มีมานะถือว่าต่ำกว่า
สัตว์ที่ถือว่าเสมอว่ามีไหม มี หมู มีใครเคยไปคบกับหมูบ้างไหม หมูนี่จะมองแล้วเหมือนเสมอกัน มอง มอง มองเราเป็นเพื่อนนะ แมวก็มองอย่างนี้ หมาก็มองอย่า่งนี้ หมูก็มองอย่างนี้ นี่เรื่องของมานะ มนุษย์เราก็มี มนุษย์ที่ว่าถือตัว ถือตน ถือว่าเหนือกว่า ดีกว่า เอาเรื่องชาติตระกูล เอาเรื่องการศึกษา เอาอะไรมาเป็นยี่ห้อ เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าสูงกว่า รู้มากกว่า อายุมากกว่า อะไรมากกว่า ก็เอาอะไรสักอย่างเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ตัวเองสูงกว่า
บางทีพระวัดป่ามีเหมือนกัน เห็นพระวัดป่า วินัยก็ไม่รักษา ฉันก็ฉันสองมื้อ ผ้าก็สีฉูดฉาด ไม่เหมือนสีวัดป่า ถือตัวถือตน พระรูปนี้เคร่ง ฉันมื้อเดียว ฉันในบาตร พระวัดป่าก็เลยมีมานะได้เหมือนกัน คืออะไร ๆ ก็เป็นที่ตั้งของมานะได้ทั้งนั้น ถ้าเราเอาจุดนั้นเป็นจุดพิสูจน์ว่า เราสูงกว่า แ้ล้วก็ยกตนข่มท่าน คนรักษาศีลก็ดูถูกคนที่ไม่รักษา แต่คนที่เคยทำอะไรไม่ดีแล้วตอนหลังเลิก พวกนี้นี่แย่ทีุ่สุด คนที่เคยสูบบุหรี่จัด ตอนหลังเลิก หลังจากนั้นเห็นใครสูบบุหรี่ไม่ได้เลย ต้องไปสอน เห็นไหม คนที่เคยกินเหล้า เลิก ก็เห็นน้อง ๆ กินก็ต้องไปเทศน์ให้ฟัง พวกมีมานะนี่จะชอบเทศน์ชอบสอน ทำอะไรก็ยังไม่มีคุณสมบัติพอที่จะสอนคนอื่น แต่ว่าถือว่าตัวเองเก่ง ตัวเองสอนได้ อยากสอน นั่นก็เป็นเรื่องของมานะ
สมัยก่อน ก่อนบวชพระ อยู่อินเดีย อาตมามีอาจารย์ที่น่าเคารพมาก แต่ท่านเป็นพระในศาสนาฮินดู มีอยู่ปีหนึ่ง อยู่กับท่านสองคน อยู่ในห้อง สักสี่เมตรคูณสี่เมตร อยู่ข้างทะเลสาบที่เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ของพวกฮินดู อยู่ด้วยกัน เรียนรู้จากท่านหลายอย่าง ห้องนี้ไม่มีอะไร พื้นเป็นคอนกรีต เป็นปูนซีเมนต์ ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ นอนกับพื้น ในมุมนึงก็มีฟืนเพื่อจะต้มน้ำร้อน ตอนเช้าท่านก็ไปบิณฑบาต รับจาปาตี แกงถั่วมาก็แบ่งให้ลูกศิษย์ ฉันสองรูป
ทีนี้ในหมู่บ้านนั้นมีวัดเยอะ มีพระเยอะ มีพระผู้ใหญ่องค์นึงเคยอยู่ในถ้ำยี่สิบปี ออกมาก็รับตำแหน่งในอาศรม เป็นผู้บริหาร ถือว่าตัวเองเป็นนักปฏิบัติ ไม่เหมือนพวกนี้ที่เคยอยู่ในเมืองตลอด ก็เลยกลายเป็นที่หมั่นไส้ของพวกพระมาก เพราะทุกครั้งจะมีการถกเถียงกัน นี่ก็รู้เลยว่า อาจารย์สวามีองค์นี้นะท่านว่า คุณไม่รู้หรอก ผมรู้ ผมอยู่ในถ้ำตั้งยี่สิบปี นี่ก็เป็นเหตุผลนะ ก็ว่าความคิดเห็นของคนอื่นไม่มีน้ำหนัก เพราะเขาไม่เคยอยู่ในถ้ำเหมือนเรา
