นิตยสารรายสะดวก  Fiction  ๐๘ มกราคม ๒๕๔๙
เสือเจ็ดงา ยอดเขา - ขุนศึกไร้แผ่นดิน
ชาร ทิคัมพร
...รุ่งขึ้น​​เราออกจากเวียงแหง เมืองหน้าด่านเก่าของอาณาจักรล้านนาในอดีต มานอน​​ที่บ้านโป่งเดือดใกล้อุทยานแห่งชา...
คลิกดูภาพขยาย
รุ่งขึ้น​เราออกจากเวียงแหง เมืองหน้าด่านเก่าของอาณาจักรล้านนาในอดีต มานอน​ที่บ้านโป่งเดือดใกล้อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง คืนนั้น​ผมเข้า​ไปซุกอยู่​ในถุงนอนในเต้นท์ตั้งแต่หัวค่ำ ใส่เสื้อยืดตัวหนาทับด้วยสเว็ทเตอร์​และสวมแจ็คเก็ตฟิลด์ทหารอีกชั้นหนึ่ง​แล้ว​ยังใส่ถุงเท้าสองคู่ซ้อน หน้าเต้นท์ตรงปลายเท้าเราก่อไฟไว้กองหนึ่ง​ด้วยซ้ำ ​แต่ก็ยังหนาวเหน็บ

เสียงน้ำค้างจากใบไม้หยดลงบนหลังคาเต้นท์ดัง​เป็นระยะ นกระวังไพรร้องอยู่​ไกลๆ​ ...​นี่​คือเสียงของป่า​ที่แท้จริง ผมนึกถึงเพลงรัก​ที่นายเสือเจ็ดงาร้อง​เมื่อค่ำวานนี้...​


...​ยามค่ำคืนบนดอยสูงเทียมเมฆ
มันเย็นยะเยือกเหมือนเลือด​จะแข็ง
เรา​เอาพื้นดินต่าง​ที่นอนนุ่ม
​เอาใบไม้กลบตัวต่างผ้าห่มหนา
ถึง​จะ​ต้องการ​ความอุ่นสักเพียงใด
เราก็ก่อไฟให้ศัตรูเห็นไม่​ได้
ฉันหนาวมาก.. หนาวจริงๆ​
​แต่ก็อุ่นขึ้น​​ได้​เมื่อดิดถึงเธอ...​.

เหรียญ​ที่ห้อยคอคนงานคนนั้น​สะดุดใจผมทันที​ที่​ได้เห็น ​เป็นเหรียญทองแดงวงรี มีรอยดุนรูปคนอยู่​ตรงกลาง รูปคุ้นตามาก ! ขอบด้านบน​กับล่างมีอักษร​ที่ไม่ใช่ภาษาไทยจารึกอยู่​

"อ้ายชื่ออะไร​? " ผมถามคนงานหนุ่มใหญ่เจ้าของเหรียญทองแดง​ที่เข้ามาช่วยขนกระเป๋าลงจากรถ

"นายเสือเจ็ดงาครับ​" ​เขาตอบ

"มีนามสกุลไหม?" ผมชักสนใจชื่อของหนุ่มคนนั้น​

"นายเสือเจ็ดงา นามสกุลยอด​เขาครับ​" เสียงตอบฉาดฉานท่าทางกระฉับกระเฉง

"​ถ้าคุณอยากคุย​กับ​เขา กินข้าวเย็นกันแล้ว​เรียก​ไปคุยด้วยก็​ได้ ​เขาเคย​เป็นทหารในกองทัพไทยใหญ่กู้ชาติ ร้องเพลงเก่ง เล่นกีตาร์​ได้ด้วย" เจ้าของบ้านบอก​กับผม​ซึ่ง​เป็นแขก

ทุ่มตรงเสือเจ็ดงา​กับลูกชายวัยเจ็ดขวบ เดินเข้ามา​ที่ระเบียงบ้าน​ที่เราพัก แบกกีตาร์ราคาถูกมาด้วย อันหนึ่ง​

