...ผีเสื้อสีขาวตัวหนึ่งบิบวนวับๆเหมือนเต้นระบำอยู่รอบๆของเซ่น แล้วลงเกาะปุ๊บที่ข้าวเหนียว ....
ผีลงกินของเซ่นแล้ว !...

"ไปกันเถอะ พ่อจะรออยู่ที่ฝายนี้แหละ ขากลับมาแวะรับพ่อกลับบ้านด้วยก็แล้วกัน "ปู่เฮือน" อดีตแก่ฝายวัยเจ็ดสิบแปดบอกกับพวกชาวบ้านคราวลูกคราวหลานที่จะยกขบวนจากริมแม่น้ำข้างฝายไปศาลากลางจังหวัด พวกเขาจะไปคัดค้านที่ทางจังหวัดจะรื้อฝายออก

"อินตา อยู่เป็นเพื่อนปู่ที่นี่นะ ไม่ต้องไปด้วยหรอก" ลูกชายของแก ตัวตั้งตัวตีของพวกที่จะไปคัดค้านสั่งลูกชายวัยรุ่น

แล้วขบวนรกกระบะซึ่งบรรทุกชาวบ้านเกือบร้อยคนก็ยกออกจากริมฝายไป

พระกลับไปวัดหมดแล้วพร้อมกับพิธีทำบุญสืบชะตาฝายที่จบลง แต่ที่หอผีฝาย ธูปในกระถางยังส่งควันสีเทาจางลอยเอื่อยไปตามลม เทียนยังมีเปลววอมแวม แกงอ่อมในถ้วยใบเล็กกับข้าวเหนียวกระปิมือหนึ่งบนใบตองกับถ้วยน้ำใบเล็ก วางเซ่นผีฝายอยู่ตรงชานหน้าหอ

ผีเสื้อสีขาวตัวหนึ่งบิบวนวับๆเหมือนเต้นระบำอยู่รอบๆของเซ่น แล้วลงเกาะปุ๊บที่ข้าวเหนียว มันขยับปีกขาวทีมีจุดแดงทั้งสองข้างขึ้นลงช้าๆเนิบๆ แล้วก็บินไปเกาะที่ปากถ้วยน้ำข้างๆ ใช้งวงดูดน้ำจากในถ้วยนั้น

ผีลงกินของเซ่นแล้ว !

ปู่เฮือนประคองร่างที่ผอมบางเดินกระย่องกระแย่งอย่างระมัดระวังลงไปตามทางลาดชันของตลิ่ง อินตาช่วยจูงมือปู่ อีกมือหอบเอาสาดผืนน้อยเดินไปข้างๆ คอยพยุงปู่ของเขาจนไปถึงใต้ต้นหูกวางใหญ่ริมแม่น้ำ ใบที่หนาทึบของมันครึ่งหนึ่งเริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดง รอเวลาที่จะร่วงหล่นลงตามฤดูกาล

"เอาตรงนี้แหละลูก ปูตรงนี้เลย" ปู่บอกกับหลานชาย
แล้วสองคนปู่หลานก็นั่งลงบนสาดผืนนั้น แม่น้ำปิงไหลอยู่ข้างหน้า มีฝายเก่าแก่ทอดขวางลำน้ำอยู่ น้ำกระทบฝายแตกเป็นฟองขาวมีเสียงดังซ่าอยู่กลางแสงแดดยามเที่ยง ลมเหนือพัดมาอ่อนๆ เหยี่ยวปลาร่อนวนอยู่เหนือสันฝาย มันรอปลาสักตัวที่จะว่ายทวนน้ำข้ามสันฝายขึ้นมา น้ำที่ท่วมเมืองเมื่อสองเดือนก่อนยังทิ้งร่องรอยให้เห็นอยู่บ้างที่ข้างตลิ่ง

วันนี้ชาวบ้านหลายตำบลที่ใช้น้ำจากฝายลูกนี้ มาร่วมกันทำบุญสืบชะตาฝายประจำปี พวกเขาเซ่นไหว้ผีฝายแล้วบนบานขอความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ธัญพืชและการกินดีอยู่ดี เขาทำอย่างที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายเคยทำกันมาแล้วนับร้อยๆปี แต่ปีนี้ไม่มีคนมามากเป็นร้อยๆอย่างแต่ก่อน และเหมือนทุกปี ปู่เฮือนแก่ฝายเก่าต้องเป็นคนวางของเซ่นในงานนี้