นี่เราจะเอาความสำเร็จของเรา ความเก่งของเรา อะไรของเราสักอย่างหนึ่งเพื่อจะยกตัวเองให้สูงกว่าคนอื่น เด่นกว่าคนอื่น อันนี้ก็เ็ป็นมานะ ต้องระมัดระวัง
นี่ก็มาอีกอย่างนึง ตัวเราเป็นผู้น้้อย เป็นผู้มีบุญน้อย บารมีน้อย ไม่เก่ง ฟังแล้วก็น่าเอ็นดู แต่ว่ามันเกิดจากกิเลสเหมือนกัน เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นในข้อบกพร่องของตัวเอง ความไม่เก่งของตัวเองบางอย่าง มนุษย์แบบแมวก็จะถือในจุดดีจุดเด่น แต่มนุษย์...จะเรียกว่ามนุษย์สุนัขเดี๋ยวก็จะไม่ดี มนุษย์ดีกว่า ที่ว่าที่ยึดอยู่ในจุดอ่อน ยึดอยู่ในความผิดพลาด ยึดอยู่ในบางสิ่งบางอย่าง ทำให้มีอัุตตาตัวตนว่าเป็นคนไม่ดี เป็นคนไม่เก่ง ไม่กล้า อันนี้ก็เป็นกิเลสเหมือนกัน ที่จริงคนแบบนี้ ถ้าเราจะเลือกว่า อยากจะอยู่กับใคร อยู่กับพวกนี้สบายกว่าพวกที่ถือตัวถือตนว่า ดีกว่า แต่ว่านาน ๆ ก็เหนื่อยเหมือนกัน เพราะว่า มันก็เป็นลักษณะของกิเลสเหมือนกัน
อาตมามีเพื่อนองค์หนึ่ง ตอนนี้สึก สึกนานแล้ว ตอนไปวัดป่าพงใหม่ ๆ ท่านเป็นพระพี่เลี้ยง เป็นพระที่ไม่ค่อยพูด เป็นพระที่เป็นช่าง เก่งมาก เป็นชาวออสเตรเลีย ท่านเป็นช่างประจำวัน ถ้าหลวงพ่อชามีงานช่างที่ละเอียด ต้องเรียกช่างคนนี้มาทำ กุฏิหลวงพ่อชาที่ทำแสงเพชรอยู่บนเขาก็ให้พระองค์นี้สร้าง ท่านจะเป็นช่างที่เก่งมาก แต่เรื่องอื่นท่านจะถ่อมตนมากว่า ไม่เก่ง ทำไม่เก่ง สวดมนต์ก็ไม่เก่ง ท่องปฏิโมกข์มันไม่เก่ง ภาวนาก็ไม่เก่ง อะไรอะไรก็ไม่เก่ง
ทีนี้ เราก็รักท่านมากเพราะท่านเคยช่วยเราตลอด แล้วก็เสียใจว่า ทำไมเป็นอย่างนี้ เพราะเราไม่เห็นด้วย เราเห็นว่าที่จริงก็ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านจะถ่อมตนมากเลย แต่ตอนหลังพอเราพูดคุยนาน ๆ เข้า มันจึงเห็นว่า ท่านมีอันนึง ท่านมีอะไรอยู่ คือ ท่านจะไม่ทำในสิ่งใดที่ท่านไม่มั่นใจว่า ท่านสามารถว่าทำได้เก่ง จะทำเฉพาะในสิ่งที่รู้ล่วงหน้าว่าต้องสำเร็จแน่ ๆ ต้องเก่งแน่ ๆ เรื่องที่ไม่แน่นี่กลัว กลัวผิด กลัวไม่เก่ง กลัวคนอื่นดูถูก ก็เลยเป็นว่า ถ่อมตัว ทำไม่เป็น ทำไม่ได้ แต่ความถ่อมตนของท่านไม่ใช่ของแท้ มันเกิดจากว่า ไม่อยากทำสิ่งใดที่ตนเองทำไม่ดีที่สุด