...​"ผมยิงทหารพม่าตาย​ไปแล้ว​ห้าสิบคน" นายเสือเจ็ดงา เริ่มเรื่อง​ชีวิตของ​เขา ตาม​ที่ผมถาม หนุ่มใหญ่วัยสามสิบสี่เข้าร่วม​กับกองทัพไทยใหญ่กู้ชาติตั้งแต่อายุสิบหก ​และออกรบอย่างจริงจัง​เมื่ออายุสิบแปด จน​ได้ยศ​เป็น"ขุนศึก" ​ซึ่งเทียบ​ได้​กับผู้บังคับหมวดของทหารไทย ​เขาคุมทหารไทยใหญ่ประมาณห้าสิบห้าคนออกสู้รบ​กับทหารพม่าในเขตรัฐฉานตอนใต้ ลุย​ไปทั่วลุ่มน้ำสาละวิน...​"เอกราช" ​คือสิ่ง​ที่พวก​เขา​ต้องการ

"ผมไม่เคยกลัวเลย​ บางที​เขาสั่งให้หยุดยิง​แต่ผมก็แกล้งทำให้วิทยุเสีย ผมยิง​ได้อีกหลายคน วันหนึ่ง​เรา​จะ​ต้องไล่คน​ที่มายึดประเทศเราออก​ไปให้​ได้"

"ร้องเพลงให้เราฟังหน่อย​สิ ​เขาว่าอ้ายร้องเพลงเก่ง" ผมขอเพลงจากนายเสือเจ็ดงา แล้ว​นักรบไทยใหญ่ ก็ร้องเพลง​ที่ชื่อว่า "ครั้ง​ที่หนึ่ง​​แต่ไม่มีครั้ง​ที่สอง" ให้เราฟัง

"...​ครั้ง​ที่หนึ่ง​เรายอมวางอาวุธ เราเสียรู้​เขา
เจ็บยิ่งขึ้น​​เมื่อคนรักของฉันจาก​ไป
เธอ​ไป​เป็นเมียน้อยทหารพม่าข้าศึก
ช่างเถิด ​ถ้าเธอไม่รักฉัน ไม่รักชาติของเรา
ครั้ง​ที่สอง​จะไม่มีอีกอย่างแน่นอน
เรา​จะไล่พวกมันให้ตกทะเล​ไป
​และอีเมียน้อยของมันก็​ต้องตกทะเล​ไปด้วย...​"

เสือเจ็ดงาร้องเพลงอย่างมีอารมณ์ สีหน้ากร้าว ​และดีดกีตาร์ราคาถูกรัวดัง ลูกชายวัยเจ็ดขวบ​ที่นั่งอยู่​ข้างๆ​ร้องเพลงนี้ประสาน​ไปด้วย ร้อง​ได้เก่งทีเดียว !

"ชื่ออะไร​ไอ้หนู" ผมถามลูกของเสือเจ็ดงา

"ชื่อ 'จ่าทุน' ครับ​"

"จ่าทุนแปลว่าอะไร​"

"ผม​เป็นทหารครับ​ พ่อให้ผม​เป็นจ่า โตขึ้น​ผม​จะ​ไปรบ​กับพม่า​จะ​เป็น ขุนศึก !" จ่าทุนบอก

เสือเจ็ดงาบอก​กับเราว่า​เขา​จะไม่มีวันตายในสงครามกู้ชาติ ​เขาเคย​ได้รับบาดเจ็บเพียงสองครั้ง แล้ว​ก็ถลกแขนเสื้อให้เราดูรอยแผล​เป็นยาว​ที่แขนข้างซ้าย​ซึ่งเกิดจากสะเก็ดระเบิด ​และแผล​เป็น​ที่ขาอีกแห่งหนึ่ง​

"ผมมี​พระเจ้าอยู่​หัว​ไป​กับผมทุก​ที่จึงไม่กลัว" นักรบไทยใหญ่บอก ​เขาถอด​เอาเหรียญทองแดง​ที่ห้อยคออกออกมาอวด เหรียญ​ที่สะดุดใจผมอันนั้น​ รูปคน​ที่เห็นในเหรียญเหมือน​กับ​พระพักตร์ของรูปปั้นสมเด็จ​พระนเรศวรมหาราช​ที่เคยเห็นในอนุสรณ์สถานหลายๆ​​ที่ รวม​ทั้ง​ที่เวียงแหง

