นิตยสารรายสะดวก  Regular Articles  ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๘
อาการของผู้ก้าวหน้าในธรรม (คำเทศน์ โดย ชยสาโรภิกขุ)
รจนา ณ เจนีวา
...ชีวิตเรามีจำกัด เหมือนเรา คล้าย ๆ​​ ว่า...
อาการของผู้ก้าวหน้าในธรรม เราอ่านหนังสือ ​แต่ว่าไม่​สามารถ​จะเห็นหนังสือ​ทั้งหมด เราอ่านวันละหน้า วันละหน้า ​โดยไม่รู้ว่า หนังสือนี้มีกี่หน้า ชีวิตเรามัน​เป็นอย่างนั้น​

คำเทศน์​โดย ชยสาโรภิกขุ


สิ่ง​ที่​พระพุทธศาสนาให้ไว้​กับโลกอย่างหนึ่ง​ ​เป็นสิ่ง​ที่สำคัญมาก ก็​คือ คอนเซ็ปท์ของมนุษย์​ที่สมบูรณ์ ในโลกตะวันตก สังเกตว่า ไม่ชัดเจนเลย​ ระบบจิตบำบัดของตะวันตกก็อยู่​​ที่การระงับโรคจิตต่าง ๆ​ ซิกมันด์ ฟรอยด์เคยพูดว่า เป้าหมายของการรักษาโรคจิตของ​เขาก็​คือ ให้เหลือ​แต่​ความทุกข์ธรรมดา ​คือ ​เขาไม่​ได้มุ่ง​ที่​จะนำ​ใคร​ไปสู่​ความไม่มีทุกข์เลย​ ​แต่ให้มันเหลือ​แต่​ความทุกข์สามัญ ​แม้​จะยอมรับว่า มนุษย์อยู่​​ได้​โดยไม่​ต้อง​เป็นทุกข์เลย​ ​เป็นแนว​ความคิด​ที่ไม่ปรากฏในภูมิปัญญาของตะวันตก

ยิ่งกว่านั้น​ก็ยังมีการบูชา​ความทุกข์ ​โดยถือว่า ​ความทุกข์​เป็นสิ่ง​ที่ดี คนเรา​จะสูง ​จะน่าเคารพ ด้วยการยอม​เป็นทุกข์​เพื่อคนอื่น อาจ​จะในบางกรณีเกิด​ความคิดหรือมุมมองว่า คนไม่มี​ความทุกข์เหมือน​กับว่า ไม่​เป็นมนุษย์​ที่สมบูรณ์ด้วยซ้ำ​ไป หรือว่า เหมือน​กับว่าหนีจากโลก​ที่​เป็นจริง แล้ว​อยู่​แบบไม่​เป็นธรรมชาติ อะไร​ทำนองนี้ ​แต่ทิษฐิ​ที่​จะ​ได้ยินบ่อย บ่อยมากก็​คือ ​ความทุกข์ในชีวิต​เป็น​ส่วน ๆ​ หนึ่ง​​ที่ควร​จะมี ​ถ้าไม่มี​ความทุกข์เลย​ ​ส่วน​ที่​เป็นสุข​จะไม่มีรสชาติ

อาตมาเคยคุย​กับชาวตะวันตกคู่หนึ่ง​ ทางฝ่ายผู้ชายมาเมืองไทย มาสนใจเรื่อง​การภาวนา ตั้งอกตั้งใจ นั่งสมาธิ ฝึกจิต แฟน​เขามาบ่น​กับอาตมา ว่าตอนนี้เหมือน​กับว่าแฟน​เขาดีเกิน​ไป ​เพราะ​เขาอธิบายว่า ชีวิตคู่มัน​เป็นอย่างไร อาตมาไม่ค่อยรู้เรื่อง​เท่าไร ​เขาบอกว่า ​ความสุขของพวกเรานี้​ต้องมีการทะเลาะกัน​เป็นระยะ ​เพราะว่าทะเลาะกันแล้ว​ กลับดีกันแล้ว​ ​จะหวานมาก มี​ความสุขมาก ตอนนี้มันเรียบ ๆ​ ไม่ค่อยทะเลาะกัน รู้สึกน่าเบื่อ ​กำลังคิดอยาก​จะแยกกันแล้ว​ ​เพราะอะไร​ ​เพราะแฟนใจดีเกิน​ไป ไม่ยอมทะเลาะ​กับ​เขาเลย​ ก็เลย​ ไม่มีลงก็ไม่มีขึ้น​ มันก็เงียบ ๆ​ เรียบ ๆ​ ใน​ความรู้สึกของ​เขาไม่น่าสนุก

