...ผมคิดอยู่นานว่าจะเอาเรื่องนี้ลงให้เพื่อนชาวนกน้อยอ่านดีหรือไม่ แล้วก็ตัดสินใจเอาลงเพราะเห็นว่าเป็นสาระที่น่าสนใจ มิได้มีเจตนาจะโม้โอ้อวดเรื่องส่วนตัวแต่อย่างใด ชาร ทิคัมพร ไม่ได้เป็นคนอย่างนั้นหรอกครับ...

“คุณย่า” ในที่นี้คือเมียคนแรกของคุณปู่ ชื่อว่า "จันทร์" และมีลูกชายคนเดียวคือพ่อผม เรื่องที่จะเล่ามีอยู่ว่า เมื่อประมาณร้อยปีมาแล้ว คุณปู่มารับราชการอยู่ที่เชียงใหม่และได้แต่งงานกับคุณย่าที่นี่ เมื่อพ่อโตสักหน่อยคุณปู่ก็ย้ายกลับไปกรุงเทพแล้วมีเมียใหม่ คุณปู่รับเฉพาะพ่อเท่านั้นกลับไปอยู่ที่กรุงเทพด้วย

พอดีตอนนั้นมี พ.ร.บ.นามสกุลออกมาใช้บังคับให้คนไทยทุกคนต้องมีนามสกุล คุณปู่ก็จดทะเบียนนามสกุลกับเมียใหม่ในนามสกุลที่ผมใช้อยู่ทุกวันนี้ คุณย่าก็เลยเคว้งไม่รู้จะใช้นามสกุลอะไรดี จึงไปแจ้งจดนามสกุลว่า “ณ เชียงใหม่” ซึ่งเป็นนามสกุลของพวกเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ที่สืบสายต่อกันมานับร้อยปี เรื่องที่ว่ามานี้แม่ผมเป็นคนเล่าให้ฟัง

เมื่อพ่อแต่งงานกับแม่แล้วก็รับเอาคุณย่าไปอยู่ด้วย จวบจนวาระสุดท้ายของคุณย่า เรื่องที่ว่าคุณย่าไปอาศัยนามสกุล ณ เชียงใหม่มาใช้นั้น ยังคงค้างคาใจผมมานานหลายสิบปี จนกระทั่งได้มาอยู่ที่เชียงใหม่ครั้งหลังนี้ จึงพยายามตรวจสอบ เรื่องนี้

มีคนบอกกว่าให้ไปคุยกับ “คุณสุดสงวน” ซึ่งตอนนั้นก็อายุเกือบจะเก้าสิบปีแล้ว คนนั้นบอกว่า พ่อของคุณสุดสงวนเคยทำงานกับคุณปู่มาก่อน น่าจะรู้เรื่องเหล่านี้ดี แต่ด้วยความชะล่าใจทำให้มัวโอ้เอ้ จนคุณสุดสงวนได้ตายจากไปเสียก่อนที่จะ
ได้พบ

ขณะนั้นเพื่อนสนิทที่เชียงใหม่คนหนึ่ง กำลังรวบรวมสายสกุล ณ เชียงใหม่อยู่ และทราบเรื่องของผมเลยรับจะตรวจสอบให้ (แม่เธออยู่ในสกุล ณ เชียงใหม่)

วันหนึ่งเธอโทรศัพท์มาบอกว่าพบแล้ว..! มีบันทึกในหนังสือทำเนียบสกุล ณ เชียงใหม่เล่มหนึ่งระบุว่า เจ้ากาวิละซึ่งถือเป็นปฐมกษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่ในราชวงศ์สุดท้าย มีลูกชายคนโตสายตรงอีกสี่ชั่วคนต่อมาคือ เจ้าน้อยสุริยฆาฎ เจ้าน้อยแผ่นฟ้า เจ้าหนานสมนุษย์ และเจ้าน้อยกิ้งเป็นชั่วที่สี่ …
เจ้าน้อยกิ้ง - มีธิดาชื่อจันทร์ ได้กับพระยาสวัสดิ์วรวิถี (นี่แหละปู่ผม-ตอนหลังได้เป็นพระยา)