​กับตัวหนังสือ​ที่จารึกอยู่​ขอบด้านบน ขุนศึกไทยใหญ่อ่านให้ฟังว่า "เจ้า​พระนะเรสุ่น มหาราช" นี่​เป็น​พระเจ้าอยู่​หัวองค์เก่าแก่​ที่พวก​เขาเคารพบูชา

"ในการรบใหญ่ใกล้เมืองครั้งหนึ่ง​ พวกผู้หญิงในเมือง​จะช่วยกันทำข้าวห่อส่งขึ้น​มาให้​ที่หน้าศึก" ​เขาหมายถึง​ที่แนวรบ

"ในห่อข้าวมีจดหมายเขียนถึงทหารพับใส่มาด้วย บางทีก็​เป็นกลอน พวก ผู้หญิง​ที่ส่งอาหารให้​กำลังใจทหาร​ที่หน้าศึก" เสือเจ็ดงายิ้ม​เมื่อเล่าถึงตอนนี้

"หนุ่มๆ​รบกันอย่างไม่กลัวตาย แบ่งกันอ่านจดหมาย บางทีก็เขียนกลอนส่งกลับลง​ไปในเมือง ​เขา​เอา​ไปอ่านออกวิทยุในเมืองคนชอบฟังกันมาก" ขุนศึกเสือเจ็ดงา เล่าถึงเหตุการณ์​เมื่อเร็วๆ​นี้ให้เราฟัง

"บาง​ที่เราก็อดอาหารกัน​เป็นวันๆ​ ​เมื่อเสบียงส่งขึ้น​มาไม่​ได้ ​แต่ทหารหนุ่มๆ​อยาก​ได้กลอน​ที่ปลอบประโลม​เขามากกว่าข้าวเสียอีก ​เมื่ออาหารมาถึง​ทั้งๆ​​ที่หิว ​เขา​จะรีบแกะจดหมายออกมาอ่านกันก่อน "

แล้ว​เสือเจ็ดงา ยอด​เขา ก็ร้องเพลงสนุกๆ​ให้เราฟังชื่อว่า "มอเตอร์ไซค์รับจ้างท่าขี้เหล็ก"

"...​นั่งรอมาตั้งแต่เช้า​ ไม่มีคน​โดยสารเลย​
วันนี้​จะ​ได้เงิน​ใช้หรือไม่หนอ
แล้ว​เธอก็เดินมา...​ ขึ้น​ซ้อนท้ายเลย​คนสวย !
บ้านเธออยู่​​ที่ไหน ฉัน​จะพาเธอ​ไปส่ง
ฉัน​จะลดราคาให้ถูก​เป็นพิเศษ
กอดเอวฉันไว้แน่นๆ​สิ !
​ไป​กับเธอเหมือน​กับ​ได้ขึ้น​สวรรค์...​"

ขุนศึกของเราเคย​ไปขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างอยู่​​ที่จังหวัดท่าขี้เหล็กพักหนึ่ง​​เมื่อยามว่างศึก จ่าทุนร้องเพลงนี้ประสานเสียง​ไป​กับพ่อของ​เขาเหมือน​กับเพลง​ที่แล้ว​

"ผม​จะ​ไปรบอีก​เมื่อถึงเวลา ​จะฝากจ่าทุน งานวล​กับเมียผมไว้​กับพ่อนาย" ​เขา​จะฝากลูกชาย ลูกสาว​ที่ชื่องานวลหรือฟันขาว​และเมียไว้​กับ​เพื่อนผม​ที่​เป็นนายจ้าง

ไฟสงครามร้อนระอุอยู่​ในหัวอกของนักรบไทยใหญ่คนนี้เสมอ...​.

แล้ว​เพลง​ที่สามก็ดังขึ้น​ "คิดถึงเมืองปั่น" ​คือชื่อเพลงนี้

"...​คิดถึงเมืองปั่นเมือง​ที่ คนรักฉันอยู่​
เมืองปั่น เมือง​ที่มีจารีตงดงาม
คิดถึงเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่คู่เมือง
คิดถึงโรงเรียน​ที่ฉันเคยเรียน
คิดถึงฉำฉาต้นใหญ่ร่มรื่น
ต้น​ที่เราสองคนเคยนั่งด้วยกัน
เธอ​ที่รัก...​ รอฉันด้วยเถิด !
​เมื่อเสร็จงานศึก ​เมื่อเรา​ได้เมืองคืนแล้ว​
ฉัน​จะกลับ​ไปหา ​จะร่วมชีวิต​กับเธอ
ไม่ว่าเธอ​จะแก่เฒ่าสักเพียงใด
เธอ​ที่รัก...​ รอฉันด้วยเถิด .. !"

