...เจนผู้สวยงามมีผมยาวสลวยจึงถอดกระโปรงทิ้ง หันมานุ่งห่มหนังสัตว์ผืนน้อยอยู่กินกับทาร์ซานตั้งแต่นั้นมา เจนเป็นคนสอนให้ทาร์ซานพูดภาษาคน...
"โฮ่ ฮี้ โฮ่ ฮี้ โฮ่ ..." มีเสียงโห่ดังขึ้น ชายหนุ่มคนหนึ่งยืนอยู่บนคบไม้กำลังป้องปากโห่เสียงก้องป่า ร่างกายของเขาสูงใหญ่ปราดเปรียวดูเต็มไปด้วยพละกำลัง เขานุ่งผ้าเตี่ยวผืนเดียวและไม่ใส่เสื้อ ที่เอวมีมีดพกห้อยอยู่...

เสียงปรบมือของเด็กๆดังขึ้นสนั่นลานวัด ตามด้วยการโห่ประสานเสียงเลียนแบบของจ้าวป่า ผมเป็นเด็กคนหนึ่งในพวกนั้น นั่งอยู่หน้าจอหนัง...
ทาร์ซานมาแล้ว !

แล้วทาร์ซานก็คว้าเถาวัลย์เส้นหนึ่งข้างคาคบ ห้อยโหนโจนทะยานไปยังต้นไม้ที่อยู่ห่างออกไป เขาแข็งแรง ว่ายน้ำเก่ง กล้าหาญ มีฝูงช้างเป็นสมุน และมีฝูงสัตว์ป่าเป็นบริวาร

ทาร์ซานเป็นขวัญใจของทั้งเด็กและผู้ใหญ่แห่งจอเงินของฮอลลิวู๊ดมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นขวัญใจของเด็กไทยด้วย เมื่อหนังเรื่องทาร์ซานเสียงในฟิล์มเข้ามาฉายในเมืองไทยหลังสงครามเลิกแล้ว เกือบไม่มีเด็กไทยคนไหนไม่รู้จักทาร์ซาน

ทาร์ซานเป็นตัวเอกของหนังสือชื่อเดียวกันนี้เขียนโดย Edgar Rice Burroughs ชาวอเมริกัน เริ่มตีพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกในปี ค.ศ.1914

เริ่มเรื่องมีอยู่ว่าฝรั่งสองคนผัวเมียกับลูกน้อยอีกหนึ่งคน เดินทางไปอัฟริกาและพ่อแม่ต้องตายลงกลางป่าของกาฬทวีป ทิ้งลูกน้อยอายุเพียงขวบเดียวไว้ เด็กคนนี้โชคดีที่แม่ลิงชิมแฟนซีเอาไปเลี้ยงเป็นลูกจนโตเป็นหนุ่ม กลายเป็นมนุษย์วานรและเป็นจ้าวป่า เขาคือทาร์ซานของเรานั่นเอง !

ในหนังเรื่องทาร์ซานที่ผมเคยดูสมัยเด็กเป็นหนังขาวดำ ตอนนั้นยังไม่มี "หนังสี" เข้ามาฉายในเมืองไทยเลย หนังทาร์ซานนี้จะมีฉายเป็นตอนๆไป ตอนแรกชื่อว่า "ทาร์ซาน-มนุษย์วานร" ตัวละครก็มีแต่ทาร์ซานกับลิงชิมแฟนซีแสนรู้ที่ชื่อว่า "ชีต้า" เท่านั้นที่เป็นตัวละครเอก ส่วนตัวประกอบก็มีช้าง ฝ่ายผู้ร้ายมีคนป่าและสิงสาราสัตว์ซึ่งทาร์ซานจะต้องต่อสู้หรือควบคุม มีม้าลาย ยีร๊าฟและแอนติโลปเป็นตัวเดินผ่านหลังฉากไปๆมาๆ

เจ้าชีต้าจะเป็นตัวชูโรงตัวหนึ่ง มันแอบเข้าไปช่วยแก้ทาร์ซานที่ถูกคนป่าจับมัดไว้ ส่วนโขลงช้างก็พากันบุกเข้าทะลายบ้านคนป่า เมื่อทาร์ซานส่งเสียงโห่ให้มาช่วย