นานมากแล้ว นานจริงๆ ! ที่ปู่เฮือนเคยดำน้ำเอาไม้รวกแดงลงปักตีฝายซ่อมมัน ก่อนที่ฝายไม้รวกจะถูกดัดแปลงกลายมาเป็นฝายหินทิ้ง สมัยนั้นต้องซ่อมฝายให้เสร็จหลังจากเกี่ยวข้าวแล้ว

ก่อนจะเข้าหน้าแล้งชาวบ้านนับพันๆคนจากทุกตำบลและทุกหมู่บ้าน พากันมาช่วยซ่อมฝ่ายตามที่นายเฮือน แก่ฝายประกาศป่าวร้องไป พวกเขาต้องเอาไม้รวกแดงมาด้วยคนละห้าสิบลำ ใครมีที่นามากต้องมาหลายคนและต้องเอาไม้มามากขึ้น เอาฟางมาด้วยสำหรับทำตะเข้ เขาดำเอามันลงไปอัดระหว่างเสาใต้น้ำ เอาเกวียนบรรทุกไม้กับฟางมากองรวมไว้ริมแม่น้ำเป็นกองพะเนิน

ใครมาไม่ได้ต้องส่งเงินมาเพื่อซื้อไม้รวกและจ้างคนมาทำแทนตัว ใครไม่มาและไม่ส่งเงินมาจะไม่ได้ใช้น้ำ นี่คือกติกาของสังคมและมรดกทางภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ซึ่งพวกเขารักษาสืบทอดกันมานาน...ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรอย่างเดี๋ยวนี้ มันสืบทอดมาตั้งแต่สมัยพญามังราย ผู้สร้างเมืองโน่นแหละ !

"ปู่ ฝายลูกนี้หรือที่ปู่เป็นคนสร้างสมัยหนุ่มๆ" หนุ่มน้อยอินตาถามปู่ของเขา

ปู่เฮือนมองหลานชายวัยสิบแปด มันล่ำสันทะมัดทะแมง รูปร่างหน้าตาช่างคล้ายกับตัวแกเมื่อหกสิบปีก่อน กล้ามของมันเป็นมัดๆจนแทบจะปะทุออกมาจากเสื้อยืดสีดำที่ใส่อยู่ พ่อมันว่ามันเป็นนักว่ายน้ำของโรงเรียน แกภูมิใจในตัวมัน

...มองมันแล้วก็เหมือนกับมองกระจกที่สะท้อนกลับออกมาเป็นเงาตัวเองเมื่อวัยรุ่น ไอ้นี่มันอยากรู้อยากเห็นไปเสียหมด !

"ปู่ไม่ได้เป็นคนสร้างหรอก มันเป็นฝายเก่าแก่สร้างกันมานับร้อยปี ปู่เป็นคนคุมเขาซ่อมน่ะ น้ำป่าจะพัดมันพัง ต้องซ่อมทุกปีเมื่อจะเข้าหน้าแล้ง"

ครั้งกระโน้นปู่เฮือนเคยดำน้ำตีฝายเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองลูกนี้มาตั้งแต่วัย สิบแปดปี ก็เท่าไอ้อินตานี่แหละ จนได้เป็นแก่ฝายแทนพ่อของแกเมื่ออายุได้สามสิบปี มันเป็นหน้าที่ของแก่ฝายที่จะต้องป่าวประกาศไปให้ชาวบ้านที่ใช้น้ำจากฝายมาช่วยกันซ่อมใหญ่ ทั้งซ่อมแต่งลำเหมืองเพื่อทดน้ำเข้านาสำหรับปลูกข้าวนาปรัง ปลูกหอม ปลูกกระเทียมกับพืชผักตามฤดูกาลต่อไป

และมันก็เป็นหน้าที่ของแก่ฝายอีกเช่นกันที่จะต้องจัดสรรแบ่งปันน้ำส่งให้ ลำเหมืองสาขาต่างๆอย่างยุติธรรม มีแก่เหมืองคนอื่นๆดูแลลำเหมืองสาขา คอยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเรื่องการใช้น้ำ ทุกคนอยู่กันอย่างเอื้ออาทรและผูกพันกันต่อกันด้วยระบบเหมืองฝาย

ฝายคือวิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่ ! ....