นั่นก็ถือว่า อุปสรรคของชาวตะวันตกหลายคน ​คือ ยังไม่คิด​ที่​จะละทุกข์ ​เพราะอะไร​ ไม่คิด​ที่​จะปฏิบัติพ้นทุกข์ ​เพราะ หนึ่ง​ ไม่เชื่อว่า​เป็น​ไป​ได้ ​และ สอง ไม่แน่ใจว่า พ้นทุกข์แล้ว​​จะ​เป็นสิ่ง​ที่ดี ​เพราะกลัวว่า ​ถ้าไม่มีทุกข์แล้ว​ ​ความสุข​จะจืดชืด​ไป อาจ​จะมีชาวตะวันออกบางคนคิดอย่างนั้น​เหมือนกัน ดังนั้น​ การเข้าถึง​พระพุทธ ​พระธรรม ​พระสงฆ์ ​เป็น​ที่พึ่ง​เป็นสรณะ ก็​คือการปลูกฝังศรัทธาว่า มนุษย์เราพ้นจาก​ความทุกข์​ทั้งปวง​ได้ ​และการพ้นจาก​ความทุกข์นั้น​​เป็นสิ่ง​ที่เลิศ ​ที่ประเสริฐ ​ที่มนุษย์เข้าถึง​ได้ รู้​ได้ ​พระพุทธองค์คล้าย ๆ​ ​กับสอนให้เรา​เป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง อย่าพอใจ​ความสุขเพียงแค่นี้ ​เอา​ความสุข​ที่ดีกว่านี้ซะ ​เพราะมันยังมีอยู่​

แล้ว​​พระพุทธองค์ตรัสไว้บ่อย ๆ​ ว่า ชีวิตของคนเรามัน​เป็นแค่ฉากหนึ่ง​เท่านั้น​เอง เราเกิดไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้ว​ ​แต่เราจำไม่​ได้ บางสิ่งบางอย่างเรา​ต้องเชื่อ​พระพุทธเจ้าก่อน ​พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า การ​ที่เรา​จะกลับมาเกิด​เป็นมนุษย์หรือเกิด​เป็นเทวดา ยากมาก มนุษย์​ที่ตายแล้ว​กลับมาเกิด​เป็นมนุษย์หรือเทวดานี่น้อย ​ที่ตกลง​ไปนี่มาก

แล้ว​ใน​เมื่อเราจำไม่​ได้ว่า ชาติก่อนเราเคยทำบาปกรรมอะไร​ไว้ เรา​จะอ้าง​แต่บุญกุศล​ที่ทำในชาตินี้ว่า​เป็นเครื่องรับประกันว่า ตายแล้ว​ขึ้น​สวรรค์แน่ ไม่​ได้ ​เพราะบุญกุศล​ที่เรานึกว่ามากมาย​นั้น​ ​ถ้าเทียบ​กับบาปอกุศล​ที่เคยทำไว้ในชาติก่อนนั้น​ อาจ​จะนิดเดียว เราไม่รู้นะ งั้นจึงถือว่าปุถุชนอยู่​ในเขตอันตราย ถึง​แม้ว่า เรารู้สึกว่า​ เราไม่เคยทำ​ความชั่วอะไร​ เราไม่เคย​ได้เบียดเบียน​ใคร เรา​จะประมาทอย่างนั้น​ไม่​ได้ เราถือว่า ผู้​ที่ยังไม่ถึงกระแส​พระนิพพาน ยังไม่ถึงขั้น​พระโสดาบัน อยู่​ใน​ที่อันตราย นี่ก็​คือหลัก​ความไม่ประมาท

จริงอยู่​ ทุกวันนี้เราอาจ​จะมี​ความสุข อะไร​ต่ออะไร​ก็ไม่ค่อย​จะทุกข์มาก พออยู่​​ได้ ​แต่ก็ไม่แน่นอน บางคนก็ไม่เชื่อเรื่อง​ชาติก่อน ​ถ้ามีจริงทำไมเราจำไม่​ได้ ถามว่า วันนี้วัน​ที่เท่าไรล่ะ วัน​ที่ ๘ ตุลา ๒๕๔๖ ถามว่าวัน​ที่ ๘ ตุลาปี​ที่แล้ว​ทำอะไร​อยู่​ แค่ปี​ที่แล้ว​ก็จำไม่​ได้ ไม่​ต้องพูดถึงชาติก่อน แสดงว่า ปี​ที่แล้ว​ไม่มีจริง ​เพราะจำไม่​ได้ การเกิดของเรามันก็จำไม่​ได้ ​เพราะทำไมเราจึงจำ​ความเกิดไม่​ได้ ​เพราะมัน trauma (ทรมาน) มาก มันทุกข์ทรมานมาก แล้ว​จึงเซ็นเซอร์ออก ลบล้างออกจาก​ความทรงจำ

