...วันนี้เมื่อหกสิบปีที่แล้ว เป็นครั้งแรกที่ชาวญี่ปุ่นได้ยินเสียงของสมเด็จพระจักรพรรดิ์ผู้สืบเชื้อสายมาจากอาทิตยเทพ......

เสียงโฆษกสถานีวิทยุประกาศว่า ต่อไปนี้จะเป็นการถ่ายทอดการออกอากาศที่สำคัญยิ่ง ขอให้ผู้ฟังทุกคนจงยืนขึ้น.... เข็มนาฬิกาบอกเวลาเที่ยงตรงของวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ 1945 ทุกชีวิตที่กำลังทำภารกิจต่างๆอยู่ตามสถานีรถไฟ ร้านค้า ตลาดและที่อยู่บ้านเรือนพากันหยุดนิ่ง เหมือนภาพยนต์ที่หยุดค้างกลายเป็นภาพนิ่ง

ประชาชนที่ฟังวิทยุอยู่ทั่วประเทศญี่ปุ่นลุกขึ้นยืนตรง..."สมเด็จพระจักรพรรดิจะทรงมีพระราชดำรัสแก่ประชาชนชาวญี่ปุ่น เราขอถ่ายทอดเสียงพระราชดำรัสนี้ด้วยความคารวะ"... เสียงโฆษกกล่าว เพลงสรรเสริญพระบารมีดังขึ้นเป็นอันดับถัดมา ความเงียบเกิดขึ้นชั่วขณะ แล้วพระสุรเสียงเสียงที่ราบเรียบของสมเด็จพระจักรพรรดิก็ดังขึ้น

"ประชาชนผู้ภักดีต่อข้าพเจ้า..." นี่นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประชาชนชาวญี่ปุ่นได้ยินเสียงของสมเด็จพระจักรพรรดิ์ของพวกเขา บางคนยังไม่เชื่อว่าเป็นเสียงจริงด้วยซ้ำ สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต กำลังทรงอ่านคำประกาศยอมแพ้ของญี่ปุ่นต่อกองทัพสัมพันธมิตร เป็นการยุติสงครามโลกครั้งที่สองด้านแปซิฟิคที่ยาวนานเกือบสี่ปี ก่อนที่นาทีนี้จะมาถึง มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ! ....

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1930 เป็นต้นมา รัฐบาลญี่ปุ่นของสมเด็จพระจักรพรรดิถูก ครอบงำโดยอำนาจทหาร รัฐบาลปลุกกระแส "คลั่งชาติ" ไปทั่วประเทศ กองทัพได้รับการพัฒนาให้ทันสมัย กองทัพญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองแมนจูเรียของจีน และประเทเกาหลี

และเมื่อเช้าวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 เครื่องบินจากกองทัพเรือญี่ปุ่นก็โจมตีอ่าวเพิร์ลที่เกาะฮาวาย เป็นการประกาศสงครามกับอเมริกา อังกฤษและฝรั่งเศส กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้ายึดครองประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ทั้งหมด รวมทั้งหมู่เกาะต่างๆ จำนวนมากในมหาสมุทรแปซิฟิค

สองปีต่อมา กองทัพสัมพันธมิตรซึ่งนำโดยอเมริกันเริ่มตีโต้กลับ ยึดเกาะน้อยใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิคกลับคืน แสนยานุภาพทางเรือของอเมริกันรุกคืบเข้าใกล้หมู่เกาะญี่ปุ่นเข้าไปทุกขณะ ญี่ปุ่นต้องพ่ายแพ้ในยุทธนาวีใหญ่ๆหลายครั้ง และต้องเสียเรือประจันบานยามาโต้ เรือประจันบานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งที่ภาคภูมิเป็นใจของชาวญี่ปุ่น

กองทัพของสมเด็จพระจักรพรรดิสู้แบบจนตรอกด้วยวิธีใหม่ นักบินกล้าตายจากหน่วยบิน คามิคาเซ (แปลว่าพายุของพระเจ้า) ขับเครื่องขับบินขับไล่บรรทุกระเบิดเต็มอัตรา ดำดิ่งพุ่งเข้าชนเรือรบอเมริกันอย่างบ้าคลั่งเป็นครั้งแรกในยุทธนาวีที่เกาะโอกินาวา แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งกองทัพสัมพันธมิตรได้

เดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 1945 กรุงโตเกียวและเมืองสำคัญหลายแห่งถูกฝูงบินทิ้งระเบิดอเมริกันทิ้งระเบิดใส่แบบปูพรม อเมริกันประกาศให้กองทัพญี่ปุ่นยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข ลางแพ้ปรากฎชัดขึ้นเรื่อยๆ

ในช่วงของสงคราม คณะผู้ปกครองประเทศที่กุมอำนาจอย่างแท้จริงคือคณะบุคคลที่เรียกว่า "สภาสงครามสูงสุด" ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมดหกคน เรียกกันว่า "หกผู้ยิ่งใหญ่" ประกอบด้วยผู้แทนจากกองทัพบก กองทัพเรือและจากรัฐบาลพลเรือน สมาชิกสภานี้จะตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆด้วยการลงมติเป็นเอกฉันท์เท่านั้น และต้องนำมตินั้นขึ้นถวายสมเด็จพระจักรพรรดิ ให้ทรงทราบก่อนการทำงาน สมาชิกสภาสงครามทั้งหกนี้ เป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐมนตรีเต็มคณะด้วย และคณะรัฐมนตรีจะประชุมไม่ได้ถ้า "หกผู้ยิ่งใหญ่" ไม่ได้เข้าประชุมด้วย

ในช่วงปลายสงคราม สภาสงครามสูงสุดนี้แบ่งพวกกันเป็นสองขั้ว หรือสองสาย คือ"สายเหยี่ยว" ซึ่งมีสามคนคือ พลเอกอานามิ รัฐมนตรีกระทรวงทหารบก พลเอกอูมาซุ หัวหน้าคณะเสนาธิการทหารบก และพลเรือโทโตยาด้า หัวหน้าคณะเสนาธิการทหารเรือ หัวหน้าสายเหยี่ยวคือพลเอกอานามิ ทรงอิทธิพลที่สุด เขาได้รับฉายาว่าเป็น "รูปแบบของซามูไรยุคใหม่อย่างแท้จริง"

พลเอกอานามิ เป็นขวัญใจของบรรดานายทหารหัวรุนแรงที่ไม่เคยมีความคิดว่า"ยอมแพ้"อยู่ในหัว ศักดิ์ศรีของสมเด็จพระจักรพรรดิและของประเทศมีค่าเกินกว่าที่จะเอาอะไรมาแลกได้ ในคณะรัฐมนตรีเขาเพียงคนเดียวสามารถยับยั้งมติของคณะ รัฐมนตรีได้ เขาเป็นผู้ที่กองทัพบกส่งเข้ามาเป็นตัวแทน

ส่วนอีกสายหนึ่งเรียกว่า "สายพิราบ" ประกอบด้วยพลเรือโทซูซูกิ นายกรัฐมนตรี นายโตโก รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ และพลเรือโทโยนาย รัฐมนตรีกระทรวงทหารเรือ หัวหน้าสายพิราบคือรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ สายพิราบมีท่าทีรอมชอมและเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องยอมแพ้

ในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1945 สภาสงครามสูงสุดเกิดความไม่ลงรอยกันในเรื่องแผนการยุติสงคราม และไม่อาจหาข้อยุติที่เป็นเอกฉันท์ได้ สายเหยี่ยวคัดค้านที่จะยอมแพ้ ทั้งยังไม่ต้องการได้ยินคำว่า "ยอมแพ้" จากใครๆอีกด้วย ผู้ที่มีความคิดว่าจะยอมแพ้หรือบังอาจเอ่ยคำว่า "สันติภาพ" จะถูกสายเหยี่ยวจับเข้าคุก

วันที่ 6 สิงหาคม ปี ค.ศ. 1945 เวลา 8.15 น. เครื่องบินทิ้งระเบิด บี. 29 ก็นำระเบิดปรมาณูลูกแรกของโลกทีมีชื่อเล่นว่า "ไอ้หนูน้อย" มาทิ้งเมืองฮิโรชิม่า ยังความพินาศย่อยยับให้กับเมืองและชีวิตพลเมืองอีกนับแสน

ระเบิดปรมาณูที่ทิ้งลงเมืองฮิโรชิมา สะเทือนขวัญคนทั้งประเทศญี่ปุ่นรวมทั้งองค์สมเด็จพระจักรพรรดิด้วย พวกเขาไม่ต้องการสงครามอีกแล้ว ความร้ายแรงของระเบิดลูกนี้นี้ แม้แต่นักบินอเมริกันเองที่นำระเบิดมาทิ้งก็ยังพลอยรู้สึกสยดสยองไปด้วย เมื่อเขามองลงไปยังเมืองเบื้องล่างที่เพิ่งจะทิ้งระเบิดลงไป... .

