...หลายประเทศที่มีป่าไม้อุดมกว่าไทย มีช้างมากกว่าไทยแต่ก็ไม่มีกษัตริย์ หลายประเทศมีกษัตริย์แต่มีช้างอยู่แค่ในสวนสัตว์ไว้ให้คนดูเท่านั้น......

งานสวนแม้จะหนัก และไม่มีวันหยุดที่แน่นอน แต่สำหรับหน้าฝนแล้วงานสวนเป็นฤดูที่ชาวสวนบางพวกไม่ชอบเลย เพราะแค่ฝนตกพรำก็ต้องหยุดเข้าพักในร่ม ถึงฝนจะหายแล้วตั้งแต่เที่ยง ก็ยังทำงานไม่ได้ เพราะทั้งสวนยังเฉอะแฉะอยู่ จะถากหญ้าดินก็ติดจอบเหนอะหนะทำไม่ได้อยู่แล้ว เมื่อคืนฝนตกตลอดยันรุ่งและมันก็เพิ่งจะหยุด.... แน่นอนเช้านี้ไม่ต้องทำงาน

พอดีมีเพื่อนรุ่นน้องเป็นมัคคุเทศก์มาชวนไปศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยที่ลำปาง วันนั้นมีการบรรยายเรื่องของช้าง และมีช้างมาแสดงประกอบโดยเฉพาะให้กับสหพันธ์มัคคุเทศก์ภาคเหนือ ก็เลยผสมโรงเป็นมัคคุเทศก์ (ปลอม) ไปด้วย ที่นั่นฝนไม่ตกมีคนเข้าฟังและชมกว่า สองร้อยคน

ศูนย์นี้ได้เปลี่ยนชื่อตัวเองใหม่เป็น " สถาบันคชบาลแห่งชาติ " แต่ก็ขึ้นกับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้อย่างเดิม วิทยากรที่บรรยายมีสองคน เป็นรองผู้อำนวยการคนหนึ่งกับนายสัตวแพทย์อีกคนหนึ่ง เก่งและน่ารักทั้งสองคน

เริ่มต้นการแสดง เป็นการให้ช้างรายงานตัวเองเมื่อถูกเรียกชื่อ โดยช้างแต่ละตัวจะย่อตัวลงแบบถอนสายบัว แล้วก็มีการแสดงของช้างแบบทั่วๆไป เช่นลากไม้ และให้ช้างมาเข้าแถวเล่นอังกะลุงขนาดยักษ์ที่ทำขึ้นโดยเฉพาะ มันจะเอางวงดึงเชือกให้อังกะลุงขนาดใหญ่นั้นสั่นเป็นระยะๆ ฟังดูไม่ค่อยเป็นเพลงเท่าใด แต่เล่นไปสองสามเที่ยวก็จับเสียงได้ว่าไม่ได้มั่ว คือเสียงอังกะลุงเป็นแบบแผนคล้ายๆกันทุกเที่ยว ฟังดูชักคุ้นๆหู จนเขาบอกว่า นั่นคือเพลง " ช้าง ช้าง ช้าง " จึงนึกออก น่ารักมาก !

อันดับต่อมา เขาเอาพู่กันจุ่มสี (โดยควาญ) แล้วส่งให้ช้างวาดรูปบนกระดาษที่อยู่บนขาตั้ง มันก็ทำได้เหมือนกับรูปแอ็บสแตร็คท์ของศิลปินฝรั่ง คือเป็นรอยป้ายไปป้ายมา แต่สีนั้นควาญเป็นคนเลือกให้ แปลกดี ตัวรองผู้อำนวยการบอกว่าสถาบันนี้มีเว็บไซดของตัวเอง ปีที่แล้วขายรูปที่ช้างวาดผ่านทางเว็บไซดได้เงินมาแล้วล้านบาท (เยอะจัง !)