หนังตอนต่อมามีนางเอกโผล่ขึ้นมาชื่อว่า "เจน" เจนมาอัฟริกากับพ่อและคู่รักหนุ่มเพื่อค้นหาป่าช้าช้าง ทาร์ซานแอบมาเห็นเข้าเกิดชอบ เลยจับตัวโหนเถาวัลย์หนีเอาไปอยู่ด้วยเสียดื้อๆ
เจนผู้สวยงามมีผมยาวสลวยจึงถอดกระโปรงทิ้ง หันมานุ่งห่มหนังสัตว์ผืนน้อยอยู่กินกับทาร์ซานตั้งแต่นั้นมา เจนเป็นคนสอนให้ทาร์ซานพูดภาษาคน และทาร์ซานก็ทำบ้านเป็นห้องหออยู่บนต้นไม้กับเจน แทนที่จะนอนบนคบไม้กับชีต้าอย่างลิงเหมือนแต่ก่อน

หนังทาร์ซานเริ่มสนุกขึ้นเพราะมีนางเอกแล้ว !

ทาร์ซานมีผมสีดำ เขาไว้ผมยาวระต้นคอเพราะในป่าไม่มีร้านตัดผม แต่ก็แปลกที่ทาร์ซานไม่มีหนวดเคราเลย คงใช้มีดพกคมกริบของเขาโกนออก หนุ่มๆไทยสมัยนั้นบางคนจะไว้ผมยาว เรียกกันว่า "ผมทรงทาร์ซาน"

ทาร์ซานมีมีดพกใหญ่อยู่เล่มหนึ่งเป็นสมบัติจากพ่อที่ตายไป เขาพกมีดเล่มนี้ติดเอวไว้ตลอดเวลา แต่จะพกไว้ที่เอวข้างซ้ายหรือข้างขวาผมก็จำไม่ได้ มีดนี้ใช้เป็นอาวุธต่อสู้กับศัตรูซึ่งมีทั้งคนป่าและสัตว์ร้ายต่างๆ หนังตอนที่ได้เจนมาอยู่ด้วยมีฉากทาร์ซานปล้ำสู้กับจระเข้อยู่ใต้น้ำ และในที่สุดทาร์ซานก็ใช้มีดพกเล่มเก่งแทงจระเข้
ตัวนั้นตาย

เรื่องทาร์ซานนี้เมื่อคนเขียนๆขึ้นปีแรกๆ มีประมาณเจ็ดตอนชื่อ " Tarzan of the Apes" เป็นตอนแรกของหนังสือชุดทาร์ซาน ตีพิมพ์ในหนังสือแมกกาซีนก่อน แล้วจึงมารวมพิมพ์เป็นเล่มขาย ต่อมามีผู้นำไปออกอากาศเป็นละครวิทยุ เขาอัดเทปเสียงสัตว์ต่างๆใส่เป็นซาวด์เอฟเฝ็คประกอบด้วย ซึ่งถือเป็นเท็คนิคใหม่ ชาวบ้านร้านช่องฝรั่งติดกันงอมเเงม พอได้เวลาออกอากาศพ่อแม่ลูกก็พากันเข้าห้อมล้อมวิทยุฟังเรื่องทาร์ซานกัน (ตอนนั้นอเมริกายังไม่มี ที.วี.)

เมื่อบริษัทเมโทรเข้าไปซื้อเรื่องทาร์ซานเพื่อจะสร้างเป็นหนัง ตาคนที่เป็นคนเขียนดันขายเรื่องนี้ให้บริษัททำหนังแห่งหนึ่งไปเสียแล้ว ตะแกจึงได้เขียนขึ้นมาใหม่สำหรับทำหนังให้เมโทร เปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น "Tarzan, the Ape Man" แล้วตัดรายละเอียดบางตอนออกไป ดัดแปลงบางตอนเสียใหม่ เช่นไม่มีบทที่มาของทาร์ซานว่ามาอยู่อัฟริกาได้ยังไง ส่วนเจนนั้นก็เปลี่ยนจากสาวอเมริกันเป็นอังกฤษเสีย เอากันง่ายๆ อย่างนี้เอง !