เมื่อก่อนที่จะมีเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ชีวิตมันไม่ทุกข์ยากเหมือนเดี๋ยวนี้ ไม่มีใครคิดจะมารื้อฝายของชาวบ้านทิ้ง เจ้าหลวงเจ้าเมืองทุกคนต่างอุดหนุนช่วยเหลือการซ่อมฝายสำคัญในลำน้ำปิง อดีตแก่ฝายชราคิดถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและสันติสุขสมัยยังหนุ่ม

ปู่เฮือนมองออกไปที่สันฝาย น้ำแตกซ่าเป็นฟองขาว แล้วแกก็มองย้อนขึ้นไปทางต้นน้ำ มีตึกสูงของโรงแรมหลายแห่งตั้งตระหง่านง้ำอยู่สองฝั่งน้ำ ที่ดินบางส่วนของมันรุกล้ำออกมาในน้ำปิงที่เคยกว้าง จนเดี๋ยวบางตอนนี้คอดกิ่วลงเหลือเพียงครึ่งเดียว ...อย่างนี้น้ำมันจะไม่ท่วมได้อย่างไร !ปู่เฮือนคิด
ปู่เฮือนมองดูสายน้ำปิงที่ไหลเอื่อย เอนกายลงนอนหนุนแขนตัวเองบนสาดผืนน้อย แกกำลังคิดถึงความยิ่งใหญ่แห่งสายน้ำ...

....นานมาแล้วนับพันนับหมื่นปีหรือว่ากว่านั้น หน้ามรสุมฝนจะตกเกือบทุกวันบนเทือกดอยสูงทางต้นน้ำ น้ำฝนที่ตกลงบนใบไม้ใบหญ้าจะถูกผืนดินซึมซับไว้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนไหลไปตามลาดดอย ค่อยรวมตัวกันเข้าแล้วไหลลงสู่ที่ต่ำ กลายเป็นขุนน้ำเล็กๆ

มีขุนน้ำเล็กๆ มารวมกันอีกหลายสาย และสายน้ำก็ค่อยๆใหญ่ขึ้นๆจนกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่ชื่อว่าแม่ระมิงค์ ไหลผ่านที่ราบลุ่มเชิงดอยสุเทพอันสูงตระหง่าน ซึ่งท่านวาสุเทพฤๅษีผู้พิทักษ์เมืองเฝ้าดูอยู่ แล้วก็ไหลลงสู่ที่ต่ำทางใต้ต่อไป
แม่ระมิงค์จะไหลอยู่อย่างนี้ชั่วนาตาปี ไม่มีใครจะหยุดเธอได้ ตราบเท่าที่ยังมีฝนตกลงมาสู่พื้นพิภพ...

ความลาดเทของแผ่นดินเพิ่มความเร็วให้สายแม่ระมิงค์ เธอจะไหลรี่ลงไปสู่ที่ซึ่งต่ำกว่า ถ้าท้องน้ำแคบเธอจะยกตัวสูง ถ้าท้องน้ำกว้างเธอจะแผ่ตัวราบและไหลเร็ว ตรงไหนที่ท้องน้ำกว้างและลึกซึ่งเรียกว่าวัง เธอจะผ่อนกระแสช้าจนดูราวกับจะหยุดนิ่ง

ถ้ามีอะไรมาขวางกั้นกระแส เธอจะยกตัวขึ้นแล้วโจนข้ามไป หากพื้นดินที่ตรงไหนเป็นทรายอ่อน เธอก็จะกัดเซาะและสร้างธารสายใหม่ขึ้น และบางทีก็ทิ้งร้างสาย

เธอสร้างที่งอกริมตลิ่งและกัดเซาะแผ่นดินฝั่งตรงข้าม เธอสร้างเนินทรายและเกาะกลางน้ำ ตรงที่เป็นโตรกผาเธอจะถาโถมเข้ากัดเซาะทะลุไป จนเกิดเป็นแก่งหิน

เธอสร้างความกว้างและความแคบให้ฝั่งน้ำ สร้างความตื้นและความลึกให้แก่ลำน้ำ ปรับเปลี่ยนสภาพท้องน้ำให้มันเหมาะสมกับกระแสแห่งตัวเธอตลอดทั้งสายน้ำ จากขุนน้ำเล็กบนดงดอยถึงปากแม่น้ำ เธอไม่เคยกลัวใครในปฐพี ! ...