ช้างในโลกปัจจุบันนี้มีสองตระกูลคือช้างแอฟริกา ซึ่งตัวใหญ่มีงายาวทั้งตัวผู้และตัวเมีย และช้างเอเชียซึ่งมีอยู่ในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช้างเอเชียนั้นตัวเล็กกว่าช้างแอฟริกาและมีงาเฉพาะตัวผู้เท่านั้น แม้จะตัวเล็กกว่าแต่ช้างเอเซียก็ฉลาดกว่า จึงเอามาฝึกหัดใช้ประโยชน์ได้อย่างสัตว์เลี้ยง ถ้าจะเปรียบเทียบกันในระหว่าง ช้าง ม้า วัว ควาย หมาและแมวแล้ว ช้างฉลาดไม่น้อยกว่าหมาเลย นี่ว่าเฉพาะช้างพันธุ์เอเชียเท่านั้น

ช้างจะรู้จักคนและสิ่งต่างๆได้จาก กลิ่น เสียง สัมผัส และสายตาตามลำดับ วันนั้น ช้างอายุเจ็ดปีกับสิบปีคู่หนึ่งเป็นคู่สาธิตของท่านรองผู้อำนวยการในวันนี้ ท่านเป็นคนทำคลอดมันเองสำหรับตัวแรก และอีกตัวเลี้ยงมาตั้งแต่อายุสิบห้าวัน มันรักและติดท่านมาก เมื่อตอนเรียกมันมาประกอบการสาธิต มันพากันวิ่งขึ้นไปบนที่คนดูนั่งอยู่ทั้งสองตัว ทีแรกนึกว่ามันไม่สนใจเสียงเรียกจากนาย คงจะมาขอของกินจากคนดู แต่ไม่ใช่ ! มันเอางวงไปจับลำโพงที่วางอยู่ข้างหลังคนดูแล้วลูบไปมา ก็เสียงนายใหญ่ของมันดังออกมาจากลำโพงใบนี้ นี่นา ! จนต้องปิดไมโครโฟนแล้วตะโกนเรียกด้วยเสียงจริงมันจึงวิ่งไปหาถูก

เมื่อเวลาที่ท่านรองผู้อำนวยการบรรยาย มันก็จะเอางวงลูบตัวลูบหัวตัวนายใหญ่ของมันตลอดเวลา น่าเอ็นดูเป็นที่สุด ! ควาญต้องคอยปรามอยู่บ้างไม่ให้เลยเถิดไป น่ารักกว่าหมาที่เล่นกับเจ้าของมากนัก

ที่สถาบันคชบาลฯ ตอนนี้นอกจากเป็นที่ฝึกช้างและรักษาช้างป่วยทั่วประเทศ (โรงพยาบาลช้าง)แล้ว ยังเป็นที่รับฝึกควาญช้างทั่วโลก มีฝรั่งกับญี่ปุ่นมาฝึกเป็นควาญหลายคน บางคนเมื่อจบหลักสูตรแล้วไม่ยอมกลับบ้าน

มีญี่ปุ่นสาว (สวยด้วย) คนหนึ่งมาฝึกจนจบ พอเก็บของลงกระเป๋าเสร็จจะกลับบ้าน ก็เข้าไปร่ำลาช้างของเธอแล้วก็ร้องไห้ เธอต้องกลับออกมารื้อกระเป๋าอยู่ต่อไปอีก ควาญช้างสาวชาวอาทิตย์อุทัยพยายามจะกลับบ้านอยู่หลายหน แต่หัวใจเธอก็ไม่อาจหักด่านช้างออกไปได้ ตอนนี้เธอเป็นควาญประจำอยู่ที่นี่ ออกโชว์ทุกครั้ง มีฝรั่งกับแหม่มอีกสองคนก็คล้ายกัน แม้จะไม่มีความผูกพันลึกซึ้งกับช้างเท่ากับญี่ปุ่นสาวคนนั้น แต่ก็อยู่มาแล้วหกเดือน กลับไปบ้านได้เดือนสองเดือนก็กลับมาอยู่อีก กินนอนอยู่กับควาญช้างไทยคนอื่นๆ

สมองของช้างมีพัฒนาการแต่แรกเกิดจนโตคล้ายสมองคน (และปลาโลมา) จึงฉลาดและเรียนรู้ได้ดีกว่าสัตว์อื่น ช้างป่าโดยธรรมชาติเป็นสัตว์สังคม อยู่รวมกันเป็นฝูง แต่เรียกว่า "โขลง" (herd) ในแต่ละโขลงจะมีช้างตัวเมียที่อายุมาก มีประสบการณ์สูงและฉลาดเป็นหัวหน้าโขลงหรือจ่าโขลง ไม่ใช่ช้างพลาย-ช้างตัวผู้เป็นจ่าโขลงอย่างที่เข้าใจกัน (ตรงนี้นักสิทธิสตรีคงจะชอบใจ) จ่าโขลงตัวเมียนี้เรียกว่า "แม่แปรก" จะควบคุมช้างทั้งโขลงในการเดินทาง การหากิน รวมทั้งการอบรมสั่งสอนช้างน้อยในโขลง (เหมือนเมียใหญ่ที่ปกครองดูแลคนในครอบครัว ทั้งบรรดาเมียน้อยและลูกเมียน้อยอย่างยุติธรรม - ผู้บรรยายไม่ได้บอกมาคิดเปรียบเทียบเอาเอง)