....แต่ก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ จากสภาสงคราม ตลอดทั้งวันที่ 6 และ 7 สิงหาคม

ในวันที่ 8 สิงหาคม สมเด็จพระจักรพรรดิ ไม่อาจทนเห็นประชาชนของพระองค์ล้มตายเป็นใบไม้ร่วงต่อไปอีกได้ จึงทรงแนะนำมายังนายกรัฐมนตรี ซูซูกิ ให้รัฐบาลยอมแพ้ และแนะให้นายกเรียกประชุมสภาสงครามทันที แต่สภาก็ไม่อาจประชุมได้ เพราะมีสมาชิกสายเหยี่ยวบางคนไม่มาประชุม อ้างว่า "ติดภาระกิจเร่งด่วน" อื่นและบ่ายวันนี้เอง ประเทศรัสเซียก็ถือโอกาสประกาศสงครามกับประเทศญี่ปุ่น

ความจริงตามรัฐธรรมนูญเมจิ สมเด็จพระจักรพรรดิสามารถสั่งให้กองทัพยอมแพ้ได้ แต่ในสถานการณ์ขณะนี้ ไม่แน่ว่ากองทัพบกจะยอมทำตาม และอาจมีการปฏิวัติจับพระองค์ไว้ก็ได้ พระราชอำนาจนี้เหมือนทรงมีพระแสงปืนซึ่งยิงได้เพียงนัดเดียว หากยิงแล้วไม่ได้ผลก็จะหมดอำนาจทันที สมเด็จพระขักรพรรดิ์จึงทรงใช้พวกสภาสงครามสายพิราบให้ต่อรองแทนในการประชุม ทรงสงวนพระราชอำนาจสูงสุดไว้ก่อนยังไม่นำออกมาใช้โดยตรง

วันที่ 9 สิงหาคม นายโตโก รัฐมนตรีต่างประเทศ เรียกประชุมสภาสงครามสูงสุดได้เมื่อเวลา 10.30 น และเหตุการณ์ก็คงเป็นไปอย่างเคย ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องการยุติสงคราม เมื่อประชุมกันได้สักพักหนึ่งก็มีรายงานด่วนส่งเข้ามาถึงโต๊ะประชุมว่า เมืองนางาซากิถูกระเบิดปรมาณูอีกเมืองหนึ่งแล้วเมื่อเวลา 11.00 น.

ระเบิดปรมาณูทั้งสองลูกที่ถูกทิ้งใส่พลเมืองญี่ปุ่นจนต้องตายไปเป็นเรือนแสน ไม่อาจทำให้หัวใจของนายพลสายเหยี่ยวอ่อนลงไปได้แม้แต่น้อย ทั้งสามคนโดยเฉพาะพลเอก อานามิ ซึ่งมีอิทธิพลที่สุดยังคงคัดค้านการยอมแพ้อย่างหัวชนฝา และเสนอให้ต่อรองกับสัมพันธมิตรดังนี้...

ระบบจักรพรรดิจะต้องคงอยู่ต่อไป ตามความเชื่อที่ว่าทรงสืบเชื้อสายมาจากอาทิตยเทพ ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องไม่เข้ามายึดครองเกาะใหญ่ของญี่ปุ่น กองทัพญี่ปุ่นจะปลดอาวุธตัวเอง ประเทศญี่ปุ่นจะจัดการเรื่องอาชญากรสงครามด้วยตัวเอง
พลเอกอานามิมีความคิดว่าถ้ากองทัพสัมพันธมิตรยกขึ้นบกที่เกาะใหญ่ ทหารญี่ปุ่นอีกนับล้านคนจะสู้แบบถวายชีวิต ซึ่งจะยังความสูญเสียให้แก่ข้าศึกอย่างมากจนอาจต้องยอมประนีประนอมตามข้อเสนอของเขา หรือยิ่งกว่านั้น ญี่ปุ่นอาจเป็นฝ่ายกลับมาชนะ ก็ได้