ทาร์ซานกับเจนไปได้เด็กชายคนหนึ่งจากเครื่องบินตก พ่อแม่เด็กตายหมด เอามาเลี้ยงดูเป็นลูก เด็กคนนี้ชื่อว่า "บอย" หนังตอนนี้ชื่อว่า "ลูกทาร์ซาน" (Tarzan Finds a Son) ดังนั้นครอบครัวทาร์ซานจึงมีสมาชิกสามคนกับหนึ่งตัว คือทาร์ซานกับเจนและบอยรวมสามคน กับชีต้าลิงแสนรู้อีกหนึ่งตัว

เรื่องทาร์ซานยิ่งสนุกขึ้นไปอีก เมื่อบอยถูกคนป่าจับตัวไป ทาร์ซานกับสิงสาราสัตว์ของเขาต้องบุกเข้าไปช่วย

ทาร์ซานผจญภัยต่อไปเรื่อยๆโดยไม่เหน็ดเหนื่อย เขาต้องต่อสู้กับนักจับสัตว์ผิวขาวที่มาจับสัตว์ในป่าอัฟริกาถิ่นของเขา เรื่องบางตอนทาร์ซานก็เดินทางไปค้นหาป่าช้าช้าง บางเรื่องไปค้นหาสมบัติในนครเก่าแก่ ทาร์ซานเคยเดินทางไปถึงอเมริกา หนังชุดทาร์ซานสร้างความสนุกสนานให้กับเด็กๆอย่างยิ่ง

เมื่อผมเป็นเด็ก หนังที่เด็กผู้ชายทุกคนชอบที่สุดก็คือเรื่องทาร์ซาน แต่เด็กอย่างผมไม่มีโอกาสได้ไปดูหนังตามโรงกับเขา เพราะพ่อแม่ไม่มีเงินพอที่จะพาลูกไปดูหนังโรงได้ ผมจะได้ดูหนังก็ต่อเมื่อเขาเอามาฉายตามงานวัด หรือเอามาฉายสลับกับการขายยาที่เรียกว่า "หนังขายยา" ซึ่งก็ฉายกันที่ลานวัดอีกนั่นแหละ ดังนั้นความทรงจำเรื่องทาร์ซานของผมจึงมาจากลานวัดทั้งหมด

และบางครั้งความทรงจำนี้ก็ได้มาด้วยการเอาก้นแลกกับไม้เรียวของพ่อที่ห้ามไม่ให้ไปดูหนังตอนกลางคืนเพราะหนังเลิกดึกเกินไป แต่ก็แอบหนีไป ! ไม่มีอะไรจะมาห้ามผมไม่ให้ไปพบกับทาร์ซานได้

และที่โรงเรียนสมัยผมเป็นเด็ก ห้องสมุดของโรงเรียนมีหนังสือการ์ตูนทาร์ซานอยู่เล่มหนึ่ง พิมพ์จากต่างประเทศเป็นสีขาวดำ การ์ตูนเล่มนี้มีคิวการยืมยาวเหยียด ผมต้องลงชื่อรอด้วยความกระวนกระวายอยู่ถึงเดือนกว่าจึงได้อ่าน และเมื่อหนังสือมาถึงมือผมมันก็เก่ามากทีเดียว

คนที่แสดงหนังเป็นทาร์ซานคนแรก และสร้างชื่อเสียงให้หนังทาร์ซานโด่งดังเหมือนพลุคือ "จอนนี่ ไวสมูลเล่อร์" (Johnny Weissmuller)

จอนนี่ เข้ามารับบททาร์ซานได้อย่างเหมาะเหม็ง เขาเป็นอเมริกันหนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยวอายุเพิ่งจะยี่สิบเจ็ด และเป็นแชมเปียนว่ายน้ำฟรีสไตล์ร้อยเมตรของโอลิมปิกถึงสองสมัยซ้อน ในปี ค.ศ. 1924 และ 1928

ส่วนเจนแสดงโดย Maureen O'Sullivan สาวสวยรูปร่างงามไม่มีที่ติ มัวรีนแสดงเป็นเจนคู่กับจอนนี่นานทีเดียว แต่ไม่ทุกเรื่อง

จอนนี่ว่ายน้ำเก่งซึ่งเป็นบทสำคัญโดยไม่ต้องมีตัวแสดงแทนอีก บทว่ายน้ำนี้สำคัญมากเพราะที่ผมดูมาหลายตอน ไม่มีตอนไหนเลยที่ทาร์ซานไม่ว่ายน้ำ สงสัยอยู่ว่าเขาเขียนบทหนังให้มีการว่ายน้ำมากๆ เพราะจอนนี่เป็นนักว่ายน้ำระดับโลกหรือเปล่า !