ตอนนี้เครื่องอัลตร้าซาวน์ดมันก็เจริญก้าวหน้ามาก ล่าสุด​ที่อังกฤษมีเครือ่ง​ที่ละเอียดมาก หมอ​เขาเจอว่าเด็กอายุเจ็ดเดือนยิ้ม ​เขาเห็นชัดลย ​เพราะมันสบาย มันลอยอยู่​ ​แต่หลังจากเกิดแล้ว​ ๔๐ กว่าวัน ทารกนี่ไม่ยิ้ม ​ต้องอายุสักหกอาทิตย์ เจ็ดอาทิตย์ เด็กจึง​จะยิ้ม​ได้ เกิดใหม่ ๆ​ นี่ยังไม่ยิ้มเลย​ ก็มีคนสงสัยว่า อยู่​ในท้องมารดาทำไมจึงยิ้ม ทำไมออกมาแล้ว​ไม่ยิ้มเลย​ ร้องไห้ ออกมาแล้ว​ทำอะไร​ อ้อ มาถึงแล้ว​ มันไม่ใช่ มันแว้ ทุกข์ มันก็ไม่อยากจำ ​ความเกิดนี่มันไม่อยากจำ ทรมาน

งั้น​พระพุทธองค์จึงชวน ไม่​ได้ชวนให้เชื่อมาก ​แต่เชื่อพอ​เป็นหลักในการพิจารณา ชวนให้เราศึกษา เช่น เรื่อง​​ความสุข เรื่อง​​ความทุกข์ ว่ามันคุ้มจริงหรือ แล้ว​​พระพุทธองค์ตรัสให้​เป็นผู้ลืมหูลืมตาต่อ​ความเกิด ​ความแก่ ​ความเจ็บ ​ความตาย ​ถ้า​ความสุข​เป็น​ความสุข​ที่​ใช้​ได้ ระลึกถึง​ความแก่ ​ความเจ็บ ​ความตาย มันก็​จะยังอยู่​เหมือนเดิม ​แต่​ถ้า​เป็น​ความสุข​ที่อาศัยการไม่รับรู้เรื่อง​​ความแก่ ​ความเจ็บ ​ความตาย ​ความพลัดพราก ​เป็น​ความสุข​ที่หลอกลวง ​เป็น​ความสุข​ที่เรา​เอา​เป็น​ที่พึ่งไม่​ได้

ถึง​แม้ทุกวันนี้ก็​จะเห็นคนจำนวนมากแก่ ​แต่ไม่ยอมรับว่าตัวเองแก่ ก็น่าสงสาร ก็อายุมากแล้ว​ก็ยัง​แต่งตัว ทาเล็บ ทาปาก ย้อมผม ดูแล้ว​ อาตมาขอสารภาพในฐานะ​เป็นนักบวช ดูแล้ว​รู้สึกสลดสังเวช ทีนี้​ถ้า​เป็นเมืองพุทธจริง ๆ​ นะ ​ถ้าหากว่า​ใครหลงถึงขนาดนี้ ​เพื่อนผู้หวังดี​ต้อง​ไปกระซิบว่า ทำไมจึงปล่อยจิตใจไว้อย่างนี้ ​คือปล่อยจิตใจให้หลงใหล แทน​ที่​จะ​เป็นอย่างนั้น​ ​เป็นอย่างไร ผู้​ที่แบบอายุมากแล้ว​ก็ยังใส่รองเท้าส้นสูง แล้ว​ก็ทานั้น​ทานี่ เห็น​ใคร​ที่ว่า​แต่งตัวธรรมดา ไม่ย้อม ไม่อะไร​ ก็ว่า โอ๊ย ทำไมจึงปล่อยตัวอย่างนี้ ผู้​ที่ปล่อยใจให้หลงใหลก็​ไปหาว่าคน​ที่ไม่ปล่อยว่า ปล่อยตัว ไม่รู้​ความหมาย กลาย​เป็นว่าผู้​ที่ยอมรับว่าตัวแก่ กลาย​เป็นคน​ที่ทำผิด

แล้ว​พวกคนแก่ พวกนกกระจอกเทศมุดหัวลง​ไปในทราย ไม่แก่ ไม่แก่ คิดว่า ​จะไม่ยอมรับรู้ต่อ​ความแก่ แล้ว​ก็ไม่แก่ ไม่ยอมรับรู้ว่า ​กำลัง​จะตาย ไม่ตาย บางทีลุกขึ้น​ก็โอ๊ย ทำไม​เป็นอย่างนั้น​ ​แต่ก่อนมันไม่​เป็นอย่างนี้ ทำท่าแบบงง ๆ​ เอ๊ อายุแปดสิบแล้ว​ งง ๆ​ ทำไม​เป็นอย่างนี้ ​แต่ก่อนมันไม่​เป็นอย่างนี้ ก็แน่นอน ​แต่ก่อนอายุห้าสิบมันก็ไม่​เป็นอย่างนี้ ตอนนี้อายุแปดสิบมันก็​เป็นอย่างนี้ ก็เรียกว่า แก่ เรียกว่า ​กำลังแก่