ถึง​จะ​เป็นเพลงรัก ​แต่เนื้อเพลง​ที่นักรบไร้แผ่นดินผู้นี้ร้อง​จะมี​ความรักชาติแฝงอยู่​ด้วยเสมอ

ชื่อ "เสือเจ็ดงา ยอด​เขา" ​เป็น 'ฉายานักรบ' ​ที่ขุนศึกหนุ่มตั้งให้ตัวเอง ทหารทุกคน​ที่รู้จัก​เขา​ทั้งลูกน้อง​และนาย ลืมชื่อจริงของ​เขา​ไปหมดแล้ว​ รู้จักกัน​แต่นายเสือเจ็ดงา ยอด​เขา เพียงชื่อเดียว

น้ำค้างลงจัดจนระเบียงบ้านเปียกชื้น ดาวเกลื่อนฟ้า​ที่ดำสนิท ทางช้างเผือกสีขาวนวลพาดอยู่​กลางฟ้า เรากระชับผ้าพันคอ ซุกมือเข้า​ไปในกระเป๋าเสื้อแจ็คเก็ต เสือเจ็ดงา ยอด​เขา เหยียดมือ​ทั้งสองข้างเข้าผิงไออุ่นจากไฟในเตา

แล้ว​ก็มาถึงเพลงสุดท้าย ก่อน​ที่เรา​จะ​ไปนอนกัน เพลงชื่อ "​ไปขุดเพ็ชร"...​เพลงนี้เล่าถึงชีวิตของหนุ่มนักเผชิญโชค...​

"...​​ที่เมืองกุด​และเมืองสู้
พวกเรา​ไปขุดเพ็ชรสีแดงกัน
ขุดกันมาตั้งนาน ยังไม่​ได้เพ็ชร
ไม่มีเพ็ชรเราก็ไม่มีเงิน
ไม่มีเงินเราก็กลับบ้านไม่​ได้
อยาก​จะ​ได้เงินสักแสนหนึ่ง​
แสนเดียวเท่านั้น​ อยาก​ได้จริงๆ​
​จะ​เอากลับ​ไปให้พ่อ​กับแม่​ที่บ้าน...​"

"จ่าทุน โตขึ้น​อยาก​จะ​เป็นอะไร​?" ผมถาม 'ทหารเด็ก' ​ที่ชัก​จะตาปรือ เพลงนี้​เขาไม่​ได้ร้อง​ไป​กับพ่อ

"ผมอยาก​เป็นนักร้องครับ​ "

"ไหนว่าอยาก​เป็นทหาร ?"

"อยาก​เป็นทหารด้วยอยาก​เป็นนักร้องด้วยครับ​" .. จ่าทุนช่างเหมือนพ่อเสียจริง !

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา แล้ว​เราก็ออกจากเวียงแหง เมืองเก่า​ที่รอการพิสูจน์ว่า​เป็น​ที่สวรรคตของสมเด็จ​พระนเรศวรมหาราช ไม่ใช่เมืองหางอย่าง​ที่เรียนกันมา ในขณะ​ที่นายเสือเจ็ดงา ยอด​เขา ขุนศึกไร้แผ่นดินก็รอด้วย​ความหวัง​ที่​จะกลับ​ไปยึดเมืองคืนจากผู้ยึดครอง ...​ไม่มี​ใครรู้ว่า 'งานศึก' ของ​เขา​จะมีวัน​ได้เลิกราหรือไม่ !...​ O

 

F a c t   C a r d
Article ID A-1321 Article's Rate 10 votes
ชื่อเรื่อง เสือเจ็ดงา ยอดเขา - ขุนศึกไร้แผ่นดิน
ผู้แต่ง ชาร ทิคัมพร
ตีพิมพ์เมื่อ ๐๘ มกราคม ๒๕๔๙
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ เรื่องสั้น
จำนวนผู้เปิดอ่าน ๗๕๙ ครั้ง
จำนวนความเห็น ๓ ความเห็น
จำนวนดอกไม้รวม ๓๙
| | | |
เชิญโหวตให้เรตติ้งดอกไม้แก่ข้อเขียนนี้  
R e a d e r ' s   C o m m e n t
ความเห็นที่ ๑ : ศาลานกน้อย [C-6668 ], [000.000.000.000]
เมื่อวันที่ : 08 ม.ค. 2549, 21.08 น.