และแน่นอนในหนังเรื่องนี้ทาร์ซานสร้างจอนนี่ และจอนนี่ก็สร้างทาร์ซาน ! ภาพในใจของคนดูนั้นทาร์ซานคือ จอนนี่ ไวสมูลเลอร์ เอาใครอื่นมาเล่นนั่นเป็นทาร์ซานตัวปลอม !

เช่นเดียวกันกับบทโหนเถาวัลย์ ทาร์ซานจะต้องโหนเถาวัลย์ทุกตอนไป ถ้าไม่โหนเถาวัลย์ก็ทาร์ซานปลอมอีกเหมือนกัน และการที่เป็นนักว่ายน้ำนี่เองจอนนี่จึงมีปอดใหญ่ (หรือว่ามีปอดใหญ่จึงเป็นนักว่ายน้ำ - ก็แล้วแต่) เขาโห่เสียงทาร์ซานตามบทได้ก้องป่าเป็นที่ถูกใจทั้งผู้สร้างหนังและคนดูมาก เสียงโห่ของจอนนี่เป็นสัญลักษณ์ของหนังทาร์ซานซึ่งจะขาดเสียไม่ได้เช่นกัน

การเดินทางของทาร์ซานมีอยู่สี่วิธีคือเดินหรือวิ่งไปตามทางในป่า โหนเถาวัลย์ไปตามต้นไม้จากต้นหนึ่งไปอีกต้นหนึ่งเรื่อยๆ เขาจะว่ายน้ำไปถ้าต้องข้ามแม่น้ำลำธาร และวิธีสุดท้ายคือขี่ช้างไป

เมื่อหนังทาร์ซานของเมโทรออกฉายในอเมริกาใหม่ๆ มีผู้ชมผู้ใหญ่ที่เคร่งจริยธรรมจำนวนหนึ่งติติงและวิจารณ์หนังไว้สองข้อ ข้อที่หนึ่งคือการที่ทาร์ซานกับเจนมาอยู่กินด้วยกันเฉยๆโดยไม่มีพิธีแต่งงานกันนั้นดูชอบกล ไม่ถูกต้อง ! พวกเขารับไม่ได้ และอีกข้อหนึ่งเห็นว่าทั้งทาร์ซานและเจนนุ่งน้อยห่มน้อยเกินไป พวกเขาก็รับไม่ได้อีก เหมือนกัน

ทาร์ซานจะป้องปากโห่ออกไปเมื่อเขาต้องการเรียกฝูงช้างให้มาช่วย หรือเมื่อจะขี่ช้าง แต่มีหลายตอนที่ทาร์ซานกับเจนเกาะเถาวัลย์เส้นเดียวกันโหนข้ามลำธารไป แล้วทาร์ซานก็โห่ขึ้นมาโดยไม่มีเหตุผล

ตรงนี้เองทำให้แฟนหนังชาวไทยช่างคิดบางคนติติงและตั้งปุจฉาว่า ทำไมทาร์ซานจะต้องโห่ในตอนนั้น และเขาก็วิสัชนาเสียเองว่า ที่ทาร์ซานต้องโห่ระหว่างกำลังโหนเถาวัลย์ไปกับเจนนั้น เกิดจากอุบัติเหตุซึ่งเป็นความสะเพร่าของเจน ! แต่ผู้กำกับเห็นว่าเสียงของทาร์ซานตอนนั้นโหยหวนดี ตั้งแต่นั้นมาก็เลยสั่งให้ทาร์ซานโห่เมื่อโหนเถาวัลย์ทุกครั้งไป ใครอ่านตรงนี้แล้วไม่เข้าใจก็ลองไปถามเพื่อนดู !