นี่​ต้องยอมรับ​ความจริงว่า ชีวิตเรามีจำกัด เหมือนเรา คล้าย ๆ​ ว่า เราอ่านหนังสือ ​แต่ว่าไม่​สามารถ​จะเห็นหนังสือ​ทั้งหมด เราอ่านวันละหน้า วันละหน้า ​โดยไม่รู้ว่า หนังสือนี้มีกี่หน้า ชีวิตเรามัน​เป็นอย่างนั้น​ ​ถ้าเรารู้ว่าขนาดนี้ ขนาดนี้ก็ว่า​ไปอย่าง มันอาจ​จะขนาดนี้ก็​ได้ หนังสือหนา ๆ​ ก็มี หนังสือบาง ๆ​ ก็ ชีวิตคนมีอายุยืนก็มี อายุสั้นก็มี เราก็ไม่มีเครื่องรับรองว่า เรา​จะอยู่​​ได้ถึงเจ็ดสิบ แปดสิบ เก้าสิบ มันตาย​ได้ทุกวัน เราไม่มีสิทธิอะไร​​ที่​จะอยู่​ให้ครบแปดสิบปี เก้าสิบปี ​เพราะชีวิตเราไม่แน่นอน

​เพราะ​ความตายแน่นอน ​แต่เวลา​ที่​จะตายไม่แน่นอน นี่จึงทำให้ชีวิตมีคุณค่า ทำให้เวลามีค่า ​พระพุทธศาสนาจึงมีหลักว่า ชีวิต​ที่ประเสริฐ ชีวิต​ที่ปราศจาก​ความโลภ ​ความโกรธ ​ความหลง ​เป็นชีวิต​ที่เต็ม​ไปด้วย​ความเมตตากรุณา​และปัญญา ​เป็นชีวิต​ที่​เป็นอิสระอย่างยิ่ง ถึง​แม้ว่า สำนวน​ที่เรามัก​จะ​ใช้กัน ก็พูดในทางลบมากกว่า ว่า ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง นี่ก็ฟังบ่อย ๆ​ ​แต่ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงแล้ว​ ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไร​เหลือ ว่างเปล่า ​แต่พอสิ่ง​ที่ไม่ดีไม่อยู่​ สิ่ง​ที่ดีก็งอกงาม ​เมื่อกี้ก็พูดถึง​ความก้าวหน้าใน​การปฏิบัติ เราควร​จะเห็น​ความโลภลดน้อยลง ​ความโกรธลดน้อยลง ​ความหลงใหลมัวเมาต่าง ๆ​ ลดน้อยลง ในขณะเดียวกัน ​ความเมตตากรุณาก็มากขึ้น​ ปัญญาก็มากขึ้น​ ​ความบริสุทธิ์ ​คือ ​ความไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเศร้าหมองก็ปรากฏ​ได้ชัด

​เมื่อ​เป็นเช่นนี้ เราก็มีแนวทาง ไม่ว่า​จะ​เป็นนักบวชหรือฆราวาส เราก็มีแนวทางว่า ​จะประกอบอาชีพอะไร​ก็ตาม หน้า​ที่ก็ตาม ​ต้อง​เป็น​ไปในทาง​ที่​ความโลภลดน้อยลง ​ความโกรธลดน้อยลง ​ความหลงลดน้อยลง กุศลธรรมเพิ่มมากขึ้น​ นี่​คือหลักตายตัว ​เป็นแผน​ที่ ​เป็นเครื่องระลึกตลอดเวลา

นี่เรามี​ความรู้สึกก้าวหน้า มีทาง​ไป ​เมื่อเราตั้งใจอย่างนี้ ​ความรู้สึกบางอย่างก็​จะเปลี่ยนแปลง​ไป อย่าง​ความละอายต่อบาป ​ความเกรงกลัวต่อบาปเกิดขึ้น​ หรือว่าเจริญมากขึ้น​ ละเอียดขึ้น​ ป้องกันอันตรายต่าง ๆ​ ​ได้มากขึ้น​ เรารู้สึกว่า​ ​เมื่อเรา​เป็น​เพื่อน​กับตัวเอง หวังดีต่อตัวเอง นั่น​คือ หวัง​ความพ้นทุกข์ให้​กับตนเอง นี่​คือการ​เป็น​เพื่อน ​เป็นมิตร ​เป็นกัลยาณมิตร​กับตัวเอง​โดยแท้ ​คือหวังสิ่งสูงสุดให้​กับตัวเอง ​คือการพ้นทุกข์ ​เมื่อ​เป็นเช่นนั้น​ เรา​จะรู้สึกว่า​ เรา​เป็น​เพื่อน​กับตัวเองนะ เราเคารพนับถือตัวเอง จนถึงขั้น​ที่ว่าไม่อยากทำอะไร​ ไม่อยากพูดอะไร​​ที่ไม่ดีไม่งาม ​เพราะเราเคารพตัวเองมากเกิน​ไป รักตัวเองมากเกิน​ไป​ที่​จะปล่อยให้จิตใจเศร้าหมอง