ลมพัดมาวูบหนึ่ง ใบหูกวางหลายใบที่เปลี่ยนเป็นสีแดงแล้วหลุดจากขั้ว หมุนคว้างลงเกลื่อนพื้นใต้ต้นของมัน บางใบพลิกร่อนลงบนสาดผืนน้อย ปู่เฮือนเคลิ้มไปกับสายลมเย็นของฤดูหนาว แกรู้สึกภูมิใจในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ

ลำพังไม้รวกลำเดียวมันจะยกสายน้ำขึ้นได้อย่างไร แต่ด้วยไม้รวกนับเป็นหลายพันหลายหมื่นลำหรืออาจจะเป็นแสนลำ รวมกับพลังกายพลังใจของคน มันยกเอา ลำน้ำทั้งสายให้สูงขึ้น ให้เขาก็ชักน้ำเข้าลำเหมืองไปใช้ทำไร่นาได้

เสียงซ่าของสายน้ำปิงที่โจนข้ามสันฝายดังเหมือนเพลงที่เคยกล่อมให้แกงีบพักเมื่อครั้งกระโน้น หลังกินข้าวกลางวัน เก็บเรี่ยวแรงไว้ดำน้ำตีฝายในรอบบ่าย...

การดำน้ำตีฝายกลางลำน้ำปิงตอนที่ลึกสุดซึ่งลึกกว่าสมัยนี้ ลึกจนเย็น ยะเยือกแม้จะอยู่กลางแดด เป็นเครื่องวัดความกล้าและความแกร่งของหนุ่มๆรุ่นปู่เฮือน หลายคนไม่อาจดำลงไปจนถึงก้นแม่น้ำได้ ปอดเขาอาจเล็กเกินไปหรือใจที่ยังไม่สู้พอ จึงต้องทะลึ่งขึ้นมาก่อนและกลายเป็นคนมัดตะเข้อยู่ริมหาด คอยส่งไม้ส่งของอยู่บนสะพานที่ผิวน้ำ

หกสิบปีก่อนโน้น หนุ่มเฮือนผู้ล่ำสัน อกเป็นแผงและกล้ามเป็นมัดๆ ไม่เคยกลัวแดด ไม่กลัวน้ำลึกและดำน้ำได้อึดจนใครๆก็เรียกแกว่า "อ้ายเฮือนปอดเหล็ก" หนุ่มเฮือนจะโผล่ขึ้นจากน้ำหลังใครๆเสมอถ้าลงดำพร้อมกัน แกทำงานได้มากกว่าคนอื่นเกือบเท่าตัวทั้งๆที่ตัวก็ไม่ได้โตกว่าใคร

เมื่อลงดำน้ำครั้งแรกตอนอายุสิบแปดเท่ากับไอ้อินตาตอนนี้ ปู่เฮือนเองเคยตกใจเมื่อพบปลาเค้าตัวยาวตั้งเกือบวาแอบนิ่งอยู่ข้างเสาฝายก้นแม่น้ำ หลายคนเคยพบปลาใหญ่อย่างที่แกพบและคิดว่าเป็นผี เขาทะลึ่งขึ้นเหนือน้ำอย่างเร็วจนตาเหลือกถลน เลือดออกมาทางปากและจมูก ขวัญเสียและเพ้อจับไข้ไปในคืนนั้น เขาไม่ยอมมาที่ฝายอีกเลย บางคนเสียสติไปหลายวัน ต้องไปพึ่งพ่อมดพ่อหมอให้รดน้ำมนต์

มีเรื่องเล่าไม่จบสิ้นสำหรับหนุ่มนักดำน้ำซ่อมฝายในลำน้ำปิงสมัยกระโน้น เช่นเรื่องที่มีพญานาคร้องกลางลำน้ำในคืนวันศีลขึ้นสิบห้าค่ำ บ้างก็ว่าในคืนแรมพวกที่มาตกปลาเคยเห็นพรายที่รักษาฝาย ...