ผู้อ่าน​ที่รัก,

นิตยสารรายสะดวก​ ​และผู้เขียนยินดีรับฟัง​ความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดง​ความเห็น​ได้​โดยอิสระ ขอขอบคุณ​และรู้สึก​เป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมี​ส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...​

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๒ : ลุงเปี๊ยก [C-6670 ], [203.151.217.61]
เมื่อวันที่ : 09 ม.ค. 2549, 12.06 น.

อยากมีโอกาส​ได้ฟังเพลงของนายเสือเจ็ดงาด้วยจังครับ​ หลายปีก่อนเคย​ไปร่วมประชุม ngo ​ที่ทำงานด้านเด็ก​ที่สุรินทร์ กลางคืนมีเสียงกีตาร์ลอยลมมาจากสะพานไม้ริมศาลาข้างสระ ผมเดิน​ไปร่วมฟังด้วย ​เป็นเพลง​ที่​เขา​แต่งเองคล้าย ๆ​ ​กับนายเสือเจ็ดงา ไพเราะมาก ​และ​เป็นครั้งเดียว​ที่​ได้ฟัง ​เพราะไม่มีโอกาส​ได้พบกันอีก เสียดาย​ที่ผมไม่​ได้จดเนื้อเพลง ​และไม่​ได้ไต่ถามชื่อนักร้องนิรนามคนนั้น​ไว้เลย​

อีกครั้งหนึ่ง​​เพื่อนรุ่นน้องพา​ไป​ที่หุบ​เขากลางดอยแม่สลอง ​ได้พบ​กับ "จุ่น" ​เพื่อนรุ่นพี่​ที่​เป็นคนกรุงฯ ​แต่มาหักร้างถางพง สร้างอาณาจักรเล็ก ๆ​ เลี้ยงม้า ​และ​ได้เมีย​เป็นสาวชาว​เขา พี่จุ่นร้องเพลงเก่ง ​และ​ได้​แต่งเพลง​เพราะมาก เกี่ยว​กับก้อนเมฆสีขาว ​และ​ความรัก​ที่ล่องลอย​ไปไกล ​เป็นครั้งเดียว​ที่​ได้ฟังเหมือนกันครับ​ ​เพราะไม่รู้ว่า​เมื่อไร ​จะมีโอกาส​ได้กลับ​ไปเยือนกระท่อมริมบึงของพี่จุ่นอีก

ขอบคุณลุงชาร​ที่จดเนื้อเพลง ​และเล่าเรื่อง​ราวชีวิตทำนองนี้ให้​ได้ฟังอยู่​เสมอ ๆ​ หากมีโอกาสเหมาะ ​จะขอเดินตาม​ไปแอ่วบ้าง ​จะ​ได้ไหม?

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๓ : ชาร ทิคัมพร [C-6671 ], [203.113.50.11]
เมื่อวันที่ : 09 ม.ค. 2549, 19.03 น.

ด้วย​ความยินดีครับ​ลุงเปี๊ยก ​จะมา​เมื่อไรก็บอกมา

แจ้งลบข้อความ


สั่งให้ระบบส่งเมลแจ้งการเพิ่มเติมความเห็น
 ศาลานกน้อย พร้อมบริการเสมอ และยินดีรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกท่าน  ติดต่อเว็บมาสเตอร์ได้ทางคอลัมน์ คุยกับลุงเปี๊ยก หรือทางอีเมลได้ที่ uncle-piak@noknoi.com  พัฒนาระบบ : ธีรพงษ์ สุทธิวราภิรักษ์  โลโกนกน้อย : สุชา สนิทวงศ์  ภาพดอกไม้ในนกแชท : ณัฐพร บุญประภา  ลิขสิทธิ์งานเขียนในนิตยสารรายสะดวก เป็นของผู้เขียนเรื่องนั้น  ข้อความที่โพสบนเว็บไซต์แห่งนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้โพสทั้งสิ้น