แล้วเธอก็แสดงความยินดีว่านอกจากเป็นเพื่อนสนิทกันแล้ว ยังเป็นญาติกันอีกด้วย จึงเป็นอันแน่นอนว่า “คุณย่า” นั้นเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่คนหนึ่ง และมีสิทธิที่จะใช้นามสกุลนี้ ไม่ได้ไปอาศัยนามสกุลของเขามาใช้แต่อย่างใด

๒….พญามังรายสร้าง “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ได้ประมาณสองร้อยกว่าปี ก็ถูกพม่ายึดครองรวมทั้งบริเวณที่เรียกว่า “ล้านนา เกือบทั้งหมด จนกระทั่งอีกเกือบสามร้อยปีต่อมา "หนานทิพช้าง” คนเมืองลำปางได้ระดมชาวเมืองให้ขับไล่พม่าเพราะทนการกดขี่ไม่ไหว

หนานทิพช้างมีลูกหกคน ลูกคนที่สองชื่อ “เจ้าฟ้าชายแก้ว” ได้ช่วยรบอย่างกล้าหาญ เจ้าฟ้าชายแก้วมีลูกสิบคน เป็นชายเจ็ดคน หญิงสามคน ซึ่งจะสืบเชื้อสายต่อไป ลูกคนโตของเจ้าฟ้าชายแก้วชื่อ “พญากาวิละ” ได้ไปขอความช่วยเหลือพระเจ้ากรุงธนบุรีให้ช่วยขับไล่พม่า ซึ่งก็ได้รับความช่วยเหลือด้านกำลังทหารมาช่วยขับไล่พม่า
การทำสงครามปลดแอกจากพม่า ซึ่งคำเมืองเรียกว่า “ฟื้นม่าน” ดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัชกาลที่หนึ่งแห่งราชวงศ์จักรี จึงขับไล่พม่าไปได้หมด และพญากาวิละก็ได้เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์แรกในสมัยที่ปลดแอกจากพม่าได้แล้ว แต่ก็ถือว่าเชียงใหม่เป็นประเทศๆหนึ่งหรืออาณาจักรล้านนา ขึ้นกับประเทศสยามหรืออาณาจักรรัตนโกสินทร์ ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการลงไปกรุงเทพ

สมัยรัชกาลที่ห้า ฝรั่งล่าอาณานิคมหนักขึ้น อังกฤษซึ่งยึดพม่ามาได้นานแล้วพยายามจะแผ่อิทธิพลมาที่เมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นประเทศราชของไทย รัชกาลที่ห้าจึงทรงดำเนินกุศโลบายขอราชธิดาของเจ้าอินทนนท์ (ได้เป็น”เจ้าอินทวิชยานนท์”ในเวลาต่อมา) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สมัยนั้น ชื่อว่า “เจ้าดารารัศมี” มาเป็นชายา (และต่อมาเมื่อมีราชธิดาก็ได้เป็นเจ้าจอม)

จากนั้นอีกไม่นานในหลวงรัชกาลที่ห้าก็ได้ทรงผนวกเอาเชียงใหม่และหัวเมืองทางเหนือทั้งหมดซึ่งเป็นประเทศราชอยู่ มาเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยเสียเลย แต่ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้สองแผ่นดินค่อยผสมผสานกลืนกันไป และเจ้าผู้ครองนครคนสุดท้ายคือ “เจ้าแก้ว นวรัฐ” ซึ่งตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่เจ็ด
เจ้าดารารัศมีทรงเป็นที่โปรดปรานของในหลวงรัชกาลที่ห้ามาก เพราะความฉลาดเฉลียวและความสามารถทางศิลปะการฟ้อนรำและดนตรีทางล้านนาของพระองค์ท่าน
ทรงโปรดเกล้าให้ตั้งเป็น “พระราชชายา” ซึ่งเหนือกว่าบรรดาสนมและเจ้าจอมใดๆ จะเป็นรองก็แต่พระมเหสีเท่านั้น

เจ้าดารารัศมีทรงกลับมาอยู่ที่เชียงใหม่เป็นการถาวรเมื่อสิ้นในหลวงรัชกาลที่ห้า ทรงให้แต่ง "ละครซอ" หรือละครร้องพื้นเมืองเรื่อง “น้อยไจยา” ตำนานรักของเชียงใหม่ที่ยังร้องกันมาจนทุกวันนี้ นอกจากนี้ยังทรงทำกิจกรรมอีกมากมายที่ส่งเสริมวัฒนธรรมของเมืองเหนือ