"ปู่ ! เดี๋ยวนี้ไม่เห็นเขาซ่อมฝายกันอีกเลย แก่ฝายผมก็ไม่เห็นมีแล้วนะปู่" หนุ่มน้อยอินตาถามปู่ของเขา มันช่างซักช่างถามช่างรู้ไปเสียหมด พ่อมันบอกว่ามันเรียนหนังสือดี มันชอบกีฬาเป็นชีวิตและจะเข้าเรียนวิชาพละในมหาวิทยาลัยปีหน้านี้แล้ว

"ตอนหลังนี่เขาใช้หินก้อนใหญ่ๆแบกเอาไปทิ้งลงตามแนวฝายเดิม กลายเป็นฝายหินทิ้ง มันทนทานไม่ต้องซ่อมทุกปีอย่างแต่ก่อน" แกเล่าความเป็นมาของฝายหินทิ้ง มรดกทางภูมิปัญญาที่สืบต่อมาจากฝายไม้รวก

"แล้วมันดีกว่าเขื่อนปูนของหลวงอย่างไรละปู่ ?" อินตาซักต่อไปอีก

"ดีซิลูก! ฝายไม้กับฝายหินทิ้งปูปลามันลอดขึ้นไปวางไข่ได้ ทรายก็ก็ลอดลงไปได้ ไม่ตกหน้าเขื่อนจนตื้นเขิน" แกสนองความอยากรู้ของมัน

" แล้วแก่ฝายละปู่ ! ไม่เห็นมีแล้ว ?" อินตาหนุ่มยังไม่ลืมคำถามของเขา

"งานของแก่ฝายเขาโอนไปให้อ.บ.ต.ทำแล้ว แล้วเห็นไหมละ ! หน้าแล้งน้ำไม่ค่อยเข้าเหมืองแล้ว เขาไม่อยากลอกลำเหมือง ชอบแต่ขยายถนนเพราะงบมันเยอะ!" ปู่เฮือนบอกหลานชาย

หลายปีที่ผ่านมาเรือกสวนไร่นาแถวนี้แห้งแล้งลงเรื่อยๆ เพราะไม่มีน้ำเข้าไปหล่อเลี้ยงผืนดินให้ชุ่มชื้นอย่างพอเพียง ชาวบ้านแก้ปัญหาด้วยการขุดน้ำบาดาลใช้กัน น้ำหน้าดินก็ยิ่งลดต่ำลงไปอีก คงจะต้องไปร้องผู้แทนให้มีการลอกเหมือง...ปู่เฮือนคิด !

มีเสียงบีบแตรรถอยู่ที่ริมถนน เสียงคนตะโกนเรียกแกกับเจ้าอินตา คงจะเป็นพวกที่ไปศาลากลางจังหวัด ทำไมจึงกลับมาเร็วนัก ! คนหลายคนเดินลงมาหาปู่ปันที่ใต้ต้นหูกวางใหญ่ริมน้ำ

"ไม่สำเร็จพ่อ" ลูกชายของแกส่ายหน้าแล้วรายงานผลการไปคัดค้าน สีหน้าเขาแสดงความผิดหวัง อีกคนหนึ่งเล่าต่อ

"ผู้ว่าบอกว่าเป็นคำสั่งจากข้างบน เขาต้องทำและจะเอารถขุดมารื้อฝายออกอาทิตย์หน้านี่แล้ว เขาอ้างว่าฝายทำให้น้ำท่วมเมือง แต่เรารู้ว่าเขาจะรื้อออกเพราะมันขวางทางเรือสำราญที่โรงแรมสร้างใหม่จะเอามาแล่นให้นักท่องเที่ยวชมสองฝั่ง น้ำปิงช่วงนี้"

"รื้อฝายออกแล้วพวกเราจะใช้น้ำทำนาทำสวนอย่างไร ?" อดีตแก่ฝายถาม แกวิตกที่ได้ยินอย่างนี้

