......นิทานพื้นบ้านเก่าแก่ของชาวลั๊วะที่เล่าสืบทอดกันมาหลายสิบชั่วคน...

นานมาแล้ว ก่อนที่พญามังรายจะสร้างนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ และก่อนที่พระนางจามเทวีจะเสด็จมาประทับที่นครหริภุญชัยด้วยซ้ำไป ชนชาวลั้วะได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ เชิงดอยทางทิศตะวันตกของลำน้ำแม่ระมิงค์ มีท่านวาสุเทพมุนีเฝ้าพิทักษ์ประชาราษฎร์และลำน้ำแม่ระมิงค์ รวมทั้งท้องทุ่งกว้างอันสมบูรณ์อยู่บนยอดดอยสูงเทียมเมฆ และมีเจ้าเมืองปกครองดูแลทุกข์สุขของราษฎรอีกทีหนึ่ง

ราษฎรชาวลั๊วะต่างทำมาหากินด้วยการทำนา ทำไร่ จับปลาแลเลี้ยงสัตว์ พวกเขาได้ทำฝายขึ้นกั้นลำน้ำแม่ระมิงค์ ทดเอาน้ำเข้าไปในไร่นาปลูกพืชผล ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ไปทั้งแผ่นดินแลร่มเย็นเป็นสุขดังเมืองทอง ไพร่ฟ้าหน้าใส !

ฝายจึงเป็นวิถีชีวิตของราษฎร

ราษฎรทุกครัวเรือนเคารพท่านวาสุเทพมุนีผู้เป็นใหญ่ พวกเขาจะกราบไหว้บูชาท่านมุนีและบวงสรวงด้วยส้มสุกลูกไม้ไม้แลน้ำทุกๆเช้า และปีละครั้ง เหล่าราษฎรก็จะพากันเดินขึ้นไปยังถ้ำที่อยู่ของท่านมุนีบนยอดดอยสูง เพื่อขอพรประจำปีมิเคยเว้น

หากว่าฝายเป็นวิถีชีวิต ท่านวาสุเทพมุนีก็เป็นเป็นที่รวมแห่งจิตวิญญาณของพวกเขาด้วย ! สองสิ่งนี้ผูกพันกันอยู่ในชีวิตของชาวลั๊วะแห่งเมืองนี้

อยู่มาวันหนึ่งชายหน้าเหลี่ยมซึ่งเป็นเป็นพ่อค้าอยู่ทางทิศตะวันออกของลำน้ำแม่ระมิงค์ได้มีอำนาจขึ้นมาปกครองบ้านเมือง เขากับญาติพี่น้องและพรรคพวกพากันรวบอำนาจผูกขาดการค้าขายจนร่ำรวยมหาศาล โดยถือโอกาสจากการที่ได้ปกครองเมืองใช้อำนาจเบียดเบียนอาณาประชาราษฎร์ แสวงหาเงินทองสู่ญาติมิตรโดยมิชอบและปกครองบ้านเมืองอย่างไร้คุณธรรม มิได้คิดถึงประโยชน์ของราษฎร์แต่อย่างใด

ราษฎรได้พากันไปร้องเรียนต่อท่านวาสุเทพมุนีที่พวกเขาเคารพนับถือ ท่านมุนีได้เรียกชายหน้าเหลี่ยมผู้เป็นเจ้าเมืองไปตักเตือนหลายครั้ง แต่เขาก็หาได้เชื่อฟังไม่ ซ้ำยังพูดจาโอหังหมิ่นท่านมุนีอยู่เนืองๆ เหล่าราษฎรจึงเกลียดชังเขายิ่งนัก
วันหนึ่งชายหน้าเหลี่ยมซึ่งเป็นเจ้าเมืองพยายามจะรื้อฝายที่ราษฎรสร้างขึ้นออกทิ้งเสีย เพียงเพื่อจะให้ลูกเมียแลพรรคพวกได้เอาเรือมาวิ่งค้าขายในลำน้ำ แม้ราษฏรจะร้องคัดค้านก็หาฟังไม่

ราษฎรจึงได้คิดหาทางกำจัดเจ้าเมืองหน้าเหลี่ยมผู้ชั่วร้ายคนนี้ พวกเขาจัดพิธีบูชาผีฝายขึ้นที่ริมลำแม่ระมิงค์ตรงหน้าฝายใหญ่ หลอกเชิญเจ้าเมืองชั่วมาร่วมพิธีด้วย และเมื่อได้โอกาสก็ช่วยกันจับตัวเจ้าเมืองหน้าเหลี่ยมคนนี้ นำตัวไปมัดไว้ที่หลักริมแม่น้ำหน้าฝาย แล้วตัดหัวเขาเสีย มิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้ที่ปกครองบ้านเมืองโดยมิชอบและคิดร้ายต่อฝายของเขาอีกต่อไป