สมัยก่อนจะกลับมาประทับอยู่ที่เชียงใหม่ เจ้าดารารัศมีได้ขอเด็กหญิงที่ยังแบเบาะคนหนึ่งที่กรุงเทพมาเลี้ยง ทรงรักอย่างลูกและตั้งชื่อให้ว่า“แสงดาว”เรียกกันว่า "เจ้าแสงดาว"

เจ้าแสงดาวได้มาสนิทกับญาติทางแม่ผมเป็นอย่างมาก ดั่งญาติสนิทคนหนึ่ง เนื่องจากเป็นเพื่อนนักเรียนโรงเรียนเดียวและรุ่นเดียวกันกับป้าของผม คือพี่สาวของแม่ผมนั่นเอง และได้ไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ

๓…เดือนมกราคม พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระ ราชดำเนิน “เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ” ซึ่งรวมถึงนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ด้วย ในการนี้มี ข้าราชบริพารตามเสด็จเป็นจำนวนมาก ข้าราชบริพารเหล่านี้ถูกจัดให้แยกย้ายกันพักตามที่ต่าง ๆ และ… “ยืมบ้านพระยาสวัสดิ์วรวิถี ถนนช้างม่อยให้พราหมณ์พิธีอยู่”

ณ ตอนนี้คุณย่าเลิกกับคุณปู่ไปนานแล้ว และคุณปู่ก็รับราชการอยู่กรุงเทพ บ้านที่เชียงใหม่ตามที่ว่าข้างต้น คงเป็นบ้านที่คุณย่าเคยอยู่กับคุณปู่ตั้งแต่สมัยคุณปู่ยังอยู่ที่เชียงใหม่เมื่อหนุ่มๆและยังไม่ได้เป็นพระยา

เมื่อผมจำความได้คุณย่าก็อยู่ที่บ้านพ่อที่กรุงเทพแล้ว คุณย่าตัวเล็กและผอมบาง ไว้ผมเกล้ามวยนุ่งผ้าซิ่น คุณย่ามีห้องเล็กๆอยู่ห้องหนึ่งเป็นส่วนสัด คุณย่าจะเป็นผู้ช่วยเหลือผมถ้าผมต้องการจะทำอะไรเล่นสักอย่างเช่นทำเบ็ดตกปลา ผมก็จะไปหาคุณย่า คุณย่าจะฟั่นเชือก ทำสายผูกกับขอเบ็ดด้วยเงื่อนตะกรุดเบ็ด พร้อมทั้งหาไม้ไผ่มาเหลาทำคันให้ผมจนเสร็จ

เมื่อเล่าถึงคุณย่าก็ต้องเล่าถึงคุณปู่บ้างสักนิด บ้านของคุณปู่อยู่ที่คลองบางหลวงจังหวัดธนบุรี ตอนคุณปู่ยังมีชีวิตอยู่นั้นผมยังเด็ก พ่อจะพาเราไปเยี่ยมคุณปู่ประมาณเดือนหรือสองเดือนต่อครั้ง พ่อขับรถไปจอดที่ท่าน้ำปากคลองตลาดแล้วว่าเรือจ้าง บอกว่าไปบ้านพระยาสวัสดิ์ เท่านี้เขาก็รู้ เขาจะแจวเรือพาครอบครัวเราข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าปากคลองบางหลวงไปจนถึงบ้านคุณปู่

ติดกันกับศาลาท่าน้ำที่บ้านคุณปู่มีเรือนเล็กห้องเดียวปลูกไว้ให้คุณทวด คือแม่ของคุณย่าอยู่ เราจะแวะไหว้คุณทวดก่อนจะเดินไปเรือนคุณปู่ บางครั้งเมื่อพ่อพาเราไปเยี่ยมคุณปู่ คุณย่าก็จะติดรถและลงเรือจ้างไปด้วย แต่คุณย่าจะหยุดอยู่แค่เรือนคุณทวดเท่านั้นไม่เข้าไปพบคุณปู่กับพวกเรา