​เมื่อเราดูจิตใจบ่อย ๆ​ เข้าใจ​ความ​เป็นเหตุ​เป็นปัจจัยของบุญ​และบาป​ได้มากขึ้น​ ​ความเชื่อในกฎแห่งกรรมก็เพิ่มขึ้น​ทุกวัน นี่ก็​เป็นเครื่องชี้บอกถึง​ความก้าวหน้าใน​การปฏิบัติด้วย หาก​ความเชื่อในกฎแห่งกรรมเพิ่มขึ้น​เรื่อย ๆ​ นี่ก็เรียกว่าถูกทางแล้ว​ ​เมื่อเราเชื่อในกฎแห่งกรรม ​ความเกรงกลัวต่อการทำบาปกรรมมัน​จะปรากฏ ​เมื่อเราเห็นคนอื่นทำบาปกรรม รู้สึกสยดสยอง ไม่ยินดี กลัว แล้ว​เรา​จะยอมลำบาก​เพื่อ​จะรักษาอุดมการณ์ของเราไว้ ตัวเองลำบากดีกว่าทำบาป

มี​พระเถระรูปหนึ่ง​ รับนิมนต์​ไปฉันในบ้านเศรษฐี เศรษฐีคนนี้ยินดีในวัตถุมาก หลงใหลมากพอสมควร ​เขามีแหวนทองวงหนึ่ง​ ​เขาวางไว้ในห้อง​ที่​พระ​กำลังฉัน ด้วย​ความประมาท ออก​ไปทำธุระหน้าบ้าน ในขณะ​ที่​พระท่าน​กำลังฉัน นกกระสาตัวหนึ่ง​บินเข้ามา เห็นแหวนทอง ไม่รู้คิดว่าอะไร​ กินลง​ไปเลย​ ​เป็นนกกระสา​ที่อยู่​แถว ๆ​ นั้น​ ​พระเถระเห็น​แต่ไม่พูดอะไร​ เจ้าของบ้านกลับมาในห้อง เห็นแหวนหาย ก็ไม่มี​ใครเข้า ไม่มี​ใครออก มี​แต่​พระองค์นั้น​ ก็หาว่า ​พระขโมย​ไป ​พระเถระก็ปฏิเสธ ​แต่ว่าไม่บอกว่านกกระสากิน ​เพราะรู้ว่า คนนี้ใจร้าย ​ถ้ารู้นกกระสากิน ก็​จะฆ่านก

คนนี้จับ​พระเถระ​เอาไว้ ตีแล้ว​ก็ทรมาน ​จะบังคับให้บอกว่า ​เอาแหวนไว้ตรงไหน ​พระเถระเงียบ ถูก​เขาทรมาน ​แต่ว่าไม่พูด ถือว่าตัวเองทุกข์ทรมาน ดีกว่าคนนี้​ไปฆ่านกตัวนั้น​ ทีนี้ในขณะ​ที่​เขาทรมาน นกมันก็บินเข้ามาในห้อง มันคงเชื่อง แล้ว​ก็​เนื่องจากอารมณ์ของคนนี้ร้ายมาก ​เขาเตะนกตาย พอนกตัวนั้น​ตาย ​พระเถระจึงบอกว่า แหวนคง​จะอยู่​ในท้องของนกตัวนั้น​ ​เขาก็ผ่าออกมาเจอแหวนทอง โอ เสียใจมาก ตัวเอง​เป็นบาป​เป็นกรรม ขอขมา ​พระท่านก็ไม่ถือสา ท่านก็ให้อภัย

นี่เรื่อง​​ที่เล่าในตำรา ในตำราก็บอกว่า ถึง​แม้ว่าขอขมาแล้ว​​พระท่านยกโทษให้ ตายแล้ว​คนนั้น​ก็ตกนรก นั่นก็​เป็นตัวอย่าง​ที่ผู้มีจิตใจสูง ถือว่าตัวเองเดือดร้อน ตัวเองทุกข์ลำบาก ก็คุ้มค่า ​ถ้าทำยอม​เพื่อคน​ที่รัก หรือ​เพื่อนก็อย่างหนึ่ง​ ​แต่ท่านก็ยอม​แม้​เพื่อช่วยชีวิตของนกกระสาตัวหนึ่ง​