ช้างทั้งโขลงจะมีแต่ช้างตัวเมียเท่านั้น ยกเว้นลูกช้างตัวผู้ที่ยังอยู่ในวัยเด็กไม่กี่ตัว เมื่อช้างตัวผู้ในโขลงเริ่มเป็นวัยรุ่นก็จะถูกแม่แปรกขับออกจากฝูง เพราะไม่ต้องการให้มีการผสมพันธุ์ในโขลงเดียวกัน (inbreeding) ช้างหนุ่มจึงต้องแยกวงออกไปตั้งโขลงช้างหนุ่มเล็กๆ อยู่รอบนอก (bachelors herd) ต่อสู้กันเองตามประสาจิ๊กโก๋ช้าง บางตัวก็จะแยกออกไปอีกเพื่อหากินตามลำพังเป็น "ช้างโทน" คอยดูแลโขลงช้างใหญ่อยู่ห่างๆ และจะเข้าไปผสมพันธุ์กับช้างตัวเมียโขลงอื่นเมื่อถึงเวลา

ในเอเซียตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้ว มีการเลี้ยงช้างกันทั่วไปโดยเฉพาะในอินเดีย ช้างเป็นทั้งสัตว์พาหนะในยามสงบและเป็นสัตว์สำหรับสู้รบในยามศึกสงคราม ในปีที่สามร้อยยี่สิบเจ็ด ก่อนคริสต์ศักราช พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช กรีฑาทัพเข้าไปยังเปอร์เซียและอินเดีย

กองทัพอินเดียสมัยนั้นก็มีทหารขี่ช้างออกสู้ศึกโดยชนเผ่ามุนดะ(Munda)นับเป็นครั้งแรกที่กองทัพกรีกได้พบกับนักรบบนหลังช้าง แต่ในที่สุดอินเดียก็พ่ายแพ้ต่อกองทัพอันเกรียงไกรของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช และอินเดียเกือบทั้งหมดก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของกรีกอยู่ระยะหนึ่ง

ต่อมาพวกมุนดะบางกลุ่มได้อพยพเข้ามาในเอเซียอาคเนย์ ทั้งตามลุ่มน้ำสาละวินและลุ่มน้ำโขง เข้าตั้งรกรากปนไปกับคนในท้องถิ่น ดังนั้นจึงมีการค้นพบเหรียญกษาปณ์กรีกสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชในชุมชนเก่าแก่หลายแห่งในเอเชียอาคเนย์ คงเป็นพวกมุนดะนำติดตัวมาแต่สมัยก่อน

การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของพวกมุนดะ คงจะนำประเพณีการจับช้างป่ามาเลี้ยงจากอินเดียเข้ามาด้วย จนคนในถิ่นนี้จับช้างมาเลี้ยงเป็นสัตว์พาหนะกัน ช้างเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแรง ความฉลาดและความภักดีต่อเจ้าของ ในอินเดียช้างนั้นเป็นพาหนะของเทพอยู่แล้ว เช่นช้างเอราวัณของพระอินทร์ ดังนั้นช้างจึงกลายเป็นพาหนะและสัตว์คู่บารมีสำหรับกษัตริย์ซึ่งเป็นสมมติเทพของอินเดียด้วย และกษัตริย์ในลุ่มน้ำต่างๆในแถบเอเชียอาคเนย์จึงมีช้างเผือกและช้างศึกเป็นของสูงคู่บารมี เช่นเดียวกับพระราชาต่างๆในอินเดีย ช้างกับกษัตริย์จึงเป็นของคู่กันมาแต่โบราณ

แต่เดี๋ยวนี้เหลือเพียงประเทศไทยประเทศเดียวในโลก ที่มีทั้งการเลี้ยงช้างอย่างถูกต้องตามประเพณีโบราณ และถือว่าช้างเผือกเป็นช้างคู่บารมีของพระมหากษัตริย์ด้วย