ไม่แปลกที่คุณย่าเลิกกับคุณปู่แล้ว แต่คุณปู่ยังรับเอาแม่ยาย (คือคุณย่าทวด) มาอยู่ด้วย ทั้งนี้เพราะนอกจากคุณปู่จะได้คุณย่าเป็นเมียคนแรกแล้ว เมียคนที่สองของคุณปู่ยังเป็นน้องสาวแท้ ๆของคุณย่าด้วย คุณย่าน้อยนี้ชื่อว่า “เรือนแก้ว” และมีลูกสาวด้วยกันกับคุณปู่หนึ่งคน ผมไม่เคยเห็นคุณย่าเรือนแก้วเลย แม้แต่ชื่อก็เพิ่งจะมารู้เอาตอนโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่ลูกสาวคุณย่าเรือนแก้วซึ่งเป็นอาผมนั้น ผมรู้จักดีตั้งแต่เด็ก อาผู้หญิงคนนี้เป็นลูกคุณปู่คนเดียวที่ไม่ได้แต่งงาน และเป็นคนดูแลคุณปู่กับคุณทวดมาจวบจนค่อยสิ้นอายุขัยไปทีละคน ถ้าสับสนก็ขอบอกใหม่ว่า ตอนอยู่เชียงใหม่คุณปู่มีเมียสองคนเป็นพี่น้องกัน

ในทะเบียนบ้านของพ่อ ผมจำได้ว่าชื่อและนามสกุลของคุณย่าเขาเขียนไว้ว่า “นางจันทร์ ณ เชียงใหม่” ส่วนชื่อแม่ของคุณย่า (ก็คุณทวดนั่นแหละ) เขาเขียนไว้ว่า “เจ้าอุสาห์” ไม่ปรากฏนามสกุล แต่ชื่อพ่อคุณย่าหรือคุณปู่ทวดนั้นผมจำไม่ได้ คำว่าเจ้าอุสาห์นี้เองทำให้ผมคิดตลอดมาว่า ฤๅว่าคุณย่าของผมซึ่งเป็นลูกคงจะมีเชื้อสายเจ้าทางเชียงใหม่ด้วยจริงๆ

คุณย่ามีพี่ชายคนหนึ่งมาอยู่ที่กรุงเทพชื่อ “ปู่ตื้อ” ผมเคยพบปู่ตื้อสองครั้ง ที่บ้านผมเองครั้งหนึ่งและที่บ้าน “คุณสุภัทร” หรือคุณสุภัทรา สิงหลกะ อีกครั้งหนึ่ง คุณสุภัทรคนนี้เป็นคนที่คุณย่าพูดถึงอยู่เสมอ และคุณย่าก็จะขึ้นรถเมล์ไปเยี่ยมใครต่อใครที่บ้านคุณสุภัทรนี้บ่อยๆ

บ้านคุณสุภัทรอยู่ฝั่งธน ติดแม่น้ำเจ้าพระยาที่พรานนก คุณสุภัทรเป็นเจ้าของเรือข้ามฟากระหว่างท่าพระจันทร์กับท่าพรานนก คิดว่าคุณสุภัทรจะมีอะไรเกี่ยวข้องกับพวกคุณย่าที่เชียงใหม่อยู่บ้าง เพราะญาติคุณย่ารวมทั้งคุณย่าเองก็ไปๆ มาๆที่นี่เสมอ
วันหนึ่งคุณย่าพาผมไปบ้านคุณสุภัทรด้วย วันนั้นผมได้ลงเรือยนต์ข้ามแม่น้ำเป็นครั้งแรกในชีวิต กลางแม่น้ำมีเรือรบลำใหญ่ๆจอดทอดสมออยู่หลายลำ และผมได้เห็นเรือรูปร่างประหลาดสองลำจอดทอดสมอคู่กันอยู่ คุณย่าบอกว่านั่นคือ ”เรือดำน้ำ” เรือดำน้ำนั้นดูเล็กนิดเดียวเมื่อเทียบกับเรือรบ

ที่บ้านคุณสุภัทรผมได้พบปู่ตื้อกับใครบางคนที่ไม่รู้จัก และไม่รู้สึกสนุกเลยในการไปบ้านคุณสุภัทร ตั้งแต่นั้นผมก็ไม่ยอมไปที่นั่นกับคุณย่าอีก ส่วนคุณย่านั้นยังคงไปที่นั่นบ่อยๆ เพราะมีญาติทางเชียงใหม่หลายคนไปอยู่ที่นั่น คิดว่าทั้งคุณย่าและคุณทวดก็เคยอยู่ที่นี่เมื่อมาอยู่กรุงเทพตอนแรก