​ความคิดของเราหลายอย่างมันก็​จะเปลี่ยน​ไป​โดยศรัทธา เปลี่ยนด้วย​ความคิดพิจารณา ​เมื่อเราเห็น​ความน่าเกลียดของบาปอกุศลชัดขึ้น​ เราเห็น​ความงดงามของ​ความดี เราก็ลองทบทวนตัวเอง มีอะไร​ไหมในโลก​ที่งดงามมากกว่า​ความดีของคน การเสียสละ ​ความใจบุญของคน การ​ที่คน ๆ​ หนึ่ง​ช่วยคนอื่น​โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน นี่ก็​เป็นสิ่ง​ที่อัศจรรย์​และสวยงามมาก การ​ที่คน ๆ​ หนึ่ง​ถูกชักชวนให้ทุจริต ​แต่ไม่ยอม รักษา​ความ​เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ​ทั้ง ๆ​ ​ที่มีการชักชวน มีการกดดัน มีการยั่วยวนอย่างไร ​แต่ว่า​สามารถตั้งอยู่​ใน​ความดี​ได้ นี่มันสวย มันงาม มันพูดไม่ถูก

​แต่พอเราปฏิบัติแล้ว​ จิตใจเราไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วุ่นวาย เรา​จะ appreciate (ซาบซึ้ง ชื่นชม) ​ความดีมากขึ้น​ มากขึ้น​ มากขึ้น​​โดยลำดับ ​และเราก็​จะกลัว ​และสยดสยองใน​ความไม่ดีมากขึ้น​ มากขึ้น​ มากขึ้น​ นี่​คือ อาการของผู้​ที่​กำลังก้าวหน้าในธรรม จิตใจ​ที่​ได้รับการฝึกอบรมก็​จะมุ่งมั่นในทางธรรมมากขึ้น​ แล้ว​เรา​จะเห็น​ได้ด้วยว่า ประโยชน์ตน ประโยชน์คนอื่น ​เป็นอันหนึ่ง​อันเดียวกัน อย่างเช่น พอเราปฏิบัติแล้ว​ เรารู้สึกเห็น​ความทุกข์ของคนอื่นนี่ ทนไม่​ได้ อยากช่วย เท่า​ที่​จะช่วย​ได้ ​แต่ทำอย่างไร​ความสงสารของเราไม่​ได้กลาย​เป็น​ความเศร้า อะไร​​คือสิ่ง​ที่รักษา​ความสงสารให้​เป็น​ความกรุณา​ที่​เป็นกุศลธรรม ไม่เสื่อม​เป็น​ความเศร้า คำตอบก็​คือ ปีติ​ที่เกิดจากการภาวนา ​ต้องเข้าถึงปีติภายใน ปีติหล่อเลี้ยงจิตใจ ถึง​จะสงสาร

​ความสงสาร​เพื่อนมนุษย์​ที่​เป็นทุกข์ ​โดยไม่จำ​เป็น​ต้อง​เป็นทุกข์ ​ถ้า​เป็นทุกข์​เพราะ​ความประมาท ​เพราะ​ความหลง มันก็​เป็นแค่​ความสงสาร ​แต่ไม่ถึง​กับซึมเศร้าหรือเสียใจจนเกิน​ไป เราพัฒนาจิตใจของตัวเองก็​ได้คุณธรรม​ที่ช่วยให้การสร้างประโยชน์สร้าง​ความสุขให้​กับคนอื่น​เป็น​ไปในทาง​ที่​พอดี​และยั่งยืน การช่วยคนอื่น​ถ้าเราไม่ฝึกจิตของเราอย่างสม่ำเสมอ การช่วยคนอื่นมักไม่ประสบ​ความสำเร็จเท่า​ที่ควร ​เพราะ​เมื่อเราไม่รู้เท่าทันกิเลสอยู่​ในจิตใจของเรา กิเลสนั้น​​ที่เรามองไม่เห็นก็​สามารถครอบงำจิต​ได้ง่าย