หลายประเทศที่มีป่าไม้อุดมกว่าไทย มีช้างมากกว่าไทยแต่ก็ไม่มีกษัตริย์ หลายประเทศมีกษัตริย์แต่มีช้างอยู่แค่ในสวนสัตว์ไว้ให้คนดูเท่านั้น คนดูแลช้างก็เป็นเพียงแค่ ลูกจ้างมารับทำงาน หาใช่ "ควาญช้าง" ที่แท้จริงไม่ ความรู้สึกผูกพันอย่างล้ำลึกในการเลี้ยงและดูแลช้าง หรือการเป็นควาญช้างจึงไม่มีอยู่ในจิตใจ จะมีก็ที่ไทยนี่แหละที่เลี้ยงช้างได้เก่งที่สุดในโลก (แต่การจะเอาช้างไปเดินขอทานตามในเมืองอะไรนั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)
ช้างเลี้ยงต้องมี "ควาญ" (Mahout - ออกเสียงเป็นภาษาอังกฤษว่า "มะฮูท " แต่ถ้าออกเสียงเป็นแบบอินเดียต้องอ่านว่า "เมอ-เฮาท") ประจำตัว ควาญนี้จะเป็นทั้งนาย ทั้งเพื่อนและคนดูแลเพียงคนเดียวของมัน ช้างจะเลือกควาญของตัวเอง คนที่มาสมัครงานเป็นควาญจะต้องมีคุณสมบัติพิเศษ คือนอกจากจะต้องดูแลและบังคับช้างเก่งเป็นที่ยอมรับของช้างแล้ว ยังต้องเป็นคนประพฤติดีเป็นที่ยอมรับของเจ้าของช้างด้วย ควาญจะต้องรักช้างอย่างลูกหรือเมียทีเดียว และจะผูกพันกันตลอดชีวิต

ช้างที่ดื้อเลี้ยงยากแม้จะใช้ขอสับก็ยังบังคับยาก เรียกว่า " เหลือขอ " และคำนี้ก็ถูกขอยืมมาใช้กับคนบางคนด้วยโดยเฉพาะกับเด็ก

เขาว่าเมื่อคนอารมณ์ดีมีจิตใจรักในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (ช้างหรือสัตว์อะไรก็แล้วแต่) ชั่วขณะนั้น ร่างกายคนจะหลั่งฮอร์โมนชนิดหนึ่งออกมาในร่างกาย ซึ่งช้างจะรู้สึกได้จากกลิ่นของคนคนนั้น และยอมให้เข้าใกล้ให้สัมผัสตัวมันได้ ดังนั้นสำหรับคนแปลกหน้า การพูดจาที่อ่อนโยน การสัมผัสลูบตัวช้าง(ช้างเลี้ยง) ช้างก็จะยอมรับ (ในระดับหนึ่ง) นอกจากนี้เชื่อกันอีกว่าสัตว์โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยง สามารถจะสื่อกันทางจิตกับคนที่รักมันได้โดย "สัมผัสที่หก" มันรู้ว่าใครรักมันจริง คนรักหมาไปไหนก็จะไม่โดนหมากัด เข้าไปคุยด้วยเดี๋ยวเดียวมันก็ยอมให้เล่นด้วยแล้ว เขาว่าหลอกคนว่ารักหลอกได้ แต่เราไม่อาจจะหลอกสัตว์ได้ !

ช้างตัวหนึ่งหนักหลายตัน ช้างที่เจ็บจะไม่ยอมลงนอนหลับ เอาแค่ยืนหลับเพราะมันกลัวว่าจะลุกขึ้นอีกไม่ได้ จนกว่าจะยืนไม่ไหวจริง ๆ จึงลงนอนซึ่งหมายความว่าจะไม่มีวันลุกขึ้นอีก

" ช้างเผือก " ตามกฎหมายไทยเรียกว่า " ช้างสำคัญ" มีลักษณะสำคัญอย่างน้อยเจ็ดอย่างตามตำราคชลักษณ์ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ช้างเผือกตามกฎหมายและจารีตประเพณีถือว่าเป็นของกษัตริย์เท่านั้น คนธรรมดามีไม่ได้ ใครได้มาต้องถวายแด่กษัตริย์ ช้างเผือกเราไม่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "White Elephant" เพราะในความหมายของฝรั่ง หมายถึงภาระที่ใหญ่โต เป็นความหมายทางลบ ดังนั้นจึงแปลคำช้างเผือกว่า "Royal Elephant " แทน