บ้านคุณสุภัทรนี้อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา คุณย่าจึงได้รู้เห็นเรื่องราวเกี่ยวกับทหารเรือและเรื่องเรือรบดีทั้งๆที่คุณย่าเป็นคนเชียงใหม่ คุณย่าบอกว่าเรือดำน้ำทั้งสองลำนั้นชื่อว่า “สินสมุทร” ลำหนึ่ง ส่วนอีกลำชื่อว่า “มัจฉานุ“

นอกจากนี้คุณย่ายังเล่าให้ฟังว่าตอนกลางคืน บนเรือรบเขาจะต้องมีทหารเรือยืนยามเฝ้าเรือด้วย ถ้ามีเรืออื่นใดแล่นผ่านเข้ามาใกล้ๆแม้แต่เรือจ้าง ทหารยามก็จะร้องตะโกนถามไปว่า “โบ๊ตละห้อย” ฝ่ายเรือที่แล่นเข้าไปใกล้ก็จะตะโกนตอบไปว่า “พัชชิ่ง” เป็นอย่างนี้เสมอในท้องน้ำเจ้าพระยาย่านนี้

ผมสนใจในเรื่องนี้ ผมรู้ว่าโบ๊ตแปลว่าเรือ…แต่ทำไมเรือถึงต้องละห้อยละเหี่ย ด้วย ! เลยเอาไปถามพ่อ พ่อหัวเราะใหญ่แล้วบอกว่ามันเป็นภาษาทหารเรือที่จะถามเรือซึ่งผ่านมาว่า “โบ๊ตอะฮอย” (boatahoy) แปลว่า “เรืออะไรโว้ย” เรือที่ผ่านมาจะต้องตอบว่า “พาสซิ่ง” (passing”) แปลว่า “แค่ผ่านมาน่ะ” (ซึ่งทั้งทหารยามและคนแจวเรือจ้างก็รู้ภาษาอังกฤษกันคนละสองคำแค่นี้เท่านั้น) เรื่องนี้นับเป็นบทเรียนภาษาอังกฤษบทแรกที่คุณย่าสอนให้ผม

ผมรับรู้อยู่แล้วว่าคุณย่านั้นเป็นคนเชียงใหม่ ดินแดนที่มีป่าเขาลำเนาไพรและธรรมชาติงดงาม แต่วันหนึ่งตอนที่อยู่เรียนอยู่ชั้นประถม ผมก็ต้องตื่นเต้นเป็นอย่างมากเมื่อ “คุณป้าแสงดาว” มาเยี่ยมที่บ้าน ผมเห็นคุณป้าแสงดาวกับคุณย่าคุยกันเสียงดังด้วยภาษาๆหนึ่งซึ่งผมไม่เคยได้ยินมาก่อน ผมรู้ว่านั่นไม่ใช่ภาษาจีน ภาษาแขก หรือภาษาฝรั่ง บางคำบางตอนผมก็ฟังรู้เรื่อง แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่รู้เรื่อง มีคนในบ้านหลายคนแอบมายืนฟังคุณป้า แสงดาวคุยกับคุณย่าอยู่ตามริมประตูหน้าต่าง แม่บอกผมว่านั่นเป็นภาษาเชียงใหม่ !

คุณย่าไม่ค่อยมีบทบาทเท่าใดนักในบ้าน เมื่อเรานั่งโต๊ะกินข้าวพร้อมกัน คุณย่าก็ไม่มากินร่วมด้วย จะแยกไปกินต่างหาก สำหรับผมนั้นรู้สึกว่าคุณย่ารักผมมาก และคุณย่าจะเป็นที่ปรึกษาในเรื่องการเล่นของผมเสมอ คุณย่าทำคันกระสุนให้ผม มันคล้ายคันธนูแต่ขึงสายคู่และเอาเชือกถักเป็นที่รองกระสุนไว้ตรงกลาง ใช้ยิงด้วยลูกกระสุนดินปั้น