กลุ่มสายเหยี่ยวเห็นต่อไปอีกว่า การพาองค์สมเด็จพระจักรพรรดิไปหลบซ่อนอยู่ตามป่าเขา แล้วทำสงครามกองโจรกับข้าศึกที่เข้ามายึดครอง ยังดีเสียกว่าการยอมแพ้ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิ์จะต้องอยู่ใต้การปกครองของต่างชาติ

เวลา 13.00 น. การประชุมก็ยุติลงโดยไม่อาจจะตกลงอะไรกันได้เหมือนเดิม มีข่าวลือว่าถ้ารัฐบาลมีคำสั่งยอมแพ้ อาจมีรัฐประหารเกิดขึ้นโดยคณะทหารที่ไม่ต้องการยอมแพ้

นายกรัฐมนตรีซูซูกิ ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดิ และทรงมีพระกระแสรับสั่งให้เรียกประชุมสภาสงครามสูงสุดเป็นการด่วนอีกครั้งในเวลา 23.50 น. ต่อหน้า พระพักตร์ของพระองค์ แม้กระนั้นที่ประชุมก็ยังมีเสียงแตกเป็นสองฝ่ายอย่างเดิม ไม่อาจตกลงกันได้

จนกระทั้งเวลา 02.00 น. นายกรัฐมนตรีซูซูกิจึงขอเข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดิอีกครั้ง เพื่อขอให้ทรงมีพระราชวินิจฉัยชี้ขาด และก็ได้มีพระราชวินิจฉัยชี้ขาดเป็นทางการว่า ให้รัฐบาลประกาศยอมแพ้ทันที สมเด็จพระจักรพรรดิทรงเหนี่ยวไกพระแสงปืนที่มีกระสุนเพียงนัดเดียวนั้นแล้ว ...

จากนั้นก็ได้มีการร่างคำประกาศยอมแพ้อย่างเป็นทางการต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ที่ประชุมได้มีเงื่อนไขข้อหนึ่งว่า "ให้อเมริกันยอมรับในพระราชอำนาจของสมเด็จพระจักรพรรดิ" ประกาศนี้ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและส่งให้ทางอเมริกันตรวจดูว่าจะยอมรับหรือไม่

พลเอกอนามิกลับมายังกระทรวงทหารบก และได้แถลงเรื่องนี้ให้ที่ประชุม นายทหารระดับสูงทราบ กลุ่มนายทหารที่ไม่ต้องการยอมแพ้แนะนำให้นายพลอานามิลาออกจากคณะรัฐมาตรี หรือเข้ายึดอำนาจรัฐบาลเสียเอง แต่เขาปฏิเสธและสั่งว่าจะต้องทำตามพระประสงค์ของสมเด็จพระจักรพรรดิ นายทหารหนุ่มจำนวนหนึ่งไม่พอใจการยอมแพ้ และหวังว่าฝ่ายอเมริกันคงจะไม่ยอมรับเงื่อนไขพิเศษที่เสนอไป ซึ่งพวกเขาจะได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลทันที เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลกลับไปเจรจาขอยอมแพ้อีก บรรยากาศการรัฐประหารคุกรุ่นไปทั่วกรุงโตเกียว

วันที่ 11 สิงหาคม คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นยังรอคำตอบจากฝ่ายสัมพันธมิตร ขณะเดียวกัน คณะนายทหารเลือดร้อนที่เรียกตัวเองว่า "คณะเสือหนุ่ม" ก็ร่างแผน รัฐประหารรวมทั้งจัดทำรายชื่อบรรดาพวกพิราบที่จะต้องถูกฆ่าด้วย

วันที่ 12 สิงหาคม ทางรัฐบาลโตเกียวได้รับข่าวสารทางการทูตจากอเมริกันเรื่องการใช้ถ้อยคำภาษาในประกาศยอมแพ้ มีการเล่นแง่กันในถ้อยคำบางแห่งของประกาศ โดยเฉพาะส่วนที่กล่าวถึงบทบาทของสมเด็จพระจักรพรรดิ และก็เกิดการโต้เถียงกันในคณะรัฐมนตรีอีก ...ขณะนี้การรัฐประหารถูกวางแผนไว้เรียบร้อยแล้วเพื่อยับยั้งคำประกาศยอมแพ้

วันที่ 14 สิงหาคม เครื่องบินอเมริกันได้โปรยใบปลิวให้ประชาชนญี่ปุ่นทราบถึงการแลกเปลี่ยนบันทึกการยอมแพ้ที่ยังเป็นข้อโต้แย้งกันอยู่ สถานการณ์เรื่อง รัฐประหารดูจะเป็นจริงขึ้นทุกที

สมเด็จพระจักรพรรดิทรงเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเต็มคณะที่หลุมหลบภัยในพระบรมมหาราชวัง แล้วแจ้งว่าทรงรับเงื่อนไขในถ้อยคำของฝ่ายสัมพันธมิตรที่แก้มา แล้วทรงสั่งให้คณะรัฐมนตรีร่างคำประกาศยอมแพ้ที่พระองค์จะต้องแจ้งแก่ปวงชนชาวญี่ปุ่น รัฐมนตรีทุกคนรวมทั้งพลเอกอานามิต้องลงนามร่วมในคำประกาศยอมแพ้นี้ด้วย

แล้วบ่ายวันนั้นสมเด็จพระจักรพรรดิก็ทรงอ่านประกาศยอมแพ้ลงเครื่องบันทึกเสียง เพื่อให้สถานีวิทยุเปิดออกอากาศในวันรุ่งขึ้น

พลเอกอานามิ ได้กลับมาบ้านในเย็นวันนั้น เขาได้พูดคุยกันถึงเรื่องนี้กับพี่เขยและบอกว่า "ในฐานะของทหาร ผมจะต้องเชื่อฟังสมเด็จพระจักรพรรดิของผม" คืนนั้นเองนายพลเอกสายเหยี่ยว ผู้คุมอำนาจมหาศาลในกองทัพก็ถวายความภักดีสูงสุดด้วยการทำพิธีฮาราคีรี

คืนเดียวกันนี้ คณะเสือหนุ่มก็ส่งกำลังเข้าบุกพระบรมมหาราชวัง มีการต่อสู้กันขึ้น ทหารราชองค์รักษ์และผู้บังคับการถูกสังหาร คณะเสือหนุ่มยึดพระบรมมหาราชวังไว้ได้ในคืนนั้น พวกเขาต้องการยึดเครื่องบันทึกเสียงและขัดขวางการออกอากาศยอมแพ้ในวันนี้ของสมเด็จพระจักรพรรดิ ทั้งยังจะจับพระองค์ไว้เป็นตัวประกันด้วย

คณะเสือหนุ่มยังได้แยกย้ายกันไปตามที่ต่างๆ เพื่อจะฆ่าบุคคลสำคัญสายพิราบ นายกรัฐมนตรีซูซูกิ ได้หลบหนีออกจากบ้านได้อย่างหวุดหวิด ไปหลบซ่อนตัว ที่อื่น

รุ่งเช้า คณะเสือหนุ่มก็หมดกำลัง เมื่อหน่วยทหารจากภาคตะวันออกมาช่วยแก้ไขสถานการณ์ยึดพระบรมมหาราชวังคืน บรรดาเสือหนุ่มส่วนมากพากันฆ่าตัวตาย

ตลอดเช้าวันที่ 15 สิงหาคม สถานีวิทยุ เอ็น.เอช.เค.ก็ประกาศให้ประชาชนคอยฟังข่าวสำคัญยิ่งตอนเที่ยงตรง เมื่อถึงเวลานั้นพระราชดำรัสประกาศยอมแพ้ของสมเด็จพระจักรพรรดิ์ฮิโรฮิโตจึงได้ดังขึ้นทั่วประเทศญี่ปุ่น

สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต คือผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการยุติสงครามครั้งนี้ให้เร็วขึ้น มิฉะนั้นชีวิตมนุษย์อีกไม่รู้เท่าไรที่จะต้องสังเวยให้กับเกียรติยศและศักดิ์ศรีที่คณะทหารบางพวกต้องการ ซึ่งถึงอย่างไรก็ต้องจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นอยู่ดี เพราะอเมริกันไม่จำเป็นต้องยกพลขึ้นบกก็ได้ เขามีระเบิดปรมาณูอยู่ในมือ และเพิ่งทิ้งไปเพียงสองลูกเท่านั้น ....O

เมื่อวันที่ : 15 ส.ค. 2548, 07.31 น.
ผู้อ่านที่รัก,
นิตยสารรายสะดวก และผู้เขียนยินดีรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเขียนชิ้นนี้
เชิญคลิกแสดงความเห็นได้โดยอิสระ ขอขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในการมีส่วนร่วมของท่านในครั้งนี้...