งั้นกิเลสมันก็มีเล่ห์เหลี่ยม มันมีอะไร ๆ ละัเอียดมาก
นี่กิเลสสุดท้ายก็คือ มานะสุดท้ายก็คือ ถือว่าเราเสมอกับเขา ทุกคนเสมอภาค ผู้ชายผู้หญิงต้องเสมอภาค อยู่ในวัด ไม่ควรมีผู้ใหญ่ผู้น้อย ทุกคนก็อยู่แบบประชาธิปไตย ทุกคนก็อยู่ระดับเดียวกัน ก็เป็นอเมริกัน แต่ที่ไหนที่เขาเน้นในเรื่องความเสมอภาคมาก มันจะมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง การแ่ข่งขันกันก็เป็นอาการของระบบที่เน้นในความเสมอภาค แล้วกลายเป็นกิเลสตัวนึงเหมือนกัน กิเลสตัวนี้มันจะออกมาใน Who do you think you are? หมายถึงว่า ไม่พอใจ ถ้าเห็นใครทำท่าเหมือนกับสูงกว่าเรา ทนไม่ได้ โกรธ โกรธว่าทำท่าว่าสูงกว่า ที่จริงไม่สูงกว่า มันก็แค่ระดับเรานี่แหละ จิตใจมันก็ไม่ปลอดโปร่ง
เรื่องสมมติทางสังคมเราก็ยอมรับ อย่างเช่น อาตมาไปอยู่เมืองนอกตั้งแต่ยังไม่เกิดเลย อาตมาก็เลยได้ภาษาอังกฤษตั้งแต่เล็กเลย อาตมาก็เชื่อว่า อาตมาคงพูดภาษาอังกฤษได้เก่งกว่าโยม แต่นั่นก็ไม่ใช่มานะ หรือว่าอาตมาก็เชื่อว่า ความรู้ทางภาษาบาลีก็สู้อาจารย์มหาไม่ได้ อันนั้นก็ไม่ใช่ว่ามานะ ว่าเราถ่อมตน ก็เป็นการยอมรรับความจริง เพราะฉะนั้น เรื่องการที่จะถือว่าสูงกว่า ว่าต่ำกว่า ไม่ใช่่ว่าห้ามโดยเด็ดขาด มันต้องเป็นกิเลสในทุกกรณี แต่มันจะเป็นกิเลสตรงที่เกิดมีอัตตาแบบผูกพันกับฐานะว่าสูงกว่า หรือต่ำกว่า หรือเสมอกับ มันเป็นปัญหาอยู่ที่่ตัวอัตตา ด้วยความยึดมั่นว่าเรา ว่าของเรา ว่าเราคือผู้สูง เราคือผู้ใ้ช้ไม่ได้ เราคือผู้น่ารัก เราคือผู้ซื่อสัตย์ เราคือผู้เก่ง เพราะเรามีตัวเรา ไม่ว่าในฐานะไหนนี่ ทุกข์ทันที พร้อมที่จะทุกข์ ทุกลมหายใจ
พุทธองค์จึงตรัสให้เราดูความไม่เที่้ยง เพราะว่ามานะต่าง ๆ ความถือตัวถือตน ทนอนิจจังไม่ได้ พอเราเห็นความเกิดดับเกิดดับของสิ่งทั้งหลาย การไปยึดมั่นว่า นั่นคือเรา เราคืนั่น มันไม่อยู่ อยู่ไม่ได้ เพราะมันไม่ตรงตามความจริงที่เราเห็นได้โดยจิตใจที่ปราศจากพวกนิวรณ์