เมื่อผมเอาหนังสะติ๊กยิงนกได้คุณย่าจะสอนวิธีก่อกองไฟและการย่างนกให้ผม และเมื่อผมหาเรื่องซนไม่ได้ก็จะไปหาคุณย่า ขอให้เล่าเรื่องเมืองเชียงใหม่ให้ฟัง ผมเลยรู้จักน้ำตกห้วยแก้ว ดอยสุเทพและสะพานนวรัฐ การชนกว่าง รู้ว่าการล่องน้ำปิงจะต้องผ่านผาวิ่งชู้ ผ่านแก่งสร้อย และแก่งอาบนาง ฯลฯ มาตั้งแต่ยังเด็กๆ เดี๋ยวนี้แก่งเหล่านี้จมอยู่ใต้น้ำหมดแล้วเมื่อเขาสร้างเขื่อนภูมิพล

ในขณะที่ผมโตขึ้นเรื่อยๆ คุณย่าก็แก่ลงไปเรื่อยๆ ตอนผมอายุยี่สิบคุณย่าแก่มากแล้ว จนกระทั่งแม่ต้องอาบน้ำต้องป้อนข้าวให้

แล้ววันหนึ่งคุณย่าก็ไม่สบายไม่กินข้าวไม่กินปลา หมอที่มาตรวจบอกว่าอยู่ได้ไม่เกินคืนนี้ ระยะนั้นผมกำลังจะสอบปลายปี มีเพื่อนมาดูหนังสือกันที่บ้านหลายคน เราลูกๆอยู่กันที่เรือนหลังใหญ่กับคุณย่า พ่อกับแม่ไปอยู่เรือนคุณยายซึ่งตายไปเมื่อสองปีก่อน คืนนั้นผมได้รับมอบหมายให้คอยดูคุณย่า

เราดูหนังสือสลับกับการเข้าไปตรวจอาการคุณย่าเป็นระยะๆ แต่คุณย่านอนนิ่งมานานแล้ว และหายใจเบามากจนไม่รู้ว่ายังหายใจอยู่หรือเปล่า เพื่อนคนหนึ่งแนะว่าให้หาสำลีบางๆมารอที่จมูก ผมทำตามคำแนะนำแต่ไม่เห็นสำลีขยับเขยื้อนเลย
ผมไปปลุกพ่อให้มาดู พ่อมาตรวจดูสักพักก็บอกว่าคุณย่าตายแล้ว และปลุกให้ทุกคนในบ้านมากราบคุณย่า

พ่อเอาเทียนมาจุดไว้ที่โต๊ะข้างเตียงคุณย่าแล้วก็กลับไปนอน ให้ผมกับเพื่อนๆอยู่เป็นเพื่อนคุณย่าจนกว่าจะเช้า เราย้ายที่ดูหนังสือเข้ามาดูกันในห้องคุณย่า เราอยู่เป็นเพื่อนคุณย่ากันหลายคนทีเดียว

ผมนั่งกับพื้นติดกับเตียงคุณย่า หนังสือตำราที่ผมอ่านมีแสงสว่างเพิ่มขึ้นอีกหนึ่ง แรงเทียน มันมาจากแสงเทียนเล่มน้อยที่พ่อจุดเอาไว้ข้างเตียงคุณย่านั่นเอง และเมื่อผมเข้าสอบวิชาที่ผมดูจากตำราเล่มนี้ในอีกสองสามวันต่อมา ผมทำข้อสอบได้ดีเป็นพิเศษ…ดีอย่างยิ่งทีเดียวละ !

เมื่อผมเขียนหนังสือตัวสุดท้ายในกระดาษสอบเสร็จ ผมเห็นภาพเทียนเล่มน้อยในวันสุดท้ายที่ผมอยู่กับคุณย่า รวมทั้งเรื่องราวต่างๆที่ได้ฟังจากคุณย่า…น้ำตกห้วยแก้ว…ดอย สุเทพ…ผาวิ่งชู้…แก่งสร้อย…แก่งอาบนาง…และเมืองเชียงใหม่ในสมัยคุณย่าผุดขึ้นมาในความคิด และกระทั่งบัดนี้ภาพเหล่านั้นก็ยังคงอยู่ในความทรงจำของผมเสมอ แม้คุณย่าจะจากผมไปนานแล้วก็ตาม….O

เมื่อวันที่ : 01 ต.ค. 2549, 04.15 น.
ผู้อ่านที่รัก,
นิตยสารรายสะดวก และผู้เขียนยินดีรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดงความเห็นได้โดยอิสระ ขอขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมีส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...