เมื่อมีการพบช้างเผือกหรือที่คิดว่าเป็นช้างเผือกขึ้นมา ณ ที่ใดก็ตาม จะต้องรายงานให้ทางการทราบ จากนั้นจะมีผู้ชำนาญการช้างสำคัญจากในวังมาตรวจพิสูจน์ มีวิธีการตรวจมากมาย เช่นต้องเอาช้างไปอาบน้ำขัดผิวเพื่อดูสีผิวจริง ต้องขัดเล็บโดยใช้น้ำส้มสายชูขัดถูเพื่อดูสีเล็บที่แท้จริง ต้องเอามูลช้างมาดม โดยเก็บตัวอย่างมูลที่ยังตกไม่ถึงดินด้วยการไปยืนรอที่ก้นช้าง พอช้างถ่ายก็เอามือรองเอามาดมทันที ถ้าเป็นช้างเผือกจะมีกลิ่นเหมือนดั่งดอกลำเจียก ! ต้องดูทิศที่ช้างนอนว่าหันหัวไปทางทิศไหน นอกจากนี้ต้องฟังเสียงกรนของช้างด้วย ถ้าช้างกรนเป็นเสียงดั่งแตรสังข์ถือว่าดี ถ้ากรนเสียงเหมือนคนร้องไห้ก็ใช้ไม่ได้ ผู้ชำนาญการที่เคยมาพิสูจน์ช้างเผือกที่นี่ (ที่สถาบันนี้) ต้องคอยฟังเสียงช้างกรนด้วย แต่กว่าช้างจะนอนนั้นดึกมาก เลยกลายเป็นช้างได้ฟังเสียงกรนของผู้ชำนาญการแทนก็มี

เท่าที่ทราบ ผู้ชำนาญการพิสูจน์ช้างสำคัญขณะนี้มีอยู่สองตระกูลเท่านั้น คือตระกูล "คชาชีวะ" ซึ่งถือกันว่าสืบเชื้อสายมาจากพระเพทราชา สมัยกรุงศรีอยุธยา (พระเพทราชาทรงเคยเป็นเจ้ากรมคชบาลมาก่อน) อีกตระกูลก็คือตระกูล "คชเสนีย์" ตระกูลผู้ชำนาญการช้างนี้สอนตำราดูช้างสำคัญสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุ และจะไม่สอนวิชานี้ให้กับคนนอกตระกูลเป็นอันขาด

เมื่อผู้ชำนาญการช้างได้พิสูจน์ช้างเป็นที่แน่นอนแล้วว่าเป็นช้างสำคัญ ก็จะเขียนใบพรรณนาว่าช้างนั้นอยู่ในกลุ่มใดมีลักษณะสำคัญอย่างไรตรงไหน (ยังแยกออกเป็นหลาย species) คำพรรณนานี้ทำเป็นสองฉบับ ถวายในหลวงหนึ่งฉบับ เก็บไว้ประจำตระกูลหนึ่งฉบับ

ช้างธรรมดาหรือช้างชาวบ้านนับจำนวนเป็น "เชือก" แต่ถ้าเป็นช้างเผือกจะนับจำนวนเป็น "ช้าง" เช่น "ช้างเผือกสามช้าง" เมื่อมีการพิสูจน์เป็นที่แน่นอนโดยผู้ชำนาญการช้างแล้วว่าเป็นช้างสำคัญหรือช้างเผือก ก็จะต้องมีพิธีสมโภช" ขึ้นระวาง " เป็นช้างสำคัญ ต้องมีควาญดูแลโดยเฉพาะตลอดเวลา และจะดุด่าว่าตีไม่ได้ จะสอนจะสั่งก็ต้องใช้คำสุภาพ ต้องปลูกโรงให้อยู่ มี ร.ป.ภ. ดูแลด้วยมิให้ใครมาทำร้ายหรือกลั่นแกล้งได้ เพราะเป็นสมบัติของในหลวง จะปล่อยให้ไปเที่ยวนอนตามใต้ต้นไม้อย่างช้างอื่นก็ไม่ได้ จึงทำให้ช้างสำคัญบางตัวนิสัยเสีย กลายเป็น "spoiled elephant" ไปบ้างเหมือนกัน เมื่อสมโภชแล้วและถึงเวลาอันควรก็จะทำการขึ้นทะเบียนเป็น "ช้างต้น" มีชื่อ มียศตามแต่จะพระราชทานต่อไป