ดังนั้นเราก็ปฏิบัติ เราได้หนทางแล้ว บางทีการปฏิบัติดีขึ้น ดีขึ้น ดีขึ้น แล้วก็เสื่ีอม แล้วก็ไม่ใช่เสื่อมวันสองวัน เสื่อมเป็นเดือนก็ได้ เสื่อมเป็นปีก็ได้ แล้วก็ไม่ได้อะไรดีขึ้น เรื่องการปฏิบัติมัันไม่ใช่เรื่องวิ่งร้อยเมตร มันเป็นมาราธอนเลย ถ้าวิ่งร้อยเมตรก็สิบวินาที ถ้าเก่งระดับโอลิมปิค มันถึงที่สุดแล้ว ถ้าวิ่งมาราธอน วิ่งได้ยี่สิบสามสิบวินาทีแล้ว แล้วบ่นว่ายังไม่ถึงไหนเลย มันก็ไม่ถูกใช่ืไหม มาราธอนนี้มันตั้งหลายสิบกิโลเมตร มันเพิ่งเริ่ม และถุ้้ามันเสื่อม การปฏิบัติมีปัญหา พูดได้เลยว่า ถ้าการปฏิบัติมีปัญหาเรื้อรัง เป็นอันว่าชีวิตของเรามีปัญหาเรื้ิ้อรัง อย่าไปดูเฉพาะเทคนิค ต้องดูวิถีชีวิตว่า เรากำลังใช้ชีวิตอย่างไร เรื่องความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เรื่องการทำงาน ต้องดูชีวิตทั้งชีวิต ไม่ใช่ว่ามันมีเทคนิคอะไรวิเศษ หรือมันมีเกร็ด มีกุศโลบาย มีวิธีของสำนักใดสำนักหนึ่ง ถ้าเราได้อันนี้แล้ว มันจะเป็นกุญแจไขทุกสิ่งทุกอย่าง มันก็จะดี
ถ้าเราอยากจะใช้ชีวิตแบบประมาท แล้วมานั่งสมาธิ ก็ถึงขั้นความไม่ประมาท ความไม่ประมาทในขั้นละเอียด มันขัดกัน ถ้าคนทำงานอาทิตย์นึงแค่ชั่วโมงสองชั่วโมง แล้วก็ไปรับเงินเดือน โอย ทำไมน้อยมาก น่าจะมากกว่านี้ อ้าว ก็ทำงานแค่สามสี่ชัี่วโมง จะไปรวยได้อย่างไร เรื่องของการปฏิบัติก็เหมือนกัน ต้องทำและต้องทำต่อเนื่อง ต้องทำทุกอิริยาบถทุกเวลา มันจึงจะให้ผล สติของเรานี่ตัวสำคัญ
ขอพูดเล่าคำอุปมาของหลวงพ่อชาที่ญาติโยมของเราหลายคนคงเคยได้ยิน สติของเราเหมือนน้ำที่มันหยดจากก๊อกน้ำมันก็หยด..........หยด.........หยด.......เริ่มต้นนะ มันนานมาก แ่ต่ว่าเราทำมากขึ้นมันก็หยด...หยด...หยด.... ถ้าเราำทำต่อเนื่องมันก็จะหยด หยด หยด หยด หยด หยด สุดท้ายมันก็เป็นกระแส กระแสคืออะไร กระแสคือสมาธิ สติต่อเนื่อง จิตใจตั้งมั่นเป็นสมาธิ ถ้าเราไม่ทำสติต่อเนื่องในชีวิตประจำวัน ทำเฉพาะเวลาเข้าห้องพระ มันก็คงได้บ้างเล็กน้อย แต่สติของเราก็จะไม่เป็นกระแสจริง ๆ ก็จะไม่นำไปสู่ปัญญาที่เราต้องการ
วันนี้ญาติโยมก็ได้อดทนถึงชั่วโมงแล้ว ก็คงจะพอสมควรกับเวลา
เมื่อวันที่ : 05 พ.ย. 2549, 23.42 น.
ผู้อ่านที่รัก,
นิตยสารรายสะดวก และผู้เขียนยินดีรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดงความเห็นได้โดยอิสระ ขอขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมีส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...