เมื่อตัดหัวเจ้าเมืองหน้าเหลี่ยมแล้ว พวกเขายังเอาแหลนที่ลงคาถาอาคมแทงศพซ้ำ ทั้งได้เผาพริกเผาเกลือสาปแช่งเจ้าเมืองหน้าเหลี่ยมคนนี้ให้ไปลงนรก !
ชาวเมืองช่วยกันหาผู้มีคุณธรรมคนใหม่มาเป็นเจ้าเมืองปกครองดูแลพวกเขาต่อไป และเมืองแห่งนี้ก็เจริญรุ่งเรือง ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

....................................................................................

ทุกชาติทุกแว่นแคว้นและแดนดิน ย่อมมีโชคชะตาแลบุรพกรรมเป็นของตนเอง และเมืองของชนชาวลั๊วะแห่งนี้ก็มิเว้น หลังจากเจ้าเมืองหน้าเหลี่ยมผู้ชั่วร้ายตายไปได้ร้อยปี และบ้านเมืองได้เจริญมาจนถึงขีดสุด ราษฎรชาวเมืองก็หลงละเริงในอบายมุข ใช้ชีวิตฟุ้งเฟื้อไร้สาระอยู่กับการดีดสีตีเป่าแลเสพสุราเมรัย หนุ่มสาวเข้าสมสู่สลับคู่กันโดยเปิดเผยตั้งแต่วัยเพิ่งจะแตกพานอย่างไม่อายฟ้าดิน

พวกเขามิได้กราบไหว้และทำพิธีบวงสรวงท่านวาสุเทพมุนีดังที่บรรพบุรุษเคย ทำมาแต่เก่าก่อน

กรรมได้กลับมาสนองราษฎรชาวเมืองแล้ว !

ชายหน้าเหลี่ยมเจ้าเมืองคนเก่าหนีขึ้นมาจากนรกได้ และได้กลับมาปกครองเมืองอีกครั้งหนึ่งโดยที่ไม่มีใครรู้ที่มา ราษฎรไม่สนใจคัดเลือกคนดีมาเป็นเจ้าเมืองดังแต่ก่อน เพราะมัวแต่หลงระเริงอยู่กับโลกีย์สุข แลหลงอามิสที่ชายหน้าเหลี่ยมจากนรกหว่านโปรยให้เพื่อให้เขาครองเมืองได้โดยแยบยล

ดังนั้นจึงได้เกิดอาเพทขึ้นในบ้านเมือง โรคร้ายระบาดไปทั่วในหมู่หนุ่มสาวที่สมสู่สลับคู่กัน พวกเขาล้มตายเป็นใบไม้ร่วง ข้าวยากหมากแพง แลสวรรค์สาปส่งด้วยการทำให้เกิดน้ำมาท่วมเมืองใหญ่ถึงสามครั้งในปีเดียว ที่อยู่อาศัยแลแหล่งค้าขายเสียหาย ไร่นาสาโทก็พลอยย่อยยับไปด้วย เกิดเดือดร้อนไปทั่วทุกหย่อมหญ้า เว้นแต่ญาติพี่น้องของเจ้าเมืองซึ่งหนีมาจากนรกเท่านั้นที่สุขสบาย

ชายหน้าเหลี่ยมเจ้าเมืองจากนรกตั้งกฎเกณฑ์ต่างๆขึ้นมาให้ยังผลประโยชน์แก่ตนเองแลพวกพ้องยิ่งกว่าครั้งก่อน เขายุยงให้ราษฎรแตกแยกเป็นฝักฝ่ายและปกครองอยู่ท่ามกลางความแตกแยกนั้น

พวกราษฎรที่รู้เท่าทันพากันขึ้นไปยังยอดดอยสูงประจำเมือง กราบอ้อนวอนท่านวาสุเทพมุนีให้ ช่วยเหลือ....ฯลฯ
(ยังมีต่อ)
(นิทานพื้นบ้านเก่าแก่ของชาวลั๊วะที่เล่าสืบทอดกันมาหลายสิบชั่วคน)

เมื่อวันที่ : 09 ก.พ. 2549, 12.56 น.
ผู้อ่านที่รัก,
นิตยสารรายสะดวก และผู้เขียนยินดีรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดงความเห็นได้โดยอิสระ ขอขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมีส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...