อย่างเช่น ​ความยินดีในการมีอำนาจ การ​ที่เรา​สามารถบังคับบัญชา หรือว่าสั่งให้คนทำอย่างนั้น​อย่างนี้​ที่เรามั่นใจว่า ​เป็น​ไป​เพื่อประโยชน์​เขา ในขณะเดียวกัน ตัว​ความยินดีในการมีอำนาจเหนือชีวิตคนอื่นก็​จะเข้ามาครอบงำจิตใจเรา​ได้ หรือ​ความหวังสิ่งตอบแทน ถึง​แม้ว่าไม่ใช่ว่า หวังเงินหวังทอง หรือหวังตำแหน่ง นั้น​ยังหยาบอยู่​ ​แต่มัน​เป็น​ความหวัง​ความเคารพ หวัง​ความรัก ​ต้องการให้​เขาซาบซึ้งในบุญคุณ ​เป็นต้น ถึง​แม้ว่า​จะไม่ค่อยรู้สึกตัว ​ถ้าหากว่า เราทำแล้ว​มีคนกล่าวหาว่า เราทำด้วยหวังอะไร​สักอย่าง รู้สึกน้อยใจเสียใจว่า ทำไม​เขามองเราอย่างนั้น​ ​ถ้าเกิดอาการน้อยใจ แสดงว่ามัน​ต้องมีอะไร​อยู่​

​แต่​ถ้าเราขาด​ความรู้ตัว รู้เท่าทันกิเลสแล้ว​ฉลาดในการป้องกันไม่ให้กิเลสเกิดขึ้น​ ฉลาดในการระงับกิเลส​ที่เกิดขึ้น​แล้ว​ ​ถ้าขาดการฝึกอบรมด้านใน เรามัก​จะทำ​ความดีตามอารมณ์มากเกิน​ไป หรือว่าบางทีก็ทำเสียจนหมด​กำลัง ​เพราะว่าผู้​ที่​ต้องการ​ความช่วยเหลือนี่ไม่มี​ที่สุด ไม่มีประมาณ บางทีเหน็ดเหนื่อยมาก ก็เลย​หมด​กำลัง ​ต้องพักเสียนาน บางทีป่วย​เป็นโรคนั้น​โรคนี้ ​เพราะ​เอา​แต่เจตนาดี​เป็นหลัก ​แต่ไม่มีหรือว่าขาดปัญญาในระดับใดระดับหนึ่ง​ แล้ว​คิดว่าการให้เวลาแก่ตัวเองก็​เป็น​ความเห็นแก่ตัว​ไป ​ที่จริงการให้เวลา​กับตัวเอง​เป็น​ส่วนหนึ่ง​ในการสร้างประโยชน์​ส่วนรวม

ผู้​ที่​จะสร้างประโยชน์แก่สังคม หนึ่ง​ ​คือผู้​ที่รู้ตัวเอง ผู้​ที่มีจิตใจเข้มแข็ง มี​ความอดทน แล้ว​ผู้​ที่ยังมีอัตตาสูง มีโลภ มีโกรธ มีหลง ก็คงสร้างประโยชน์​ที่แท้จริง​ได้น้อย ผู้​ที่ฝึกฝนอบรมกายวาจาใจของตน​เป็นประจำ ทำอะไร​ทำด้วยจิตใจ​ที่บริสุทธิ์ ล้วนทำด้วย​ความเมตตากรุณา ทำด้วยปัญญา ผู้นี้ทำอะไร​ก็​เป็นประโยชน์​ทั้งนั้น​

​การปฏิบัติธรรมหนึ่ง​ก็​เป็นหน้า​ที่​โดยตรงต่อชีวิตของเราเอง สอง ก็​เป็นแนวทาง​ที่ชีวิตเรา​จะสร้างสรรค์ เพิ่มโอกาส เพิ่ม​ความ​สามารถ​ที่​จะทำสิ่ง​ที่ดีงามในสังคม ​เมื่อจิตใจเราไม่​ต้องการอะไร​จาก​ใคร ไม่อยาก​จะ​ได้ แล้ว​ฉลาดในการให้ อาตมาว่า อย่างนี้สังคม​ต้องการมาก ​เพราะฉะนั้น​ก็ถือว่า ​การปฏิบัติธรรมไม่ใช่​เป็นเรื่อง​​ส่วนบุคคล หรือ​เป็นเรื่อง​ด้านในอย่างเดียว ​เพราะด้านในด้านนอกสัมพันธ์กันอยู่​เสมอ ​และผู้​ที่ปฏิบัติด้านในให้ดีแล้ว​ ​เป็นผู้​ที่มีสมรรถภาพสูง ผู้​ที่​พร้อม​จะทำสิ่ง​ที่ดีงาม​ได้ตลอดเวลา

วันนี้อาตมาก็​จะขอแสดงธรรม​แต่เพียงแค่นี้

 

F a c t   C a r d
Article ID A-1158 Article's Rate 10 votes
ชื่อเรื่อง อาการของผู้ก้าวหน้าในธรรม (คำเทศน์ โดย ชยสาโรภิกขุ)
ผู้แต่ง รจนา ณ เจนีวา
ตีพิมพ์เมื่อ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๘
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ ประกายธรรมนำทาง
จำนวนผู้เปิดอ่าน ๑๓๔๔ ครั้ง
จำนวนความเห็น ๕ ความเห็น
จำนวนดอกไม้รวม ๔๙
| | | |
เชิญโหวตให้เรตติ้งดอกไม้แก่ข้อเขียนนี้  
R e a d e r ' s   C o m m e n t
ความเห็นที่ ๑ : ศาลานกน้อย [C-5719 ], [000.000.000.000]
เมื่อวันที่ : 31 ส.ค. 2548, 22.00 น.