ผมเคยดูหนังทาร์ซานสมัยที่มีแต่หนังขาวดำเท่านั้น ต่อมามีการทำหนังทาร์ซานขึ้นอีกหลายชุดเป็นหนังสีรวมทั้งหนังที.วี. และเดี๋ยวนี้ทำเป็นหนังการ์ตูน VCD ออกขายทั่วโลกปีละเป็นล้านๆแผ่น

แต่เขาว่าหนังทาร์ซานรุ่นหลังๆ ชักเพี้ยนออกไปจากเนื้อเรื่องและบรรยากาศเดิม ยิ่งใครที่อ่านจากหนังสือซึ่งพิมพ์จากต้นฉบับเดิมยิ่งแล้วใหญ่ เพราะสิ่งที่เขาจินตนาการได้จากหนังสือทาร์ซานนั้นไม่ตรงกับในหนังที่ได้ดู

ทาร์ซานเป็นนวนิยายผจญภัยเกี่ยวกับป่าดงพงไพร สร้างภาพของอัฟริกาให้คนทั่วโลกได้เห็น แต่ก่อนที่ Edgar Burroughts จะเขียนเรื่องทาร์ซานขึ้นในอเมริกา มีนักเขียนอังกฤษผู้ยิ่งใหญ่สองคน ได้เขียนนวนิยายผจญภัยเกี่ยวกับป่าดงพงไพรขึ้นแล้วก่อนเขา คือ Rudyard Kipling เขียนเรื่อง "เมาคลี" และ Sir H. Rider Haggard เขียนเรื่อง "สมบัติพระศุลี" (King Solomon's Mines) เรื่อง "สาวสองพันปี" (She) และเรื่องชุดผจญภัยในอัฟริกาชื่อ "อัลลันควอเตอร์เมน" (Allan Quatermain) อันโด่งดัง

เชื่อว่าหนังสือของนักเขียนทั้งสองคน มีอิทธิพลที่ทำให้ Edgar Burroughs เขียนเรื่องทาร์ซานขึ้น และเรื่องทาร์ซานก็เป็นแนวแฟนตาซีแบบง่ายๆมากกว่า ดังนั้นเมื่อเอามาสร้างเป็นหนังจึงทำให้ทาร์ซานโดดเด่นเป็นขวัญใจของเด็กๆไปทันที

ตัวนาย Kipling นั้นใช้ชีวิตโชกโชนอยู่ในอินเดีย เขาจึงเขียนเรื่องเมาคลี-ลูกหมาป่าได้อย่างดีเยี่ยม ส่วน Sir Rider Haggard ก็ท่องอยู่ในอัฟริกาหลายปีจนทะลุปรุโปร่งเช่นกัน เรื่องของเขาจึงกลมกลืนกับป่าอัฟริกาได้โดยไม่มีที่ติ แต่สำหรับ Edgar Burroughs เขาเขียนเรื่องทาร์ซานขึ้นโดยไม่เคยไปอัฟริกาเลย

ทาร์ซานสร้างความหฤหรรษ์ให้เด็กๆ พวกเขาได้เห็นสัตว์ป่า ธรรมชาติและการผจญภัยที่น่าตื่นเต้น สร้างให้เด็กจินตนาการที่จะอยู่กับธรรมชาติร่วมไปกับตัวทาร์ซานมาแล้วอย่างน้อยก็สามชั่วคน

ในอนาคตอันใกล้ เด็กไทยของเราอาจจะได้เห็นสัตว์ป่าและป่าคงพงไพรเฉพาะแต่ในหนังทาร์ซานก็เป็นได้ เพราะป่าของเราถูกทำลายลงไปทุกๆวัน

ผมลองเข้าไปค้นหาทาร์ซานของผมในเว็บไซด์ต่างๆ พบเรื่องราวของทาร์ซานมากมายจนอ่านไม่หวาดไม่ไหว ใครสนใจก็เข้าไปค้นดูได้ที่ชื่อ Edgar Rice Burroughs นักประพันธ์ชาวอเมริกันที่แต่งเรื่องทาร์ซานขึ้นเมื่อเกือบร้อยปีมาแล้ว หรือค้นชื่ออื่นที่เกี่ยวข้องดู ถ้าค้นได้เรื่องอย่างไรก็เอามาเล่าสู่กันฟังบ้าง...O

เมื่อวันที่ : 24 ก.ย. 2548, 05.20 น.
ผู้อ่านที่รัก,
นิตยสารรายสะดวก และผู้เขียนยินดีรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดงความเห็นได้โดยอิสระ ขอขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมีส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...