"เขาว่าเขาจะทำเขื่อนให้ใหม่ ใต้ฝายเก่านี้ลงไปสามกิโล เราถามว่าเมื่อไร เขาก็บอกว่าไม่รู้ แต่ว่าฝายเก่าต้องรื้อออกก่อน มันขวางทางเม็กกะโปรเจ็คของรัฐบาล"

"เป็นยังไงวะ ไอ้เม็กกะโปรเจ็คนี่ ?" ปู่เฮือนไม่เคยได้ยินคำนี้

"ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน"

"เฮ้อ ! เราไปร้องผู้แทนดีไหมถ้ามันไม่ฟังเสียงพวกเราอย่างนี้" แกคิดหาทางออกที่คิดว่าดีที่สุด

"เมื่อกี้นี้ผู้แทนก็มาที่ศาลากลาง ผู้ว่ายังไหว้มันจนแทบจะติดดิน มันอยู่ข้างเดียวกันหมด มันว่าจะพัฒนาให้เมืองเราเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว" แล้วอีกคนก็ช่วยเล่าเสริม

"มันบอกว่าพวกเราก็ต้องเสียสละบ้าง เพื่อความเจริญของบ้านเมือง"

"ไอ้ฮ่า ! " ปู่เฮือนอุทานอย่างเหลืออด

"กูเป็นคนเลือกมันเอง มันพูดอย่างนี้ได้ยังไง !"

"พวกเราก็บอกมันอย่างที่พ่อว่าเหมือนกัน แต่มันว่ามันเป็นผู้แทนของคนทั้งจังหวัด ถ้าไม่ชอบมันอีกสามปีก็ไม่ต้องเลือก มันจะทำให้คนจนหมดไปจากประเทศไทยให้ได้ในสามปีนี้"

"ไอ้ฮ่า เอ๋ย ! " ปู่เฮือนอุทานขึ้นอีกครั้ง

.... มีเสียงสอดขึ้นเบาๆ ของหนุ่มน้อยอินตา

"ปู่! ปู่จะไปด่าเขาทำไม ก็เขาให้เงินปู่กับพ่อมาสามร้อยบาทเมื่อตอนเลือกตั้งแล้วไง?" เสียงของอินตาหนุ่มน้อยทำให้ทุกคนนิ่งไปทันที

ปู่เฮือนเองก็นิ่งงัน แกหันไปดูเจ้าหลานชายวัยสิบแปด หน้าของแกสลดและดูแก่ลงราวกับคนอายุสักร้อยปี ปู่เฮือนรู้สึกแน่นขึ้นมาในหน้าอก... เสียงของไอ้อินตาก้องกลับไปกลับมาอยู่ในหูของอดีตแก่ฝายชรา

"พากูกลับบ้าน !" แก่ฝายคนสุดท้ายบอกกับลูกชายด้วยเสียงแหบพร่า !

แล้วทั้งหมดก็เดินตรงไปที่ถนน อินตาหนีบสาดไว้ด้วยแขนข้างหนึ่ง มืออีกข้างจูงแขนปู่ของเขา เมื่อเดินผ่านหอผีฝาย ปู่เฮือนดึงแขนออกจากมือของอ้ายอินตา ยกมือทั้งสองขึ้นพนม แกบนบานอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ขอให้ตัวเองมีอายุยืนยาวไปให้ถึงอีกสามปีให้ได้... กูจะได้ไม่เลือกไอ้ผู้แทนคนนี้อีก ! นี่คือสิ่งเดียวที่แกคิดออกตอนนี้

....ธูปกับเทียนที่หอผีฝายดับสนิทและผีเสื้อขาวตัวนั้นก็หายไป ผีคงจะกินของเซ่นหมดแล้ว หมาแม่ลูกอ่อนที่มาอาศัยออกลูกอยู่ใต้หอ กำลังตะกายขึ้นไปกินแกงอ่อมกับข้าวที่เหลือ......O

เมื่อวันที่ : 27 ม.ค. 2549, 15.02 น.
ผู้อ่านที่รัก,
นิตยสารรายสะดวก และผู้เขียนยินดีรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดงความเห็นได้โดยอิสระ ขอขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมีส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...