ผู้อ่าน​ที่รัก,

นิตยสารรายสะดวก​ ​และผู้เขียนยินดีรับฟัง​ความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดง​ความเห็น​ได้​โดยอิสระ ขอขอบคุณ​และรู้สึก​เป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมี​ส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...​

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๒ : ดำรงเฮฮา [C-6203 ], [58.8.26.162]
เมื่อวันที่ : 03 พ.ย. 2548, 02.45 น.

ขอบคุณครับ​ คุณ Rotjana Geneva ​ที่เมตตาอ่านงานเขียนของดำรงเฮฮา

ธรรมะธรรมโมอย่างนี้ ขอให้บรรลุธรรมไว ๆ​ นะครับ​

ว่า​แต่ อย่าลืมมาโปรดผมบ้างเน้อออออ

จาก
ดำรงเฮฮา
damrongheha.com

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๓ : ลุงมะเฟือง [C-6897 ], [61.90.18.66]
เมื่อวันที่ : 02 ก.พ. 2549, 14.54 น.

เพิ่ง​จะ​ได้อ่านครับ​ ​เป็นบุญ​โดยแท้​ที่เปิดอ่าน ขอบคุณคุณรจฯ ​ที่เผื่อแผ่คำสอนวิเศษนี้ลงในนิตยสารรายสะดวก​ของพวกเรา

อนุโมทนาครับ​

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๔ : ชุลีพร [C-7686 ], [221.128.86.178]
เมื่อวันที่ : 22 พ.ค. 2549, 11.23 น.

บังเอิญ​ได้เข้ามาในเว็บนี้ ​เพราะอยากรู้จัก panforte (ค้นคำจาก google) แล้ว​ก็เลย​หลงใหล​กับทุกคอลัสน์ของแมกกาซีนออนไลน์ฉบับ​นี้ มี​ความน่ารัก​และอบอุ่น บวก​กับ​ความเพลิดเพลิน ตัวเอง​เป็นคนทำแมกกาซีนกระดาษมากว่ายี่สิบปี ไม่เคยคิดว่าแมกกาซีนออนไลน์ฉบับ​นี้​จะมีเสน่ห์​ได้เพียงนี้ ขอชมเชยค่ะ​ แล้ว​​จะแวะเข้ามาบ่อยๆ​ นะคะ​

หมายเหตุ: คำเทศน์ของท่ายชยสาโรคมคายเสมอ ​จะดีไหมคะ​​ถ้าหยิบบางประโยคมาโปรยในหน้าโฮมเพจ หรือตำแหน่ง​ที่สะดุดตานิดหนึ่ง​ อาจ​จะมีคำเทศน์ของครูบาอาจารย์อื่นๆ​ มาสลับบ้างก็ดีนะคะ​

แจ้งลบข้อความ


ความเห็นที่ ๕ : พันนที [C-7771 ], [202.28.181.7]
เมื่อวันที่ : 28 พ.ค. 2549, 23.32 น.

ขอบคุณสำหรับบท​ความนี้นะคะ​ คุณรจนา
อ่านแล้ว​ตอบคำถามของตัวเอง​ได้หลายข้อเลย​
เหมือนมีเข็มทิศให้ก้าว​ไปอย่างถูก​ต้อง

แจ้งลบข้อความ


สั่งให้ระบบส่งเมลแจ้งการเพิ่มเติมความเห็น
 ศาลานกน้อย พร้อมบริการเสมอ และยินดีรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกท่าน  ติดต่อเว็บมาสเตอร์ได้ทางคอลัมน์ คุยกับลุงเปี๊ยก หรือทางอีเมลได้ที่ uncle-piak@noknoi.com  พัฒนาระบบ : ธีรพงษ์ สุทธิวราภิรักษ์  โลโกนกน้อย : สุชา สนิทวงศ์  ภาพดอกไม้ในนกแชท : ณัฐพร บุญประภา  ลิขสิทธิ์งานเขียนในนิตยสารรายสะดวก เป็นของผู้เขียนเรื่องนั้น  ข้อความที่โพสบนเว็บไซต์แห่งนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้โพสทั้งสิ้น