ตามความเชื่อถือแต่โบราณถือว่าช้างเผือกจะมีเทพยดาปกปักรักษาอยู่ ดังนั้นถ้าทำดีต่อช้างเผือก เทพยดานั้นก็จะปกปักรักษาเราไปด้วย
ในพระตำหนักสวนจิตร ฯ มีช้างเผือกเลี้ยงอยู่ด้วย ซึ่งบางครั้งจะต้องย้ายมา "พักร้อน " ที่ลำปางเพื่อให้ใกล้ธรรมชาติ ได้เที่ยวป่าเที่ยวเขา ให้ได้คลายเครียดเพราะอยู่ในวังถูกผูกตลอด เมื่อจะย้ายช้างเผือกมาต้องมีพิธีอัญเชิญเทพยดาที่ประจำตัวช้างนั้นมาด้วย ช้างเผือกในวังเป็นช้างคู่บารมีในหลวง ว่ากันว่ายามใดพระองค์ท่านทรงประชวร ช้างก็มีอาการผิดปกติไปด้วย และว่าเมื่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ช้างเผือกที่เลี้ยงอยู่ในพระตำหนักสวนจิตรฯ ก็มีอาการผิดปกติ ทุรนทุรายด้วย

พม่าเองก็ถือเช่นเดียวกับไทย ตามเกร็ดประวัติศาสตร์เล่าว่า เมื่อตอนพม่าจะเสียเมืองแก่อังกฤษในสมัยพระเจ้าทีบอ แห่งราชวงศ์อลองพญา ช้างเผือกในพระราชวังร้องโดยไม่มีสาเหตุ แลบางทีก็ร้องเป็นเสียงดังคนร้องไห้ เหมือนดั่งเป็นลางร้ายว่าจะต้องสิ้นสุดราชวงศ์ที่สืบต่อกันมายาวนาน

ไม่ว่าคนหรือช้างก็ต้องมีที่สิ้นสุดอายุขัย มีตำนานเล่าถึงช้างในป่าว่าเวลาจะตายมันจะเดินทางไปตายในที่เดียวกันซึ่งเป็นที่เร้นลับ เรียกว่า "สุสานช้าง" (ซึ่งไม่จริง) เป็นต้นเหตุแห่งนิยายผจญภัยให้คนเขียนหนังสือหากินได้เป็นหลายคน แต่สำหรับช้างเผือกของกษัตริย์ ถ้า " ล้ม" เมื่อใดก็จะต้องมีพิธีศพดังคน ต้องนิมนต์พระมาสวด เมื่อเผาแล้วก็ต้องเอากระดูกหรือเถ้าไปลอยน้ำด้วย

ก่อนจบการบรรยายและสาธิตเรื่องช้างที่ "สถาบันคชบาลแห่งชาติ" ในวันนั้น ท่านรองผู้อำนวยการได้เล่าอย่างภาคภูมิใจว่า สัตวแพทย์หนุ่ม (หน้าตาดี) ที่ร่วมการบรรยายและสาธิตด้วยกันวันนี้ สามารถผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งได้แล้ว นับว่าเป็นแห่งแรกในโลก !

มัคคุเทศก์สาวหน้าทะเล้นคนหนึ่งเห็นช่องว่างแห่งภาษา ก็เลยถามว่า "น้ำเชื้อของช้างหรือน้ำเชื้อของหมอคะ ? " เรียกเสียงเฮสนั่นจากทุกคนได้ แต่คุณหมอหนุ่มนั้นทำหน้าชอบกล !

ช้าง สัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศเรา เคยปรากฏอยู่ในธงชาติไทยมาแล้วสมัยหนึ่ง เคยออกศึกกู้ชาติกู้แผ่นดินมาแล้วหลายครั้ง ทำงานให้เรามาสารพัด ฉลาดน่ารักและภักดี ดีกว่าหมีแพนด้าอย่างชนิดเทียบชั้นกันไม่ได้ ไม่ต้องนอนในห้องแอร์ที่อุณหภูมิสิบเจ็ดองศาและไม่เรื่องมากในการกินอยู่ด้วย ใครจะมาเชียงใหม่ทาง รถยนต์ ช่วยแวะมาเยี่ยมเยียนช้างไทยของเรา ซื้อกล้วยอ้อยให้มันกินบ้างที่ "สถาบันคชบาลแห่งชาติ" จังหวัดลำปาง(ทางผ่าน) ก่อนจะไปเยี่ยมคารวะ "พณฯแพนด้า- ทูตสันทวไมตรีห้องแอร์" ที่เชียงใหม่ ด้วยเถิด....O

เมื่อวันที่ : 24 ก.ค. 2549, 14.05 น.
ผู้อ่านที่รัก,
นิตยสารรายสะดวก และผู้เขียนยินดีรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดงความเห็นได้โดยอิสระ ขอขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมีส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...